รีวิว Canon EOS R6 กล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรมประสิทธิภาพสูงสำหรับงานทุกชนิด

Tor Chanon
torcnn
Published in
8 min readSep 18, 2020

--

“กล้องฟูลเฟรมความละเอียด 20.1 ล้าน ยกเครื่องโฟกัสใหม่ จาก Canon”

สวัสดีครับ เรา @torcnn เอง ☺️

กลางปี 2020 ทาง Canon ได้เปิดตัวกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรมพร้อมกันถึง2ตัว ได้แก่ Canon EOS R5 และ Canon EOS R6 ซึ่งเป็นกล้องระดับโปรทั้งคู่ครับ ถึงแม้ Canon จะเป็นแบรนด์ที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ได้ไม่นาน แต่การออกกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรมถึง 4 ตัวในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี แสดงให้เห็นว่า Canon เอาจริงเอาจังกับทิศทางนี้มากๆ สเปคของรุ่นใหม่ยังพัฒนาขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าแบบก้าวกระโดดเลยด้วย 😵

เมื่อพูดถึงกล้อง Canon EOS R6 เอาตามสิ่งที่เราคิดเลยนะ กล้อง Canon EOS R6 คือ กล้องระดับโปรที่ถูกออกแบบมาสำหรับ “งานทั่วไป” ครับ มันไม่ได้เหมาะสำหรับงานสายใดสายหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง แต่เมื่อเรามีรูปที่เราต้องการจะถ่าย มีงานที่จะต้องทำ การหยิบ Canon EOS R6 ไปถ่ายจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะได้ภาพตามมาตรฐานดีๆ ที่เราต้องการ

ขอบคุณทาง Canon Thailand ที่ให้ Canon EOS R6 มาทดสอบครับ ใครที่อยากจะชมภาพตัวอย่างของ Canon EOS R6 เราจะรวมไว้ในส่วนท้ายของบทความนะ

Background

กล้อง Canon EOS R6 เป็นกล้องมิเรอร์เลส คือ มันไม่มีกระจกในตัวกล้องเพื่อสะท้อนช่องมองภาพครับ ส่งผลให้ขนาดตัวของมันเล็กกว่า DSLR ช่องมองภาพก็จะเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการปรับค่ากล้องก็จะส่งผลกับสิ่งที่ตาเห็นในช่องมองภาพในทันที

หากเทียบกับซีรีส์ DSLR ที่เคยมีมา กล้อง Canon EOS R6 จะถูกวางไว้ระดับเดียวกับซีรีส์ EOS 6D ซึ่งเป็นฟูลเฟรมระดับมืออาชีพที่ราคายังไม่สูงเกิน คนทั่วไปยังจับต้องได้ (ส่วน Canon EOS R5 ที่ออกมาพร้อมกันถูกจัดวางไว้ในระดับเดียวกับ EOS 5D)

Canon EOS R6 จึงเป็นกล้องระดับโปรที่ไม่ได้เหมาะสำหรับโปรเพียงอย่างเดียว แต่ลงมาจับกลุ่มผู้ใช้งานระดับทั่วไปที่ซีเรียสเรื่องการถ่ายภาพด้วย

บอดี้ ขนาด น้ำหนัก และการจับถือ

โครงข้างในทำจากแมกนีเซียมอัลลอย ส่วนด้านนอกใช้วัสดุโพลีคาร์บอเนต บอดี้มีน้ำหนัก 598 กรัม ซึ่งจัดว่าเบาอยู่ครับ นอกจากนี้บอดี้ยังทนต่อฝุ่นละอองและหยดน้ำด้วย ทำให้เอาไปลุยได้แบบหมดห่วงในระดับนึง (ไม่กันตกน้ำหรือกันน้ำสาดนะครับ อย่าเข้าใจผิด)

ขนาดอยู่ที่ 138 x 98 x 88 มม. เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนๆ ขนาดโดยรวมจะใหญ่กว่า Canon EOS RP และใกล้เคียงกับ Canon EOS R ครับ

ว่าด้วยเรื่องการจับถือ ก็คือสไตล์เดิมของ Canon มาแต่ไหนแต่ไรเลย 555 ขนาดกริปจะใหญ่และยื่นออกมาเยอะ จับเต็มไม้เต็มมือ

นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย มีที่ให้จับเต็มๆครับ ส่วนที่วางนิ้วโป้งด้านหลังจะยื่นออกมาแค่เพียงเล็กน้อย

เซนเซอร์

เซนเซอร์ที่ใช้ใน Canon EOS R6 เป็นเซนเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับกล้อง Canon EOS 1DX Mark III หรือ DSLR ซีรีส์ท็อปสุดของ Canon ครับ

เซนเซอร์มีความละเอียดที่ 20.1 ล้านพิกเซล แม้จำนวนพิกเซลจะน้อยกว่ากล้องตระกูล EOS R อื่นๆ แต่สำหรับคนที่เน้นถ่ายภาพกันเพื่อลงโซเชียล ความละเอียด 20.1 ล้านจริงๆ คือใช้ได้เหลือๆแล้ว — เว้นแต่ถ้าเราคิดจะถ่ายสตูดิโอ เน้นถ่ายภาพแนว Landscape รายละเอียดจัดๆ หรือต้องการอัดภาพเชิงพาณิชย์ขยายใหญ่ ก็ค่อยไปมอง Canon EOS R5 ที่ให้ความละเอียดที่สูงกว่านี้ได้

นอกจากนี้ จำนวนพิกเซลที่น้อยกว่า จะยิ่งทำให้ถ่ายในสภาวะแสงน้อยได้ดีกว่าด้วย มีปริมาณ Noise ที่ต่ำกว่า ใครที่เป็นสายอีเวนต์กลางคืน หรือ Cityscape อันนี้น่าจะเหมาะเป็นพิเศษครับ

ประโยชน์อีกอย่างของจำนวนพิกเซลที่น้อยกว่า ก็คือไฟล์มันเล็กดีครับ ไม่เปลืองเนื้อที่จัดเก็บ

เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองเข้าไปในเซนเซอร์ภาพ เมื่อปิดกล้อง ม่านชัตเตอร์จะปิดโดยอัตโนมัติด้วย ซึ่งในกล้อง EOS R5-R6 รุ่นใหม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ม่านชัตเตอร์ปิด หรือเปิดค้างไว้

ไฟล์ RAW

ไฟล์ RAW จะมีขนาดประมาณ 23mb จากการทดลองเล่น ความยืดหยุ่นของไฟล์จัดว่าดีครับ ดึงส่วนสว่างลงได้เยอะเลยแหละ

ส่วน Shadows นี่ยิ่งไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ ปรับได้อิสระมาก รู้สึกว่าทำได้ดีกว่า Canon EOS RP ที่เคยลองเล่นอยู่พอสมควร

ไฟล์ JPEG

ไฟล์ JPEG ในสภาวะที่แสงปกติ สีสันตั้งต้นไปต่อได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสกินโทน ปรับค่าเล็กๆ น้อยๆ อย่าง Exposure นิดหน่อยก็ลงได้เลย

HDR PQ

มาจาก High Dynamic Range Perceptual Quantization ครับ เป็นมาตรฐานใหม่ของไฟล์ภาพ HDR ซึ่งจะมี Bit Depth ที่ 10-bit (มากกว่าไฟล์ JPEG ธรรมดาที่ 8-bit) ทุกวันนี้อาจจะยังไม่ได้ใช้กันแพร่หลายนัก แต่มันอาจจะเป็นไฟล์ที่มาแทน JPEG ณ วันใดวันหนึ่งครับ

ไฟล์ภาพ HDR PQ จะมีนามสกุล HEIF เมื่อเรานำไฟล์ HEIF ไปแสดงผลบนหน้าจอ HDR มันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าไฟล์ JPEG ทั่วไป

หากค่าที่เราตั้งไว้คือถ่าย RAW + JPEG และเปิดฟังก์ชั่น HDR PQ ไว้ ภาพที่เราจะได้จะเป็น RAW + HEIF แทนนะครับ ไฟล์ HEIF ไม่สามารถส่งเข้ามือถือโดยตรง ต้องแปลงเป็น JPEG ก่อน แต่ JPEG ที่ได้จะเป็น HDR PQ-like คือเป็นไฟล์ JPEG ที่แสดงผลได้ใกล้เคียงไฟล์ HEIF

Low Light

จำนวนพิกเซลน้อยจะแสดงพลังได้มากเป็นพิเศษในสถานการณ์ที่แสงน้อยครับ ปริมาณ Noise จะต่ำแม้จะดัน ISO ขึ้นไปสูงๆ กล้อง Canon EOS R6 สอบผ่านมากๆ ด้าน Low Light นอกจากนี้ กล้องยังโฟกัสได้ในที่แสงน้อยถึงระดับ EV-6.5 อีกด้วย

ช่างภาพคนไหนชอบนอนตื่นสาย ถ่ายแต่กลางคืนส่วนใหญ่แบบเราก็น่าจะชอบตัวนี้แหละ

ISO100

ที่ ISO 800–1600 จัดว่าคลีนๆ ใช้งานเป็นปกติได้เลย ไม่ส่งผลกับงานทั่วไปแน่ๆ ส่วน Noise จะเริ่มเห็นชัดขึ้นที่ ISO 3200 แต่ยังไม่ถึงกับส่งผลโดยรวมกับภาพ

หากไฟล์ RAW ที่ถ่ายมาไม่ได้กะจะนำไปดันให้สว่างขึ้น ปริมาณ Noise มันก็จะคลีนๆแบบนี้แหละครับ แต่ถ้าต้องการที่จะดันค่าจำพวก Shadows ให้สูงขึ้น ก็จะมอง Noise เห็นได้ชัดที่ประมาณ ISO 6400

ISO12800

จริงๆกล้องตัวนี้สามารถใช้ ISO ได้ยัน 51200 เลย (102,400 Expandable) ถ้าถ่ายมาเพื่อใช้ภาพเลยก็ทำได้ครับ แต่ถ้าถ่ายมาแต่งแสงต่อหนักๆ ไม่อยากแนะนำนะ

แต่เหตุผลที่คนใช้กล้อง Canon EOS R6 ต้องดัน ISO สูงๆในสถานการณ์ทั่วไปนั้นมีไม่มากครับ อาจไม่ต้องแตะ4000ด้วยซ้ำ เพราะกล้องตัวนี้มีตัวช่วย คือกันสั่นในบอดี้!

กันสั่นในบอดี้

พัฒนาการที่ชาว Canon น่าจะสนใจเป็นเรื่องหลักๆของกล้อง Canon EOS R6 นั่นคือระบบกันสั่น 5 แกนภายในตัวกล้อง ก่อนหน้านี้ Canon จะมีระบบกันสั่นแค่ในตัวเลนส์เท่านั้นครับ แต่ทั้งรุ่น EOS R5 และ EOS R6 มันมีกันสั่นมาให้ในตัวบอดี้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้การถ่ายภาพของเราง่ายขึ้นเป็นกอง

ประสิทธิภาพของกันสั่นใน Canon EOS R6 เมื่อทำงานร่วมกับกันสั่นในตัวเลนส์ตามที่ Canon เคลมไว้คือสูงสุด 8 สต็อป*ครับ ซึ่ง 8 นี่โคตรเยอะ หมายความว่าเราจะสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลงได้มหาศาลโดยที่ภาพไม่เบลอ การที่เราสามารถใช้ชัตเตอร์ช้าๆได้ก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ค่าอื่นๆอย่างรูรับแสง และ ISO ตามมา

*ระบบป้องกันภาพสั่นไหว กล้องสามารถทำงานร่วมกับเลนส์ได้สูงสุดถึง 8 สต็อป ขึ้นอยู่กับการจัดคู่เลนส์ในแต่ละรุ่นที่เลือกใช้

เราได้ลองเอากล้องไปเทสระบบกันสั่นมา โดยภาพนี้เราตั้งค่าชัตเตอร์ที่ 3.2 วินาที ใช้ช่วงเลนส์ที่ 24mm ถือกล้องเกยกับด้านบนของกระจกที่กั้นของห้าง ไม่ใช้ขาตั้งกล้อง กลั้นหายใจและกดถ่าย ภาพที่ออกมายังนิ่งอยู่นะครับ 😲

การโฟกัส

ในฐานะที่เราเคยเล่นกล้องรุ่นก่อนหน้าทั้งรุ่น Canon EOS R และ Canon EOS RP หลังได้ลองระบบโฟกัสของ Canon EOS R6 พบว่าตัวใหม่นี้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับ เรียกได้ว่าคนละเรื่อง 👍

ระบบโฟกัสใหม่นี้ใช้ชื่อ Dual Pixel CMOS AF II การโฟกัสของ Canon EOS R6 จัดว่ารวดเร็วและแม่นยำมากๆ เมื่อกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่ง แม้ถ่ายอะไรที่เคลื่อนไหวอยู่กล้องมันแทบจะโฟกัสได้ในทันที

Canon EOS R6 ยังมีระบบติดตาม AF/AE โดยโฟกัสและวัดแสงไปพร้อมกันได้ สมมติถ่ายติดตามวัตถุอยู่แล้วแสงเปลี่ยนขึ้นมาก็ไม่ต้องกลัว

กล้อง Canon EOS R6 ยังมีระบบโฟกัสดวงตาคนแบบเดียวกับ DSLR เรือธงอย่าง EOS-1D X Mark III ที่มีอัลกอริธึมที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning สามารถตรวจจับและติดตามดวงตา ใบหน้า และศีรษะของคนในภาพ แม้คนเหล่านั้นไม่ได้หันหน้าเข้าหากล้องโดยตรง

เวลากดชัตเตอร์ลงไปครึ่งหนึ่ง มันจะขึ้นกรอบมาคาดบริเวณดวงตาเพื่อบอกว่าโฟกัสเข้าแล้วนะ ฟังก์ชั่นนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเดิมครับ เพราะแม้สัดส่วนใบหน้าคนจะเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของภาพโดยรวม กล้องมันก็จะยังโฟกัสดวงตาได้ (แต่ก่อนมันต้องขยับเข้าไปใกล้นิดนึง)

แม้แต่รูปปั้นที่มีรูปร่างคน มันก็โฟกัสดวงตาให้

นอกจากระบบโฟกัสดวงตาคน Canon EOS R6 ยังมีระบบโฟกัสดวงตาสัตว์ ซึ่งช่วยให้ถ่ายหมาแมวได้ง่ายขึ้นเยอะครับ หมดยุคจมูกชัดตาเบลอ การถ่ายภาพสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงก็จะทำได้ง่ายขึ้นด้วยระบบโฟกัสดวงตาสัตว์ที่สามารถตรวจจับและติดตามดวงตา ใบหน้า และร่างกายของสัตว์อย่างแมว สุนัข รวมถึงนกด้วย

ในเมนูจะมีให้เราเลือกว่าเราต้องการจะโฟกัสดวงตาคนหรือสัตว์เป็นหลัก ต่อให้เราเลือกโฟกัสดวงตาสัตว์เป็นหลัก หากในภาพไม่มีสัตว์แต่มีคนแทน กล้องมันก็จะวิ่งโฟกัสหาดวงตาคนให้ในภายหลังครับ

หน้าจอ

หน้าจอ LCD ขนาด3นิ้ว ความละเอียด1.62ล้านจุด เป็นหน้าจอแบบสัมผัส สามารถพลิกออกด้านข้างและหมุนได้ทุกองศา สีสันแสดงผลสดใส

แม้ว่าส่วนตัวเราจะชอบและถนัดหน้าจอแบบพลิกขึ้นลง(เพราะถ่ายภาพนิ่งเป็นหลัก) แต่จอแบบนี้เป็นรูปแบบของจอที่เหมาะกับการทำงานทุกรูปแบบครับ จะงานภาพนิ่งหรือวิดีโอก็ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้หมด จอแบบนี้ยังช่วยให้ถ่ายภาพแนวตั้งมุมเงยได้ง่ายขึ้นด้วย

เรื่องการทัชสกรีน ตอบสนองได้ทันทีทันใดเหมือนมือถือเลย บ่อยครั้งที่เราควบคุมอะไรหลายๆอย่างด้วยการจิ้มจอเอา เพราะมันสะดวกและเร็วมาก เช่น เลือกจุดโฟกัส หรือการปรับเมนูภายใน แต่ก็ต้องระมัดระวังนิดนึงเรื่องมือหรือจมูกไปแตะโดนโดยไม่ได้ตั้งใจ

ช่องมองภาพ

ช่องมองภาพเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ความละเอียด 3.69 จุด เราสามารถมองช่องมองภาพและใช้นิ้วแตะหน้าจอเพื่อขยับจุดโฟกัสไปด้วยได้

ปุ่มต่างๆและการควบคุม

ค่า Default ของกล้องตัวนี้เปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนหน้านิดหน่อย จากเดิมที่ค่าจำพวกชัตเตอร์สปีดและรูรับแสงจะอยู่บริเวณ Dial ด้านบนทั้งหมด และ ISO มาปรับด้านล่าง กลายเป็นว่า ค่ารูรับแสงถูกย้ายลงมาที่ Dial ด้านล่าง และสลับ Dial ISO ขึ้นไปไว้ด้านบน ข้าง Dial ปรับโหมดแทน

บอกตรงๆว่าพอได้ลองใช้ตามค่า Default ผมนี่งงไปเลยครับ รู้สึกต้องปรับตัวเยอะ แต่ไม่ต้องห่วงเพราะมันสามารถ Customize ปุ่มให้ ISO มาอยู่ข้างล่างเหมือนเดิมได้ จริงๆคือจะปรับเอาปุ่มไปไว้ตรงไหนก็ได้ตามความชอบของตัวเองนะ

หน้าตาของปุ่มด้านหลังจะเป็นแบบนี้ครับ จะเห็นว่ามันมี Joystick อยู่ด้านขวาของช่องมองภาพ อันนี้สำหรับใช้เลื่อนจุดโฟกัสไปมาครับ นอกจากนี้ยังมีอีกปุ่มที่น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ นั่นคือปุ่ม Magnifier (แว่นขยาย) เมื่อกดแล้วมันจะซูมเข้าไปเพื่อดูได้ว่าเราโฟกัสเข้าจริงๆรึยัง ใครต้องการงานละเอียดน่าจะต้องใช้บ่อย

มาที่ด้านหน้าบ้าง บริเวณด้านล่างของเลนส์ยังมีปุ่มอีกปุ่มนึงครับ อันนี้บางคนอาจไม่คุ้นนะ มันคือปุ่มที่เอาไว้ “ตรวจสอบความชัดลึกของภาพ” เมื่อเรากดปุ๊บ การแสดงผลมันจะชัดทั้งภาพ อันนี้เอาไว้ตรวจสอบภาพก่อนถ่ายว่า ค่าที่เราปรับมีความชัดลึกมากพอหรือยัง น่าจะเป็นประโยชน์กับสายแลนด์ สายอินทีเรีย และสายมาโครครับ

การถ่ายภาพต่อเนื่อง

การถ่ายโดยใช้ Mechanical Shutter (ชัตเตอร์กล) จะยิงได้สูงสุดที่ 12 ภาพต่อวินาที ส่วนการถ่ายด้วย Electronic Shutter จะยิงได้สูงสุดที่ 20 ภาพต่อวินาทีครับ

เพื่อการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ดียิ่งขึ้น ชัตเตอร์ยังถูกออกแบบให้ทนทานขึ้น สามารถใช้งานได้ถึง 300,000 ครั้ง

วิดีโอ

Canon EOS R6 สามารถถ่ายวิดีโอ 4K 60p(NTSC)/ 50 (PAL) โดยไม่ครอปภาพ มี Canon Log ให้ใช้งาน และสามารถแคปเฟรมจากวิดีโอออกมาเป็นภาพนิ่งได้เลย (4K Frame Grab) โดยภาพที่ได้จะมีความละเอียด 8.3 ล้าน

ในตัวกล้องจะมีฟังก์ชั่น Digital IS (Digital Image Stabilization) หรือกันสั่นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นการครอปภาพเข้าไปเพื่อลดอาการสั่นไหวครับ

การเชื่อมต่อ

มีช่องเสียบไมค์ ช่องเสียบหูฟัง มาครบ มีที่เสียบสายลั่นชัตเตอร์และช่อง USB-C ส่วนช่อง HDMI Out เป็นแบบ Micro HDMI นะครับ

สามารถส่งภาพแบบไร้สายเข้ามือถือได้ผ่านแอป Canon Camera Connect

ช่องเสียบการ์ด Dual Slot

ความดีงามอีกสิ่งคือมีช่องเสียบ SD Card 2 ช่อง ซึ่งซัพพอร์ต UHS-II ทั้งคู่ครับ สามารถเขียนข้อมูลความเร็วสูงได้ และกดเมนูลัดเพื่อสลับเปลี่ยนการ์ดได้ทันที

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบตรุ่นใหม่ LP-E6NH ความจุเพิ่มขึ้นจากเดิม (1865 mAh) เป็น 2130 mAh รองรับการชาร์จผ่าน USB ในตัวกล้องผ่าน Power Adapter PD-E1

ถ้าถามว่าจะเอาพาวเวอร์แบงก์มาเสียบได้ไหม ทำได้ครับ แต่ทาง Canon จะไม่รับผิดชอบกรณีที่เสียบพาวเวอร์แบงก์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายภายในตัวกล้องนะ Canon มีอแดปเตอร์ Power Adapter PD-E1 ขายแยกหากต้องการจะชาร์จแบตเข้าตัวกล้องโดยตรง

Canon EOS R6 ยังสามารถใช้ร่วมกับกริปเสริม BG-R10 ที่ใส่แบตได้อีก2ก้อน และช่วยให้ถ่ายภาพแนวตั้งง่ายขึ้น

อแดปเตอร์

ใครที่มีเลนส์ DSLR ของ Canon อยู่แล้ว และไม่อยากจะซื้อเลนส์เพิ่ม สามารถซื้ออแดปเตอร์แค่ตัวเดียวและใช้งานเลนส์เหล่านั้นได้ครับ เราลองใช้กับเลนส์ Canon EF 50mm f1.8 STM ความเร็วในการโฟกัสจัดว่าเร็วเลยนะ

ราคา

ราคาเปิดตัวของ Canon EOS R6 มีทั้งหมด 3 แพ็กเกจครับ

  1. EOS R6(body) ราคา 85,900 บาท
  2. EOS R6 + RF24–105mm f/4–7.1 IS STM ราคา 100,800 บาท
  3. EOS R6 + RF24–105mm f/4L IS USM ราคา 125,690 บาท

เลนส์ RF24–105mm f/4–7.1 IS STM

เป็นเลนส์ที่อยู่ในแพ็กเกจ EOS R6 + RF24–105mm f/4–7.1 IS STM ซึ่งเป็นช่วงที่เอาไว้ถ่ายได้แบบสากกะเบือยันเรือรบเลยครับ ครอบคลุมหมดแทบทุกอย่างแล้ว น้ำหนักเบา และราคาเข้าถึงได้ คือ 14,900 บาท

หากมองตัวเลขเปล่าๆ มันอาจจะไม่ดึงดูดเท่าไหร่ครับ เพราะค่ารูรับแสงมันไหลจาก 4 ไปได้ถึง 7.1 เลย แต่กับกล้อง Canon EOS R6 ที่มีกันสั่นในตัว ส่วนตัวเราเลยมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น ภาพในส่วนท้ายของรีวิวนี้ 90% ถ่ายด้วยเลนส์ตัวนี้นะ

ตัวเลนส์มีน้ำหนักเบา อยู่ที่ 395 กรัม ถ้าต้องแบกใช้งานตลอดทั้งวันก็ยังโอเค

ข้อดีของ RF24–105mm f/4–7.1 IS STM คือมันสามารถถ่ายมาโครได้ดีครับ จ่อวัตถุแบบใกล้ๆได้เลย หากเราปรับโหมดโฟกัสเป็นแบบแมนนวล (โหมด Center Focus Macro) เราจะถ่ายใกล้ได้มากยิ่งขึ้นอีก

AF: จ่อใกล้ได้ถึง 20cm (ที่ 24 mm), จ่อใกล้ได้ถึง 34cm (ที่ 105 mm)
MF: จ่อใกล้ได้ถึง 13cm (ที่ 24 mm), จ่อใกล้ได้ถึง 34cm (ที่ 105 mm)

ระยะนี้เริ่มนับจากเซนเซอร์ไปที่วัตถุนะครับ

ภาพนี้ถ่ายที่ช่วง 60mm
ภาพนี้ถ่ายที่ช่วง 85mm

ข้อสังเกตจุดเดียวของเลนส์ตัวนี้คือที่ระยะ 24mm หากไม่ผ่านการแก้ความคลาดทรงกลม มันจะมีขอบดำที่ค่อนข้างชัดเจน

สรุป

ขอกลับมาสรุปเรื่องกล้อง Canon EOS R6 อีกครั้งครับ รุ่นใหม่นี้เป็นการยกเครื่องกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรมของ Canon ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยในรอบนี้คีย์หลักๆของพัฒนาการอยู่ที่ระบบกันสั่นภายในตัวกล้องซึ่งทาง Canon ไม่เคยทำมาก่อน ระบบโฟกัสก็เป็นของใหม่หมด เร็วขึ้นมากเลย บวกกับปริมาณพิกเซลที่น้อยลงแต่ยังเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ทำให้กล้อง Canon EOS R6 จะใช้งานได้ดีแม้ในสภาวะแสงน้อย

