รีวิวกล้องสมาร์ทโฟน Huawei P20 Pro

Tor Chanon
torcnn
Published in
6 min readOct 6, 2018

--

“กล้องสมาร์ทโฟนเซนเซอร์ขนาดใหญ่ มาพร้อม AI ที่ฉลาดขึ้น”

สวัสดีครับ เรา @torcnn เอง 😙

ปัจจุบัน Huawei กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์สมาร์ทโฟนที่เป็นที่รู้จักที่สุดจากเทคโนโลยีกล้องของเค้าครับ แต่ละรุ่นที่เปิดตัวมาจะเห็นได้ถึงก้าวใหญ่ๆของพัฒนาการด้านกล้องตลอด ตั้งแต่ P9, P10 จนถึงตัวล่าสุดอย่าง P20, P20 Pro เลย

เราได้มีโอกาสใช้ฟังก์ชั่นกล้องของ Huawei P20 Pro มาสักพักใหญ่ๆละครับ ก็เลยจะมาเขียนรีวิวให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกัน ถึงรีวิวออกมาช้า แต่ก็มานะ555 เดี๋ยวเราจะรีวิวเป็นพาร์ทๆเช่นเคย จะได้เลือกอ่านกันง่ายๆเนอะ ขอเน้นว่ารีวิวด้านการถ่ายภาพอย่างเดียวนะครับ

เซนเซอร์

เซนเซอร์คือหัวใจของการถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม การแข่งกันเรื่องขนาดเซนเซอร์กล้องแทบไม่เคยเกิดขึ้นในตลาดสมาร์ทโฟนเลย ต่างกับตลาดกล้องดิจิตอลที่แข่งเรื่องนี้กันอย่างรุนแรงเสมอมา

Huawei ไม่คิดแบบเดิมๆครับ เค้าพรีเซ้นด้วยการเทียบขนาดเซนเซอร์ ซึ่งแปลกใหม่สำหรับตลาด สร้างความตื่นตาตื่นใจสุดๆ

ตามสเปค Huawei P20 Pro ใช้ขนาดเซนเซอร์ 1/1.7 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่นับว่าใหญ่มากๆเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดครับ ขนาดเซนเซอร์จะส่งผลให้ได้คุณภาพโดยรวมของไฟล์ที่ดีขึ้น

กล้องหลังสามตัว

สมัยก่อนถ้าจะเอาสมาร์ทโฟนกล้องคู่มาเปรียบเทียบกันก่อนซื้อ นอกจากกล้องตัวที่1 เรามักจะต้องเลือกซักทางว่าจะเอากล้องตัวที่2มาทำหน้าที่อะไร จะเอามาถ่ายภาพขาวดำหรือจะเอามาซูมดีนะ? แต่แล้ววันนึง Huawei P20 Pro ก็เข้ามาในตลาดแล้วใส่มาแม่งหมดทุกอย่างเลย

กล้องทั้ง 3 ตัวของ Huawei P20 Pro มีหน้าที่แยกกันดังนี้ครับ

กล้องตัวที่1 (ขาวดำ)

กล้อง Monochrome (ขาวดำ) สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ Huawei หรอกครับ มันมีมาหลายรุ่นละ ธรรมชาติของกล้องชนิดขาวดำมันจะให้รายละเอียดต่างๆที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับกล้องสี งานหลักของกล้องขาวดำตัวนี้คือการเอารายละเอียดไปรวมกับภาพสีๆจากกล้องอีกตัว เพื่อให้ได้ภาพสีที่มีความละเอียดสูงขึ้น หรือใครจะถ่ายภาพขาวดำเฉยๆก็ถ่ายได้ ยังไงรายละเอียดจากกล้องขาวดำของแท้มันก็ดีกว่าการถ่ายภาพสีๆแล้วมาใส่ฟิลเตอร์ขาวดำทีหลัง

กล้องตัวนี้รูรับแสงขนาด 1.6 ความละเอียด 20 ล้าน ใช้ขนาดเซนเซอร์ 1/2.78 นิ้ว ซึ่งเล็กกว่ากล้องตัวหลัก

กล้องตัวที่2 (กล้องหลักมุมกว้าง)

กล้องสี(RGB) นี่เป็นกล้องตัวหลักเลย ระยะที่ให้มาเป็น 27mm ซึ่งเป็นระยะมาตรฐานของกล้องสมาร์ทโฟนทั่วไป จัดว่าเป็นมุมกว้าง ถ่ายง่าย บริเวณขอบภาพของกล้องจะมี Perspective Distortion ให้เห็น คือยืดออกด้านข้าง สามารถใช้ประโยชน์ในการถ่าย Portrait ให้ขาดูยาวขึ้นได้

กล้องตัวนี้รูรับแสงขนาด 1.8 ความละเอียด 40 ล้าน ใส่มาเยอะไปรึเปล่านะ 555 แต่อันนี้แหละคือตัวที่ขนาดเซนเซอร์ใหญ่สุดล่ะ

กล้องตัวที่3 (เทเลโฟโต้)

กล้องช่วงเทเลโฟโต้ 80mm ใส่เข้ามาเนื่องจากว่าการซูมของกล้องสมาร์ทโฟนที่แท้มันคือการครอปครับ ยิ่งซูมมากภาพก็ยิ่งแตก Huawei P20 Pro เลยใช้วิธีการใส่กล้องระยะไกลๆเข้ามาซะเลย จะได้ไม่ต้องครอปให้เสียรายละเอียด

กล้องตัวนี้รูรับแสงขนาด 2.4 ความละเอียด 8 ล้าน เซนเซอร์เล็กลงมาเป็น 1/4.4 นิ้ว

รายละเอียดภาพ

รายละเอียดภาพจากกล้องตัวหลักของ Huawei P20 Pro จัดว่าสุดยอดครับ ลายเส้นมาเต็ม ถ่ายแล้วซูมดูยังงงอะว่าทำไมเก็บมาได้หมดขนาดนี้

กล้องให้ Contrast ค่อนข้างจัด ลายเส้นของกล้อง Huawei P20 Pro จะเข้มกว่าเจ้าอื่นๆ เหมือนมีการเติมค่า Clarity เข้าไปพอสมควร และมี Noise Reduction ด้วย อันนี้ไม่ขอบอกว่าดีหรือไม่ดีนะครับ แล้วแต่คนชอบละกัน

การซูม

การซูมด้วย Huawei P20 Pro ให้รายละเอียดที่ดีมากสำหรับกล้องสมาร์ทโฟนครับ โดยเฉพาะการซูมที่ระยะ x3 เพราะมันเป็นภาพจากกล้องจริงๆ ไม่ได้ผ่านการครอป

อันนี้คือไม่ซูมเลย ที่ระยะปกติ (27mm)

ส่วนอันนี้คือกล้องเทเลโฟโต้ 80mm (ซูม 3 เท่า)

ลายเส้นของกล้องเทเลโฟโต้จะจางกว่ากล้องตัวหลักมากพอสมควร แต่รายละเอียดยังจัดว่าดีมากๆอยู่ รายละเอียดประมาณนี้แหละเราชอบมาก ลายเส้นชัดกำลังดี เวลาซูมควรถือกล้องให้นิ่งที่สุดด้วยนะครับ

เราสามารถซูมเพิ่มเข้าไปได้อีก ที่ 135mm (ซูม 5 เท่า) แต่ความละเอียดก็จะลดลงไป

รายละเอียดเมื่อซูมนี่บอกเลยว่าสุดมากๆสำหรับกล้องสมาร์ทโฟน แต่สิ่งที่เราอยากจะติมีเพียง 2 เรื่องครับ

อย่างแรกคือลำดับขั้นของการซูม เวลาแตะหน้าจอเพื่อให้กล้องมันซูมภาพ มันจะซูมจาก x1 ไป x3 ทันที ซึ่งมันกระโดดเกินไป ระยะ 27mm กับ 80mm มันต่างกันมากๆ เราว่าน่าจะค่อยเป็นค่อยไปอย่าง x2 ก่อนก็ได้

อีกอย่างคือเรื่องการอัดวิดีโอและซูม มันจะใช้กล้องหลัก(27mm) อย่างเดียว เราไม่สามารถใช้กล้องเทเล(80mm) ในการถ่ายวิดีโอได้ครับ

Master AI

AI กลับมาอีกครั้ง จุดประสงค์ของ AI ก็เหมือนเดิมคือเพื่อทำให้กล้องสามารถปรับค่ากล้องและสีสันให้เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังถ่าย โดยมี AI ทั้งหมด 19 รูปแบบ เช่น หมา แมว อาหาร คน ผืนหญ้า ท้องฟ้า ดอกไม้ พลุ การแสดง ตัวหนังสือ และอื่นๆ

อย่างด้านล่างมันรู้ว่าถ่ายติดท้องฟ้าเยอะ มันก็ปรับท้องฟ้าให้สดใสยิ่งขึ้น

ถ่ายอะไรเขียวๆเยอะๆ มันก็จะเพิ่ม Saturation หรือความอิ่มสีของสีเขียวให้มากขึ้น

เวลาถ่ายการแสดง มันก็มี AI ช่วยปรับแสงให้เหมาะสม

และเวลาถ่ายรูปจำพวกเอกสาร AI มันก็ช่วยสแกนแล้วครอปให้เฉยเลย 55

รวมๆแล้ว AI ทำได้ดีครับ สามารถแยกแยะได้แม่นยำใช้ได้ แต่มันก็ไม่ได้เป๊ะๆแบบ 100% หรอก อย่างข้างล่างนี้มันคิดว่าน้องแมวเป็นหิมะ 555

ถ้าใครไม่อยากใช้งาน AI ก็สามารถกดกากบาทปิดเป็นจ๊อบๆไป หรือจะเข้าไปยกเลิกฟังก์ชั่นนี้ใน Camera Settings ก็ได้ครับ

การถ่ายในที่แสงน้อย

การที่เซนเซอร์มันใหญ่ก็ทำให้ได้เปรียบเรื่องการถ่ายในสภาวะแสงน้อยครับ โดยเฉพาะภาพถ่ายกลางคืนของ Huawei P20 Pro นี่สว่างเกินหน้าเกินตามากๆ อันนี้เวลาประมาณสี่ทุ่มนิดๆ เก็บก้อนเมฆมาขนาดนั้นได้ยังไงอะ

การถ่ายคน

อันนี้เราทดสอบมาแค่กล้องตัวหลัก(27mm)นะครับ ฟังก์ชั่น Portrait เท่าที่ทดลองรู้สึกว่ามันเบลอหลังได้เนียนกว่าสมัย P10 อยู่หน่อยๆ

บริเวณขอบภาพจะถูกยืดออกด้วย Perspective Distortion ทำให้เราสามารถดึงขาให้ยาวขึ้นได้ หากจัดคอมโพสขาประมาณนี้

Auto HDR

ปกติเวลาเราถ่ายภาพ มันมีโอกาสที่แสงแต่ละส่วนของภาพจะไม่เท่ากันครับ ท้องฟ้าสว่าง คนมืดไรงี้บ้าง แต่การถ่ายภาพ HDR จะทำให้เราได้รายละเอียดทั้งในส่วนสว่างและส่วนมืดกลับมา

วิธีเหรอ ก็แค่กดถ่ายออโต้ไปนั่นแหละ กล้องมันทำ HDR ให้เองเลย! อย่างภาพนี้ จริงๆบริเวณในร่มมันมืดกว่านี้มาก แต่พอถ่ายกลายเป็นสว่างเฉย

ในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไฟสลัวๆและเปิดทีวี ถ้าใช้กล้องทั่วๆไป แสงจากทีวีจะสว่างโดดออกมาจนอาจไม่เห็นรายละเอียดอะไรเลย แต่ Huawei P20 Pro นี่เก็บหมด

บริเวณที่ควรจะมีเงา Huawei P20 ก็เปิดส่วนนั้นให้สว่างขึ้นหมด

สนามบินช่วงบ่ายๆที่ด้านในกับด้านนอกมีความต่างของแสงแบบสุดๆ ก็เก็บรายละเอียดมาได้ทั้งส่วนสว่างและส่วนมืด

ทั้งหมดนี้เราไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเลยนอกจากใช้โหมดออโต้จริงๆ ถ้าจะให้ตำหนิก็คงมีเรื่องเดียว คือกล้องมันเข้าโหมดนี้ให้แบบไม่ถงไม่ถามซักคำ (แต่ผลมันก็สวยแหละ)

โหมด Pro

โหมด Pro เป็นโหมดที่เราสามารถปรับค่าความเร็วชัตเตอร์, ISO, White Balance, โหมดโฟกัส และค่าอื่นๆได้อย่างอิสระ ถ้าเราเบื่อ Auto และอยากกำหนดค่าต่างๆเอง โหมดนี้คือใช่เลย

ข้อดีอีกอย่างของโหมดนี้คือมันสามารถถ่ายเป็นไฟล์ RAW ได้ ซึ่งไฟล์ RAW คือ “ไฟล์ข้อมูลภาพ” ที่สามารถเอามาแต่งต่อได้ดีกว่าไฟล์ JPEG ทั่วๆไปครับ แต่ไฟล์ RAW บนมือถือเป็นอะไรที่คนทั่วไปเค้าไม่ค่อยถ่ายกันเพราะมันกินเนื้อที่เยอะครับ

ผลของการเอาไฟล์มาลองแต่ง คือแต่งได้อิสระมากสำหรับกล้องมือถือ รู้สึกว่าดีขึ้นกว่ารุ่น Huawei P10 ตัวก่อนหน้าด้วย สามารถดันส่วนสว่างลงได้ประมาณสต๊อปนิดๆโดยภาพยังไม่เละ

หมายเหตุ1: ไฟล์ RAW จะแยกโฟลเดอร์กับไฟล์ JPEG ช่วยให้ง่ายต่อการจัดการข้อมูลครับ

หมายเหตุ2: เราไม่สามารถซูมหรือสลับไปใช้กล้องเทเล (80mm) หากใช้โหมด Pro

วิดีโอ + การโฟกัส

ความละเอียดสูงสุดคือ 4K ครับ แต่ความละเอียดที่เราแนะนำคือ Full HD ที่ 1080p 1920 x 1080 (60fps) ให้ภาพที่ความละเอียดกำลังดีและลื่นไหลมาก

เรื่องการโฟกัสนี่จัดว่าเซ้นซีทีฟและเร็วมาก อันนี้แพนวิดีโอผ่านเสาแค่แป๊บเดียวมันก็เปลี่ยนจุดโฟกัสทันทีเลย และเมื่อแพนต่อไปเรื่อยๆมันก็เปลี่ยนจุดโฟกัสกลับได้

สโลว์โมชั่น

มีสโลว์โมชั่นให้เล่นครับ ซึ่งสโลว์มากสุดได้ที่ 960fps (ความละเอียด HD) แต่ถ้าอยากได้ละเอียดกว่านี้ (Full HD) ก็จะสโลว์ได้น้อยลงที่ 120 fps

เป็นฟังก์ชั่นที่เล่นได้เพลินๆ สนุกดีครับ กล้องมันจะเริ่มถ่ายเมื่อมันจับความเคลื่อนไหวได้เท่านั้นนะ ถ้ากดถ่ายแต่ไม่มีอะไรวิ่งผ่าน มันก็จะไม่สโลว์ให้

กันสั่น

กันสั่นของ Huawei P20 Pro กับการถ่ายภาพนิ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่ดีครับ เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆได้ อย่างภาพนี้เราใช้ความเร็วชัตเตอร์ 0.3 วินาที ซึ่งจัดว่าช้ามาก ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง ถือถ่ายโดยเอามือตั้งกับโต๊ะอาหาร

ชัตเตอร์ 0.3 วินาที

รายละเอียดก็ยังคมชัดครับ สังเกตได้ที่ตัวเลขหน้าปัดนาฬิกา

เวลาเราใช้โหมดออโต้ในเวลากลางคืน ความเร็วชัตเตอร์ที่กล้องมันชอบเลือกให้คือระหว่าง 1/17 วินาที ถึง 1/35 วินาทีครับ ซึ่งความเร็วเท่านี้ถ้าเป็นกล้องทั่วๆไปโอกาสที่ภาพจะสั่นมีสูงมาก แต่เมื่อใช้กันสั่นคุณภาพดีและชัตเตอร์ช้า ผลที่ตามมาคือความเร็วชัตเตอร์ช้าๆจะช่วยให้แสงเข้ามาในภาพได้เยอะขึ้น ไม่แปลกใจที่ภาพจากกล้อง Huawei P20 Pro มักจะสว่างเสมอ

อันนี้ถ่ายตอนประมาณ 5 ทุ่ม หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายออโต้ กล้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้เราที่ 1/17 วินาทีครับ ได้กันสั่นช่วยไว้เยอะ ภาพออกมาชัด ไม่สั่นไหว และสว่าง

อะ ขอแต่งภาพนิดหน่อย อันนี้ผ่าน Lightroom Mobile

สำหรับงานวิดีโอ คงเทียบกับภาพนิ่งไม่ได้ครับ เราเอาไปขึ้นรถสองแถวที่วิ่งบนถนนขรุขระมันก็จะสั่นๆหน่อย 55 ถ้าเราอยากให้ภาพมันนิ่งจริงๆคงต้องพึ่งพา Gimbal นะ

กล้องหน้า

กล้องหน้าของ Huawei P20 Pro ใช้เซนเซอร์ความละเอียด 24 ล้าน ขนาดรูรับแสง f2 ให้สีผิวออกชมพูๆและมีการเกลี่ยผิว (Softening) ให้อัตโนมัติ แม้เราเลือกใช้ระดับการเกลี่ยผิวที่ระดับ 0

เทียบให้คร่าวๆ อันนี้เราให้เพื่อนถ่ายเซลฟี่ให้ดูครับ ที่ระดับ 5 กับ 10 ดูเผินๆไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่ถ้าลองซูมดู ที่ระดับ 10 มันจะเกลี่ยเนียนกว่า ส่วนตัวเราว่าใช้แค่ระดับ 0–2 ก็พอ

เทสในสภาวะแสงน้อยดูบ้าง ถ่ายในคาเฟ่มืดๆ อันนี้คือสภาพประมาณที่ตาเราเห็น

เฉพาะภาพนี้ไม่ได้ถ่ายด้วยกล้องมือถือนะครับ

เมื่อถ่ายด้วยกล้องหน้า ภาพออกมาสว่างมากๆ เมื่อลองเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง ก็สว่างกว่าอย่างชัดเจนเลย มีการใช้ Noise Reduction ด้วย ใบหน้าจะถูกเกลี่ยให้เนียนขึ้น

ราคา

ราคาเริ่มต้น 27,990 บาท แต่เดี๋ยวนี้เห็นจัดโปรโมชั่นกันเรื่อยๆครับ ลดไปเยอะ

สรุป

นี่เป็นก้าวใหญ่สำหรับวงการกล้องสมาร์ทโฟน มีการใส่เซนเซอร์ขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อคุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมี AI ที่ช่วยปรับภาพตามสถานการณ์ด้วย

แต่สุดท้ายแล้วกล้อง Huawei P20 Pro มันเหมาะกับเรามั้ย? เราจะลิสต์ข้อดีและข้อสังเกตให้เป็นข้อๆ เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจนะครับ

ข้อดี

  1. กล้องหลังให้รายละเอียดโดยรวมดีมาก คอนทราสต์ค่อนข้างจัด ภาพไม่ฟุ้ง
  2. ซูมเสียรายละเอียดน้อย เพราะมันคือการสลับไปใช้กล้องอีกตัว
  3. สีสันโดยรวมสดใส ไม่ต้องแต่งเพิ่มก็สวย
  4. AI ค่อนข้างแม่นยำ ปรับแต่งภาพทั่วไปได้ในระดับดี
  5. ศักยภาพในที่แสงน้อยโดดเด่นมาก ภาพสว่างโคตรๆ
  6. Auto HDR ทำให้ได้ภาพท้องฟ้าชัดและเห็นรายละเอียดส่วนเงาชัดเจน ไม่ต้องเสียเวลามาดึงภาพ
  7. ไฟล์ RAW นำมาดึงได้ดีมาก
  8. กล้องหน้าสว่างมาก หากเทียบกับกล้องหน้าของสมาร์ทโฟนเรือธงอื่นๆ
  9. สามารถถ่ายภาพเบลอหลังได้ในโหมด Aperture และ Portrait
  10. มีฟังก์ชั่น Slow-Motion ให้เล่น

ข้อสังเกต

  1. เมื่อซูมดูรายละเอียดดีๆ จะเห็นว่าภาพมี Clarity พอสมควร ลายเส้นจะเข้ม
  2. กล้องตัวอื่นๆนอกจากตัวหลัก 27mm ไม่สามารถซูม ถ่ายโหมดPro หรือถ่ายวิดีโอ
  3. ไม่เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายให้เกิดเงาคอนทราสต์เยอะๆ เพราะมันชอบเปิดเงาให้
  4. การถ่าย Document Scan ใช้เวลาสแกนประมาณ 3–5 วินาทีต่อภาพ
  5. การถ่ายหลังเบลอดีขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับเพอร์เฟกต์ ควรเลี่ยงการถ่ายสิ่งของหรือตัวแบบที่บริเวณขอบมีความซับซ้อน
  6. ควรเลี่ยงการถ่ายจุดกำเนิดแสงเรงๆ เช่น ไฟตามถนน เพราะจะเกิดแฟลร์ชัดเจน
  7. กล้องหน้าให้รายละเอียดน้อย
  8. ตัวกล้องจะยื่นออกมาจากตัวบอดี้นิดหน่อย ควรใส่เคสเสมอเพื่อป้องกัน

เท่านี้ครับกับการรีวิวกล้องสมาร์ทโฟน Huawei P20 Pro อย่าลืมไปลองที่ร้านก่อนล่ะ ขอลาไปด้วยภาพจากกล้องตัวนี้ ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้านะครับ

ติดตามกันได้ที่ Medium , Twitter, Instagram, Facebook นะ 😁

--

--

torcnn
torcnn

Published in torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง — Photography Tips and Reviews — Instagram & Twitter : @torcnn

Tor Chanon
Tor Chanon

Written by Tor Chanon

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn