รีวิวเลนส์ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens

Tor Chanon
torcnn
Published in
5 min readFeb 27, 2024

--

1 เลนส์ 3 คาร์แรกเตอร์ แรงบันดาลใจจากบิดาแห่ง Optics

สวัสดีครับ @torcnn นะครับ 🐒❤️

เมื่อปลายปีที่แล้วทาง Lomography Thailand เค้าแจ้งเข้ามาว่ามีเลนส์ตระกูล Art ตัวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว และอยากส่งให้เราทดสอบ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเราไปอยู่ต่างประเทศ ก็เลยพลาดโอกาสที่จะได้จับเป็นคนแรกๆครับ ดังนั้นตอนนี้กลับมาไทยเลยติดต่อเอามาเล่นซักหน่อย 😌

พอของมาถึงบ้านปุ๊บ ลองแกะจับถือดู พบว่าเลนส์ตัวนี้ build quality ดูดีมาก ลองหมุนวงแหวน คันโยกต่างๆ ก็รู้สึกว่าปรับได้ง่าย น้ำหนักไม่มากเกิน คือ 395 กรัม (อันนี้รุ่นอลูมิเนียม แต่มันจะมีอีกรุ่นนึงเป็นทองเหลือง อันนั้นจะหนัก 620 กรัม)

จับพลิกไปมา เราก็ไปสะดุดตากับรายละเอียดนึงที่อยู่ด้านข้างของตัวเลนส์ มันมีชื่อของบุคคลหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า “Hasan Ibn al-Haytham (ฮาซัน อิบน์ อัลฮัยษัม)”

ความรู้สึกแรกเลย คือ ห้ะ เอาอีกละ วิชาประวัติศาสตร์เหรอ คราวก่อน Lomography ก็ตั้งชื่อเลนส์ว่า Petzval อุทิศให้กับ Joseph Petzval ผู้คิดค้นเลนส์ Portrait ในปีค.ศ. 1840 พอมารอบนี้ อัลฮัยษัม นี่ใครอีก 555 รู้แค่ว่าต้องเป็นนักปราชญ์สักคน เพราะเคยได้ยินชื่อจากในเกม ท้ายชื่อยังมีคำว่า Cairo เมืองหลวงของอียิปต์ ต่อด้วย 1021 CE ซึ่งเป็นปีของอะไรสักอย่าง

เพื่อคลายข้อสงสัย เราเลยค้นคว้าเกี่ยวกับบุคคลนี้เพิ่มเติมมาเล่าครับ จะได้เข้าใจที่มาที่ไปของเลนส์ตัวนี้กันสักนิด 🤓

Hasan Ibn al-Haytham (ฮาซัน อิบน์ อัลฮัยษัม)

อัลฮัยษัม เป็นนักฟิสิกส์อาหรับจากยุคกลางที่มีชีวิตในช่วงปีค.ศ. 965–1040 เกิดที่เมืองบัสรา (ปัจจุบันคืออิรัก) สร้างชื่อจากความสามารถด้านคณิตศาสตร์ จนถูกเชิญไปยังกรุงไคโร อียิปต์ เพื่อจัดการปัญหาอุทกภัยจากลุ่มแม่น้ำไนล์ เพราะก่อนหน้านี้อัลฮัยษัมส่งเมลไปทูลเคลมเอาไว้ว่าจัดการปัญหานี้ได้ชัวร์

Ibn al-Haytham

พอถึงหน้างานที่ไคโร อัลฮัยษัมถึงได้รู้ว่าปัญหานี้มันแก้ยากเกินไป แต่ทำไงดี ถูกเชิญมาถึงที่แล้ว ถ้าดันไปทำให้คอลีฟะฮ์ หรือประมุขในขณะนั้นไม่พอพระทัย ก็อาจถูกสั่งประหารได้ ตำนานเล่าว่าหนทางรอดของอัลฮัยษัมคือการแกล้งบ้า (คนวิกลจริตไม่เข้าเงื่อนไขของการลงโทษตามหลักกฎหมายอิสลาม) พระองค์ได้สั่งให้นำตัวอัลฮัยษัมไปคุมขัง แต่ไม่รู้ว่าจะขอบคุณเหตุการณ์นี้ดีมั้ย เพราะการที่เขาอยู่ในห้องมืดๆ กลับสร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติที่ใหญ่หลวงมาก

ยุคสมัยก่อนหน้านั้น ชาวกรีกเป็นต้นแบบทางความคิดหลายอย่างครับ หนึ่งในนั้นมีทฤษฎีของปโตเลมีที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ

“คนเราสามารถมองเห็นได้ด้วยการปล่อยแสงออกจากดวงตาเราไปยังวัตถุ”

อัลฮัยษัมระหว่างที่ถูกคุมขัง ได้มองผ่านรูขนาดเล็กบนกำแพงที่มีแสงลอดเข้ามาในห้อง และศึกษาเกี่ยวกับการเดินทางของแสง จนค้นพบกับข้อสรุปที่แท้จริงว่า

“แสงมันตกกระทบวัตถุ แล้วมาเข้าดวงตาของเราต่างหาก”

หลังจากคอลีฟะฮ์สิ้นพระชนม์ อัลฮัยษัมจึงได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1021 ซึ่งเป็นปีที่เขาเริ่มตีพิมพ์ผลงานต่างๆ หนึ่งในนั้นเป็นตำราด้าน Optics (Kitāb al-Manāẓir) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรืออีกกว่าครึ่งสหัสวรรษให้หลัง เทคโนโลยีกล้องกับเลนส์ต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากอัลฮัยษัม แม้แต่กล้องรูเข็ม(Camera Obscura)ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่17ก่อนจะมีเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพ ก็มีต้นแบบมาจากห้องมืดๆที่อัลฮัยษัมอยู่ เขายังเป็นคนแรกๆที่อธิบายเกี่ยวกับ Anatomy ดวงตามนุษย์ ซึ่งจัดว่าล้ำสุดๆในยุคนั้นเลยด้วย

ใช่ครับ เลนส์ตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก อัลฮัยษัม บิดาแห่งทัศนศาสตร์ บุคคลสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะมีคนรู้จัก แต่อย่างน้อยเลนส์ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens ก็ทำขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับชายคนนี้ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการศึกษาของตัวเองในห้องมืดๆ ทำให้โลกพัฒนาไปได้ตั้งเท่าไหร่

ความหมายของ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens

  • คำว่า Nour (نور) ในภาษาอารบิก แปลว่า แสง ✨
  • คำว่า Triplet มาจาก “Cooke Triplet” เป็นชื่อการออกแบบเลนส์ในปี 1893 ประกอบด้วยชิ้นแก้ว 3 ชิ้น (ในที่นี้เค้าใส่ชิ้นแก้ว 5 ชิ้น แล้วแบ่งเป็น 3 กลุ่มแทน)

ทางยาวโฟกัส 64mm ขนาดรูรับแสง 2.0 ระยะโฟกัสใกล้สุด 0.6 เมตร

ไม่ต้องสืบ เกิดมาเพื่อถ่ายคนแน่นอน ช่วง 64mm อาจไม่แมสนัก แต่มันเป็นทางยาวโฟกัสที่ไม่ต้องถอยเยอะจนเกินไป คิดซะว่าขยับจาก Normal 50mm มานิดเดียวเอง ส่วนมากเวลาถ่ายก็จะใช้ระยะห่างจากตัวแบบประมาณ 1.5–3 เมตร เท่านั้นแหละ

ความคลาดทรงกลม ปัญหาที่ทุกเลนส์อยากแก้ แต่เลนส์ตัวนี้ช่างแม่ง

ใครที่เล่นกล้องมาสักพักอาจจะเคยได้ยินผ่านๆเกี่ยวกับ “ความคลาดทรงกลม” หรือ Spherical Aberration โดยย่อคือ เป็นการที่แสงหักเหผ่านเลนส์แล้วไม่ไปตกกระทบที่จุดเดียวกัน ผลคือทำให้ภาพไม่ชัด ดังนั้นผู้ผลิตเลนส์จึงพยายามทุกวิถีทางในการออกแบบเลนส์ที่มีพื้นผิวแม่นยำสูง เพื่อลด “ความคลาดทรงกลม” นี้

หนึ่งในการศึกษาของ อัลฮัยษัม คือเรื่อง “ความคลาดทรงกลม” นี่แหละ ดังนั้นเลนส์ที่เขียนชื่อ Hasan Ibn al-Haytham (ฮาซัน อิบน์ อัลฮัยษัม) อยู่ทนโท่ มันเลยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการแก้ไข “ความคลาดทรงกลม” เพื่อให้ภาพออกมาดูเพอร์เฟกต์ครับ แต่มันทำมาเพื่อ “เล่นสนุก” กับ “ความคลาดทรงกลม” นี้ต่างหาก 👳🏽‍♂️👌🏽

นั่นคือที่มาครับ ความพิเศษของ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens คือการมีกลไกที่ส่งผลกับความคลาดทรงกลมอยู่ข้างใน ทำให้เลนส์ตัวนี้สามารถปรับเปลี่ยนโบเก้ได้ทั้งหมด 3 แบบเลย

ปรับโบเก้ได้ 3 แบบ ซื้อตัวเดียว เหมือนได้เลนส์ 3 ตัว

นี่เป็นจุดแข็งมากๆ ได้เลนส์อาร์ตที่เล่นไม่เบื่อใครจะไม่ชอบ

เราสามารถปรับโบเก้ผ่านคันโยกที่อยู่บนเลนส์ ซึ่งปรับได้ทั้งหมด 3 โหมด คือ

  • Soft — โบเก้จะออกมาดูหวาน ขอบจาง หมุนวนเล็กน้อย ภาพฟุ้ง ละมุนไปทั่วทั้งเฟรม ผลจากการที่ความคลาดทรงกลมมันแทบไม่ได้ถูกแก้ไขเลย เป็นวิศวกรรมแบบปล่อยจอย 555 โหมดนี้ถ่ายให้ชัดได้ยากที่สุดในทั้ง 3 แบบ
  • Classic — เป็นรูปแบบที่คลีนที่สุด ความคมสูงมาก จะเหลือความฟุ้งอยู่บ้างเมื่อขยับออกจากจุดศูนย์กลาง โบเก้ดวงชัดขึ้น แต่ยังคงความนุ่มนวล เป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุดในทุกสถานการณ์ คนทั่วๆไปจะคุ้นเคยกับโบเก้ประมาณนี้ เพราะมันใกล้เคียงเลนส์ในยุคปัจจุบันที่สุด
  • Bubble — ได้โบเก้ที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่จะแสดงออกมาแบบทรงพลัง ขอบหนา เด่นชัด โดดเด้งออกมาจากภาพ ดังนั้นต้องระมัดระวังการเลือกพื้นหลัง เพราะอาจทำให้ภาพดูแข็ง หรือรุงรัง

ลองดูโบเก้แต่ละชนิดเทียบกันตามรูปข้างล่างครับ

Soft — Classic — Bubble (Daylight)
Soft — Classic — Bubble (Indoor lighting)

ส่วนตัวเราชอบเล่นโหมด Soft ที่สุดแล้ว ภาพมันดูหวานฟุ้งไม่เหมือนใครดี รีวิวนี้เลยกดโหมด Soft มาแบบยับๆ แต่มันเป็นโหมดที่ถ่ายยากที่สุด ถึงจะเปิดใช้งาน Focus Peaking แต่ก็ยังโฟกัสพลาดเยอะอยู่เหมือนกัน ควรส่อง Viewfinder ช่วย

Soft (Under-corrected spherical aberration)

พูดถึงโหมด Classic บ้าง หลังจากได้ลอง เรื่องที่แปลกใจเลยคือมันคมกว่าที่คิดไว้มากๆครับ ถ้าโฟกัสเข้าเนี่ย มันดูคมจนเอ๊ะเลยว่านี่เลนส์อาร์ตจริงปะนะ Quality แบบพร้อมเจองานในระดับที่จริงจังกว่า โบเก้ก็ดูสบายตา ไม่ปวดหัว เหมาะเอาไว้ตัดเลี่ยนกับอีกสองโหมดที่เหลือ

Classic (Corrected spherical aberration)

สำหรับโหมด Bubble โบเก้มันเด้งและแน่นขึ้นมาก เหมือนเอามือหมุนยุคเก่าๆมาเล่น โบเก้จะยิ่งชัดขึ้นอีกถ้าพื้นหลังเป็นใบไม้ที่มีแสงลอดผ่าน ตอนปรับเข้าโหมด Bubble แสงจะเข้ามาน้อยกว่าโหมดอื่นๆนะครับ น่าจะเพราะรูรับแสงมันบีบลงนิดนึงด้วย

Bubble (Over-corrected spherical aberration)

ย้อนแสงไหวไหม

ลองแล้ว พยายามทำให้อาร์ตแล้ว แต่ยากครับ

จะว่านี่เป็นข้อเสียที่เห็นชัดๆของเลนส์ตัวนี้เลยก็ได้ การถ่ายย้อนแสงแดดแรงๆจะทำให้ภาพถูกรบกวนชัดมาก สิ่งรบกวนมีรูปร่างเป็นเหมือนเส้นกลมๆขดๆ คุมให้สวยยาก ถ้าเพื่อนๆลองจัดคอมโพสแล้วไม่สามารถให้ศีรษะนางแบบบังจุดกำเนิดแสงได้ ก็พยายามเลี่ยงดีกว่า เว้นแต่พระอาทิตย์จะตก อันนี้พอไหว

วงแหวนแบบ Stopless

วงแหวนรูรับแสง กับวงแหวนโฟกัสของเลนส์ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens เป็นแบบ Stopless คือ ไม่มีหยุดคลิกที่แต่ละสต็อป ส่งผลให้ใช้งานได้อย่างสมูทกับวิดีโอ แต่กับคนที่เน้นถ่ายภาพนิ่งอย่างเดียว(อย่างเรา)ก็คิดว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรตรงจุดนี้ครับ

ขอหมายเหตุว่า มีจุดนึงที่รู้สึกแปลกๆ คือตำแหน่งของวงแหวนปรับรูรับแสง มันวางอยู่เหนือวงแหวนปรับโฟกัส ปกติเลนส์ทั่วไปเค้าจะเอาวงแหวนปรับโฟกัสอยู่ข้างบน เพราะมันเป็นตำแหน่งที่ปรับง่ายด้วยมือซ้าย พอสลับกันทำให้เรารู้สึกไม่ชินนิดๆ

มีเพลทรูรับแสงมาให้

ขึ้นชื่อว่าเป็นเลนส์ของ Lomography มีเหรอจะพลาด แน่นอนว่าเค้าต้องให้เพลทรูรับแสงมาด้วย ซึ่งจะทำให้โบเก้เปลี่ยนรูปร่าง แต่ในรีวิวนี้ไม่ได้เทสให้ดูนะครับ พอดีเลนส์ตัวเดโม่ไม่มีเพลทมาให้ 555

วิธีใส่เพลทรูรับแสงของเลนส์ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens จะต่างจากเลนส์ของ Lomography อื่นๆที่ผ่านมาเล็กน้อย เพราะมันจะต้องถอดเลนส์ออกก่อน แล้วใส่เพลทจากท้ายเลนส์ ข้อดีก็คือมันจะไม่หลุดออกมาง่าย ข้อเสียก็คือมันยุ่งยากกว่านิดหน่อย

Mount

มีเม้าท์สำหรับ Full-Frame mirrorless 3 system คือ

  • Sony FE
  • Canon RF
  • Nikon Z

ราคา

มี 2 ราคา ได้แก่

  • สีดำชุบอลูมินัม(Anodized Aluminum) 14,480 บาท
  • ทองเหลือง(Brass) 19,480 บาท

สั่งซื้อได้ที่เว็บของ Lomography Thaliand

สรุป

เอาความเห็นส่วนตัวก่อน แบบตรงๆเลยนะ ตัวนี้อวย เพราะชอบ ยืมเค้ามารีวิว แต่ทำไมอยากได้เองไม่รู้ 🥲

ในยุคที่ Optics พัฒนาเข้าหาความเพอร์เฟกต์ ถ่ายบ่อยๆนานๆเข้าก็รู้สึกจางๆ หมดแพชชั่นกันได้ เรื่องปกติ แต่จะให้ผันตัวไปซื้อเลนส์อาร์ตก็กลัว เพราะเลนส์แนวๆนี้มักจะเป็นเลนส์ที่มีคาร์แรกเตอร์เฉพาะตัวมากๆ กลัวถ่ายสักพักแล้วเบื่อ แต่เลนส์ Nour Triplet V 2.0/64 Bokeh Control Art Lens มันมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ตรงใจสุดๆ

ปกติเราจะไม่ค่อยเร้าให้ใครซื้อเลนส์อาร์ตเท่าไหร่หรอกครับ แต่อันนี้ใช่มาก เข้าท่าจริงๆ เหมาะเป็นเลนส์อาร์ตตัวแรก มันทำหน้าที่เป็นเลนส์ติดกล้องได้ดีด้วยนะ ด้วยความคมที่เหลือเฟือของมัน

เราจะสรุปข้อดีและข้อสังเกตให้ เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นต่อการตัดสินใจนะครับ 😎

ข้อดี

  1. เปลี่ยนโบเก้ได้ 3 รูปแบบ
  2. วงแหวนปรับรูรับแสงและโฟกัสแบบ Stopless ทำให้ปรับได้ลื่นไหล
  3. ความคมสูงมากในโหมด Classic แม้ที่รูรับแสงกว้างสุด
  4. บอดี้สวย วินเทจ build quality ดีเยี่ยม
  5. มีลูกเล่นจากเพลทรูรับแสง
  6. ราคาไม่เว่อร์ สตาร์ท 14,480 บาท ตอนแรกนึกว่าจะแพงกว่านี้
  7. ได้บัฟจากอัลฮัยษัม บิดาแห่งทัศนศาสตร์ เอาเป็นว่ามันเป็นเลนส์ที่มีที่มาที่ไปครับ ใช้แล้วรู้สึกมีคุณค่าทางใจ มีอะไรให้เล่าต่อ

ข้อสังเกต

  1. เป็นเลนส์แมนนวลโฟกัส ยิ่งเป็นช่วง 64mm จุดโฟกัสมันเลยบางนิดเดียว ควรใช้ focus peaking ให้ชิน ส่วนถ้าใครไม่ชำนาญก็นั่นล่ะครับ อาจถ่ายออกมาเหมือนมุมมองคนสายตาสั้นทุกรูป
  2. การสลับเข้าโหมดโบเก้แต่ละแบบ มันจะส่งผลให้จุดโฟกัสของภาพเปลี่ยนไปด้วย เลยต้องหมุนใหม่ทุกครั้งนะ
  3. วงแหวนปรับโฟกัสกับวงแหวนรูรับแสงอยู่ในตำแหน่งที่แปลกครับ มันสลับกัน ทำให้ต้องใช้ความเคยชินในการใช้งานพอสมควร
  4. ไม่ค่อยสู้งานย้อนแสง สิ่งรบกวนภาพค่อนข้างเยอะ

ขอตัดจบรีวิวเข้าพาร์ทดูรูปยาวๆเลยละกันครับ ส่วนใหญ่จะถ่ายโหมด Soft เป็นหลัก เพราะชอบสุด มีโหมดอื่นๆคละบ้างนิดหน่อย ซึ่งเชื่อว่าคนอ่านจะแยกออก 😄

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนสนุกกับการถ่ายภาพนะครับ

model : justmine_mali_marisar, mookworranit

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn