การจัดการการระบาดของ Covid-19 ในสถานที่ผลิต ด้วยการเว้นระยะห่างกับบุคคลอื่น (Social Distancing)

Wuttichai Boonheng
Total System Consultant
2 min readApr 23, 2020

เนื่องจากในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ที่มีคนรวมกันอยู่ในจำนวนมาก และหากเกิดการติดโรค Covid-19 จะทำให้ส่งผลกระทบกับสถานประกอบการ ทั้งในแง่ของการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และการหยุดผลิตหรือปิดเพื่อฆ่าเชื้อ อาจส่งผลต่อสถานะทางการเงินของสถานประกอบการได้ ดังนั้น การรักษาระยะห่างเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส Corona ได้ โดยจัดให้มีการงดพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทั้งในเชิงจำนวน และระยะเวลา (ไม่พบปะกับคนจำนวนมากในคราวเดียว และไม่ใช้ เวลาอยู่ร่วมกับคนอื่นนานเกินไป) ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ แพร่เชื้อไวรัสให้กับ คนอื่นๆใกล้เคียง จึงช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกคือสุขภาพและความปลอดภัย สถานประกอบการมีหน้าที่ ในการปกป้องพนักงานจากโรค Covid-19 โดยการจัดการให้มีการระยะห่างทางกายภาพกับบุคคลอื่น (Social Distancing) อย่างเหมาะสมเพื่อจัดการความเสี่ยงที่ อาจมีจากไวรัส Corona ต่อพนักงาน ในสภาพแวดล้อมการผลิตในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การผลิตอาหารหรือการผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิก สิ่งทอ ยารักษาโรค เป็นต้น โรงงานผลิตเหล่านี้มีศักยภาพสำหรับการติดต่อใกล้ชิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ในกระบวนการผลิต พื้นที่รับวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ การสุ่มตัวอย่างและห้องปฏิบัติการทดสอบ และในพื้นที่อำนวยความสะดวกทั่วไป เช่น ห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องล็อกเกอร์ ห้องน้ำ ทางเดินและทางเข้า เป็นต้น

สถานประกอบการต้องใช้นโยบายของตัวเองที่เหมาะกับการอำนวยความสะดวกและความเสี่ยงเฉพาะของตน คำแนะนำนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยสถานประกอบการให้สามารถใช้ในการพัฒนาแผนรับมือกับโรค Covid-19 ซึ่งมาตรการต่างๆ สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานประกอบการของท่านได้

1. ทางเข้า ทางเดิน และพื้นที่ส่วนกลาง และการเคลื่อนย้ายบุคลากรในอาคาร

  • แล้วแต่ขนาดพื้นที่ของห้องโถงหรือทางเข้า จำกัดจำนวนคนเพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพจากการที่พนักงานรอที่จะเข้าหรือออกสายการผลิต หรือการออกจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง
  • หาวิธีลดพื้นที่ที่พนักงานต้องสัมผัส ใช้ประตูเปิดปิดอัตโนมัติ หรือใช้สะโพกหรือข้อศอกในการเปิดประตู หรือถอดกลอนประตูออกและเปิดประตูให้พนักงานสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประตูได้โดยไม่สัมผัสลูกบิด ซึ่งมาตรการที่ใช้ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อการแบ่งเขตความปลอดภัยของอาหารด้วย
  • ประตูที่เชื่อมต่อภายในสำนักงานให้ทำการเปิดค้างเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อปรับปรุงการหมุนเวียนอากาศในอาคารและลดการสัมผัสลูกบิด
  • ลดการสนทนาและเว้นระยะห่างระหว่างเดินในทางเดิน

2. การปฏิบัติการตอกบัตรเข้า /ออกของพนักงาน

  • ลดการแออัดในการตอกบัตรช่วงเวลาเร่งด่วน โดยให้มีการเว้นระยะห่าง หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตอกบัตร
  • ลดการสัมผัสเครื่องตอกบัตร หรือหากต้องสัมผัสให้มีการฉีดแอลกอฮอล์ทุกครั้ง
  • พิจารณาการใช้ระบบที่มีคุณสมบัติเชื่อมต่อไวไฟที่สามารถใช้งานได้โดยผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
  • พิจารณาการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อตอกบัตรเข้า/ออก โดยให้มีเจลทำความสะอาดเพิ่มเติมใกล้เครื่องตอกบัตร
  • พิจารณาว่าผู้บังคับบัญชาสามารถใช้กล้องที่ติดตั้ง เพื่อใช้ทดแทนการตอกบัตรพนักงานเข้า/ออกได้ หรือไม่
  • พิจารณาว่าสามารถจัดการการตอกบัตรเข้า/ออกโดย การให้หัวหน้างานลงรายการภายหลัง

3. ห้องล็อกเกอร์และพื้นที่บริเวณเข้าออกสายการผลิต

  • เสื้อผ้าที่สะอาดและการซักผ้าไม่ถือว่าเป็นทางแพร่เชื้อเนื่องจากเชื้อไม่ทนต่อสารทำความสะอาด
  • เพื่อให้ชุดยูนิฟอร์มสะอาดและพนักงานมีสุขลักษณะที่ดี ให้พนักงานล้างมือและทำความสะอาดมือก่อนเข้าพื้นที่เปลี่ยนชุดยูนิฟอร์ม
  • หาวิธีการให้พนักงานสัมผัสชุดยูนิฟอร์มและไม้แขวนเสื้อที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้น้อยที่สุด
  • เมื่อเลือกชุดยูนิฟอร์มแล้ว ให้วางไม้แขวนเสื้อในพื้นที่ที่แยกออกจากชุดยูนิฟอร์มที่ยังไม่ได้รับการสัมผัส เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามกับชุดยูนิฟอร์มที่สะอาดและไม้แขวนเสื้อ
  • เก็บชุดยูนิฟอร์มสกปรกแยกจากชุดยูนิฟอร์มที่สะอาดอย่างชัดเจนและเข้มงวดมาก
  • การล้างมือบ่อยๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาด

4. เครื่องมือทั่วไป

  • เครื่องมือที่จำต้องสัมผัส เช่น แป้นพิมพ์ ปุ่มกด ฯลฯ ควรมีการฆ่าเชื้อก่อนใช้งานหรือสัมผัสทุกครั้ง (ในกรณีที่เครื่องมือใช้งานหลายคน)
  • เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดหน้าจอแบบสัมผัสมากขึ้น เช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆในการผลิต
  • เครื่องมือทั่วไปเช่น ไม้กวาด มีด ชุดตักหรือเครื่องมือขนาดเล็กใดๆ ควรได้รับการฆ่าเชื้อหลังจากการใช้งานแต่ละครั้ง
  • ระบุพื้นที่ที่พนักงานมักต้องมีการสัมผัสร่วม เพื่อให้สามารถพัฒนาขั้นตอนหรือความถี่ในการทำความสะอาดและสุขลักษณะส่วนบุคคลได้

5. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนกะ

  • ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเปลี่ยนกะ พักเบรคและพักเที่ยงทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความหนาแน่นของคนมารวมกัน โดยแบ่งเวลาเป็นช่วง ไม่ให้พัก หรือเลิกงานพร้อมกัน
  • สั่งโต๊ะเสริม เพิ่ม อุปกรณ์ จุดล้างมือ ล้างอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผักผ่อนและทานอาหาร
  • สำหรับสถานประกอบการณ์ที่มีคนขับรถส่งของ ผู้รับเหมา ให้แยกสถานที่พักผ่อนหรือทานอาหารออกจากพนักงานของสถานประกอบการ
  • ระบุบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องน้ำในพื้นที่การผลิต และไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เดียวกันทั้งหมด
  • หากมีพนักงานที่ทำงานที่บ้าน (Work from Home) หากพนักงานคนนั้นมาทำงานที่สถานประกอบการ ให้ปฏิบัติเหมือนบุคคลภายนอก โดยแยกพื้นที่พัก ห้องน้ำ ออกจากพนักงาน และแยกออกจากกลุ่มของคนขับรถส่งของ ผู้รับเหมาด้วย
  • ใช้แอพพลิเคชันวิดีโอหรือการโทรศัพท์ ทดแทนการติดต่อแบบตัวต่อตัวระหว่างการเปลี่ยนแปลงกะ
  • ใช้การส่งข้อความ แชท การประชุมทางโทรศัพท์เพื่อประชุมทีมร่วมกันจากระยะไกล ไม่ต้องเดินทางมาเพื่อพบเจอกัน
  • จำกัดการแลกเปลี่ยนแฟ้ม และเอกสารให้น้อยที่สุด เพื่อลดการสัมผัสติดต่อ
  • พัฒนาระบบการทำงานโดยลดการใช้กระดาษ เน้นการทำงานบนคอมพิวเตอร์ เพื่อลดการสัมผัสติดต่อ

6. อาหาร/ ของว่าง / กิจกรรมในห้องพักพนักงาน

  • ขยายและปรับเปลี่ยนการแบ่งและสลับเวลารับประทานอาหารสำหรับกลุ่มของพนักงาน เพื่อลดจำนวนของพนักงานในพื้นที่โรงอาหาร และเว้นระยะห่าง
  • จัดให้มีการประทานอาหารที่เป็นชุด สำหรับกินคนเดียว หลีกเลี่ยงการร่วมสำรับกับผู้อื่น อาจเป็นอาหารกล่องแทนอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ลดการใช้ภาชนะที่ต้องได้รับการสัมผัสหลายคน เช่น จาน ชาม ช้อน ซ้อม
  • อาจใช้ห้องประชุมหรือพื้นที่แยกอื่นหรือเช่าเต็นท์เพิ่ม เพื่อเพิ่มระยะห่างของพนักงาน
  • เพิ่มการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสิ่งของที่ใช้มือจับ เช่น ตู้เย็น อ่างล้างจานและก๊อกน้ำ พื้นที่ครัวที่ใช้ทำอาหาร
  • ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องไมโครเวฟหลังจากการใช้งานแต่ละครั้ง
  • จัดแผนการทำความสะอาดทุกรอบของช่วงเวลาที่พนักงานผลัดกันพักรับประทานอาหาร

7. การควบคุมทางวิศวกรรม

  • ประเมินการระบายอากาศ และการควบคุมคุณภาพอากาศ (Air Quality Control) ทำการเปลี่ยนแผงกรองอากาศใหม่ หรือ พิจารณาการใช้หลอดอัลตราไวโอเลต หรือหากเป็นไปได้ ให้เปลี่ยนใช้แผงกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (High — Efficiency Particulate Air Filter; HEPA Filter)
  • เพิ่มอัตราการระบายอากาศและการเติมอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก
  • เพิ่มเครื่องฟอกอากาศประจำจุดเป็นการชั่วคราว
  • ติดตั้งอุปกรณ์ทางกายภาพ เช่นพลาสติกใสกั้นละอองไอจาม แผ่นพลาสติกคลุมอุปกรณ์
  • ติดตั้งระบบ drive-through ในขั้นตอนที่สามารถรองรับการทำงานแบบนี้ได้

8. งานสำนักงาน

  • อาจมอบหมายให้บุคคลหนึ่งสามารถกำหนดให้จับเอกสารและสแกนเอกสาร โดยใช้ความระมัดระวังด้วยการใส่ถุงมือ ล้างมือและทำการฆ่าเชื้อพื้นผิวที่สัมผัสเสมอ
  • สร้างระบบที่พนักงานสามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากส่วนงานทรัพยากรบุคคลได้ตลอดเวลา
  • แยกพนักงานสำนักงาน จำกัดจำนวนพนักงานในสำนักงาน ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สถานที่ปฏิบัติงาน ควรจัดให้มีพื้นที่เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1.5–2 เมตร
  • จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับ Covid-19 และอัพเดตข่าวสารและวิธีการรับมือต่างๆ ให้พนักงานทราบ

9. การซักรีด

  • ใช้การซักผ้าด้วยผงซักฟอกตามปกติ และอบผ้าเพื่อฆ่าเชื้อ
  • อย่าสะบัดผ้าสกปรก เพื่อลดโอกาสในการกระจายไวรัสในอากาศ
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ สิ่งของเครื่องใช้ในการซักผ้า และอุปกรณ์จัดเก็บเสื้อผ้า
  • สวมถุงมือประเภทใช้แล้วทิ้งเมื่อต้องจับกับเสื้อผ้าที่สกปรก
  • ล้างมือทันทีหลังจากถอดถุงมือหรือหลังจากจับต้องผ้าสกปรก

10. กิจกรรมการตรวจสอบในสายการผลิต

  • พิจารณาว่ามีจุดตรวจตราในพื้นที่ทั่วไปโดยการใช้กล้องวงจรปิดที่มีอยู่ โดยไม่ต้องไปในพื้นที่ เพื่อลดการสัมผัสได้หรือไม่
  • สำหรับความปลอดภัยด้านอาหารกับคุณภาพ: พิจารณาว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหารหรือไม่มีความเสี่ยงด้านคุณภาพที่เกิดขึ้นเมื่อต้องรับมือการเฝ้าระวังทดแทนด้วยกล้องวงจรปิดที่มีหรือติดตั้งเพิ่ม
  • หากต้องมีการตรวจสอบที่จะ ติดต่อใกล้ชิดกับพนักงานอื่น หรือมีข้อจำกัดทรัพยากรอื่นๆ ให้พิจารณาว่าความถี่ในการตรวจสอบที่สามารถทำได้น้อยกว่าเดิม เช่น ทุก 4 ชั่วโมงแทนทุกชั่วโมง หรือใช้ตัวแปรอื่นๆ ที่สามารถตรวจสอบได้จากระยะไกล

11. การสื่อสารและการสนับสนุนพนักงานและ การฝึกอบรม

  • จัดทำประกาศนโยบายเฉพาะเรื่องการต้องแจ้งรายงานเมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการคล้ายกับ Covid-19
  • ผู้นำ หัวหน้างาน มีหน้าที่ในการสังเกตการณ์และทำตัวให้เป็นตัวอย่างในการล้างมือ เมื่อมีพนักงานเข้าสู่พื้นที่ผลิต เพื่อเน้นย้ำในส่วนการรักษาความสะอาด
  • ทำการการฝึกอบรมเพิ่มทักษะพนักงานให้สามารถทำงานแบบออนไลน์สำหรับพนักงาน เพื่อช่วยในการเปลี่ยนไปใช้การทำงานจากบ้าน
  • เตือนให้ผู้จัดการทั้งหมดให้คอยดูพนักงานที่อาจเกิดความเครียดจากสถานการณ์ระบาด
  • ให้เพิ่มการใส่ใจให้กับระบบสายช่วยเหลือพนักงานเป็นการส่วนตัว (EAP) และ ย้ำให้พนักงานทราบเกี่ยวกับทรัพยากรและบริการที่มีให้ต่อพนักงาน
  • ให้การฝึกอบรมพนักงานซ้ำในเรื่อง GMPs การล้างมือที่ถูกต้อง การรายงานการเจ็บป่วยของพนักงาน เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการทำงานอื่นๆ ที่บริษัทได้ดำเนินการหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการกับ Covid-19
  • อบรมพนักงานให้รู้จักพื้นที่หรือการปฏิบัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายไวรัสกำหนดกระบวนการตรวจสอบและให้มีวิธีการบรรเทาผลกระทบอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
  • พิจารณาการใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่นหูฟังไร้สายสำหรับพื้นที่เสียงดัง และ วิทยุสื่อสารสำหรับพื้นที่ที่มีเสียงดังน้อย การใช้อุปกรณ์เหล่านี้อาจช่วยให้พนักงานสื่อสารในพื้นที่การผลิตได้ในขณะที่ยังคงรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการฝึกอบรมข้ามหน่วยงานและการฝึกอบรมพนักงานใหม่

โดยหลักการที่ต้องยึดเป็นหลักจากมาตรการเว้นระยะห่างกับบุคคลอื่น คือ ลดการสัมผัส ทั้งตัวบุคคลและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน การสื่อสารอย่างถูกต้อง การกำหนดนโยบายและระเบียบในการปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ตามความสะดวกของการทำงานของแต่ละสถานประกอบการ

เรียบเรียงจาก: Emergency Prevention Measures to Achieve Physical (Social) Distancing in Food Manufacturing Facilities as Related to COVID-19 March 31, 2020 Version 2.1

--

--