รีวิว Fujifilm X-A3

Tor Chanon
torcnn
Published in
5 min readDec 22, 2016

--

— กล้อง Mirrorless ระดับเริ่มต้นตัวใหม่จากค่ายฟูจิฟิล์ม —

สวัสดีครับ เรา @torcnn คนเดิม รีวิวนี้จะเป็นคิวของ Fujifilm X-A3 ซึ่งเป็นกล้อง Mirrorless ตัวใหม่ของค่าย Fujifilm ที่คนไทยให้ความสนใจกันเยอะมาก กล้องตัวนี้อยู่ในซีรีส์เดียวกันกับ Fujifilm X-A2 ซึ่งทุกคนคงรู้จักชื่อรุ่นนี้กันดี เพราะมันเป็นหนึ่งในกล้อง Mirrorless ที่ขายดีที่สุดในไทยเลย

รีวิวนี้จะเขียนแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ กล่าวถึงสเปคแต่ละส่วนพร้อมความคิดเห็นของเราเหมือนเคย เพื่อให้เพื่อนๆที่เป็นมือใหม่เข้าใจกล้องตัวนี้ง่ายยิ่งขึ้นนะครับ

Background

ซีรีส์ X-A ของ Fujifilm เป็นซีรีส์กล้องที่เกิดมาเพื่อผู้ใช้งานระดับเริ่มต้นครับ กล้อง Fujifilm X-A3 เป็นกล้องที่ดูเหมือนจะออกมาแทนตัว Fujifilm X-A2 (ดูจากชื่อ) แต่จริงๆแล้วมันถูกจัดไว้ในระดับที่สูงกว่า ตอนนี้มันก็เลยกลายเป็นกล้องที่อยู่ในระดับสูงที่สุดของซีรีส์นี้ละ ส่วน Fujfifilm X-A2 ตัวเดิมก็ถูกแทนที่ตามตำแหน่งทางการตลาดด้วย Fujifilm X-A10 ที่เพิ่งออกมาไม่นาน

เมื่อ Fujifilm X-A3 เป็น“กล้องระดับสูงสุดของซีรีส์กล้องระดับเริ่มต้น” ก็แน่นอนเลยว่าสเปคมันต้องดีกว่า X-A ทั้งหมดทั้งมวลที่เคยมีมา แต่จะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง เดี๋ยวเราไปดู

Sensor

ดูช้างให้ดูหาง ดูกล้องให้ดูเซนเซอร์เป็นอันดับแรกๆครับ เพราะคุณภาพของเซนเซอร์มีส่วนอย่างมากต่อคุณภาพของภาพที่เราจะได้ เซนเซอร์ของกล้อง Fujifilm X-A3 เป็นเซนเซอร์CMOS ขนาดAPS-C อัดความละเอียดมาให้ 24.2 ล้านพิกเซล มากกว่ารุ่น Fujifilm X-A2 ที่มีจำนวนพิกเซลอยู่ที่ 16 ล้าน

ขนาด APS-C เป็นขนาดของเซนเซอร์ที่เล็กกว่ากล้องฟูลเฟรม 1.5 เท่า ถือว่าเป็นขนาดของเซนเซอร์กล้องดิจิตอลที่ใหญ่ทีเดียว ซึ่งพอขนาดเซนเซอร์ใหญ่เนี่ย ก็จะให้คุณภาพของไฟล์ภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังเป็นขนาดของเซนเซอร์ที่เอาไปทำหน้าชัดหลังเบลอได้ในระดับดีครับ

หมายเหตุ1: การที่เซนเซอร์มันมีขนาดเล็กกว่าฟูลเฟรม 1.5 เท่า ทำให้เวลาจะติดเลนส์อะไรต้องเอาเลข 1.5 ไปคูณกับตัวเลขบนเลนส์ด้วยนะ เราถึงจะทราบระยะที่แท้จริง

ส่วนความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซลนี่ก็มากพอที่จะนำภาพไปปรินต์ทำเป็นป้ายแปะกำแพงจริงจังได้ ขนาดภาพที่ได้คือ 6000 x 4000 จะนำไปครอปใช้งานนิดๆหน่อยๆก็ยังเสียความละเอียดของไฟล์ไม่มากนักครับ

หมายเหตุ2: เซนเซอร์นี้ไม่ใช่เซนเซอร์ X-Trans CMOS ที่ค่ายฟูจินำไปพัฒนาต่อนะครับ ยังคงเป็นเซนเซอร์CMOSปกติ เซนเซอร์X-Transจะอยู่ในกล้องที่ระดับสูงกว่านี้

ปุ่มและDialปรับค่าต่างๆ

โดยรวมคล้ายคลึงกับ Fujifilm X-A2 มาก มีความแมนนวลสูง หากฝึกนิดๆหน่อยๆให้ชิน การปรับอะไรๆก็จะรวดเร็วมาก ค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงสามารถปรับได้ด้วยนิ้วๆเดียว

ปุ่มด้านหลังก็เหมือนๆกับ X-A2 แต่ที่ต่างคือเค้าย้ายปุ่มแฟลช(ที่ปกติอยู่ข้างหลังของกล้อง)ไปไว้บริเวณด้านข้างของกล้องแทน

ส่วนด้านหน้าเราจะเห็นวงแหวนปรับโหมดโฟกัส สำหรับคนที่ใช้ยี่ห้ออื่นมาก่อนอาจจะมึน แต่มันเป็นสิ่งที่ฟูจิติดมาให้กับกล้องทุกรุ่นของเค้าน่ะแหละ ค่ายนี้เค้าเน้นฟีลลิ่ง เน้นความแมนนวล

ชัตเตอร์

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในกล้อง Fujifilm X-A3 และกล้องฟูจิตัวอื่นๆยุคนี้คือชัตเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ครับ ประโยชน์ของมันหลักๆจะมีอยู่สองสถานการณ์เลยก็คือ

  1. ใช้ถ่ายในสถานการณ์ที่เราต้องเงียบที่สุด เนื่องจากชัตเตอร์ประเภทนี้จะเงียบ เช่นการถ่ายสัตว์ การถ่ายเด็กทารกกำลังหลับ หรือการถ่ายภาพแนวสตรีทโดยไม่รบกวนชีวิตคนอื่น
  2. ใช้ถ่ายในสถานการณ์ที่เราต้องใช้ค่ารูรับแสงกว้างในที่ที่มีแสงจ้ามากๆ ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์สามารถถ่ายความเร็วสูงมากๆเพื่อลดปริมาณแสงส่วนเกินที่เข้ามาในภาพได้

จริงๆมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นเว่อวังขนาดว่า “ต้องมี” อะไรขนาดนั้น แต่ถ้ามีไว้มันก็เพิ่มความเป็นไปได้ของการได้ภาพในบางสถานการณ์ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

ในสถานการณ์ปกติเรายังคงแนะนำให้ใช้ชัตเตอร์แบบปกติ(Mechanical)เป็นหลัก เนื่องจากชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์อาจจะประสบปัญหา Rolling Shuter ครับ ซึ่งทำให้สิ่งที่อยู่ในภาพมีอาการเอนเอียง โย้เย้ไปมา ไม่สมจริงได้ และอาจทำให้มีเส้นลายๆปรากฏขึ้นในภาพได้ด้วย

การโฟกัส

พัฒนาจุดโฟกัสขึ้นเป็น 77จุด ในโหมด Wide+Tracking อย่างไรก็ตาม กล้องยังคงใช้การโฟกัสในรูปแบบ Contrast Detection อยู่ ทำให้พัฒนาการด้านการโฟกัสรวมๆของกล้องตัวนี้ยังไม่ถึงกับว้าวอะไรนัก

จอภาพ

จอภาพความละเอียด920kจุด ทัชสกรีนได้แล้ว(เย้) จะแตะจอเพื่อโฟกัสหรือแตะจอเพื่อถ่ายก็ได้ การตอบสนองของกล้องต่อการทัชสกรีนทำได้รวดเร็วดี จอสามารถพลิกขึ้นลงได้ ช่วยได้หลากหลายสถานการณ์ โดยสามารถพลิกลงได้ และพลิกขึ้นได้180องศา ใช่! พลิกขึ้นได้180องศาแล้วนะ จากรุ่นX-A2ที่ขัดใจสุดๆเพราะพลิกขึ้นได้แค่175องศา

เวลาจะพลิกจอขึ้นเซลฟี่ ต้องดึงจอขึ้นอีกทีนึงด้วยนะ ไม่งั้นจอแสดงผลมันจะไม่ยอมกลับหัวให้เราเซลฟี่

เซลฟี่

ฟูจิพัฒนาให้ตัว Fujifilm X-A3 สามารถกดชัตเตอร์เซลฟี่ได้ง่ายขึ้น โดยที่เราไม่ต้องกดปุ่มชัตเตอร์เดิมอีกต่อไปแล้ว แต่สามารถกดวงแหวนสีดำได้เลยตามภาพ เมื่อเราสามารถกดชัตเตอร์ได้ถนัดขึ้น ความสั่นไหวของกล้องเวลากดถ่ายก็น้อยลงครับ

มาถึงเรื่องภาพบ้าง ภาพเซลฟี่ทั้งหมดเราถ่ายด้วยโหมด Portrait Enhancer ซึ่งเป็นโหมดสำหรับถ่ายหน้าเนียน(สามารถปรับได้3ระดับ) ดูจากภาพก็จะเห็นเลยว่า สีผิวก็ยังคงเป็นสไตล์ฟูจิเหมือนเคย ให้สีออกชมพูๆ สาวๆหลายคนน่าจะชอบ แต่จากการลองถ่ายมาเยอะๆ สีผิวอาจจะไม่นิ่ง มีเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างอมส้มกับอมชมพูบ้าง

ภาพที่1
ภาพที่2
ภาพที่3

รูปทั้ง3รูปด้านบน ถ่ายด้วยโหมด Portrait Enhancer เหมือนกันหมดก็จริง แต่เราปรับระดับความหน้าเนียนคนละระดับกัน มองเผินๆอาจจะดูไม่ออก แต่เดี๋ยวเราจะซูมให้ดูใกล้ๆ

ภาพที่1: หน้าเนียนระดับ1 จะเห็นว่าดีเทลต่างๆบนใบหน้ายังมีความชัดเจนอยู่

ภาพที่1: Level1

ภาพที่2: หน้าเนียนระดับ2 ถึงแม้เราว่าโฟกัสเข้าแล้วแน่ๆ แต่เห็นว่าดีเทลบนใบหน้าเริ่มจางหายไป

ภาพที่2: Level2

ภาพที่3: หน้าเนียนระดับ3 เนียนขึ้นอีกระดับ

ภาพที่3: Level3

ภาพตัวอย่างเซลฟี่ทั้งหมดผ่านกระบวนการเพิ่มและลดแสง(Exposure)นิดหน่อย และก็ลบสิวออก1เม็ดนะครับ(คือนางแบบรีเควสต์มา ไม่ลบเดี๋ยวมันบ่น5555) ส่วนเรื่องสีสันของผิวพรรณเป็นสีผิวจากกล้อง เราไม่ได้ปรับแต่งใดๆทั้งสิ้น

จากการให้เพื่อนไปถ่ายเซลฟี่ในสภาวะแสงปกติ เราพบว่ากล้องชอบวัดแสงออกมาเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างบ้าง ฉะนั้นใครจะใช้โหมดนี้เซลฟี่(หรือแม้กระทั่งโหมดอื่นๆ)ควรจะปรับระดับแสงให้เป็นด้วยวงแหวนอันนี้นะครับ

สีสันภาพJPEG

นอกจากเรื่องสีสันเซลฟี่ชมพูอย่างข้างบนแล้ว สีสันสไตล์ฟูจิที่เป็นจุดแข็งก็ยังคงอยู่ดี เหมือนฝังอยู่ในสายเลือด ภาพตัวอย่างทั้งหมดนี้ไม่ถูกปรับสีใดๆ จะถูกปรับก็แค่ค่า Exposure และ Shadows เท่านั้น และใช้ Film Simulation : Standard ทั้งหมด

นอกจาก Film Simulation แบบ Standard เรายังสามารถปรับสีให้เป็นแบบอื่นๆได้อีก สำหรับ Film Simulation ที่ชาวฟูจินิยมกันมากๆก็จะเป็น Classic Chrome ที่สีจะซีดลงนิดนึงและมีคอนทราสต์สูงขึ้นหน่อย

การถ่ายภาพต่อเนื่อง

สามารถยิงต่อเนื่องได้ที่6ภาพต่อวินาที ถือว่ากลางๆสำหรับกล้องระดับเริ่มต้นครับ

วิดีโอ

Fujifilm X-A3 สามารถถ่ายวิดีโอที่ 1080/60p ได้แล้ว (รุ่น X-A2 สามารถถ่ายได้แค่ 30p) ซึ่งเรื่องนี้หมายความว่าวิดีโอของตัวนี้จะมีความลื่นไหลยิ่งกว่าเดิมครับ อย่างไรก็ตาม Fujifilm X-A3 ยังไม่ถือว่าเป็น “กล้องเพื่องานวิดีโอ” เพราะหากนำไปถ่าย Subject ที่มีการเคลื่อนไหวเข้าออกก็อาจออโต้โฟกัสได้ไม่ทันใจนัก เนื่องจากการโฟกัสของเค้ายังเป็นแบบ Contrast Detection อยู่

เลนส์คิต

เลนส์คิตที่ติดมากับ Fujifilm X-A3 เป็นเลนส์ 16–50mm f3.5–5.6 OIS II ซึ่งสามารถใช้ถ่ายภาพครอบคลุมตั้งแต่วิว อาหาร คน และอื่นๆ เลนส์ตัวนี้สามารถใช้จ่อถ่ายวัตถุขนาดเล็กๆ(ภาพแนวมาโคร)ได้โอเคในระดับนึง

ถ่ายจ่อๆได้ (ภาพcropเล็กน้อยเพื่อจัดองค์ประกอบ)

ข้อเสียที่รู้กันดีคือมันมีขนาดใหญ่ จมูกยื่นมากเห็นมะ ดังนั้นถ้าหากคิดจะซื้อมาแล้วใช้เลนส์คิตแบบยาวๆก็ต้องยอมรับตรงนี้

ลักษณะการซูมเลนส์คิตตัวนี้จะเป็นการซูมด้วยมือ ไม่ใช่การซูมด้วยไฟฟ้า ทำให้เราจะได้ใช้มือครบทั้งสองข้างเวลาปรับกล้อง และเมื่อหมุนซูม เลนส์ก็จะยื่นออกไปด้านหน้าในลักษณะนี้

ตัวเลนส์มีระบบกันสั่น และน้ำหนักของเลนส์ตัวนี้อยู่ที่ 195 กรัม

บอดี้ น้ำหนัก และการจับถือ

หน้าตาของบอดี้ เราว่าดีไซน์ดูทันสมัยขึ้นมาก ในขณะที่ยังคงความเป็นฟูจิไว้อยู่ สวยดีนะ ปรบมือ เราสามารถที่จะแยก Fujifilm X-A3 ออกจากฟูจิรุ่นอื่นๆได้ง่ายๆด้วยบริเวณสี่เหลี่ยมสีเงินที่อยู่รอบๆเม้าท์เลนส์ บอดี้ตอนนี้มีให้เลือก3สี ได้แก่ สีน้ำตาล สีชมพู และสีดำ(ที่ฟูจิเรียกซิลเวอร์)

บอดี้ไม่รวมเลนส์หนัก 339 กรัม (รวมเมมโมรี่การ์ดและแบต) มันไม่ได้หนักไรเล้ย มีเลนส์มาติดก็แบกไหว แต่ที่แน่ๆพอติดเลนส์ละมันจะเทอะทะขึ้น นี่แหละปัญหา

ที่บอดี้จะมีGripยื่นออกมาให้พอจับเข้ามือ Gripนี้เราว่าเหมาะกับมือผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะมันมีขนาดค่อนข้างเล็ก

แบตเตอรี่

การชาร์จแบตของ Fujifilm X-A3 จะเป็นการชาร์จแบบเสียบกล้องเข้ากับปลั๊กโดยตรง ข้อดีของการชาร์จแบบนี้คือมันยุ่งยากน้อยกว่าการควักแบตเตอรี่ออกมาชาร์จกับแท่นชาร์จข้างนอก

ชาร์จเต็มที่ถ่ายได้ประมาณ410ภาพ โอเคเลยทีเดียว

Wifi

มีแน่นอน และใช้สมาร์ทโฟนเป็นรีโมตได้แล้วด้วย นี่น่าจะเป็นรุ่นแรกของซีรีส์ X-A เลยมั้งที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นรีโมตได้ การตอบสนองของ Wifi Remote ทำได้รวดเร็วน่าประทับใจ

ราคา

ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 23,990 บาท

สรุป

เดี๋ยวเราจะสรุปข้อดีและข้อสังเกตให้เป็นข้อๆ กล้องตัวนี้จะเป็นกล้องที่เหมาะกับใครและไม่เหมาะกับใคร เราอยากให้วิเคราะห์เอาด้วยตัวเองนะครับ

ข้อดี

  1. เซนเซอร์ค่อนข้างใหญ่ ขนาด APS-C ความละเอียดสูงขึ้น
  2. มีชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้
  3. ปุ่มต่างๆสามารถตั้งค่าได้ค่อนข้างรวดเร็วหากเคยชิน
  4. จอทัชสกรีน ทำให้การเลือกจุดโฟกัสง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ตอบสนองรวดเร็ว
  5. พลิกจอได้หลายองศา ใช้งานได้หลายสถานการณ์
  6. สีสันของภาพสวย แต่งเพิ่มนิดเดียวก็ใช้ได้เลย แน่น้อน นี่ใคร? นี่ฟูจิ
  7. เซลฟี่ผิวอมชมพู กดชัตเตอร์เวลาเซลฟี่ง่ายขึ้นนิดนึง
  8. ใช้สมาร์ทโฟนเป็นรีโมตได้ ตอบสนองเร็วดี
  9. บอดี้สวยดี เราชอบ

ข้อสังเกต

  1. เซนเซอร์ยังไม่ใช่เซนเซอร์ X-Trans ฟูจิเค้าจะชอบใส่เซนเซอร์ X-Trans ไว้ในกล้องที่อยู่ซีรีส์สูงกว่านี้
  2. ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆในภาพ
  3. การโฟกัสยังเป็นแบบ Contrast Detection ซึ่งยังไม่เร็วเท่าไหร่นัก
  4. วิดีโอถึงจะ Full HD 60p แต่ด้วยการโฟกัส ส่งผลให้มันยังไม่เหมาะที่จะเป็นกล้องสำหรับงานวิดีโอ
  5. สีสันของสีผิว การให้กล้องวัดแสงและตั้งค่าต่างๆให้เอง รวมถึง Auto White Balance ยังไม่นิ่ง พอจะมีอาการเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาให้เห็นบ้างเรื่อยๆ
  6. ติดเลนส์คิตแล้วค่อนข้างเทอะทะ

เท่านี้แหละครับกับรีวิวกล้อง Fujifilm X-A3 โดยรวมๆเป็นกล้องที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชอบสีสันสไตล์ฟูจิและมีความจริงจังในการถ่ายภาพไม่มากนัก หากซื้อกล้อง Mirrorless แล้วอย่าลืมซื้อเลนส์ใหม่ๆมาใช้ด้วยล่ะ เพื่อที่จะได้ใช้กล้องได้อย่างมีศักยภาพสูงที่สุดนะจ๊ะ

เพื่อนๆสามารถติดตามบทความอื่นๆของเราได้ทาง medium.com/torcnn หรือเข้ามาพูดคุยกันได้ทาง Facebook, Twitter, Instagram และ ask.fm นะครับ รีวิวนี้ต้องขอขอบคุณจันจิ @junji_gaia ที่อุตส่าห์แว้นมาเป็นแบบเซลฟี่ให้ และพี่อีฟ @evevidesu ที่ให้เรายืมกล้องและอุตส่าห์ช่วยไปถ่ายภาพมาให้เราใช้ในรีวิวด้วย

เราขอจบการรีวิว Fujifilm X-A3 เพียงเท่านี้ก่อนเน่อ ไว้เจอกันใหม่รีวิวหน้า บ๊ายบาย

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn