Photography Basics ! สอนพื้นฐานถ่ายรูปแบบง่ายๆและตอบคำถามที่พบบ่อย!

Tor Chanon
torcnn
Published in
6 min readMar 25, 2015

--

by @torcnn

สอนถ่ายรูปอย่างง่ายสำหรับมือใหม่หัดเล่นกล้อง พื้นฐานการถ่ายภาพที่ควรรู้ อยากถ่ายสวยทำยังไง จะถ่ายภาพทั้งที มารยาทที่ควรมีติดตัวไว้คืออะไร

รวมไว้ให้ในนี้แล้ว อ่านแค่10กว่านาที รู้เรื่อง!

สวัสดีครับ นี่ @torcnn เองนะ

สาเหตุที่มาเขียนในวันนี้เพราะมีคนถามกันเข้ามาเยอะมากๆ ระดับที่ตอบไม่หมดเกี่ยวกับเรื่องการใช้กล้องไม่ว่าจะถามกันมาทาง twitter, instagram หรือ ask.fm หลายๆคำถามก็มักจะเป็นคำถามซ้ำๆ ที่จริงแล้วมันก็มีในเน็ตแหละ ไม่รู้เขาอธิบายยากเกินไปรึเปล่าถึงได้แห่กันมาถามซะเยอะ เลยจะมาขอสรุปง่ายๆเอาในนี้และรวบรวมคำถามต่างๆที่เจอบ่อยๆให้อ่านกันง่ายๆครับ

คำถามที่เจอบ่อยเลยนะ ส่วนมากก็

พี่ถ่ายยังไงคะ?

ทำหน้าชัดหลังเบลอยังไงครับ?

หนูไม่มีตังซื้อเลนส์ ถ่ายเลนส์ที่ติดมากับกล้องยังไงให้หลังเบลอคะ?

หรือ อยากได้กล้องMirrorless ซื้อตัวไหนดีครับ?

เออ เดี๋ยวพี่จะอาสาช่วยบอกให้เองว่าควรทำไงกับชีวิต ถึงจะได้ดูมีไลฟ์สไตล์ที่คาวาอิแบบพิมฐาหรือฟรุ้งฟริ้งแบบแป้งโกะ แล้วไม่ต้องไปถามคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบในอินสตาแกรมช่างกล้องเขาอีก เผลอๆไปรบกวนเค้าด้วยนะนั่น เพราะฉะนั้นเดี๋ยวสอนมือใหม่เรื่องมารยาทให้ด้วยเลยละกัน จะได้ไม่โดนใครเขาว่าเอา

หมายเหตุ#1 : เราไม่ใช่คนที่ถ่ายรูปสวยเว่ออะไร แต่ก็พอจะรู้เบสิกอยู่บ้าง ทุกสิ่งที่จะนำมาแชร์คือเราเรียนรู้ด้วยตัวเองในระยะเวลา1ปีครึ่ง อยากจะshareให้เหล่ามือใหม่ได้ทราบเกี่ยวกับพื้นฐานและสิ่งต่างๆที่ควรรู้ในการถ่ายรูปนะครับ

หมายเหตุ#2 : ไม่ขอใช้ภาษาทางการนะ อยากให้ที่อ่านนี่เหมือนเพื่อนสอนกันอะ แถมขี้เกียจหาคำสวยๆมาใช้อีก

เริ่มที่ชนิดของกล้องดีกว่า ไม่ขอพูดถึงกล้องฟิล์มนะครับ

ชนิดของกล้อง

หลักๆของกล้องดิจิตอลก็จะมีอยู่สามอย่าง คือ

  1. Compact

2. Mirrorless

3. DSLR

ขออธิบายอย่างง่ายๆโง่ๆเลยนะ

Compact ก็คือกล้องจิ๋วพกพาง่ายสไตล์คุณป้ากรุ๊ปทัวร์จีนใช้อะ (แต่สมัยนี้คอมแพคเก่งๆก็มีนะ) กล้องชนิดนี้จะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้

Compact

Mirrorless คืออะไรเดี๋ยวขออธิบายหลังDSLR

DSLR พูดง่ายๆก็คือกล้องใหญ่ เห็นทั่วๆไปในมือช่างกล้องอาชีพ ตัวนี้จะเปลี่ยนเลนส์ไปมาได้ ส่วนใหญ่จะมีขนาดที่ใหญ่และหนัก

DSLR

หลายๆคนที่มาถามเราอะ คือในใจอะสนใจในตัว Mirrorless มาก่อนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะอธิบายตัวนี้ละเอียดหน่อยนะ

Mirrorless เป็นคลาสของกล้องที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Compact กับ DSLR ครับ ทุกวันนี้คนเรียกมินเล่อเหล็ดๆกันแต่ไม่รู้ว่าจริงๆความหมายของมันคืออะไร Mirrorless จริงๆมันย่อมาจาก Mirrorless Interchangable-lens camera (MILC) แปลไทยก็กล้องดิจิตอลชนิดเปลี่ยนเลนส์ได้ที่ไม่มีกระจก อ่าว หลายคนงงละไม่มีกระจกคือไรวะ ขออธิบายง่ายๆเรื่องกระจกว่า ปกติช่างกล้องที่ใช้ DSLR อะ ก่อนถ่ายเค้าก็จะส่องตาเข้าไปในช่องมองภาพ(viewfinder)ข้างหลังกล้องช่ะ กล้องDSLRมันจะมีกระจกที่สะท้อนภาพจากเลนส์ขึ้นไปยังช่องมองภาพอีกที ทีนี้ภาพที่เค้าเห็นก็จะเป็นภาพที่เลนส์เห็นนั่นเอง

ช่องมองภาพ

เนี่ย มองเข้าไปในรูเนี้ย ก็จะเห็นภาพก่อนที่จะตัดสินใจกดชัตเตอร์

สำหรับกล้อง Mirrorless มันก็จะไม่มีกระจก แค่นั้นแหละ แค่นั้นเองจริงๆ

ทาดาร์!

จบ

ภาพประกอบเสียงทาดาร์!

พี่ถ่ายยังไงคะ?

คำถามยอดฮิตนี้เป็นคำถามที่ไม่ถูกต้องอย่างแรง คือสุดยอดแห่งความกว้างเลย เจอเข้าไปนี่กูไม่รู้จะอธิบายยังไง เอาเป็นว่ามาเรียนรู้เบสิกของการถ่ายภาพคร่าวๆกันก่อนเนอะ

จะถ่ายรูปอะ มันมีคอนเซปหลักๆอยู่3อย่างที่ขาดไม่ได้เลย คือ

  1. Shutter Speed
  2. ค่า F
  3. ISO

มาเริ่มกันที่ตัวแรกก่อนเลย

1.Shutter Speed ก็คือความเร็วชัตเตอร์ ถ้าชัตเตอร์สปีดเร็ว ก็ยิ่งจับภาพที่เคลื่อนไหวเร็วได้ชัดเจน แม่นยำ ในทางตรงกันข้าม ถ้าชัตเตอร์สปีดช้า สิ่งที่เราถ่ายก็จะดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหวอยู่ และจับภาพที่เคลื่อนไหวรวดเร็วได้ยากขึ้นและเบลอขึ้นครับ

หน่วยของความเร็วชัตเตอร์เนี่ยจะเป็นวินาที หลายๆคนคงเคยเห็น 1/60 บ้าง 1/100 บ้าง ไอ้ 1/60 เนี่ย ก็คือ หนึ่งส่วนหกสิบวินาที 1/100 ก็คือ หนึ่งส่วนร้อยวินาทีนั่นเอง เราสามารถปรับให้มันช้าเป็นระดับ 3วินาที 5วินาทีได้ด้วยนะ หรือจะปรับเป็น BULB คือไม่มีกำหนดว่ากี่วินาทีก็ได้ เอาตามความพอใจของเรา

ความเร็วชัตเตอร์ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าดีหรือไม่ดี ช่างกล้องจะใช้ชัตเตอร์สปีดตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันครับ

สมมติ#1 เกิดเราอยากถ่ายนักบอลงี้ เราใช้ชัตเตอร์สปีดกลางๆค่อนไปทางช้าก็ได้ถ้าเขายืนหล่อๆให้เราถ่าย แต่ถ้าเค้าวิ่งเตะบอลอยู่ในสนาม เราก็ต้องใช้ชัตเตอร์สปีดที่เร็วขึ้นเพื่อจับโมเม้นสำคัญให้ทันครับ

สมมติ#2 เราอยากถ่ายใบพัดเครื่องบิน แล้วให้คนดูเห็นว่าใบพัดมันหมุนอยู่ เราก็ต้องปรับชัตเตอร์สปีดให้ต่ำ ในขณะที่ถ้าเราปรับชัตเตอร์สปีดให้เร็ว ใบพัดเครื่องบินมันอาจจะเหมือนกับว่าไม่ได้หมุนอยู่เลยก็ได้

รูปข้างล่าง รถคันนี้วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60 km/hr ครับ ใช้ชัตเตอร์สปีดเร็ว 1/800 หรือหนึ่งส่วนแปดร้อยของวินาที กลายเป็นว่ารูปที่ออกมามันเหมือนรถจอดอยู่เฉยๆเลย

ภาพตัวอย่างการถ่ายรูปรถที่วิ่งด้วยความเร็วด้วยชัตเตอร์สปีดเร็ว

อะ รูปต่อมา รถวิ่งด้วยความเร็วใกล้เคียงกัน แต่พอถ่ายด้วยชัตเตอร์สปีดช้าๆร่วมกับการแพนกล้องตาม เป็นไง รถดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว ไม่แข็งทื่อแบบภาพตะกี๊ อันนี้ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 หรือ หนึ่งส่วนสามสิบของวินาทีครับ

ภาพตัวอย่างการถ่ายรูปรถที่วิ่งด้วยความเร็วด้วยชัตเตอร์สปีดช้า

ชัตเตอร์สปีดนอกจากจะกำหนดความเร็วในการจับภาพแล้ว ยังมีส่วนสำคัญเกี่ยวกับเรื่องแสงด้วยนะ

ความสัมพันธ์กับแสงของค่าชัตเตอร์สปีด คือ ถ้าชัตเตอร์สปีดเร็ว ชัตเตอร์ก็จะมีเวลาให้แสงเข้ามาน้อย ชัตเตอร์สปีดช้า ก็จะมีเวลาให้แสงเข้ามาเยอะขึ้น พูดง่ายๆคือถ้าชัตเตอร์สปีดยิ่งช้า ภาพก็จะยิ่งสว่าง ถ้าชัตเตอร์สปีดยิ่งเร็ว ภาพก็จะยิ่งมืดลง อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆนะ ต้องจำเอาไว้เลย จริงๆถ้าใครเคยดูฮอร์โมนส์ซีซั่น2อะ ตอนที่หมอกสอนขวัญถ่ายรูป เขาก็อธิบายไว้ค่อนข้างชัดเจนเลยแหละ

ชัตเตอร์สปีดที่แนะนำสำหรับมือใหม่คือ ประมาณ1/60ขึ้นไปนะครับ ถ้ามือนิ่งขึ้นแล้วค่อยปรับให้ลดลงตามความเหมาะสม

สรุปตามนี้

เรื่องการเคลื่อนไหว:

(Source: http://wp.comm.ohio-state.edu/carrizo/?p=2107)

เรื่องแสง:

(Source: http://laughingkho-factory.blogspot.com/2013/09/aperture-shutter-speed-and-iso.html)

อะจบละ ไปที่ตัวต่อไปเลยนะ

2.ค่า F ก็คือ รูรับแสง หากค่าFยิ่งต่ำ ยิ่งสามารถทำหน้าชัดหลังเบลอได้ดี ภาษาช่างกล้องเค้าเรียกชัดตื้น หากค่าFยิ่งเยอะ ฉากข้างหลังก็จะชัดขึ้น หรือเบลอหลังได้น้อยลง ทำให้ชัดทั้งภาพ หรือเรียกว่าชัดลึก

ส่วนมาก เลนส์ที่ยิ่งค่าFต่ำก็จะยิ่งราคาแพงครับ แต่ถ้าFต่ำมากๆก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก และพกพายากขึ้น

(ตัวอย่างภาพข้างล่างนี่แปะอินสตาแกรมนางแบบ-นายแบบไว้ให้ด้วยนะ จะได้ไม่ต้องมาถาม 5555)

ตัวอย่างการใช้ค่าFต่ำ IG: mookworranit
ตัวอย่างการใช้ค่าFต่ำ IG: teng1
ตัวอย่างการใช้ค่าFต่ำ IG: chopluem
ตัวอย่างการใช้ค่าFต่ำ IG: pattypty

ข้างบนเป็นรูปที่ใช้ค่าFต่ำๆ เห็นปะว่ามันเบลอหลังได้เยอะ และทำให้ตัวแบบเด่นขึ้นมาจากภาพรวมทั้งหมด ค่าFต่ำๆจะเหมาะกับการใช้ถ่ายภาพบุคคลและวัตถุอื่นๆที่ผู้ถ่ายต้องการให้ดูเด่นขึ้นมาจากภาพ

ต่อมาเป็นภาพที่ใช้ค่าFสูงๆบ้าง คือ ค่าFเยอะๆเนี่ยจะทำให้ภาพเก็บรายละเอียดได้ดี จะเหมาะกับการถ่ายวิวไรงี้ที่คนถ่ายอยากจะเก็บรายละเอียดทั้งหมด เห็นปะ จากรูปมันชัดทั้งภาพเลย

ตัวอย่างการใช้ค่าFสูงๆ
ตัวอย่างการใช้ค่าFสูงๆ

ค่าFเนี่ยก็มีความสัมพันธ์กับแสงอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าลองสังเกตดีๆนะ เวลาเราปรับค่าFแล้วเราส่องเข้าไปในเลนส์อะ ถ้าค่าFต่ำ รูที่ให้แสงและภาพผ่านข้างในเลนส์มันจะกว้างมาก แต่ถ้าเราปรับค่าFสูงขึ้น รูเวลาเรามองผ่านเข้าไปในเลนส์มันจะแคบลง แคบลง แคบลงเรื่อยๆ นั่นทำให้ถ้าFต่ำ(รูรับแสงกว้าง) แสงที่เข้ามาในภาพก็จะมากขึ้น ถ้าFสูง(รูรับแสงแคบ) แสงที่เข้ามาในภาพก็จะลดลงครับ

สรุปด้วยภาพนี้เลยนะ

(Source: thephotographerblog)

อะ ทบทวนก่อน เดี๋ยวจะพูดถึงหัวข้อต่อไปแล้วนะ

3.ISO บางคนเรียกไอโซ่ บางคนเรียกไอเอสโอ จะเรียกไรก็เรียก มันเป็นตัวเลือกสุดท้ายหลังจากเราปรับ Shutter speed และ ค่าF เสร็จสิ้นครับ มันเป็นตัวช่วยที่จะมาชดเชยแสงให้กับเราในสภาวะแสงน้อย ง่ายๆเลยก็คือ ถ้าค่า ISO สูงขึ้น ภาพก็จะสว่างขึ้น ยังไงก็ตามมันก็มีข้อเสียของมันอยู่ คือถ้า ISO ยิ่งสูง noise ในภาพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย noise ก็คือความหยาบที่เข้ามารบกวนในภาพ หรือจุดๆๆที่มารบกวนในภาพอะ เดี๋ยวดูตัวอย่างจะได้นึกออก

ISO 1600

ภาพนี้ใช้ ISO ที่ 1600 จะสังเกตได้ว่า การปรับชดเชยแสงทำให้รายละเอียดของภาพเสียไป เพราะมีnoiseมารบกวน

crop ภาพให้ดู

เราเลือกใช้ISOในสภาวะแสงน้อยเท่านั้นก็พอครับ เช่น ถ่ายในบ้าน ถ่ายกลางคืน ถ้าเป็นไปได้ก็หลีกเลี่ยงการเพิ่มISOโดยไม่จำเป็น แต่อย่าถึงกับว่าไม่ยอมใช้ISOเลยเพราะกลัวภาพไม่สวยนะ ใช้ไปเถอะ แค่noiseนิดๆหน่อยๆมันก็ยังเป็นอะไรที่ยอมรับได้แหละ

เรียบร้อยแล้ว เบสิกของการถ่ายภาพมีแค่นี้เอง ทบทวนกันอีกรอบนะ

ชัตเตอร์สปีดยิ่งเร็ว ยิ่งถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ชัดเจนขึ้น และทำให้ภาพมืดลง

ชัตเตอร์สปีดยิ่งช้า ยิ่งทำให้ภาพเหมือนกำลังเคลื่อนไหว และทำให้ภาพสว่างขึ้น

ค่าFน้อย ยิ่งทำหน้าชัดหลังเบลอได้ดี และทำให้ภาพสว่างขึ้น

ค่าFมาก ยิ่งทำให้ฉากหลังชัดขึ้น และทำให้ภาพมืดลง

ISOยิ่งมาก ยิ่งทำให้กล้องไวต่อแสงมากขึ้น ภาพจะสว่างขึ้น แต่noiseมากขึ้น

จบไปกับ พี่ถ่ายยังไงคะ? แล้วนะครับ เวลาเราถ่าย เราก็แค่เลือกตั้งค่าของกล้องให้เหมาะกับสิ่งที่เราจะถ่ายแค่นั้นเองครับ ก่อนถ่ายควรจะรู้ก่อนว่า เราจะถ่ายออกมายังไง แล้วปรับกล้องให้เหมาะสม พยายามฝึกฝนให้คล่อง แล้วการถ่ายภาพจะง่ายขึ้นเยอะเลย

ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอยังไงครับ?

นี่ก็อีกคำถามโลกแตก แต่เอาจริงๆ ไม่ยากครับ ถ้าอ่านเกี่ยวกับค่าFข้างบนแล้ว เราก็มาต่อกันได้เลย อย่างที่อธิบายไปว่า ค่าFยิ่งน้อย ยิ่งทำหลังเบลอได้ดี นั่นแหละครับ นั่นคือข้อแรกสำหรับการถ่ายให้เกิดหน้าชัดหลังเบลอ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำให้เกิดหน้าชัดหลังเบลอ เพราะมันยังมีปัจจัยอื่นๆอีก เดี๋ยวจะค่อยๆอธิบายนะครับ

ปัจจัยสำคัญก็คือ

  1. ค่าFน้อย
  2. คนถ่ายอยู่ใกล้แบบ
  3. แบบอยู่ห่างจากฉากหลัง
  4. ระยะของเลนส์ไกลมากพอ
  5. วัตถุที่ถ่ายมีขนาดเล็ก
  6. ข้อแตกต่างระหว่างกล้อง full-frame และ crop sensor

เอาจริงๆอาจจะมีอีก แต่คือนึกออกเท่านี้ครับ 55555 เดี๋ยวอธิบายรายตัวเลยเนอะ

  1. ค่าFน้อย อันนี้ถ้ายังงง ให้กลับไปอ่านเบสิกข้างบนได้เลยครับ
ปรับ F ที่ 1.8 บนเลนส์ 55f1.8 CZ + Sony A7
ปรับ F ที่ 1.8 บนเลนส์ 55f1.8 CZ + Sony A7 ig: ploykamon

ถ้าจะเลือกซื้อเลนส์ไปถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ ก็ควรจะเลือกซื้อเลนส์ที่มีค่าFต่ำๆครับ เอาค่าFซัก1.8คือกำลังดีเลย หรือถ้าเงินถึงก็ไปเล่น F 1.4 หรือต่ำกว่านั้นได้เลยครับ

สรุปอีกครั้งนะครับ ยิ่งFน้อย ก็ยิ่งเบลอหลังได้ดี

2. คนถ่ายอยู่ใกล้แบบ อันนี้ลองนึกถึงความเป็นจริงนะ ถ้าสมมติเราจะถ่ายนางแบบคนนึง แล้วเค้าเสือกยืนอยู่ไกลเรามากๆงี้ นางแบบคนนั้นมันก็จะกลืนกับฉากหลังไปเลย แล้วทีนี้จะทำหน้าชัดหลังเบลอยังไง เก็ตปะ

แต่ในขณะที่ถ้าเค้าเข้าเดินเข้ามาใกล้คนถ่าย เราก็จะสามารถเน้นที่ตัวเค้าได้ดีมากยิ่งขึ้น จะทำให้ทำหน้าชัดหลังเบลอได้ดีมากขึ้นด้วย อะมาดูตัวอย่าง

เลนส์ 50 f1.8 บน nex6

รูปข้างบนนี้ถ่ายด้วย sony nex6 + 50mm f1.8 ตอนที่เราถ่าย สเต๊กจานนี้วางอยู่ใกล้เรามากๆ เห็นปะว่ามันจะช่วยให้หลังเบลอมากๆเลย แต่พอลองมาดูรูปข้างล่าง ถ้าเราถ่ายเน้นสเต๊กจานนี้เหมือนกันแต่ถอยหลังไปอีกหน่อย ลองดูที่ผักด้านหลังสเต๊กเปรียบเทียบกันนะ ว่าแบบไหนเบลอกว่ากัน

เลนส์ 50 f 1.8 บน nex6

อีกตัวอย่าง ถ้าจับนางแบบมายืนใกล้ๆมันก็จะเบลอได้เยอะ

55 f1.8 จับแบบมาวางใกล้ๆก็จะเบลอได้เยอะ

แต่ถ้าแบบอยู่ไกลออกไป ถามว่าเบลอได้มั้ย ก็พอได้ แต่จะน้อยลงพอสมควร

แบบอยู่ไกลออกไป

3. แบบอยู่ห่างจากฉากหลัง อันนี้เป็นคอมม่อนเซ้นส์ครับ ถ้าหากแบบกับฉากหลังแม่งเสือกอยู่ติดกัน แล้วมันจะไปเบลออะไรได้ล่ะ

ถ้าแบบยืนติดกับฉากหลังก็จะไม่มีฉากอะไรให้เบลอ IG: toptap_jirakit

เนี่ย ถ้าแบบยืนติดกับฉากหลังแบบภาพข้างบนนี้ เลนส์อะไรก็จะเบลอหลังไม่ได้หรอก

ต่อให้ใช้เลนส์Fต่ำแค่ไหนก็เบลอไม่ได้

แต่ถ้าแบบยืนห่างจากฉากหลัง มันก็จะมีฉากหลังให้เบลอ เห็นแมะ

ฉากหลังยิ่งอยู่ไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งเบลอได้มากเท่านั้น อันนี้คือหลักการเลย ดูง่ายๆจากรูปข้างล่างนี้ ฉากที่อยู่ใกล้ๆ(ด้านข้างของภาพ)จะเบลอน้อยกว่า พอไล่ไปถึงฉากหลังที่อยู่ไกลๆ(ตรงกลางของภาพ)มันก็จะเบลอมากกว่า

ฉากใกล้ไกล มีผลต่อการทำหลังเบลอ ig: manjettanan

4. ระยะของเลนส์ไกลมากพอ เรื่องของระยะเลนส์มีส่วนอย่างมากในการทำให้หลังเบลอไม่แพ้กับค่าFเลยครับ ยิ่งช่วงระยะเลนส์ไกลมากขึ้น ยิ่งเบลอหลังได้ดี ยกตัวอย่างนะ สมมติเรามีเลนส์ 100mm f2.8 กับเลนส์ 16mm f2.8 เทียบกันสองตัว ที่ค่าFเท่ากันที่2.8

ตัวที่เบลอหลังได้ดีกว่าคือเลนส์ 100mm f2.8 ที่มีระยะไกลกว่าครับ

อะๆ มาลองดูภาพจากเลนส์ 16mm f2.8 จะสังเกตได้ว่าเบลอหลังพอได้อยู่นะครับ แต่ก็ไม่มากนัก

16mm f2.8

ส่วนข้างล่างเป็นภาพจากเลนส์ 100mm f2.8

100mm f2.8

เบลอกว่าอย่างชัดเจนครับ

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะถ่ายให้หน้าชัดหลังเบลอมากๆ เราก็ควรจะเลือกช่วงเลนส์ให้เหมาะสมด้วย ระยะที่แนะนำเป็นช่วง 35mm หรือ 50mm ขึ้นไปนะจ๊ะ

5. วัตถุที่ถ่ายมีขนาดเล็ก คืองี้ อธิบายง่ายๆเลยนะ สมมติเราถ่ายอะไรที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น ขนมเค้ก ของเล่น ดอกไม้ เราก็จะสามารถถ่ายให้เน้นวัตถุนั้นได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันถึงเราจะเอากล้องติดเลนส์ที่เบลอหลังได้ดีชิบหายแค่ไหน ถ้าเราเอามันไปถ่ายตึกช้างตรงเมเจอร์รัชโยธินมันก็เบลออะไรไม่ได้เพราะวัตถุมันมีขนาดใหญ่เกินไป

วัตถุที่ถ่ายมีขนาดเล็ก Sony A7+55f1.8
วัตถุที่ถ่ายมีขนาดเล็ก — Sony RX100IV

6. ความแตกต่างของกล้อง full-frame และ crop sensor หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่าฟูลเฟรมกับตัวคูณ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร คืองี้ครับ อธิบายง่ายๆว่า กล้องชนิดฟูลเฟรมเป็นกล้องที่มีsensorขนาดใหญ่ซึ่งมักจะสอดรับพอดีกับภาพที่เข้ามาในเลนส์ ส่วนกล้องตัวคูณจะเป็นกล้องที่มีขนาดของsensorที่เล็กลงมา คนไทยเรียกกล้องชนิดนี้ว่า ตัวคูณ ส่วนฝรั่งจะเรียกว่า crop sensor ทำไมถึงเรียกว่า crop sensor? มาดูตัวอย่างกัน

สมมติว่านี่คือภาพจากกล้อง full-frame นะครับ

สมมติว่ารูปนี้ฟูลเฟรมนะ

ถ้ายืนอยู่ที่เดียวกัน ภาพที่ได้จากกล้อง aps-c หรือตัวคูณ 1.5 จะเป็นอย่างข้างล่างนี้

อันนี้ตัวคูณ

ทีนี้เข้าใจยังว่าทำไมฝรั่งเรียก crop sensor ก็เพราะว่าภาพที่ได้จะเหมือนถูก crop มาจากภาพ100%อีกทีนั่นเองครับ ที่คนไทยนิยมเรียกกันว่ากล้องตัวคูณก็เพราะว่า สมมติเราติดเลนส์ระยะ 50mm เข้ากับกล้องaps-cที่มีคุณสมบัติคูณ1.5(ฝรั่งเรียกcrop factor 1.5)ระยะของเลนส์จะเพิ่มขึ้นเป็น 75mm ตามคุณสมบัติของกล้องครับ ฝรั่งเขาโฟกัสกับภาพที่ถูกcrop แต่คนไทยโฟกัสกับระยะนั่นเอง ถึงเรียกต่างกัน

เท่าที่เห็นกล้องตัวคูณทั่วไปที่เป็นที่นิยมในตลาด

Sony, Fuji และ Nikon คูณ 1.5 เป็นเซนเซอร์ขนาด APS-C

Canon คูณ 1.6 (เซนเซอร์ขนาด APS-C) บางตัวคูณ1.3 (APS-H)

Olympus, Panasonic คูณ 2 เซ็นเซอร์ตัวนี้ไม่เรียก APS-C นะ จะเรียก 4/3 แทน อ่านว่า Four Thirds

Nikon คูณ 2.7 เรียกว่าเซนเซอร์ขนาด1นิ้ว

ยกตัวอย่างอีกรอบ เมื่อเลนส์ระยะ50mm ถูกคูณด้วย1.6 ก็จะกลายเป็นระยะ80mmครับ ทำให้ผู้ใช้กล้องตัวคูณต้องถอยหลังมากกว่าผู้ใช้full-frameนั่นเอง

อ้าว เมื่อเราต้องถอยหลังออกจากแบบมากขึ้นเพื่อจัดวางองค์ประกอบให้เหมือนfull-frame นั่นหมายความว่าเราจะเบลอหลังได้น้อยลงใช่มั้ย?

คำตอบคือ ใช่ครับ ตามหลักของ 2.คนถ่ายอยู่ใกล้แบบ เลย

กล้องfull-frameในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างแพงครับ แลกมาด้วยความสะดวกสบายและองค์ประกอบภาพที่สวยงามกว่า แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีราคาจะถูกลงหลังจากSonyเริ่มบุกเบิกตลาด full-frame mirrorless และมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก คนที่อยากได้ฟูลเฟรมในราคาถูกๆถ้าไม่ซื้อมือสองก็อาจจะต้องรอกันหน่อยครับ

ข้อควรระวัง: หลายๆคนมักจะคิดว่าการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ถ้ายิ่งfน้อยได้ยิ่งดี ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่เลย การถ่ายรูปคือการเล่าเรื่อง ไม่ใช่การแข่งกับคนอื่นว่าเราเบลอหลังได้มากกว่า อย่ายึดติดกับการเบลอหลังมากจนลืมว่าเราจะเล่าอะไรให้กับคนที่ดูภาพนะครับ

อะ แล้วนี่ก็เป็นการอธิบายคร่าวๆของคำถามโลกแตก ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอยังไงครับ? นะครับ มันมีหลายปัจจัยอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ทุกปัจจัยนะครับ เลือกใช้เฉพาะวิธีที่เหมาะสมกับเราที่สุดก็พอครับ

มาต่อกับที่คำถามที่พบบ่อยคำถามต่อไปเลย

หนูไม่มีตังซื้อเลนส์ ถ่ายเลนส์ที่ติดมากับกล้องยังไงให้หลังเบลอคะ?

นี่มักจะเป็นคำถามที่น้องๆหลายคนอยากรู้แต่ไม่อยากถามครับ เพราะบางคนกลัวว่ามันจะเป็นการแสดงออกว่าเราทุนน้อย แต่อย่ายอมแพ้ครับ เราต้องสู้

ถ้าอยากจะเบลอหลังด้วยเลนส์ติดกล้องล่ะ?

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า เลนส์ที่ติดมากับกล้องมักจะเป็นเลนส์ซูม ระยะค่อนข้างสั้น รูรับแสงไม่กว้างมากนัก(ค่าFประมาณ 3.5–5.6) ถ่ายกลางคืนลำบาก ข้อจำกัดที่มากมายเหล่านี้บางทีมันทำให้การถ่ายรูปของเราไม่สนุกครับ แต่เราจะทำหน้าชัดหลังเบลอสวยๆด้วยเลนส์ติดกล้องไม่ได้จริงๆเหรอ? คำตอบคือ ทำได้นะครับ มันก็พอจะมีวิธีอยู่ อยากให้อ่านหัวข้อ ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอยังไงครับ? ข้างบนให้เข้าใจก่อน แล้วถึงอ่านต่อนะ

หลักๆเลยก็คือ

  1. ซูมเข้าไป!
  2. ปรับค่าFให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้!
  3. กล้องอยู่ใกล้แบบ แบบอยู่ไกลฉากหลัง
  4. ถ่ายวัตถุขนาดเล็ก
ระยะซูม 29mm ค่าfที่4.5 เลนส์ kit 16–50 ติดกล้อง sony nex6
  1. ซูมเข้าไป! ภาพนี้ใช้ซูมไปที่ระยะ 29mm ทำให้ระยะของเลนส์เราไกลขึ้น ก็จะช่วยทำให้เบลอหลังได้ดีขึ้นด้วย แต่การซูมจะทำให้Fไหล เดี๋ยวอธิบายในหัวข้อต่อไปละกัน
  2. ปรับค่าFให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรับให้มันต่ำที่สุดเท่าที่เลนส์เราให้ได้เลยครับ แต่ต้องอธิบายก่อนว่า เมื่อเราซูมมากขึ้น ค่าFของเราก็มีโอกาสที่จะไหลเพิ่มสูงขึ้นได้ครับ เวลาเราดูเลนส์ บางคนจะงงว่า เลนส์ของเราเขียนว่า ระยะ 16–50mm f3.5–5.6 มันคืออะไร ทำไมค่าFถึงไม่ระบุไปเลยว่าเท่าไหร่ อาการแบบนี้เค้าเรียกว่า Fไหลครับ จะเกิดขึ้นเมื่อเราซูมเข้าไป คือถ้าเราซูมเข้าไปที่ระยะ50mm f ต่ำสุดเราจะเป็น 5.6 ถ้าเราไม่ซูม f ต่ำสุดจะอยู่ที่3.5 (จริงๆมันมีเลนส์ที่ซูมแล้วFไม่ไหลด้วยนะ แต่แน่นอนครับ แม่งโคตรแพง) ยังไงก็ตาม ถ้าเราใช้วิธีนี้ควบกับ ซูมเข้าไป! เราจะเบลอหลังได้มากขึ้นครับ รูปข้างบนคือเมื่อซูมเข้าไประยะ29mm f4.5จะกลายเป็นfต่ำสุดที่ใช้ได้ เห็นมั้ย ถึงค่าfจะเยอะแต่เบลอหลังไม่แพ้เลนส์fต่ำๆเลย
  3. กล้องอยู่ใกล้แบบ แบบอยู่ไกลฉากหลัง อันนี้ก็อย่างที่อธิบายไปใน ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอยังไงครับ? เนอะ กลับไปอ่านข้างบนดูได้ จากภาพนี้นะ ตอนถ่ายกล้องนี่ใกล้จนแทบจะจิ้มตุ๊กตาอยู่ละ แล้วเราก็วางฉากหลังสวยๆให้อยู่ไกลๆลิบๆ มันจะได้เบลอเยอะๆ
  4. ถ่ายวัตถุขนาดเล็ก เลนส์ติดกล้องถ้าถ่ายวัตถุเล็กๆมันก็เบลอสวยไม่แพ้เลนส์fต่ำๆหรอก จากรูปข้างบน ตุ๊กตาที่ถ่ายสูงประมาณคืบเดียว ถ้าเราใช้3หัวข้อที่ผ่านมาบวกกับการถ่ายวัตถุขนาดเล็กๆ มันก็จะช่วยให้เบลอหลังได้เยอะเลยแหละ

จริงๆเลนส์ติดกล้องสามารถถ่ายอะไรอย่างอื่นสวยได้เหมือนกันนะ อย่างเช่นการถ่ายวิวทั่วๆไปก็สวย

ถ้าถ่ายวิวกลางวัน ลองปรับค่าFให้สูงขึ้นครับเพื่อเก็บรายละเอียด

ถ้าถ่ายวิวกลางคืน ลองหาขาตั้งกล้อง แล้วปรับค่าshutter speedต่ำๆดู เคยเห็นเวลาคนถ่ายอนุสาวรีย์ชัยกลางคืนปะ แล้วในภาพมีแสงวิ่งๆบนถนนแถมไฟยังเป็นแฉกๆอะ แบบนั้นแหละ เลนส์ติดกล้องก็ทำได้ครับ

ลองไปศึกษาวิธีการถ่ายวิวจากเว็บต่างๆดูนะครับ เราไม่ขออธิบายลึก เพราะการถ่ายทิวทัศน์ไม่ใช่สายที่ถนัดครับ

จริงๆคุณสมบัติดีๆของเลนส์ติดกล้องมันยังไม่ได้จบแค่นี้หรอก ถ้าเรารู้จักเลนส์เราดี เราก็จะเข้าขากับเลนส์นั้นได้ดี รูปก็จะสวยขึ้น การฝึกฝนบ่อยๆจะทำให้เราเก่งขึ้นเอง แล้วในที่สุดเราจะรู้ครับว่าเราชอบถ่ายอะไร เป็นมือกล้องสายไหน เลนส์ต่อไปที่เราอยากจะได้ในอนาคตคือเลนส์อะไร อย่าดูถูกเลนส์ติดกล้องนะ เลนส์ติดกล้องนี่แหละจะเป็นเหมือนกับครูของเราคนนึงเลยล่ะ

มารยาทขั้นพื้นฐานและสิ่งที่ไม่ควรทำ

การจะอยู่ในสังคมไหนก็ตาม เราก็ต้องรู้จักมารยาทขั้นพื้นฐานในสังคมนั้นซะก่อน ไม่ใช่มั่วๆซั่วๆเข้าไปจะโดนด่า เดี๋ยวเราจะบอกให้เองว่าอะไรควรไม่ควร

  1. อย่าดูถูกคนที่ใช้กล้องราคาถูกกว่าเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากๆ กล้องแพงกว่าไม่ได้แปลว่าจะถ่ายออกมาสวยกว่าเสมอไป
  2. หลบให้คนอื่นเขาถ่ายบ้าง บางโอกาสอย่างเช่นงานมอเตอร์โชว์งี้ ทุกคนก็จะรุมถ่ายพริตตี้ถูกปะ ก็ใช่อยู่ว่าทุกคนอยากได้รูป แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปยืนขวางเกะกะคนอื่นเพื่อให้ได้รูปดีๆอะ พอเราถ่ายรูปเสร็จ ได้รูปดีๆแล้ว ก็เดินออกมาครับ หลบทางให้คนอื่นเค้าได้รูปดีๆบ้าง อย่าทำตัวเหมือนทัวร์จีนที่เดินไปทางไหนก็เกะกะครับ ใจเขาใจเรา
  3. เป็นมิตรกับผู้ที่เล่นกล้องเข้าไว้ การผูกมิตรกับช่างกล้องด้วยกันไว้เป็นสิ่งที่ดีมากครับ จะช่วยเกื้อกูลกันให้ฝีมือเราพัฒนามากขึ้นด้วย อย่าไปเชิดใส่ ถึงแม้บางท่านจะพูดเยอะไปหน่อย อารมณ์แบบว่านานๆทีเค้าจะเจอเพื่อนที่คุยกันรู้เรื่อง ก็ทนๆฟังหน่อยนึงครับ อย่าไปโกรธไปเกลียดเขาเลย

4. เลิกเข้าไปถามคนอื่นแบบไร้มารยาท บ่อยครั้งที่ช่างกล้องหลายๆคนเจอปัญหานี้ คือตัวเองลง Contact for work ไว้ในอินสตาแกรม แล้วมีใครไม่รู้addมา ไอ้เราก็นึกว่าจะมาจ้าง ปรากฏว่าaddมาถามเรื่องการถ่ายรูปเฉย ให้ตอบคนเดียวมันก็พอตอบได้แหละ นี่addมาเป็นสิบ ตอบไม่ไหว ทั้งๆที่หลายสิ่งหลายอย่างมันก็หาได้ในอินเตอร์เน็ต พฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่งครับ Contact for work มีไว้ติดต่องานเท่านั้น ไม่ใช่ช่องทางที่เราสามารถเข้าหาใครก็ได้ด้วยจุดประสงค์ที่ตามใจตัวเองขนาดนั้น

หน้ากูตอนมีใครก็ไม่รู้add LINEผ่าน Contact for work มาถามเรื่องกล้อง

5. วิจารณ์ภาพคนอื่นอย่างรักษาน้ำใจ ไม่มีใครชอบโดนด่าหรอก จริงป๊ะล่ะ หลีกเลี่ยงการใช้พูดคำแรงๆ อย่างเช่น กาก ห่วย โง่ แล้วชีวิตในสังคมนี้จะยืนยาวนะ

6. หยุดถามคำถามติงต๊อง ยกตัวอย่างเช่น พี่ถ่ายยังไงคะ? ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอยังไงคะ? ทุกสิ่งล้วนหาได้ในอินเตอร์เน็ต นี่ปี2016แล้ว ไปอยู่ไหนมา อย่างน้อยศึกษามานิดหน่อยแล้วค่อยถามจะดีกว่าครับ พึ่งพาตัวเองหน่อย ไม่มีใครที่จะมาคอยช่วยเหลือเราได้ทุกเรื่องหรอก

7. พิมฐาใช้กล้องอะไรคะ เก็ทฟีลปะ พี่ชื่อต่อ ไม่ได้ชื่อพิมฐา อยากรู้เรื่องของใครต้องไปถามคนนั้นเอาเองนะ

8. จะปรึกษาคนอื่น ควรรู้ความต้องการของตัวเองก่อน อันนี้เคยเจอและค่อนข้างเพลีย สมมตินะว่าเธอจะซื้อกล้องซักตัว ศึกษาเรื่องกล้องไประดับนึงแล้ว ปรากฏว่าเหลืออยู่2ช้อยส์ที่สนใจ คือ sony a5100 กับ canon 70d มือสองงี้ คือไม่ต้องไปถามคนอื่นนะว่าเอาอันไหนดี มันคนละเรื่องเลย ตัวนึงmirrorlessเบาๆพกง่าย อีกตัวDSLRจริงจังพกพาลำบากแต่โฟกัสดีงาม คือถามตัวเองดิว่าจะเอาอะไร มาถามคนอื่นถัมเพื่อคราย

อยากได้กล้องMirrorless ซื้อตัวไหนดีครับ?

อันนี้ไม่อยากพร่ำเยอะ ให้ไปศึกษาเอาเองครับ เขียนไว้ให้แล้ว เดี๋ยวจะมาอัปเดตข้อมูลให้เรื่อยๆ

สรุป

เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ทุกคนนะครับ ทุกๆคนคงได้รู้จักกล้องมากขึ้น รู้วิธีการถ่ายรูปมากขึ้น และรู้แล้วว่าจะต้องซื้อตัวไหนให้ตรงกับความต้องการของตัวเองเนอะ

การถ่ายรูปนั้นไม่ยากเลยอะ แค่ต้องมีเวลาให้มัน อย่าลืมพากล้องออกไปถ่ายรูปเยอะๆนะ การเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตไม่เท่าการปฏิบัติเองข้างนอกหรอก

ใครที่มีคำถามอะไร สามารถถามกันเข้ามาได้ทั้งทาง instagram: @torcnn, twitter: @torcnn, ask.fm: torcnn รวมถึงเฟสบุ๊กเพจ CHANON ได้เลยครับ

สำหรับบทความนี้ขอพอแค่นี้ก่อนละกัน ไว้พบกับบทความถัดๆไปนะครับ

บ๊ายบายยย

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn