รีวิว Fujifilm X-Pro2

Tor Chanon
torcnn
Published in
5 min readNov 29, 2016

--

— กล้องMirrorlessระดับพรีเมียมที่ผนวกความคลาสสิคเข้ามาเต็มเปี่ยม —

สวัสดีจ้ะเพื่อนๆ เรา @torcnn คนเดิม บทความนี้จะเป็นการรีวิวกล้องMirrorless Fujifilm X-Pro2 กล้องระดับพรีเมียมจากทางค่ายฟูจิ หลายๆคนที่ติดตามเราอาจจะไม่ค่อยเห็นเรารีวิวกล้องฟูจิเท่าไหร่ ไม่ใช่อะไรครับ พอดีเพื่อนๆรอบๆตัวไม่ค่อยมีใครใช้ฟูจิรุ่นใหม่ๆกันนัก เราเลยไม่รู้จะยืมใครมาเล่นดี 555 แต่คราวนี้เราได้ยืมกล้อง Fujifilm X-Pro2 จากน้องที่รู้จักมาถูๆไถๆเล่น ก็เลยถือโอกาสนี้ในการรีวิวซะเลย

Background

กล้อง Fujifilm X-Pro2 เป็นกล้องที่เปิดตัวในเดือนมกราคมปี2016 เปิดตัวพร้อมๆกับ Fujifilm X-E2S และ Fujifilm X70 ครับ เว้นช่วงจาก X-Pro1 รุ่นแรกตั้ง4ปีแน่ะกว่าจะได้ออกรุ่นนี้มาแทน

Fujifilm มีกล้องหลากหลายรุ่นในซีรีส์Xครับ ชื่อที่ใช้ก็จะมีทั้ง X-Pro, X-T, X-E, X-M X-A และคอมแพคอื่นๆอีกเยอะแยะเลย ซึ่งตระกูล X-Pro เนี่ยจะเป็นการผนวกคุณภาพดีๆเข้ากับความคลาสสิค เราไม่รู้ว่าเรายังควรเรียกตัวนี้ว่า “เรือธง” อยู่มั้ยเพราะเห็นเพิ่งออก X-T2 มา เอาเป็นว่า กล้องตัวนี้มีความแตกต่างจากกล้องฟูจิตัวอื่นๆมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานครับ

เซนเซอร์

เซนเซอร์ที่ใช้เป็นเซนเซอร์ใหม่ X-Trans CMOS III ขนาด APS-C(คูณ1.5) ความละเอียด24.3ล้าน(รุ่นที่แล้ว16ล้าน) เดี๋ยวนี้กล้องฟูจิยุคใหม่ๆจะใช้จำนวนพิกเซลเท่านี้กันหมดละ

พูดคำว่าเซนเซอร์ X-Trans อาจจะมีบางคนยังไม่เข้าใจ เดี๋ยวเราจะอธิบายให้คร่าวๆครับ เซนเซอร์นี้เป็นเซนเซอร์ที่พัฒนาโดยFujifilm โดยเซนเซอร์เค้าจะดีไซน์การเรียงเม็ดสีแบบกระจัดกระจาย ต่างไปจากเซนเซอร์ทั่วๆไป ซึ่งวิธีนี้ทำให้สามารถลดอาการ moiré ได้

ตัวอย่างของอาการ moiré ที่พบในกล้องที่ใช้เซนเซอร์ที่เรียงเม็ดสีแบบปกติ

อาการ moiré เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายหากเรานำกล้องที่ใช้เซนเซอร์ที่เรียงเม็ดสีแบบBayer(เรียงเม็ดสีแดงเขียวน้ำเงินเป็นPatternปกติ)ไปถ่ายอะไรที่มีลายตาข่ายซ้อนกันถี่ๆอย่างเช่นลายผ้า ภาพที่ออกมาจะปรากฎเป็นลายคลื่น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากได้ลายพวกนี้เอาไว้ในภาพ ปกติกล้องจะสามารถแก้ไขอาการแบบนี้ได้ด้วย Low-pass filter ที่มาช่วยกรองความถี่สูงๆออกไป แต่มันมักจะลดทอนคุณภาพของไฟล์และความคมชัดลงไปด้วย

เรียงสีแบบ Bayer กับ X-Trans (ภาพจาก fujirumors.com)

เจ้า X-Trans ของฟูจิก็เป็นเซนเซอร์ที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทำให้เราสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่มีอาการ moiré ในขณะที่ไม่ต้องใช้ Low-pass filter มาลดทอนคุณภาพครับ

ชัตเตอร์

มาถึงเรื่องชัตเตอร์มั่ง ชัตเตอร์มีให้ใช้งานสองแบบ ทั้งแบบ Mechanical (ความเร็วสูงสุด1/8000วินาที มีโหมดBulbให้ใช้งาน) และแบบ Electronic (ความเร็วสูงสุด1/32000วินาที) ซึ่งเมื่อเราปรับชัตเตอร์ให้เป็นแบบ Electronic ก็จะไม่มีเสียงชัตเตอร์รบกวนเลย เหมาะนำไปใช้งานในสถานการณ์ที่ Sensitive อย่างเช่นการถ่ายภาพแนวสตรีท การถ่ายสัตว์ หรือการถ่ายในที่ประชุม

ISO

ISO 200–12800 โดยสามารถ Extend ไปถึง 25600, 51200 ได้ ลักษณะของISOฟูจิจะไม่เหมือนยี่ห้อชาวบ้านชาวช่องเค้าครับ คือที่ISOเท่ากัน ภาพของเค้าจะมืดกว่าปกติ เราจะเทสเรื่องNoiseคร่าวๆให้ดูนะ

iso800
iso1600
iso3200
iso6400
iso12800

ที่ISO800–1600ยังนำไฟล์ภาพไปใช้งานได้สบายๆครับ สวยงาม ถ้าขยับขึ้นไปที่ISO3200 เรามองว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ หากขยับขึ้นไปใช้ ISO ที่สูงกว่านี้ ปริมาณเม็ดGrainก็จะหนาขึ้นเรื่อยๆตามภาพ

ไฟล์JPEG

สีสันสวยงามตามท้องเรื่อง ถ่ายมาแทบไม่ต้องปรับอะไรอีกเลยชีวิตนี้

สีJPEG

นอกจากนี้ยังมี Film Simulation ให้เลือก เผื่อว่าใครอยากได้โทนภาพแบบไหนเป็นพิเศษ โทนที่คนนิยมใช้กันก็จะเป็น Standard (แบบที่เห็นในภาพข้างบน) กับ Classic Chrome นี่แหละ

ไฟล์RAW

สามารถเลือกถ่ายRAWแบบ Uncompressed ได้ ไฟล์นึงประมาณ 50mb การนำไฟล์RAWมาดึงเล่น สามารถทำได้สนุกเลยทีเดียวครับ ตัวไฟล์มีความยืดหยุ่นใช้ได้ ไม่รู้สึกขัดใจในเรื่องนี้

แต่หากซูมดูรายละเอียดในLightroom ตัวไฟล์จะเหมือนถูกเกลี่ยเบาๆ บางรูปที่รู้สึกว่าโฟกัสเข้าแล้วแน่ๆ พอเอาไฟล์มาเปิดดู รายละเอียดที่เห็นอาจจะดูซอฟต์กว่าที่คาด บางคนที่ย้ายมาจากยี่ห้ออื่นๆอาจจะรู้สึกแปลกๆเวลาทำไฟล์นิดนึงครับ

การโฟกัส

มีแบบ Contrast Detection 273 จุด และ Phase Detection 77 จุด ความเร็วตอนใช้งานถือว่าโอเคมาก ถึงแม้จะยังไม่ได้เร็วปานสายฟ้าฟาด แต่ก็ไม่น่าหงุดหงิดครับ ความแม่นยำในการโฟกัสก็อยู่ในระดับดี

ปุ่มและการควบคุมค่าต่างๆ

สิ่งที่เป็นจุดขายของ Fujifilm X-Pro2 ก็คือเรื่องนี้นี่แหละ เพราะมันคูลมากกกกก เล่นไปกรี๊ดไป 5555 เริ่มที่ปุ่มที่อยู่ด้านบนก่อนละกัน

การปรับวงแหวนชัตเตอร์ด้านบนมันจะปรับทีละสต๊อปเลย คือ 1/2000, 1/1000, 1/500, 1/250 บลาๆ รูปแบบเหมือนๆกล้องฟิล์ม ซึ่งถ้าเราอยากจะปรับความเร็วชัตเตอร์แบบละเอียดกว่านี้ก็สามารถทำได้ด้วยวงแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์ที่แยกออกมาบริเวณด้านหน้าปุ่มชัตเตอร์

ที่วงแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์จะสามารถปรับ ISO ได้ด้วย ถ้าดึงกรอบนอกของวงแหวนขึ้นแล้วหมุน มันจะปรับค่าISOแทนการปรับความเร็วชัตเตอร์ เอาจริงๆถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้สึกว่ามันรวดเร็วกว่าการปรับISOแบบปกติ แต่ก็รู้สึกว่ามันเป็นรายละเอียดที่เท่โคตรๆเลย

ใกล้ๆกันก็จะมีปุ่มกดชัตเตอร์ ปุ่มฟังก์ชั่นFn(ตั้งเองได้) และวงแหวนชดเชยแสง เออที่ปุ่มชัตเตอร์มีscrewด้วยนะ เผื่อเราอยากจะติด Soft Release เข้าไป

ที่ด้านหน้าข้างๆเลนส์ จะเห็นDialที่ชาวฟูจิคุ้นเคยกัน อันนี้เอาไว้ปรับโหมดในการโฟกัสครับ

ต่อไป มาดูปุ่มที่ด้านหลังมั่ง รอบนอกด้านบนจะมีปุ่มปรับ View Mode กดแล้วมีผลกับช่องมองภาพและหน้าจอด้านหลัง มีปุ่มเลือกโหมดวัดแสง และปุ่มล็อกค่าแสงอยู่ข้างๆกัน รอบนอกด้านขวา มีปุ่มล็อกโฟกัส และปุ่มQไว้ปรับ Quick Menu

นอกจากนี้ที่บริเวณด้านหลัง นอกจากปุ่มใช้งานทั่วๆไป เราจะเห็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามานั่นก็คือ Joystick!

Joystick อันนี้เป็นตัวช่วยปรับตำแหน่งจุดโฟกัสที่ใช้งานง่ายมากกกกก เป็นเครื่องมือที่เราชอบที่สุดในกล้องตัวนี้เลย จากใจ เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งจุดโฟกัสได้แบบรวดเร็วสุดๆด้วยนิ้วเพียงนิ้วเดียว

ข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันแข็งบาดนิ้วไปนิด ถ้าหุ้มด้วยยางไรงี้สักหน่อยจะเพอร์เฟ็กต์สุดๆ

ช่องมองภาพ

ช่องมองภาพนี่ก็เป็นเรื่องไฮไลต์ของกล้องตัวนี้เช่นเดียวกัน เพราะนอกจากมันจะปรับใช้เป็นแบบ Electronic ได้เหมือนกล้องMirrorlessทั่วๆไป มันยังสามารถปรับช่องมองภาพให้เป็นแบบ Optical Viewfinder ได้

เมื่อเราปรับช่องมองภาพให้เป็นแบบ Optical มันจะมีกรอบอิเล็กทรอนิกส์สีขาวๆ เมื่อเราซูมเลนส์เข้าออก กรอบนี้ก็จะเล็กลงหรือขยายใหญ่ขึ้นตาม นอกจากนี้มันยังมีจอช่วยโฟกัสอยู่ด้านขวาล่าง คอยบอกว่าจุดที่เราโฟกัสมันเข้ารึยัง

สิ่งที่เกิดขึ้นใน Rangefinder ก็จะประมาณนี้แหละ มองผ่านช่องก็จะเห็นกรอบขาวๆ แล้วก็มีตัวบอกโฟกัสอยู่ต้านขวาล่าง

ใครที่ซื้อกล้องตัวนี้มา ก็น่าจะสนุกกับการเล่นช่องมองภาพครับ เพราะมันมีแค่กล้องMirrorlessตัวนี้เท่านั้นแหละที่เล่นอะไรแบบนี้ได้ เราแนะนำให้เริ่มจากลองปรับคันโยกด้านหน้าบอดี้ไปทางซ้ายหรือขวาดู คันโยกนี้จะเปลี่ยนโหมดของตัว Viewfinder ไปมาระหว่าง Electronic กับ Optical ได้

ถึงแม้ว่าการใช้งานจริงๆของกล้องตัวนี้ การใช้ช่องมองแบบ Optical คนจะไม่ได้นิยมเท่าไหร่นักเพราะมันช้ากว่าและยากกว่า แต่ฟีลมันได้อะ บางทีคนเราก็valueความรู้สึก ณ ตอนถ่ายมากกว่าเรื่องอื่นๆเนอะ

หน้าจอ

หน้าจอขนาดมาตรฐาน3นิ้ว ความละเอียด1.62ล้านจุด ทัชสกรีนไม่ได้นี่ไม่เท่าไหร่เพราะมีJoystickอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สะเทือนใจเราคือมันพลิกหน้าจอขึ้นลงไม่ได้เลย ทำให้การใช้งานในหลายๆสถานการณ์อาจจะลำบากไปสักนิด

การถ่ายภาพต่อเนื่อง

ถ่ายได้ต่อเนื่องรัวสุดที่8ภาพต่อวินาที สามารถปรับได้2ระดับ คือแบบ H กับ L

แบบ H คือ 8 ภาพต่อวินาที แบบ L คือ 3 ภาพต่อวินาที ความรัวโอเคในระดับนึงเลยครับ ใช้งานทั่วๆไปได้สบาย

วิดีโอ

ถ่ายวิดีโอได้ที่ Full HD ครับ 1080/60p เรื่องวิดีโอคงยังไม่ใช่งานหลักของมันหรอก แต่ถ้าจะเอาไปถ่ายก็ทำได้โอเคอยู่

Hot shoe

กล้องตัวนี้ไม่มีแฟลชในตัว มันจึงมี Hot shoe มาให้ติดแฟลชแยกได้ ความเร็วชัตเตอร์เร็วสุดเมื่อใช้แฟลชคือ1/250วินาที อยากเร็วกว่านี้ก็ High Speed Sync เอา

ช่องเสียบSD Card

มีช่องเสียบการ์ด2ช่อง กล้องสามารถบันทึกไฟล์RAWในช่องเสียบการ์ดที่1 และJPEGในช่องเสียบการ์ดที่2ไปพร้อมๆกันได้ด้วยครับ

Wifi

สามารถส่งภาพผ่านWifiต่อตรงกับสมาร์ทโฟนของเราได้เลยครับ

นอกจากส่งภาพแล้ว ยังสามารถใช้สมาร์ทโฟนเป็นรีโมตได้ ซึ่งความเร็วในการตอบสนองระหว่างสมาร์ทโฟนกับตัวกล้องค่อนข้างดีเลยแหละ

แบตเตอรี่

ถ้าใช้ Electronic Viewfinder ถ่ายได้250ภาพ ถ้าใช้ Optical Viewfinder ถ่ายได้ 350 ภาพ ยังไม่ค่อยอึดครับ ควรมีแบตสำรองไว้ด้วยหากจะใช้งานยาวๆ

เวลาชาร์จ จะมีที่ชาร์จแยกให้ด้วยนะ

บอดี้

มีความเป็นกล้องฟิล์มสูงมาก ดูทนทาน รูปทรงเหลี่ยมๆ ดูรวมๆแล้วมีเสน่ห์ บอดี้ตัวนี้สามารถทนอากาศหนาวๆแบบติดลบได้สบายๆครับ

น้ำหนักอยู่ที่495กรัม (รวมแบตและ SD Card) น้ำหนักถือว่าหนักอยู่พอสมควรหากเทียบกับ Mirrorless ทั่วไปในตลาด

บอดี้จะมี Grip ยื่นออกมาเล็กน้อย เหมาะใช้นิ้วเกี่ยวไว้2–3นิ้วเวลาจับถือ ไม่เหมาะสำหรับกำทั้งมือครับ เพราะมันไม่ได้ยื่นออกมามากนัก

ราคา

บอดี้ราคา 59,990 บาท ราคาเอาเรื่องอยู่ครับ 5555

ปัญหาที่พบ

ปัญหาที่พบของ Fujifilm X-Pro2 คือเรื่องแฟลร์สีม่วงครับ เกิดขึ้นได้ง่ายเวลาถ่ายย้อนแสง ในบริเวณที่เกิดแฟลร์สีม่วงเมื่อซูมดูจะเห็นเป็นลายตารางหน้าตาแปลกๆ

ถ้าเป็นสายฟรุ้งฟริ้งชอบย้อนแสง อาจจะต้องเหนื่อยกับปัญหานี้หน่อยครับ แต่ถ้าไม่สนใจก็ปล่อยผ่านได้ เอาจริงๆถ้าขยับมุมกล้องอีกหน่อยแฟลร์ก็หายไปแล้ว สำหรับปัญหาแฟลร์ม่วงนี้ในอนาคตน่าจะแก้ไขได้ด้วยเฟิร์มแวร์นะ

สรุป

สรุปให้เป็นข้อๆนะครับ

ข้อดี

  1. ถ่ายภาพได้โดยไม่มีอาการ moiré
  2. ไฟล์JPEGสีสวยงามตามสไตล์ฟูจิ
  3. ไฟล์RAWมี Dynamic Range ที่ดี สามารถเอามาดึงเล่นได้สนุกมือ
  4. ปรับอะไรต่างๆโคตรมันมือ มีความManualสูง มนุษย์สายกล้องฟิล์มน่าจะชอบ
  5. มีช่องมองภาพสไตล์ Rangefinder ให้อารมณ์ในการถ่ายที่ต่างออกไป
  6. บอดี้ดูเท่และทนมือทนตีนสุดๆ
  7. Wifiรีโมตตอบสนองไวดี

ข้อสังเกต

  1. รายละเอียดของไฟล์RAWในLightroomดูซอฟต์กว่าปกติ
  2. จอพับไม่ได้
  3. แบตหมดค่อนข้างไวถ้าใช้ Electronic Viewfinder
  4. บอดี้ค่อนข้างหนัก เว้นแต่ถ้าใครใช้กล้องฟิล์มมาก่อนอาจจะไม่รู้สึกไร
  5. ปัญหาเรื่องแฟลร์ม่วงตอนนี้ยังไม่มี firmware เข้ามาแก้ไข
  6. ราคาเอาเรื่องอยู่

เรามองว่านี่เป็นกล้องที่ออกมาสนองอารมณ์ของคนถ่าย ไม่ได้ออกมาเพื่อซัดกันด้านสเปคกับกล้องตัวอื่นๆครับ ถึงแม้มันจะไม่ใช่กล้องที่โหดที่สุด แต่เวลาที่เราเอากล้องตัวนี้ไปถ่าย เรารู้สึกสนุกกับการปรับค่าต่างๆ รู้สึกสนุกกับการเล่นกับช่องมองภาพ และแฮปปี้ที่จะพามันคล้องคอไปเที่ยว ใครที่กำลังมองหากล้องที่เล่นสนุกๆ ปรับเปลี่ยนค่ามันๆมือ ได้ความรู้สึกของการใช้กล้องRangefinder และมองข้ามข้อเสียของมันได้ เราว่า X-Pro2 เป็นคำตอบที่โอเคนะครับ

จบแล้วครับกับรีวิว Fujifilm X-Pro2 ขอบคุณน้องเนสที่ให้เรายืมกล้องที่เล่นสนุกสุดๆมาเล่นนะครับ แล้วก็ขอบคุณคุณเพื่อนจันจิ @junji_gaia ที่ช่วยมาเป็นแบบให้ด้วย เพื่อนๆสามารถเข้ามาพูดคุยกันได้เหมือนเคยที่ Facebook, Twitter, Instagram, Ask.fm และสามารถติดตามบทความอื่นๆได้ทาง medium.com/torcnn นะฮะ

ก่อนจากกัน ขอลาไปด้วยภาพจาก Fujifilm X-Pro2 ทุกภาพถ่ายด้วยเลนส์ XF35mm f1.4 และแต่งในLRนะ

บ๊ายบาย

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn