รีวิว Sony A7R III กล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรมความละเอียดสูงพร้อมกันสั่น5แกน

Tor Chanon
torcnn
Published in
7 min readMar 26, 2019

--

“กล้องฟูลเฟรมฟังก์ชั่นเยี่ยมรุ่นที่3สำหรับงานภาพนิ่งระดับมืออาชีพ”

สวัสดีครับ เรา @torcnn เอง 😉

กล้อง Sony A7R II (รุ่นที่2) เป็นกล้องที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและได้รับความนิยมสูงมากๆในยุคสมัยของมันครับ แต่วิศวกรโซนี่บอกว่ามันยังดีกว่านั้นได้อีกมาก ในวันนึงเค้าก็ออก Sony A7R รุ่นที่3มา เปิดตัวตามหลังกล้องสายสปอร์ตเรือธงอย่าง Sony A9 ทำให้ Sony A7R III ได้เทคโนโลยีของ A9 บางส่วนมาด้วย

Background

Sony A7R III เป็นหนึ่งในกล้องซีรีส์ A7 ซึ่งเป็นซีรีส์ของ “กล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรม” สามารถแบ่งออกเป็น 3 ซีรีส์ย่อย ได้แก่

  • A7 เน้นความบาลานซ์ ใช้งานทั่วไป
  • A7R เน้นจำนวนพิกเซล ความละเอียดภาพสูง ขยายภาพได้ขนาดใหญ่
  • A7S เน้นขนาดพิกเซล รับแสงได้มาก ถ่ายในสภาวะแสงน้อยได้ดี

แต่ละซีรีส์ก็มีความแตกต่างกันออกไปเรื่องการใช้งาน สำหรับ A7R ที่โดดเด่นเรื่องความละเอียด ทำให้มันเหมาะที่จะใช้เป็นกล้องถ่ายงานภาพนิ่งเชิงโฆษณา เพราะมันเอามาขยายภาพได้ใหญ่มาก ต่อให้เอาไปขยายติดกำแพง มันก็ให้รายละเอียดได้อย่างครบถ้วน

เซนเซอร์

เซนเซอร์ของกล้อง Sony A7R III เป็นเซนเซอร์ CMOS ขนาด Full-Frame ความละเอียด 42.4 ล้าน แต่มีการอัปเกรดระบบประมวลผล (Bionz X) ซึ่งช่วยให้เซนเซอร์จัดการข้อมูลได้เร็วขึ้น 1.8 เท่า และเซนเซอร์ยังเป็นแบบ Back-Illuminated (BSI) ซึ่งสามารถเก็บแสงได้มากกว่าเซนเซอร์ทั่วๆไป

ตัวเซนเซอร์ไม่มีการใช้ AA-Filter (Anti-aliasing Filter) เรื่องนี้จะทำให้ภาพคมชัดมาก แต่อาจจะต้องแลกมาด้วย Moire Effect หากถ่ายอะไรที่ซับซ้อนเป็นตาข่ายอย่างเช่นเนื้อผ้านะครับ

พูดถึงความละเอียด 42.4 ล้าน เราจะเอาความละเอียดระดับนี้ไปทำอะไร? ที่แน่ๆคือมันสามารถนำภาพใหญ่ๆไปแปะกำแพง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หรือรถไฟฟ้าได้โดยที่ภาพไม่แตก (ขนาดภาพมันตั้ง 7952 x 5304) แต่นี่ไม่ใช่ข้อดีเพียงอย่างเดียวของการที่มันมีความละเอียดสูง

ข้อดีอีกอย่างคือมันสามารถนำภาพไปครอปได้เยอะ ครอปแทบตายมันก็ยังเหลือรายละเอียดอีก10-20ล้านอะ รูปครอปพวกนั้นมันก็ยังนำไปใช้งานได้ดี ไม่ขี้เหร่แม้แต่น้อย เวลาเราจัดคอมโพสด้วยกล้องตัวนี้ก็อาจจะไม่ได้ต้องเน้นมากเท่ากล้องตัวอื่นๆ หรือหากช่วงเลนส์เราซูมไกลไม่พอ เราก็ครอปเอาได้เลย

ครอปออกไปเยอะมาก แต่รายละเอียดก็ยังใช้ได้อยู่

หากต้องการรายละเอียดสูงสุด เลนส์ที่ใช้ร่วมกับมันควรจะเป็นเลนส์คุณภาพสูงอย่างเลนส์ G Master ครับ เซนเซอร์ความละเอียดสูงๆกับเลนส์ที่มีความละเอียดของพื้นผิวสูงเป็นของที่ต้องมาคู่กัน (แต่เลนส์พวกนี้ราคาไม่เบานะครับ)

หมายเหตุ: ด้วยความละเอียดของไฟล์ที่สูง ทำให้ขนาดของไฟล์ใหญ่ตามไปด้วย ดังนั้นคอมพิวเตอร์ที่ใช้แต่งหรือจัดการภาพก็ควรจะแรงในระดับหนึ่ง มิเช่นนั้นมันจะทำให้ Workflow ของเราช้าลง

Pixel Shift Multi Shoot

ถ้า 42.4 ล้านมันให้รายละเอียดดีไม่พอ กล้อง Sony A7R III มีฟังก์ชั่นใหม่คือ Pixel Shift Multi Shoot ซึ่งทำงานด้วยการถ่ายภาพ 4 ภาพเพื่อนำมารวมกัน ส่งผลให้ภาพมีรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และให้สีสันที่ดียิ่งขึ้น

ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 55mm f1.8 ครับ ทดสอบฟังก์ชั่น Pixel Shift Multi Shoot

รายละเอียดของ Pixel Shift จะดีกว่า เรื่องสีก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่ามีความต่างอยู่นิดหน่อยครับ

ฟังก์ชั่นนี้ไม่ควรถือถ่ายนะ ควรใช้ขาตั้งกล้องเสมอ และตัวแบบเองก็ห้ามเคลื่อนไหวด้วย กล้อง Sony A7R III ไม่สามารถรวมภาพเองได้ เราจะต้องเอาภาพมารวมด้วยตัวเองผ่านโปรแกรม Imaging Edge เท่านั้น (ฟรี)

ไฟล์RAW

ไฟล์ RAW ของกล้อง Sony A7R III เป็น 14-bit สามารถเลือกได้สองรูปแบบ คือ

  • บีบอัด(Compressed)
  • ไม่บีบอัด(Uncompressed)

แต่ถึงแม้จะบีบอัด(Compressed) ขนาดไฟล์ก็ใหญ่มากๆ อยู่ที่ประมาณ 43 MB ต่อ1ไฟล์ ถ้าไม่บีบอัด(Uncompressed)นี่ทะลุ 85 MB เลย ซึ่งจริงๆแล้วไฟล์แบบบีบอัด(Compressed)ก็ใช้งานได้เหลือๆแล้ว

ถ้าถ่ายไฟล์ RAW แบบ Uncompressed 11รูป จะกินเนื้อที่ประมาณ 1 GB

ถ้าถ่ายไฟล์ RAW แบบ Compressed 23รูป จะกินเนื้อที่ประมาณ 1 GB

Dynamic Range ของ Sony A7R III จัดว่าดีมาก เราสามารถดึงรายละเอียดในส่วน Highlights และ Shadows กลับมาได้เยอะเลย ช่างภาพสาย Landscape ที่ดึงภาพกันหนักๆน่าจะถูกใจกันเป็นพิเศษครับ

JPEG

ยังคงคอนเซปสีสมจริงอยู่ครับ กับผิวคนไทยพอมีอมส้มบ้าง แต่รู้สึกว่ามันส้มน้อยลงกว่ารุ่นก่อนๆนะ ในสภาวะแสงปกติ (ไม่ไปเจอแสงไฟแปลกๆหรือสีเขียวสะท้อนจากต้นไม้) เราว่าโอเคเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสีผิวของตัวแบบด้วย

สำหรับภาพอาหารก็ให้สีสันที่ดูสดดีครับ

ใครที่กะจะถ่ายท่องเที่ยวทั่วๆไป ไม่ได้กะเอาไฟล์มาดึงเยอะๆ จริงๆใช้ JPEG ก็เพียงพอนะ ให้สีสันสวยงามอยู่แล้ว

Silent Shutter

กล้อง Sony A7R III มีโหมด Silent Shooting (โหมดชัตเตอร์ไร้เสียง) ไว้ถ่ายในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น ถ่ายกีฬาสนุกเกอร์ ถ่ายเบื้องหลังกองถ่ายภาพยนตร์ หรือถ่ายสัตว์ สถานการณ์เหล่านี้ถ้ามีเสียงชัตเตอร์รบกวนอาจสร้างปัญหาได้

ISO

เพดาน Native ISO ของ Sony A7R III คือ 32,000 (รุ่น2อยู่ที่ 25,600) เราจะเทส ISO แบบคร่าวๆกับผู้ช่วยคุมะมงนะครับ ภาพแรกขอเริ่มต้นที่ ISO 100 ก่อน 😄

ISO100

ที่ ISO 100 ครอปดูได้รายละเอียดเท่านี้ เห็นฝุ่นละอองเกาะบนหน้าชัดเจน เราขอข้ามไปดูที่ ISO 800 เลยละกัน

ISO800

ถ้าเพ่งดีๆจะเห็นว่ามีความคมของเส้นลดลง แต่อยู่ในระดับน้อยมาก เอาจริงๆคือแทบไม่ต่างอะไรกับ ISO 100 เลย

ที่ ISO 1600 เริ่มมี Noise ให้เห็นลางๆ แต่ว่ากันตามตรง มันยังไม่รู้สึกรบกวนเท่าไหร่

ISO1600

ISO 3200 อันนี้เห็นชัดละว่ามี Noise แต่ก็ยังเป็นเพียงจุดขนาดเล็กๆ รายละเอียดของภาพยังอยู่ดีครับ

ISO3200

ISO 6400 เห็น Noise ชัด เม็ดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้รายละเอียดพวกฝุ่นต่างๆหายไปเยอะ

ISO6400

ISO 12800 จะเห็นว่าเม็ดใหญ่กว่า 6400 อย่างเห็นได้ชัด รายละเอียดฝุ่นละอองที่เคยมีบนหน้าคุมะมงหายเกือบหมด

ISO12800

ISO 25600 เม็ดใหญ่ รายละเอียดเส้นๆส่วนใหญ่ถูกกลบหายไป

ISO25600

ISO 32000

ISO32000

ISO 102400 อันนี้ถ่ายมาให้ดูขำๆ คงไม่มีใครใช้จริงจังหรอกใช่มั้ย 55

ISO102400

นี่ก็นับว่าสุดยอดแล้ว เพราะแม้กระทั่ง ISO 1600 ปริมาณ Noise ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ รวมๆคือดันISOได้ค่อนข้างอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่อง Noise มากนัก ใครที่กลัว Noise เราจะบอกว่ายอมดันISOสูงๆไปเหอะครับ กล้องตัวนี้ทำได้ดีจริงๆ

กันสั่น

ถึงหัวข้อก่อนหน้าเราจะพูดถึงการดันค่า ISO แต่จะว่าไปแล้ว กล้องตัวนี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องดัน ISO สูงๆเสมอไปเวลาถ่ายในสภาวะแสงน้อยครับ เพราะว่ามันมีกันสั่น 5.5 EV ที่ขี้โกงพอตัวเลย

กันสั่นดีแค่ไหน? เราเอาไปเทสถ่ายน้ำตกให้เป็นสายๆและพบว่าเราสามารถกลั้นหายใจถือถ่ายโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/6 วินาที เป็นกันสั่นบนกล้องฟูลเฟรมที่ใช้งานได้ดีจนเหลือเชื่อ ยอมใจเทคโนโลยี

หมายเหตุ: บริเวณขานายแบบเบลอ และมือนายแบบเบลอเล็กน้อย เหตุผลมาจากตัวแบบเองที่ไม่ได้นิ่ง100%

ส่วนภาพนี้กลั้นหายใจถ่ายที่ 0.5 วินาที ทำได้อยู่ครับ แต่จุดนี้อาจมีเสี่ยงเบลอบ้าง

การโฟกัส

นี่เป็นกล้องที่แทบจะไม่ต้องกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งเดียวเพื่อหาโฟกัสครับ กดชัตเตอร์ลงไปเต็มๆได้เลยเพราะเราค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะโฟกัสเข้า ใช้เวลาหาโฟกัสน้อยมาก

Sony A7R III มีระบบโฟกัสทั้งแบบ Contrast Detection และ Phase Detection โดย

  • เพิ่มจุดโฟกัสแบบ Contrast Detection ให้เยอะขึ้นเป็น 425 จุด จากเดิมที่รุ่น2มีระบบโฟกัสชนิดนี้ที่ 25 จุด
  • เพิ่มจุดโฟกัสแบบ Phase Detection ให้เยอะขึ้นเป็น 425 จุด จากเดิมที่รุ่น2ที่มีจุดโฟกัสชนิดนี้ที่ 399 จุด โดยจะครอบคลุม 68% ของแนวตั้งและแนวนอน

การ Track วัตถุในโหมด Wide/AF-C ทำได้รวดเร็วมากๆๆๆๆ ใช้ถ่ายอะไรที่เคลื่อนไหวเร็วๆอย่างเช่น คนวิ่ง สัตว์วิ่ง หรือรถแข่งได้แบบสบายๆ จากภาพด้านล่างคือเรากดชัตเตอร์อย่างเดียว กล้องปรับโฟกัสให้เองอัตโนมัติเมื่อนางแบบวิ่งเข้ามาใกล้

ทั้งนี้เราสามารถปรับ Sensitivity ได้ 5 ระดับ อยากให้มันอ่อนไหวแค่ไหนก็ปรับให้เหมาะกับสิ่งที่เราจะถ่าย เช่นถ้าในเฟรมเรามี subject เยอะซึ่งเสี่ยงต่อการสลับจุดโฟกัสโดยใช่เหตุ เราอาจจะต้องปรับลงไปใช้แค่ระดับ1-2 (อ่อนไหวน้อย) เพื่อให้มันไม่ปรับจุดโฟกัสไปมารวดเร็วเกินไป เรื่องระดับ Sensitivity นี้สำคัญมากและต้องใช้การเรียนรู้พอสมควรถึงจะเข้ามือครับ มือใหม่ให้ปรับไว้ที่ระดับ3ครับ ลองกลางๆดูก่อน แล้วค่อยๆเรียนรู้เพิ่มไป

ยังไม่หมดนะ ยังมีอีกเรื่องสำคัญของคนที่ชอบถ่ายภาพ Portrait นั่นก็คือ Eye AF หรือการโฟกัสดวงตา กล้องตัวนี้มีความสามารถในการโฟกัสดวงตาได้แม่นมากๆ อย่างที่รู้ว่าการถ่าย Portrait คือหากตาชัด = ภาพชัด การใช้ฟังก์ชั่น Face-Detection แบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้แปลว่าโฟกัสเข้าเสมอไปก็ได้

ระบบ Eye-AF จัดว่าเชื่อถือได้ครับ ตามจิกยับ กดเมื่อไหร่เป็นเข้าตา ช่างกล้องสาย Portrait จะรักฟังก์ชั่นนี้เลย ใช้ไปเรื่อยๆวันนึงจะรู้สึกว่าขาดไม่ได้ 😅

การถ่ายภาพต่อเนื่อง

สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ที่10ภาพต่อวินาที มากกว่ารุ่น2ถึง2เท่า หากมองแค่ตัวเลข 10ภาพต่อวินาทีอาจจะไม่ได้ว้าวเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่าไฟล์ภาพแต่ละภาพมันให้ความละเอียดถึง 42.4 ล้านเลยนะ

วิดีโอ

กล้อง Sony A7R III มีวิดีโอ 4K ซึ่งจะต้องถูกครอป 1.5 หากใช้งาน เพราะบนเซนเซอร์มีจำนวนพิกเซลเยอะมาก จึงต้องครอปออกเพื่อลดพิกเซลลง

วิดีโอหากถ่ายเป็น 4K มันอาจจะมีอาการ Rolling Shutter หากแพนแบบเร็วมากๆ ควรระวังข้อนี้เมื่อใช้งานนะ

หน้าจอ

หน้าจอ LCD ขนาด 3นิ้ว สามารถพลิกขึ้นลงได้แต่เซลฟี่ไม่ได้ โดยอัปเกรดความละเอียดหน้าจอให้สูงขึ้นเป็น 1.44 ล้าน จากเดิมที่รุ่นสองความละเอียด 1.229 ล้าน

หน้าจอซัพพอร์ตการใช้งานแบบสัมผัสด้วย (แตะโฟกัสและลั่นชัตเตอร์) ซึ่งรุ่น2ไม่มีระบบสัมผัสหน้าจอนะครับ

ช่องมองภาพ

ช่องมองภาพมีความละเอียดที่สูงขึ้นเป็น 3.69 ล้าน จากเดิมที่รุ่น2ให้ความละเอียดที่ 2.359 ล้าน

ปุ่มต่างๆและการควบคุม

ปุ่มต่างๆรวมๆแล้วเหมือนๆกับรุ่นที่แล้วครับ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาหลักๆเลยคือจอยสติ๊ก(ซึ่งคนเรียกร้องกันเยอะมาก) ถ้าเราใช้พื้นที่โฟกัสแบบ Flexible Spot หรือ Zone เราสามารถใช้จอยสติ๊กช่วยปรับจุดโฟกัสไปมาได้

การขยับจุดโฟกัสด้วยจอยสติ๊กสามารถทำได้ในทิศทาง ขึ้น ลง ซ้าย ขวา และทะแยง

กล้อง Sony A7 R III เป็นกล้องที่มี Dial ครอบคลุมการปรับค่ากล้องครบถ้วน อีกทั้งยังมีปุ่มลัด C1, C2, C3, C4 ที่สามารถ Customize ให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ได้

ช่อง SD Card 2 ช่อง

ช่อง SD Card 2 ช่องมีประโยชน์มาก เราสามารถบันทึกไฟล์แต่ละชนิดแยกกัน เช่นไฟล์ RAW กับ JPEG แยกไว้คนละการ์ด เพื่อให้จัดการไฟล์ได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือเวลาใบนึงพื้นที่หมด เราก็สามารถสลับไปใช้อีกใบได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาหยิบ SD Card อีกแผ่นมาใส่

ช่อง SD Card ที่ 1 จะเป็นแบบ UHS-II ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับ SD Card UHS-II จะทำให้สามารถบันทึกข้อมูลได้รวดเร็วมาก ถ้าใครซื้อ Sony A7R III เราแนะนำให้ใช้การ์ดประเภท UHS-II นะครับ ถ้าซื้อเป็นรุ่น TOUGH ได้นี่ยิ่งดีเลย กันน้ำกันฝุ่นด้วย เขียนรวดเร็วแถมไม่ต้องกลัวข้อมูลได้รับความเสียหาย

อันนี้เรากดถ่ายไฟล์ RAW แบบไม่บีบอัด(Uncompressed) รัวไฟล์ละ85MB ใช้ TOUGH SD Card ซึ่งเป็นการ์ดแบบ UHS-II ให้ดูความเร็วในการบันทึกภาพ จัดว่าเร็วใช้ได้เลยครับ

ส่วนช่อง SD Card ที่ 2 จะเป็นแบบความเร็วปกติ ไม่ใช่ UHS-II ครับ

การเชื่อมต่อ

ความพิเศษของรุ่นนี้ที่รุ่นอื่นไม่มีคือมีช่อง HDMI 2 ช่องครับ ซึ่งเป็นประโยชน์กับงานระดับ Professional อย่างแรงเลย

การทำงานในสตูดิโอ แน่นอนว่าช่องมันจะหายไปแล้วช่องนึงครับ เพราะเรามักจะเอาไปเสียบกับคอมเพื่อส่งรูปภาพขึ้นไปแสดงผลบนจอ ทีนี้พอมันเหลืออีก1ช่อง มันก็ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นหากต้องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆด้วย เช่น Automated Macro Focus Rail สำหรับงานถ่ายสินค้ามาโคร

Sony A7R III ยังมีช่อง Flash Sync มาให้ด้วย

กล้องมีฟังก์ชั่นWifi เราสามารถส่งภาพและวิดีโอตรงเข้ามือถือได้เลย แต่ส่งได้เฉพาะภาพ JPEG และไฟล์วิดีโอ MP4 เท่านั้นนะ

บอดี้ น้ำหนัก และการจับถือ

รูปร่างหน้าตาไม่หนีจากรุ่นเดิม น้ำหนักรวมแบตและ SD Card อยู่ที่ 657 กรัม หนักกว่ารุ่น2อยู่ประมาณ 58 กรัม

กริปเราว่าทำมาดีในขนาดบอดี้ที่เล็ก มีพื้นที่ให้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยล็อกไว้ได้ มีที่ให้พักนิ้วโป้งด้านหลัง

แบตเตอรี่

แบตใหม่ใช้เป็นซีรีส์ Z ซึ่งอึดมาก เค้าเคลมไว้ถ่ายได้ประมาณ 500–600 กว่าจะแบตหมด แต่จริงๆที่เราใช้งานคือถ่ายไป 800 รูปได้อะกว่าจะหมด

Sony A7R III จะมาพร้อมกับที่ชาร์จแบตแยกด้วย (ถ้าเป็น Sony A7 III ไม่มีมาให้)

ราคา

ราคาบอดี้ปัจจุบัน 99,990 บาท

สรุป

นี่คือสุดยอดกล้องมิเรอร์เลสสำหรับคนที่ต้องการถ่ายภาพความละเอียดสูงๆครับ เทคโนโลยีขนาดนี้ต้องอีกสักพักใหญ่ๆเลยกว่ามันจะเก่า ซื้อตอนนี้ก็ใช้ได้อีกยาวๆ

ข้อดี

  1. ความละเอียดสูง สามารถใช้ถ่ายโฆษณาได้ หรือจะครอปเยอะๆภาพก็ยังดีอยู่
  2. ไฟล์มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับช่างภาพที่ชอบปรับแต่งเยอะๆ เช่น สายแลนด์
  3. สีผิวของไฟล์ JPEG มีพัฒนาการให้ดีขึ้น
  4. ปริมาณ Noise ต่ำ แม้ดันค่า ISO ไปที่ 1600–3200
  5. โฟกัส Tracking ได้รวดเร็วมากๆ
  6. มีระบบโฟกัส Eye-AF ที่ทำให้โฟกัสคนได้ง่ายยิ่งขึ้น
  7. กันสั่นดีมาก เพิ่มอิสระในการปรับค่าความเร็วชัตเตอร์
  8. มี Silent Shutter ใช้ถ่ายในสถานการณ์ละเอียดอ่อน
  9. สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้10ภาพต่อวินาที ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับกล้องที่ให้ความละเอียดถึง 42.4 ล้าน
  10. มีปุ่มเหลือเยอะ สามารถปรับเปลี่ยนเองได้ตามความชอบ
  11. หน้าจอพลิกขึ้นลงได้ รองรับการจิ้มหน้าจอเพื่อถ่ายและเลือกจุดโฟกัส
  12. มีช่องเสียบ SD Card 2 ช่อง โดยมีช่องหนึ่งเป็น UHS-II ทำให้บันทึกข้อมูลได้เร็ว
  13. มีที่เสียบ HDMI 2 ช่อง เหมาะกับการทำงานระดับมืออาชีพ
  14. แบตเตอรี่อยู่ได้นานกว่าจะต้องชาร์จ เราพากล้องไปเที่ยวบาหลีมา4วัน ไม่ต้องชาร์จซักแอะยันกลับไทย งงมาก

ข้อสังเกต

  1. ไฟล์ใหญ่ ใช้พื้นที่จัดเก็บค่อนข้างมาก หากคอมสเป๊กไม่ถึงก็จะใช้เวลาในการแต่งมากขึ้นด้วย
  2. เนื่องจากมีจำนวนพิกเซลบนเซนเซอร์เยอะมาก วิดีโอ4Kจึงมีการครอป 1.5 เพื่อลดจำนวนพิกเซลบนเซนเซอร์ให้พอดีกับความละเอียด4K
  3. วิดีโอ 4K พบเห็นอาการ Rolling Shutter
  4. การโฟกัสต่อเนื่องยังด้อยกว่า Sony A9 และ Sony A7 III เพราะความครอบคลุมของโฟกัสแบบ Phase Detection เยอะไม่เท่า หากไม่ได้อยากเน้นความละเอียดแต่เน้นการ Tracking เป็นหลัก แนะนำให้ขยับขึ้นหรือลงไปหารุ่นดังกล่าว
  5. Pixel Shift Multi Shoot ต้องนำภาพมารวมเองอีกทีในโปรแกรม กล้องไม่ทำให้

หากใครที่กำลังชั่งใจว่าจะซื้อ Sony A7R III ดีมั้ย ตอนนี้มีนิทรรศการภาพถ่าย Michael Yamashita Gallery 2019 “WINDOW TO THE SOUL” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่คุณ Michael Yamashita (ช่างภาพ National Geographic) ใช้ Sony A7R III ถ่ายทั้งหมด ใครอยากรู้ว่า Eye-AF ใช้งานได้ดีรึเปล่า คุณภาพไฟล์เป็นยังไง ก็ไปดูด้วยตัวเองที่ Sony Store ชั้น 2 ของ Siam Paragon ได้จนถึงปลายมีนาคม2019นี้ครับ

เราขอลาไปด้วยภาพของเราที่ถ่ายด้วย Sony A7R III ครับ นี่เป็นกล้องที่ถ่ายสนุกและดึงภาพได้แบบสะใจมากจริงๆ ใครที่รู้ตัวว่าท่องเที่ยวเยอะและชอบการปรับแต่งภาพ รับรองว่าต้องชอบ Sony A7R III แน่นอน 😄

ไว้เจอกันใหม่บทความหน้านะ บ๊ายบาย

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn