รีวิว Lomography DigitaLIZA Max เครื่องสแกนฟิล์มฉบับพกพา!
“สแกนฟิล์ม Negative ทำเองได้ ไม่ยากอย่างที่คิด!”
สวัสดีครับทุกคน เรา @torcnn เองจ้า 😂
หายหน้าหายตาไปเป็นปี ขออภัยผู้ติดตามทุกคนนะครับ ในที่สุดต่อก็มาพร้อมความตั้งใจที่จะกลับมาเขียนรีวิวละ หลุดไปอยู่จักรวาลของการพักผ่อนอยู่นานมาก 555
รอบนี้เป็นรีวิว Gadget ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพฟิล์ม นั่นก็คือเครื่องสแกนฟิล์มจากแบรนด์ Lomography ชื่อว่า DigitaLIZA Max ที่สามารถสแกนฟิล์ม 35mm และ 120mm ได้ที่บ้าน!
สแกนฟิล์มคือไรนะ?
ขอคุยพื้นฐานง่ายๆก่อน การสแกนฟิล์มคืออะไร แล้วขั้นตอนมันอยู่ตรงไหนกัน? ปกติแล้วขั้นตอนของการนำภาพออกมาจากกล้องฟิล์มมีตามนี้ครับ เริ่มแรกคือ..
- กรอฟิล์ม — หลังจากถ่ายภาพหมดม้วน ให้เรากรอฟิล์มกลับ เราจะได้กลักฟิล์มที่มีรูปของเราข้างใน กรอเสร็จปุ๊บอย่าดึงฟิล์มออกมาจากกลักตอนนี้นะ จะตีมือ
- ล้างฟิล์ม — เอากลักฟิล์มที่ได้ ไปเข้าสู่ขั้นตอนการล้างฟิล์ม ขั้นตอนนี้จะมีความละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะการโหลดฟิล์มเข้าไปในแท็งก์ล้างฟิล์ม การเตรียมสารเคมี อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็มีความวุ่นวายพอควร ดังนั้นพาร์ทนี้แนะนำว่าให้ทำโดยผู้ที่ชำนาญเท่านั้น ส่วนถ้าใครชำนาญแล้วก็ทำเองได้ครับ เมื่อล้างฟิล์มเสร็จเราจะได้ฟิล์ม Negative มา
- สแกนฟิล์ม — นี่คือขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะได้รูปครับ มันคือการเอาฟิล์ม Negative มาสแกน ซึ่ง Lomography DigitaLIZA Max จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้นี่แหละ
ลองสแกนฟิล์มด้วย Lomography DigitaLIZA Max
เครื่องสแกนฟิล์มตัวนี้มีไฟ Backlight มาให้ครับ ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือจะเปิดไฟด้วยการเสียบ Micro-USB หรือใช้ถ่าน AA 2 ก้อนก็ได้
เขาจะมี plate มาให้ ซึ่งมีขนาดสำหรับฟิล์ม 35mm และ 120mm เลย วิธีใช้ก็คือวาง plate ลงไปบน Backlight ตามขนาดฟิล์ม Negative ที่เราจะโหลดเข้าไป
จากนั้นก็ให้เราโหลดฟิล์มเข้าไปในช่องด้านข้าง
แล้วให้เราหมุน Dial สีแดงๆ ฟิล์มมันก็จะเคลื่อนเข้าไปเรื่อยๆ
ปกติฟิล์ม Negative มันจะชอบขดๆ ม้วนๆ เนอะ แต่ Lomography DigitaLIZA Max จะช่วยแผ่มันให้ตรงขึ้น การสแกนก็จะง่าย
จากนั้นเราก็เอาสมาร์ทโฟนของเรา หรือกล้องดิจิตอลถ่ายเลย! ถ้าใครมีเลนส์มาโครด้วยก็จะดีมากๆ แนะนำให้ถ่ายเป็นไฟล์ RAW นะครับ
เค้ามีขาตั้งมาให้ด้วย ใครจะติดสมาร์ทโฟนเข้ากับขาตั้งก็ได้ ขาตั้งอันนี้ดีมากในกรณีที่จะสแกนทีนึงเยอะๆ ขาตั้งสามารถปรับระดับความสูงได้ และฐานของ Lomography DigitaLIZA Max ก็สามารถเลื่อนขยับขึ้นลงซ้ายขวาตามต้องการได้
เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว เราก็จะได้ภาพ Negative ออกมาหน้าตาแบบนี้ ภาพนี้เราสแกนด้วยกล้อง Sony A6400 + เลนส์ Macro นะ
แต่งภาพ
ขั้นตอนต่อไปคือการแต่งภาพครับ ซึ่งไม่ยากขนาดนั้น เราจะขอแชร์ทริกในการแต่งภาพฟิล์ม Negative แบบบ้านๆ เริ่มจากให้เราโหลดแอปหรือโปรแกรมแต่งภาพที่มีเครื่องมือ Tone Curve ในที่นี้คือโปรแกรม Lightroom
ลองเริ่มจากการปรับ Tone Curve ให้ตรงกันข้ามจากเดิมก่อนครับ เอาหมุดทางซ้ายขึ้นไปมุมข้างบน ส่วนหมุดทางขวา ลงไปมุมข้างล่าง
ผลคือ เราจะได้ภาพแบบนี้ออกมา ซึ่งสีมันก็ยังไม่เป็นธรรมชาติอยู่ดี ไปต่อกันครับ
จากนั้นให้เราปรับ White Balance ซึ่งถ้าในภาพมีสีเทาก็จะง่ายขึ้นมาก แนะนำให้เอา “เครื่องมือปากกา White Balance” ไปจิ้มจุดที่น่าจะเป็นสีเทาในภาพ
ดูรูปข้างล่างประกอบ ในที่นี้เราเอาปากกา (วงกลมแดง) ไปจิ้มพื้นถนนสีเทา (วงม่วง) เพื่อปรับ White Balance มันก็จะได้สีของภาพที่ดูสมจริงมากกว่าเดิมเยอะเลย
เมื่อสีภาพของเราดูเข้าท่าขึ้นแล้ว ก็ให้เราเริ่มต้นปรับ Exposure Highlights Shadows และ Color Mix ได้เลย แต่มันจะมีความมึนงงนิดนึง เพราะทุกอย่างที่เราปรับมันจะตรงกันข้ามหมด! นั่นเป็นเพราะว่าเรากำลังแต่งภาพฟิล์ม Negative อยู่
ยกตัวอย่าง:
ถ้าปรับ Exposure เพิ่มไปทางขวา ภาพของเราจะกลายเป็นมืดลง
ถ้าปรับ Highlights เพิ่มไปทางขวา ภาพส่วนสว่างของเราจะมืดลง
ถ้าปรับ Shadows ลดลงไปทางซ้าย ภาพส่วนมืดของเราจะสว่างขึ้น
ทุกอย่างจะกลับตาลปัตรกันไปหมดครับ รวมถึงเรื่องสีด้วย
สีส้มตรงข้ามกับสีน้ำเงิน ถ้าปรับสีส้มใน Color Mix มันก็จะส่งผลกับสีน้ำเงินในภาพ
สีเขียวตรงข้ามกับสีชมพู Magenta ถ้าปรับสีเขียว มันก็จะส่งผลกับสีชมพูทันที
นี่แหละครับ อยากให้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง เมื่อลองแต่งเองดู จะพบว่ามันไม่ได้ยากแบบโหดหินอะไรขนาดนั้น แค่คิดกลับหลังเท่านั้นเอง
อันนี้เป็นภาพที่เราแต่งและได้ออกมาครับ หลักๆที่ทำในภาพนี้ก็คือ เพิ่ม Highlights เพิ่ม Shadows เพิ่ม Contrast แล้วก็ปรับความอิ่มสีให้เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ถ้าแต่งเสร็จแล้วก็แนะนำให้เซฟเป็น preset เอาไว้นะ การแต่งภาพสแกนจะได้ไวขึ้น
พอทำเป็นแล้วจะสนุกแบบวางไม่ได้เลยนะ สแกนไม่หยุด มาดูภาพที่สแกนด้วย iPhone 13 Pro Max กันบ้าง ดีเทลภาพอาจจะมีหายไปพอสมควรครับ แต่ก็โอเคอยู่
ความสนุกของการสแกนยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อเราเอา plate ออก ภาพที่ได้มันจะต่างออกไปทันที
เพราะว่ามันจะติดหนามเตย หรือขอบๆของฟิล์มมาด้วย
ผลที่ได้คือแบบนี้ ซึ่งถ้าเอาไปลงก็ดูเจ๋งดีอะ 555
ราคา
Lomography DigitaLIZA Max ราคาอยู่ที่ 3,280 บาทนะ เครื่องนี้มันจะมีอีกเวอร์ชันนึง ใช้ชื่อว่า Lomography DigitaLIZA+ ซึ่งจะไม่มีฐานขยับได้และไม่มีขาตั้ง ราคาก็จะเหลือ 2,398 บาท แต่สแกนได้เหมือนกันทุกอย่าง
ทั้งสองรุ่นสั่งซื้อได้ผ่านเว็บของ Lomography Thailand นะ
สรุป
การสแกนฟิล์มอาจจะเป็นเรื่องไกลที่ตัวทุกคนมาตลอด แต่ Lomo ก็ช่วยทำให้มันใกล้ตัวขึ้นครับ จะบอกว่าคนที่ไร้พื้นฐานด้านการถ่ายฟิล์มอย่างเรา พอได้มาลองทำเองแล้วสนุกดีครับ เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลา สมาธิ ความละเอียดอ่อน เหมือนการต่อโมเดลหรือจิ๊กซอว์ มันมีความรู้สึกของการลุ้นว่าภาพจะออกมาเป็นแบบไหนด้วย และถ้าสแกนเป็นจำนวนมาก ก็คุ้มกว่าการหอบฟิล์มไปร้านแน่ๆ
เท่านี้ครับกับรีวิว Lomography DigitaLIZA Max ไว้พบกันใหม่รีวิวหน้า ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการถ่ายภาพและสแกนฟิล์มนะครับ