มารู้จักกับ Blockchain และ Asset Tokenization

Panit Wechasil
Token X
2 min readDec 30, 2021

--

ในปี 2009 ผู้ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ได้สร้าง Bitcoin ขึ้นมา พร้อมกันนั้นเขาได้ออกเอกสารเพื่อแสดงเทคนิคในการเก็บข้อมูลแบบไม่มีศูนย์กลาง (Decentralized) ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการสร้าง Bitcoin โดยเขาตั้งชื่อมันว่า “Blockchain” ในเวลานั้น ไม่ทราบ Satoshi เองจะรู้ตัวหรือไม่ว่า เขาได้สร้างสิ่งที่เปิดประตูสู่โลกใหม่ ให้กับวงการเทคโนโลยีด้านการเงิน (Fin Tech) เลยทีเดียว

Blockchain สร้างความตื่นตัวอย่างมากให้กับคนในโลก Fin Tech พร้อมๆกันกับมูลค่าของ Bitcoin ที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน นักลงทุนหลายๆคนเปรียบเทียบ Blockchain ว่ามันคือทองในรูปแบบดิจิตัล (Digital Gold) ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ 1 BTC มีมูลค่าในตลาดซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 48,000 USD หรือ 1.6 ล้านบาท

Blockchain เกิดขึ้นมาโดยมีส่วนประกอบมาจากการใช้ความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หลายๆส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น เทคโนโลยีการเข้ารหัส, Hash Function, รูปแบบของข้อมูลแบบ Linked List, และที่สำคัญคือการแชร์ข้อมูลแบบไม่มีศูนย์กลางบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบ Peer-to-peer (P2P) ที่เป็นที่นิยมอย่างมากจากการใช้งานบน protocol BitTorrent ทั้งหมดนี้ Satoshi ได้นำมาประกอบกันเป็นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เขาให้ชื่อว่า Blockchain ด้วยคุณลักษณะของ Blockchain ที่สามารถเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง มีเป้าหมายของการออกแบบโดยเน้นให้มีระบบในการป้องกันการแก้ไขข้อมูลที่เขียนไปแล้ว มีการใช้อัลกอริทึมการเข้ารหัสในการยืนยันตัวตนของเจ้าของข้อมูลที่ส่งเข้าไปบันทึก ทำให้ Blockchain นั้นเหมาะกับการนำมาใช้เป็นระบบบัญชีทางด้านการเงิน ซึ่ง Use Case แรกของ Blockchain ก็คือระบบบัญชีของ Crypto Currency ที่ชื่อ Bitcoin นั่นเอง

หลังจากเปิดตัว Bitcoin ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2015 มีเด็กหนุ่มไฟแรงอีกคนหนึ่ง นามว่า Vitalik Buterin ตัว Vitalik มองเห็นว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้น นอกจากจะใช้ในการเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลางแล้ว มันควรจะมีความสามารถมากกว่านั้น เขาได้สร้าง Blockchain ของตัวเองขึ้นมาโดยตั้งใจจะให้มีความสามารถที่แตกต่างจาก Bitcoin

ตัว Blockchain ของ Vitalik นั้นสามารถเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบพิเศษ ไปทำงานอยู่บนเครือข่ายได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มของโปรแกรมประเภทใหม่ที่มีชื่อเรียกเท่ห์ๆว่า Smart Contract และเครือข่าย Blockchain ของ Vitalik ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นอันดับสองของโลก โดย Vitalik ให้ชื่อเครือข่ายนี้ว่า “Ethereum”

Smart Contract สามารถทำงานและเก็บข้อมูลอยู่บน Blockchain Network โดยข้อมูลของแต่ละ Smart Contract จะถูกเก็บและแก้ไขได้ตามเงื่อนไขของโปรแกรมบน Smart Contract เท่านั้น โปรแกรมบน Smart Contract จะถูกอ้างอิงถึงด้วย Address (เช่น 0x4fabb145d64652a948d72533023f6e7a623c7c53) และจะถูกเรียกขึ้นมาทำงานก็ต่อเมื่อ มีการส่ง message เข้ามาที่ระบบ Blockchain พร้อมกับค่า fee ไปยังเลข Address ของ Smart Contract ซึ่งการนำ Smart Contract มาประยุกต์ใช้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ใช้ในการสร้างเงื่อนไขในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ฝากเงินไว้กับ Smart Contract เป็นต้น

การมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมในรูปแบบของ Smart Contract นำความก้าวหน้าและแนวคิดใหม่ๆมายังโลก Blockchain เป็นอย่างมาก ซึ่ง Use Case ที่สำคัญที่สุดที่ Smart Contract สามารถทำได้ดี ก็คือการสร้างเหรียญดิจิตอล (Digital Token / Crypto Token) ขึ้นมาโดย Smart Contract ทำหน้าที่เป็นระบบบัญชีให้กับเหรียญต่างๆเพื่อเก็บข้อมูลว่าใครถือเหรียญอยู่เท่าไหร่ และมี function ในการโอน Token ไปมาระหว่างผู้ใช้งานได้

Crypto Currency vs. Crypto Token ต่างกันหรือไม่

หลังจากที่ Bitcoin ได้ถูกสร้างขึ้นมา เราอาจจะเรียก Bitcoin ว่าเป็นเหรียญดิจิตัล หรือ Digital Token ผู้ถือ Bitcoin Token กลุ่มแรกๆได้มีการทดลองนำ Bitcoin ไปใช้จ่ายเพื่อซื้อของในชีวิตประจำวัน ในช่วงเริ่มแรกนั้น มีร้านค้าเพียงเล็กน้อยที่ยอมรับชำระค่าสินค้าด้วย Bitcoin เนื่องจากคนยังขาดความมั่นใจในมูลค่าของ Bitcoin Token และด้วยความแปลกใหม่ของตัวเทคโนโลยี แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากการออกแบบที่ดี Bitcoin นั้นนอกจากจะไม่ได้พบปัญหาใหญ่ในการใช้งานในฐานะตัวกลางการใช้จ่าย ตัว Bitcoin Token ยังแสดงให้เห็นว่าระบบ Blockchain นั้นเชื่อถือได้ ทำให้มูลค่าของ Bitcoin ก็เพิ่มสูงขึ้นและ Bitcoin Tokenในที่สุดก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสกุลเงินใหม่ของโลกในรูปแบบ Digital (Digital Currency) หรือถ้ามองไปที่เทคโนโลยีการเข้ารหัสที่เป็นพื้นฐานหนึ่งของการสร้าง Blockchain คำว่า Crypto Currency ก็ดูจะเป็นคำที่สามารถบอกจุดเด่นของสกุลเงินใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี

ส่วนของฝั่ง Ethereum เองที่มีความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมเสริมเข้าไป ได้มีนักพัฒนาทำการสร้าง Token ขึ้นมาจาก Smart Contract โดยให้ Smart Contract เป็นตัวเก็บบัญชีของ Token และด้วยความง่ายของการเขียนโปรแกรมด้วย Smart Contract ทำให้นักพัฒนามีการสร้าง Token ต่างๆออกมามากมายหลายหมื่นตัวเพียงแค่ใช้ source code มาตรฐานของเหรียญ Token อย่าง ERC-20 และจ่ายค่า Fee เพียงเล็กน้อยเพื่อติดตั้ง Smart Contract ลงบน Blockchain แต่ถึงแม้จะมี Token ถูกสร้างขึ้นมา นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Token ตัวใหม่นั้นจะได้รับการยอมรับในฐานะสกุลเงิน เราอาจมองพวกมันได้เป็นเพียงเหรียญพลาสติกที่ไร้มูลค่า หรือคูปองศูนย์อาหาร ที่สามารถแลกใช้ได้ภายในศูนย์อาหารแห่งเดียวเท่านั้น

การยอมรับมูลค่าของเหรียญ Token นั้น อาจจะต้องพึ่งพาระบบหรือตัวกลาง ที่ผู้ถือ Token สามารถนำ Token นั้นไปใช้สิทธิ์ได้ เช่นคูปองศูนย์อาหารหนึ่งใบ จะมีมูลค่า 100 บาทก็ต่อเมื่อสามารถนำไปแลกอาหารมูลค่า 100 บาทในศูนย์อาหารที่มีข้อตกลงว่าสามารถนำคูปองนี้มาใช้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความสามารถพื้นฐานของระบบ Blockchain ทำให้ Token ที่ถูกสร้างขึ้นสามารถปลอมแปลงได้ยาก การบันทึกบัญชีมีความน่าเชื่อถืออย่างมาก และหากถ้ามีการใส่เงื่อนไขทางธุรกิจ (Business Logic) เข้าไปในโปรแกรมของ Token ผู้พัฒนาก็สามารถที่จะนำ Token ไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายได้มากกว่าแค่การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

Asset Tokenization

เพราะคุณสมบัติที่ปลอมแปลงได้ยาก สามารถถ่ายโอนระหว่างผู้ถือได้ และมีความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดมี Use Case ใหม่ๆของการใช้งาน Token ขึ้นมา หนึ่งในนั้นก็คือการนำ Token มาใช้แทนสิทธิ์ในการถือครองสินทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์นั้นอาจจะอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ รายได้ที่จะได้รับในอนาคต สิทธิ์ในการใช้งานสินทรัพย์ หรือแม้แต่ตัว Token เองที่เป็นสินทรัพย์ ก็สามารถทำได้

แต่เนื่องมาจากสินทรัพย์ที่อยู่ในโลกจริงและ Token ที่อยู่ในโลก Digital นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง การสัญญาว่าจะให้สิทธิ์และการใช้สิทธิ์สำหรับผู้ถือ Token Digital จะต้องมีผลทางกฎหมายและสามารถบังคับใช้ได้ในทางกฎหมายหากมีการผิดสัญญา มิเช่นนั้นก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่จ่ายเงินเพื่อซื้อและถือ Token ได้ในกรณีที่ผู้ให้สิทธิ์ไม่ทำตามสิ่งที่ได้สัญญาไว้ในตอนที่เสนอขาย Token สิ่งนี้เองก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ดูแลกฎระเบียบในประเทศต่างๆ เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดว่า ถ้า Token ที่สร้างขึ้นนั้นเป็นลักษณะของ Token เพื่อการลงทุนเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการแบ่งส่วนกำไรจากรายได้ในอนาคต ผู้ที่ออก Digital Token และเสนอขายให้กับนักลงทุนจะต้องได้รับอนุญาติจากสำนักงาน ก.ล.ต เท่านั้น จึงจะสามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น โลกของ Technology Blockchain และ Smart Contract มี Application แบบต่างๆเกิดขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา ในระยะเวลาเพียง 1 ปี เกิด Use Case ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น DeFi, NFT Market, GameFi, Metaverse ซึ่งการออกกฎระเบียบเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่สามารถทำได้ยากเนื่องจากมีแง่มุมทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น นักลงทุนหรือนักเทคโนโลยีที่สนใจในเทคโนโลยี Blockchain และ Token ถ้าหากจะเริ่มลงทุนใน Use Case ใหม่ๆ ของ Digital Token ที่บางครั้งเกิดขึ้นมาและเป็นที่นิยมเพียงชั่วข้ามคืน ก็ควรจะทำอย่างระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลให้ดี ว่าสิ่งที่กำลังจะลงทุนนั้นคืออะไร ให้สิทธิ์อะไร ถ้าเกิดปัญหาขึ้นเช่นผู้ที่ให้สิทธิ์ไม่ทำตามสิ่งที่สัญญาไว้ หรือโปรแกรมบน Smart Contract มีช่องโหว่ที่โดนโจมตี จะสูญเสียเป็นจำนวนมากเท่าใดที่อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในแต่ละท่าน

สำหรับบริษัทหรือหน่วยงานที่สนใจที่จะนำสินทรัพย์ของบริษัท มาแปลงเป็น Token Digital บนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุน บริษัท Token X ในเครือ SCB Group ได้รับอนุมัติให้ทำธุรกิจเสนอขาย Token Digital (ICO Portal — Initial Coin Offering Portal) ให้กับนักลงทุน สามารถติดต่อบริษัท Token X ได้ที่ contact@tokenx.finance

--

--

Panit Wechasil
Token X

CTO @ Token X สนใจด้าน Blockchain และ Tokenization พูดคุยกันได้ที่ https://www.linkedin.com/in/panitw