หากถามว่ากล้อง Canon EOS R6 รุ่นนี้เหมาะกับใครเป็นพิเศษ เราอาจจะนึกหน้าออกในทันทีไม่ได้ครับ เพราะกล้องมันมีกลุ่มลูกค้าที่กว้างมาก จะเป็นกลุ่มที่ถ่ายรูปเล่นเป็นงานอดิเรก ยาวไปจนถึงระดับ Professional เลยก็ย่อมได้ มันเป็นเหมือนกล้องที่มีสเปคพร้อมแล้วทุกอย่าง ถูกออกแบบมาให้ครอบคลุมการทำงานหลายรูปแบบ ขนาดเล็ก ใช้ไม่ยาก และที่สำคัญคือไฟล์มันดีงามอยู่ครับ ซื้อไว้ใช้งานได้ยาวๆ

เราจะสรุปข้อดีและข้อสังเกตต่างๆเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจนะครับ

ข้อดี

  1. น้ำหนักเบา กริปจับถือสะดวก
  2. ปริมาณพิกเซล 20.1 ล้าน ช่วยให้สามารถถ่ายในสภาวะแสงน้อยได้ดีมาก
  3. ไฟล์ RAW มีความยืดหยุ่นสูง
  4. มีกันสั่นในตัวกล้อง ช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆได้โดยไม่เบลอ
  5. โฟกัสได้รวดเร็วมาก นอกจากโฟกัสดวงตาคน ยังโฟกัสดวงตาสัตว์ได้ด้วย
  6. ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ที่ 12 ภาพต่อวินาที (20ภาพหากเป็นชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์)
  7. วิดีโอ4Kแบบไม่ครอป
  8. ปรับควบคุมง่าย ปุ่มไม่เยอะหากเทียบกับ DSLR
  9. มีจอยสติ๊กให้ใช้งาน
  10. หน้าจอพลิกได้ครบองศา สามารถจิ้มหน้าจอเพื่อควบคุมกล้องได้เลย
  11. มีช่อง SD Card 2 ช่อง
  12. ต่ออแดปเตอร์ใช้เลนส์ Canon ได้อีกเพียบ
  13. แบตอึดขึ้นเล็กน้อย

ข้อสังเกต

  1. เซนเซอร์มีความละเอียด 20.1 ล้าน ทำให้อาจไม่เหมาะหากเน้นใช้ถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ เช่น บิลบอร์ด สำหรับการใช้งานทั่วไปก็อาจจะครอปภาพหนักๆไม่ได้
  2. ด้วยความที่หน้าจอตอบสนองเร็วมาก ทำให้จมูกหรือนิ้วชอบบังเอิญไปโดนหน้าจอบ่อยๆ
  3. จริงๆขนาดของกล้องโดยรวมไม่ได้ใหญ่ แต่มันยังมีขนาดที่ใหญ่กว่ากล้องอื่นๆในตลาดอยู่นิดหน่อย เหตุผลนึงก็คือเรื่องขนาดกริปเนี่ยแหละ
  4. การถ่าย HDR PQ ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนักสำหรับคนทั่วไปในปัจจุบัน หากเปิดใช้งาน จะเปลี่ยนเป็นการถ่ายไฟล์ HEIF แทน JPEG ทันที ซึ่งไฟล์ชนิดนี้ต้องใช้โปรแกรมและ Device ที่ซัพพอร์ต HEIF ในการเปิดดู

ตอนนี้ทาง Canon มีเพจ EOS R Thailand แล้วนะครับ เพจนี้จะอัพเดตข่าวสาร เทคนิค และกิจกรรมต่างๆ ของ EOS R System โดยเฉพาะเลย หากสนใจกล้องซีรีส์นี้ก็เข้าไปติดตามกันไว้นะ

รีวิวกล้อง Canon EOS R6 ของเราจบลงเพียงเท่านี้ครับ เนื่องจากมีเวลาอยู่กับกล้องไม่นาน(กล้องเนื้อหอมมาก คนต่อแถวเต็มไปหมด) รีวิวเลยละเอียดน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้นิดหน่อย สุดท้ายนี้ หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยให้ได้รู้ว่ากล้องเหมาะกับตัวผู้อ่านมั้ย และตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้นนะครับ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าจ้า 👋

ภาพจาก Canon EOS R6

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn