มารู้จักเครื่องมือ(โคตร)พื้นฐานในการแต่งภาพกันเถอะ!

Tor Chanon
torcnn
Published in
4 min readApr 9, 2016

--

มือใหม่หัดแต่งภาพมาทางนี้ เดี๋ยวพี่จะอธิบายให้อ่าน :D

สวัสดีจ้ะ นี่เรานะ @torcnn

การแต่งภาพกับการถ่ายรูปเป็นของคู่กันครับ เวลาคนเราถ่ายรูปมา น้อยคนที่จะเอาลงโซเชียลเน็ตเวิร์กเลยทันที ส่วนมากก็เข้าแอปหรือเข้าโปรแกรมแต่งภาพกันก่อนทั้งนั้น ความสำคัญของมันสูงพอๆกับการถ่ายรูปให้ดีเลยก็ว่าได้

ช่วงนี้เราเห็นคนใกล้ตัวเราหลายคนชอบแต่งตามกระทู้หรือโพสที่สอนคุมโทนของภาพด้วยแอปแต่งภาพ โดยที่คนอ่านยังขาดความเข้าใจว่าเครื่องมือตัวไหนมันเอาไว้ใช้ทำอะไร เพื่อนเราบางคนก็ปรับมั่วๆไปงั้นแบบไม่ได้มีทิศทางในใจ ไม่รู้ว่าปรับอันไหนแล้วมันเกิดผลอะไรกับภาพ ซึ่งผลสุดท้ายก็คือต้องใช้เวลาเยอะอะ เพราะไม่ได้รู้จักหน้าที่ของเครื่องมือแต่ละตัว

บทความนี้เราจะมาแชร์ว่า เครื่องมืออะไรเป็นอะไร ปรับแล้วได้อะไร เผื่อว่าอ่านแล้วจะได้ย่นระยะเวลาในการแต่งภาพลงหน่อย และจะได้มีภาพที่สวยถูกใจเรามากขึ้นเนอะ ถึงน้องๆมือใหม่ที่มาบอกเราให้เราช่วยเขียนเรื่องแต่งภาพให้หน่อย โอเค! เราเขียนแล้วนะ มาเอาไปอ่านด้วย :D

มา เริ่ม!

White Balance

ไวท์บาลานซ์ เรารู้ว่าหลายคนแค่เห็นชื่อก็ไม่อยากจะรู้จักมันแล้ว แต่ถ้ามือใหม่อย่างพวกเธออ่านข้ามสิ่งนี้ เท่ากับว่าพวกเธอข้ามสิ่งที่โคตรจะสำคัญไปเลยแหละ

คือเวลาเราถ่ายรูปอะ แหล่งกำเนิดแสงมันไม่ได้มาเป็นสีเดียว มันอาจจะเป็นแสงสีส้มที่มาจากหลอดไฟในร้านอาหาร มันอาจจะเป็นแสงสีออกฟ้าๆหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือมันอาจจะเป็นแสงสีเขียวอ่อนๆที่เกิดจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งสีของแสงพวกนี้มันส่งผลกระทบกับภาพที่เราถ่ายทั้งนั้นเลย

White Balance คือสมดุลแสงสีขาว หน้าที่ของมันคือมีไว้เพื่อปรับสีของภาพที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งกำเนิดแสงที่แตกต่างกันครับ มันจะทำให้อะไรที่มีสีขาวในภาพคงความเป็นสีขาวอยู่ ไม่ว่าเราจะถ่ายในสภาพแสงแบบไหน

เวลาเราแต่งภาพ ส่วนของ White Balance มันมีอยู่แค่ 2 อย่างเท่านั้นแหละ คือ

  1. Temperature
  2. Tint

Temperature ก็คืออุณหภูมิของภาพ มันจะเป็นแกนที่ถ่วงกันอยู่2ข้างคือสีฟ้ากับสีส้ม ใช้งานไม่ยากครับ ถ้าคิดว่าถ่ายออกมาส้มไป ก็ปรับไปทางสีฟ้า ถ้าคิดว่าถ่ายออกมาฟ้าไป ก็ปรับไปทางสีส้ม

หากว่าเราถ่ายมาเป็นไฟล์RAW หน่วยของการปรับTemperatureมันจะเป็นเคลวิน ซึ่งจะปรับได้อย่างละเอียดกว่าไฟล์ JPEG มากครับ ปรับได้เป็นหมื่นขั้นเลย

ตัวอย่าง ตอนถ่ายมา ค่าเคลวินอยู่ที่ 5300 เรารู้สึกว่ามันส้มไปหน่อย

ตอนแต่ง เราปรับค่าเคลวินลงมาที่ 4450 เพื่อให้สีของวัตถุตรงกับสีจริงมากยิ่งขึ้น

เท่านี้เลย เรื่อง Temperature ไม่ยากเนอะ น่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

Tint บางครั้งการปรับ Temperature อย่างเดียวก็ยังไม่ทำให้ได้สีที่สมจริงครับ Tintในที่นี้ไม่ใช่ลิปสติก แต่เป็นอีกแกนในการปรับสีของภาพ มันจะถ่วงกันอยู่2สีคือสีเขียวกับสีออกม่วงๆชมพูๆ(Magenta) น้อยครั้งครับที่เราจะเจอผลกระทบจาก2สีนี้ เพราะแหล่งกำเนิดแสง2สีนี้มีน้อย แต่ก็ใช่ว่ามันไม่สำคัญนะ

Original

หมายเหตุ: หากถ่ายเป็นJPEG การปรับ White Balance จะไม่สามารถทำอย่างหนักหน่วงได้ครับ ภาพจะพังเอาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราถ่ายภาพมาเป็นไฟล์ RAW เราจะสามารถปรับ White Balance ได้อย่างอิสระมากๆโดยที่ภาพเสียหายน้อยมากหรืออาจไม่เสียหายเลย ใครถ่ายJPEGมา ควรถ่ายให้ได้ White Balance ที่ถูกใจตั้งแต่ในกล้องนะครับ ไม่งั้นเอามาปรับยากบรรลัย

Exposure

ตัวนี้ พูดง่ายๆก็คือความสว่างของภาพ จะใช้ปรับเมื่อเราถ่ายภาพมามืดหรือสว่างไป หน่วยของมันคือสต๊อป(stop) ตัวอย่างเช่น ปรับ +1.00 เท่ากับเพิ่ม1สต๊อป ปรับ -2.00 เท่ากับลด2สต๊อป

ปรับเบาๆกรุบกริบแก้ไขความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆก็ยังพอโอเคครับ แต่ถ้าปรับเยอะมากๆ เช่นเราถ่ายมามืดตึ๊ดตื๋อแล้วดัน Exposure มหาศาลไปที่ +3.00 งี้ ก็จะเกิดNoiseมารบกวนภาพได้ ส่วนจะเกิด Noise บนภาพมากน้อยแค่ไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกล้องที่ตัวเองใช้แล้วแหละ

ยังไงถ้าชีวิตนี้น้องต้องดัน Exposure ถึง+3.00 หรือ +4.00 เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเองเนี่ย แปลว่าเธอถ่ายรูปห่วย ไปฝึกถ่ายรูปมาก่อนแล้วค่อยมาฝึกแต่งภาพนะครับ

Contrast

เครื่องมือนี้จะเป็นตัวกำหนดความตัดกันของส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพ ถ้าหากว่า Contrast น้อย ส่วนสว่างของภาพก็จะตัดกับส่วนมืดของภาพน้อยลง (ส่วนสว่างจะสว่างน้อยลง ส่วนมืดก็จะมืดน้อยลง) แต่ถ้าหากว่า Contrast เยอะ ส่วนสว่างกับส่วนมืดก็จะตัดกันอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (ส่วนสว่างจะสว่างมากขึ้น และส่วนมืดก็มืดมากขึ้น)

การปรับContrastให้น้อยๆก็จะให้อารมณ์ภาพที่ฟุ้งๆ เหมาะกับภาพผู้หญิงสไตล์ฟรุ้งฟริ้งพิมฐา สรรพสิ่งมุ้งมิ้ง หรืออะไรก็ตามที่ดูน่ารักชวนฝัน ในขณะที่Contrastเยอะจะให้อารมณ์ภาพที่ดูหนักแน่น เหมาะกับภาพผู้ชาย หรืออะไรที่แสดงถึงความสตรอง

Highlights

มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยปรับส่วนสว่างของภาพ ยิ่งปรับให้เพิ่มขึ้น ส่วนสว่างก็จะยิ่งสว่าง ในทางกลับกัน ยิ่งปรับให้น้อยลง ส่วนสว่างก็จะสว่างน้อยลง

การใช้งานนั้นไม่ยาก คือถ้าเราถ่ายอะไรมาแล้วดีเทลบางส่วนของภาพเราถูกความสว่างกลบหมด แค่เราปรับHighlightsลง เราก็จะได้ดีเทลกลับคืนมาครับ นี่คือหนึ่งในเครื่องมือการแต่งภาพที่สุดทีนที่สุดบนโลกนี้ละ แต่ข้อควรระวังคือถ้าเราปรับ Highlights บนไฟล์ JPEG อย่างหนักหน่วงอาจจะทำให้ภาพดูด่างได้ เพราะไฟล์JPEGไม่ได้มีการไล่โทนแสงที่ละเอียดเหมือนไฟล์RAWครับ

ดูดีๆ พื้นที่ส่วนสว่างจะมีความเปลี่ยนแปลงไป

แถมตัวอย่างอีกอัน:

รูปนี้ตอนเราจะถ่าย แสงมันกำลังพอดี แต่โมเมนต์ที่เรากดชัตเตอร์ แสงอาทิตย์มันดันสาดลงมาใส่ไอศกรีม ทำให้ไอศกรีมกะทิของเราสว่างมากเกินไป เราไม่อยากลด Exposure แล้วอะ เพราะแสงส่วนอื่นๆของภาพมันถูกใจเราอยู่แล้ว ติดแค่ตรงไอศกรีมที่ดีเทลมันหายไป เครื่องมือ Highlights นี่แหละที่มาช่วยชีวิตเรา

เห็นมั้ยว่าเราได้ดีเทลของไอศกรีมกลับมาเยอะเลย ลองไปทดลองใช้เครื่องมือนี้ดูนะ

Shadows

กลับกันกับHighlights อันนี้เอาไว้ปรับส่วนมืดของภาพ ถ้าเรายิ่งปรับเพิ่ม ส่วนมืดจะยิ่งสว่าง ถ้าเรายิ่งปรับลด ส่วนมืดก็จะยิ่งมืด หากเราถ่ายอะไรมามืดไป อย่างเช่นถ่ายย้อนแสงแล้วตัวแบบมืดไรงี้ การเพิ่มค่า Shadows จะทำให้เราได้ดีเทลส่วนมืดกลับคืนมา เป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นมากครับ แต่อย่าหวังพึ่งพาการเพิ่ม Shadows ในส่วนมืดเยอะเกินไปนะครับ มันจะเกิด Noise ได้เหมือนกัน

ลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงของส่วนมืดดูนะครับ ดูง่ายๆที่เงาของผ้าปูโต๊ะทางด้านซ้ายล่างของภาพ

สำหรับคนที่ใช้ VSCOcam

เครื่องมือ Highlights และ Shadows บน VSCOcam สามารถปรับได้แค่ทิศทางเดียวนะ คือ Highlights สามารถปรับให้สว่างน้อยลงได้อย่างเดียว และ Shadows สามารถปรับให้มืดน้อยลงได้อย่างเดียวเช่นกัน ถ้าจะเอาภาพไปลงอินสตาแกรม เราว่าไปใช้เครื่องมือสองอย่างนี้ในอินสตาแกรมแทนหรือถ้าจะให้ดีก็ใช้โปรแกรมปรับแต่งภาพอย่าง Lightroom จะครบครันกว่าครับ

Saturation

อันนี้หลายๆคนน่าจะคุ้นเคยกันดี มันเป็นเครื่องมือที่เพิ่มความอิ่มสีให้กับภาพ หรือความคัลเลอร์ฟูลอะ ถ้าเราปรับขึ้นสีมันก็สดขึ้น ถ้าเราปรับลงสีก็ยิ่งซีด แค่นี้แหละ อยากฝากไว้ให้ระวังการใช้งานเครื่องมือตัวนี้ให้ดีๆนะครับ หากปรับขึ้นเยอะเกินภาพก็จะดูแหยมยโสธร แต่ถ้าปรับลงเยอะเกินภาพเราก็อาจจะกลายเป็นขาวดำไปเลย

Vibrance

อันนี้จะมีความคล้ายกับตัว Saturation ข้างบน แต่ว่ามันไม่เหมือนกันนะครับ การเพิ่ม Saturation มันจะเพิ่มความอิ่มสีให้กับทุกสีในปริมาณเท่าๆกัน ส่วน Vibrance มันจะเพิ่มความอิ่มสีเช่นกัน แต่หากอะไรในภาพที่มีความอิ่มสีสูงอยู่แล้ว มันจะไม่ยุ่ง มันจะเน้นเพิ่มความอิ่มสีให้กับส่วนที่ความอิ่มสีต่ำเท่านั้น เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากๆอีกตัวนึง

Sharpness

แปลตรงตัวก็คือความคม การเพิ่ม Sharpness จะช่วยเพิ่มความคมให้กับภาพครับ พอปรับเพิ่มแล้วเส้นต่างๆในภาพก็จะคมชัดขึ้น เครื่องมือนี้สามารถปรับเพิ่มได้อย่างเดียว ไม่สามารถลดได้นะ

Clarity

ในบางโปรแกรมจะใช้คำว่า Structure แทน เจ้าClarityนั้นมีผลกับหลายสิ่งหลายอย่างบนภาพครับ ไม่ว่าจะเป็น Contrast หรือ Sharpness แถมปรับเยอะๆดันมีผลกับสีนิดนึงอีกต่างหาก เอางี้ละกัน อธิบายกว้างๆเลยก็คือ Clarity มันจะเป็นเครื่องมือที่เน้นเปลี่ยนแปลงพื้นผิวหรือTextureให้ดูเด่นขึ้นหรือน้อยลงครับ

การปรับ Clarity เพิ่มขึ้นจะทำให้ Contrast ในภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เพิ่ม Sharpness ด้วยเช่นกัน รายละเอียดของภาพจะดูชัดเจนขึ้น ให้ฟีลแข็งๆ ทึบๆ จึงเหมาะกับภาพแนวดราม่าๆ หรือพวกภาพPortraitคนแก่ที่เราอยากให้คนดูเห็นรายละเอียดอย่างเช่นริ้วรอยบนใบหน้า หรือพวกภาพแนวLandscapeที่เราอยากให้ภาพดูมีดีเทลชัดเจนขึ้น ในทางกลับกัน การปรับ Clarity ลดลงก็จะทำให้ดีเทลดูฟุ้งๆ กลืนๆไปกับส่วนอื่นๆของภาพ เหมาะใช้กับภาพที่เราอยากให้ดูฟรุ้งฟริ้งขึ้น หรือใบหน้าผู้หญิงที่เราอยากให้ดูใสๆ ไร้ริ้วรอย

Clarity จะมีผลหลักๆกับส่วนที่เรียกว่า Mid-tone ของภาพ ซึ่ง Mid-tone ของภาพก็คือส่วนที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Highlights และ Shadows พูดง่ายๆก็คือส่วนของภาพที่ตาเห็นแล้วรู้สึกว่าแสงมันกำลังพอดีนั่นแหละ

Vignette

เครื่องมือตัวนี้มีไว้ทำให้ภาพของเรามีขอบสีดำๆอยู่รอบๆภาพครับ จบปิ๊ง

Grain

กล้องฟิล์มเวลาเราถ่ายออกมามันจะมีสิ่งที่เรียกว่า Grain หรือจุดเล็กๆที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาพ คือมันเป็นคาร์แรกเตอร์ของกล้องฟิล์มแหละ ทีนี้พอมนุษย์โลกเข้าสู่ยุคของกล้องดิจิตัล คาร์แรกเตอร์พวกนี้มันก็หายไป บางคนเค้าอยากได้ฟีลภาพของกล้องฟิล์มกลับคืนมา เค้าก็เติม Grain เข้าไปในภาพ ประโยชน์ของมันก็มีเท่านี้แหละ

Split Toning

แถมเครื่องมืออีกตัวละกันครับ อันนี้ถึงจะไม่ได้เป็นเครื่องมือระดับเบสิก แต่ไหนๆก็เห็นว่ามันมีให้ใช้งานในVSCOcamก็เลยขอเอามาพูดสักหน่อย ถึงแม้คนจะไม่ค่อยปรับมันเท่าไหร่ก็เถอะ

Split Toning เป็นเครื่องมือที่เล่นกับส่วน Highlights และ Shadows ของภาพ โดยจะเป็นการย้อมสีเข้าไปในส่วนสว่างและส่วนมืดของภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้อารมณ์ของภาพเปลี่ยนไปได้ครับ อยากย้อมสีอะไรเข้าไปก็ย้อมได้ตามใจเลย

สรุป

จริงๆเรื่องการแต่งภาพมันไม่ได้มีผิดมีถูกหรอกครับ มีแค่ถูกใจกับไม่ถูกใจ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเครื่องมือแต่งภาพแต่ละตัวมันทำอะไรได้บ้าง มันก็ยากที่เราจะแต่งออกมาได้ถูกใจตัวเองน่ะเนอะ

เอาเท่านี้ก็พอละกัน เอาแค่ระดับเบสิกสำหรับคนเริ่มต้นแต่งภาพ จริงๆมันมีระดับแอดวานซ์กว่านี้มาก แต่เท่านี้เราว่าคนอ่านก็มึนจะตายละ 5555 หลักการมันมีเท่าที่เราเขียนนั่นแหละ พยายามทำความเข้าใจ ดูภาพเยอะๆ ฝึกฝนการบาลานซ์การใช้งานเครื่องมือแต่ละตัวให้เป็น แล้วชีวิตจะดีครับ

หวังว่าจะช่วยให้เข้าใจหน้าที่ของเครื่องมือแต่งภาพแต่ละตัวดีขึ้นนะจ๊ะ ช่วงนี้พยายามเคลียร์คำถามใน ask.fm ในเพจ Chanon แล้วก็ใน Twitter อยู่ คือคนถามมาเยอะมากบานตะไทตอบไม่ทัน อย่างอนนะ พยายามแล้วจีจี ลองไปอ่านบทความที่ผ่านมาดูก็ได้ครับ บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในนั้น

ก่อนจากกัน ขอบคุณเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในภาพตัวอย่างด้วยนะครับ @chopluem @kamolned @tnppui @mookworranit @teng1 ขอบพระคุณมากๆ

ไว้เจอกันใหม่บทความหน้านะ สวัสดีจ้ะ

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn