ISO 9001:2015 ความเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กร คืออะไร

Wuttichai Boonheng
Total System Consultant
3 min readFeb 5, 2020

ก่อนจะไปดูข้อกำหนดของหัวข้อนี้ อยากให้ทุกท่านได้เตรียมใจไว้ก่อนเลยว่า ในหัวข้อนี้ ท่านจะทำคนเดียวไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะในหัวข้อนี้จะเกี่ยวกับการบริหารงานขององค์และบริษัททั้งหมด และเป็นข้อกำหนดที่มุ่งเน้นเพื่อให้ได้มีการกำหนดเป้าหมาย รู้จักองค์กรของตัวท่านเอง และมีการดำเนินงานตามนโยบายที่วางไว้ หากท่านเตรียมตัว เตรียมใจพร้อมแล้ว เราไปอ่านข้อกำหนดกัน

ข้อกำหนดใน ISO 9001 ข้อ 4.1 ความเข้าใจองค์กรและบริบทขององค์กร

องค์กรต้องกำหนดประเด็นภายนอก และประเด็นภายในที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับจุดประสงค์ และทิศทางกลยุทธ์ขององค์กร และผลกระทบที่มีต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ต่อระบบการบริหารคุณภาพ

องค์กรต้องเฝ้าติดตาม และทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภายนอกและประเด็นภายในที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ 1 ประเด็นต่างๆ สามารถรวมถึงทั้งปัจจัยทางบวก และทางลบ หรือสภาวะต่างๆ สำหรับการพิจารณา

หมายเหตุ 2 ความเข้าใจบริบทภายนอกสามารถพิจารณาได้จากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย เทคโนโลยี สภาพการแข่งขัน การตลาด วัฒนธรรม สังคม และสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลก รัดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น

หมายเหตุ 3 ความเข้าใจบริบทภายในสามารถพิจารณาได้จากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า ค่านิยม วัฒนธรรม องค์ความรู้ และ สมรรถนะขององค์กร

เนื่องจาก มาตรฐาน ISO 9001 เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดการบริหารธุรกิจ เวลาทำระบบ จึงต้องทำระบบเพื่อบริหารธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น โดยการบริหารธุรกิจทั่วไป จะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนพื้นฐานในการจัดการดังต่อไปนี้

  • การตรวจสอบผลประกอบการขององค์กร
  • วิสัยทัศน์ขององค์กร (Vision)
  • การวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด สภาวะการแข่งขัน และ ตรวจสอบสมรรถนะการแข่งขันขององค์กร
  • การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ขององค์กร (SWOT)
  • วิเคราะห์และประเมินปัจจัยความเสี่ยงทางธุรกิจ
  • การวิเคราะห์ความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้อง หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การคัดเลือกกลยุทธ์ระดับองค์กรและ การจัดทำกลยุทธ์ระดับธุรกิจ
  • การตั้งเป้าหมายของกลยุทธ์ระดับองค์กรและระดับธุรกิจ
  • การจัดทำแผนกลลยุทธ์แผนการปฏิบัติการระดับปฏิบัติการ (ทุกฝ่าย ทุกแผนก)
  • การประเมินผลของแผนการปฏิบัติการระดับปฏิบัติการ

หากลองอ่านข้อกำหนดแบบคร่าวๆ จะพบว่า สำหรับคนหรือแผนกที่ทำระบบ ISO ในองค์อาจจะไม่เข้าใจข้อกำหนดนี้เลย เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่ต้องให้ฝ่ายบริหารองค์กรทำหน้าที่กำหนด วิเคราะห์และประเมินการบริหารธุรกิจขององค์กรทั้งหมด

ข้อกำหนดนี้ต้องการอะไร?

จากข้อกำหนดเราจะแบ่งความต้องการของข้อกำหนดนี้ได้ 2 ส่วนคือ

  1. ข้อกำหนดต้องการให้องค์กรมีการพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายใน ที่มีผลกับจุดมุ่งหมายขององค์กร ทิศทางกลยุทธ์ และ ผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ต่อระบบการบริหารคุณภาพ โดยจำเป็นต้องกำหนดทั้งสามสิ่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรก (ในส่วนนี้จะแยกประเด็นพิจารณาทีละประเด็นนะครับ)
  2. ข้อกำหนดต้องการให้องค์กรต้องเฝ้าติดตามและทบทวนสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นภายนอกและภายในเหล่านี้ นั่นหมายความว่าเราต้องมีการติดตามและทบทวนประเด็นจากข้อที่หนึ่ง เป็นระยะ มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการติดตามและทบทวน มีรายงานในแต่ละเรื่องไว้อย่างชัดเจน สำหรับการทบทวน ต้องมีการตัดสินใจในความถูกต้องทันสมัย ความใช้ได้ ความเชื่อถือได้ของสารสนเทศนี้ ตามรอบเวลา หรือจังหวะเวลาที่เหมาะสม

เรามาพิจารณาในส่วนของการพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายใน ที่มีผลกับจุดมุ่งหมายขององค์กร ทิศทางกลยุทธ์ ผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ต่อระบบการบริหารคุณภาพ กันต่อนะครับ

  1. จุดมุ่งหมายขององค์กร (Purpose)

จุดมุ่งหมายองค์กร (Purpose) เป็นสิ่งที่องค์กรคาดหวังและต้องการในการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต การบรรลุจุดมุ่งหมายขององค์กรได้จะต้องมีสิ่งสนับสนุนที่สอดคล้องได้แก่การมีวิสัยทัศน์และสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Vision and Share Vision) การกำหนดพันธกิจ (Mission) ที่ครอบคลุมเหมาะสม และการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์กร (Objective) ในแต่ละห้วงเวลาของการปฏิบัติการตามแผนกลยุทธ์

วิสัยทัศน์ (Vision) คืออะไร

วิสัยทัศน์ คือ การตั้งเป้าหมายระยะยาวขององค์กร โดยความสำคัญของ การตั้งวิสัยทัศน์ จะใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางขององค์กร ทำให้องค์กรมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจแบบไร้จุดหมาย เป็นเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาประมาณ 5–10 ปี เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ใหญ่และต้องการความสำเร็จจากหลายส่วน การตั้งเป้าหมายที่อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

วิสัยทัศน์ จะเป็นเสมือนความทะเยอทะยานขององค์กร (แต่ก็ต้องเป็นเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง) หรือความคาดหวังขององค์กรในอนาคต ที่องค์กรอยากจะเป็น โดยส่วนมากการตั้ง วิสัยทัศน์ คือ การตั้งเป้าหมายให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งให้องค์กรเติบโตหรือมีความยั่งยืนในระยะยาว

วิสัยทัศน์ ที่ดีจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักของ วิสัยทัศน์ คือ Product Market และความมุ่งหวังขององค์กร โดยแต่ละส่วนมีความหมายดังนี้

  • Product ในที่นี้คือสิ่งที่องค์กรนำเสนอ หรือสินค้าขององค์กร
  • Market คือตลาดหรือ Segment ที่นำเสนอ Product เข้าไป (กลุ่มเป้าหมายขององค์กร)
  • ความมุ่งหวังขององค์กร คือส่วนที่แสดงความต้องการที่องค์กรต้องการจะเป็นในอนาคต

พันธกิจ (Mission) คืออะไร

พันธกิจ คือ เป้าหมายย่อยหรือภารกิจย่อยของเป้าหมายระยะยาว โดยการตั้งพันธกิจ เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จในระยะกลาง (กรอบระยะเวลาประมาณ 3–5 ปี) เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายระยะยาวขององค์กรที่กำหนดเอาไว้ตามวิสัยทัศน์ (Vision) เกิดขึ้นจริง จะเห็นว่า พันธกิจ คือ สิ่งที่อยู่ใต้ขอบเขตของวิสัยทัศน์ ที่เป็นเป้าหมายระยะยาวขององค์กร เรียกได้ว่า พันธกิจ คือ ภารกิจย่อยที่ธุรกิจต้องทำให้สำเร็จ เพื่อทำให้ภารกิจหลักที่เป็นเป้าหมายระยะยาวสำเร็จ จะเห็นว่าเมื่อเทียบกันแล้ว พันธกิจจะมีขอบเขตในการดำเนินงานที่เล็กลงและชัดเจนกว่ามาก

วัตถุประสงค์ขององค์กร (Objective) คืออะไร

Objective คือ วัตถุประสงค์ย่อยของ Mission โดย Objective เป็นที่องค์กรต้องทำให้สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อทำให้ Mission สำเร็จ โดยส่วนมาก Objective มักจะเป็นเป้าหมายในระยะสั้นถึงระยะกลาง (ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ไตรมาส ไปจนถึง 5 ปี) นอกจากนี้ Objective ควรเป็นสิ่งที่วัดผลได้ด้วย KPI หรือ OKR ในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น ยอดขาย กำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ ลดข้อร้องเรียนของลูกค้า ฯลฯ และต้องมีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน

2. กลยุทธ์ (Strategy)

กลยุทธ์ ตามหลักการจัดการเชิงกลยุทธ์ จะแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย กลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate Strategy) กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy) โดยกลยุทธ์ทั้ง 3 ระดับ จะมีความสำคัญและวิธีดำเนินกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไปตามระดับ

  • กลยุทธ์ระดับบริษัท (Corporate Strategy)

กลยุทธ์ระดับบริษัท หรือ Corporate Strategy คือ การกำหนดกลยุทธ์ในภาพกว้างๆ เป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัท เช่น จะลงทุนเพิ่มจะลดธุรกิจบางส่วนอย่างไร จะดำเนินงานในระยะยาวอย่างไร กลยุทธ์ระดับบริษัท แบ่งเป็น 3 กลยุทธ์ได้แก่

— กลยุทธ์แบบเน้นการเติบโต เป็นการดำเนินธุรกิจให้ธุรกิจเติบโตด้วยวิธีต่างๆ เช่น การหาตลาดใหม่ การควบกิจการ การเข้าซื้อกิจการอื่น ขยายกิจการจากรายได้ของกิจการ

— กลยุทธ์แบบคงที่ ไม่ขยายกิจการแบบ Growth Strategy เป็นการดำเนินธุรกิจในตลาดที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงหรืออิ่มตัวแล้ว ลงทุนเพิ่มไปก็ไม่ได้อะไร

— กลยุทธ์แบบหดตัว ลดระดับการดำเนินงาน มักจะพบในบริษัทที่เริ่มมองเห็นทิศทางของตลาดที่หดตัวลง

  • กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy)

กลยุทธ์ระดับธุรกิจ หรือ Business Strategy คือ กลยุทธ์ในการแข่งขันของบริษัท เป็นการวางกลยุทธ์ว่าบริษัทจะแข่งขันด้วยวิธีไหน และทำให้เห็นด้วยว่าคู่แข่งทางธุรกิจของบริษัทคือใคร นอกจากนี้กลยุทธ์ระดับธุรกิจยังสามารถนำไปใช้วางแผนการตลาดและผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) จะมีอยู่ทั้งหมด 3 กลยุทธ์ ได้แก่

— กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) สามารถผลิตสินค้าเดียวกันได้ในต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่าเจ้าอื่น ทำให้ได้กำไรต่อหน่วยมากขึ้น หรือ สามารถขายได้ในราคาที่ถูกลงเพื่อตัดราคา

— กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation) มีสินค้าหรือบริการที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นเป็นตัวดึงดูด

— กลยุทธ์การตอบสนองอย่างรวดเร็ว (Quick Response) เน้นการปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองลูกค้าได้ตามความต้องการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่แข่งขันกันตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีรุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

  • กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy)

กลยุทธ์ระดับหน้าที่ หรือ Functional Strategy คือ การกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละหน้าที่ของธุรกิจนั้นๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งกลยุทธ์ระดับหน้าที่ในแต่ละหน้าที่จะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละหน้าที่ กลยุทธ์ระดับหน้าที่ ให้นึกภาพแผนกในบริษัท กลยุทธ์ที่แผนกเหล่านั้นใช้แก้ปัญหาคือ กลยุทธ์ระดับหน้าที่ เช่น แผนกการตลาด (Marketing) จะใช้กลยุทธ์การตลาดต่างๆ เพื่อศึกษาและตอบสนองความต้องการของลูกค้า แผนกการผลิต (Production) มีหน้าที่ผลิตสินค้าให้ได้ผลผลิตสูงสุด และเกิดผลเสียน้อยที่สุด เป็นต้น

3. ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ต่อระบบการบริหารคุณภาพ

ในส่วนนี้จะเป็นการกำหนดความมุ่งหวังในด้านของคุณภาพขององค์กร โดยเน้นในเรื่องการพัตนาด้านคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน บุคคลากร และผลิตภัณฑ์ ผู้ที่กำหนดอนุมัติควรเป็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้ชัดเจนว่าระบบการบริหารคุณภาพที่ดีสำหรับองค์กรควรเป็นอย่างไร รวมถึงเพื่อให้ได้การสนับสนุนและเป็นเนื้อเดียวกับการบริหารประจำวันในธุรกิจ

ตัวอย่างของผลลัพธ์ที่คาดหวัง ที่องค์กรควรทำการกำหนดอย่างเฉพาะเจาะจงตามที่ต้องการ
ตัวอย่างผลลัพธ์ที่คาดหวังในมุมพนักงาน
- ทำให้เกิดความพอใจในการทำงาน
- พนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องคุณภาพมากขึ้น
- การปฏิบัติงานมีระบบ และมีขอบเขตที่ชัดเจน
- พัฒนาการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม
- ทำงานเหนื่อยน้อยลง ได้ผลงานมากขึ้น
- ลดการทำงานที่ไม่จำเป็น

ตัวอย่างผลลัพธ์ที่คาดหวังในมุมองค์กร
- สร้างความยั่งยืนและเชื่อถือได้จากระบบการบริหารงาน
- มีข้อมูลสารสนเทศอย่างเพียงพอเพื่อการตัดสินใจ
- สร้างสมรรถนะในการแข่งขัน
- มีความเร็วในการตอบสนองตลาด
- สร้างผลกำไร
- ลดการเกิดปัญหาซ้ำ
- มีประสิทธิภาพการผลิต
- ลดเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ
- เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ
- ผลิตภัณฑ์เป็นที่น่าเชื่อถือ
- ประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน

ท่านควรกำหนดให้เฉพาะเจาะจงที่สุด เพื่อให้พนักงานทั้งหมดขององค์กร เป็นไปในทางเดียวกับ ในการจัดวางระบบ ดำเนินการระบบ ตรวจสอบและปรับปรุง

ปัจจัยแวดล้อมภายนอก (External Factors)

ปัจจัยแวดล้อมภายนอก หมายถึงสิ่งที่รายล้อมธุรกิจที่สามารถมีผลต่อองค์กร ปัจจัยแวดล้อมที่ควรพิจารณาได้แก่

  • สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจ (Economic Environment) เช่นรายได้ต่อหัวประชากรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศราคาน้ำมันเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social Environment) เช่นสภาพสังคมความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม (Cultural Environment) เช่นค่านิยมการศึกษาความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีการบริโภคศิลปะเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมประชากรศาสตร์ (Demographical Environment) เช่นอัตราเกิดอัตราตายความหนาแน่นของประชากรเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมด้านการเมือง (Political Environment) เช่นนโยบายทางการเมืองเสถียรภาพทางการเมืองการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมด้านกฎหมาย (Legal Environment) เช่นพระราชกฤษฎีกาพระราชกำหนดกฎกระทรวงข้อบัญญัติกฎระเบียบข้อบังคับเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมภาครัฐ (Governmental Environment) ได้แก่องค์กรภาครัฐต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรเช่นส่วนราชการอื่นๆรัฐวิสาหกิจเป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยี (Technological Environment) เช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศคอมพิวเตอร์และการสื่อสารเป็นต้น
  • แนวโน้มทางการแข่งขัน (Competitive Trends) การดำเนินงานขององค์กรซึ่งประกอบกิจการหรือมีลักษณะงานคล้ายคลึงกับองค์กรซึ่งส่งผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากการดำเนินงานขององค์กร

เครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ได้รับความนิยม ได้แก่

— ESTEL Analysis การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อธุรกิจทั้ง 6 ด้าน

— Five Force Analysis การวิเคราะห์ปัจจัยกดดันทั้ง 5 ในอุตสาหกรรม

— Diamond Model การวิเคราะห์หาความได้เปรียบในการลงทุนข้ามชาติ

— EFAS หรือ External Factors Analysis Summary ตารางวิเคราะห์ความสำคัญของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับองค์กร

กลุ่มปัจจัยแวดล้อมภายใน (Internal Factors)

ปัจจัยแวดล้อมภายใน หมายถึงกิจกรรมต่างๆภายในองค์กรซึ่งองค์กรสามารถควบคุมได้และมีผลทำให้การดำเนินงานภายในองค์กรประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวได้ ซึ่งหมายรวมถึงทุกฝ่าย แผนก กระบวนการ กิจกรรม เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือวัด พนักงาน เงินทุน ความรู้ สถานที่ตั้ง ทุกส่วนในองค์กร เป็นต้น

ปัจจัยแวดล้อมภายในที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม ด้วยทฤษฎี 4 M

  • Man บุคลากรรวมถึงผู้บริหารขององค์กร
  • Money งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว
  • Material วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยี
  • Management ระบบบริหารจัดการทุกด้านเช่นการบริหารงานการเงินพัสดุงบประมาณทรัพยากรบุคคลเป็นต้น

ในข้อกำหนดนี้การใช้ SWOT Analysis เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก

SWOT Analysis คืออะไร

SWOT Analysis หรือ SWOT คือ เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์องค์กรจาก 4 ด้าน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ SWOT คือ Strength Weakness Opportunity และ Threat โดย SWOT จะแบ่ง 2 กลุ่มใหญ่ ๆ จากทั้ง 4 ด้าน คือ ปัจจัยภายใน (Internal Factors) และ ปัจจัยภายนอก (External Factors) โดยทั้ง 4 ปัจจัยของ SWOT Analysis มีความหมายดังนี้

ปัจจัยภายใน

  • Strength หรือ จุดแข็ง คือ สิ่งที่สามารถควบคุมได้และทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่งในการทำธุรกิจ

ตัวอย่าง

สินค้ามีคุณภาพดี ความชำนาญของบุคลากร บรรจุภัณฑ์ทันสมัย ความแข็งแกร่งของตราสินค้า เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ทำเลที่ตั้งของกิจการที่เหมาะสม มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ระบบตรวจสอบคุณภาพที่ทันสมัย ส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ภาพพจน์ของสินค้าและบริษัทดี ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำ มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง
มีความสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

  • Weakness หรือ จุดอ่อน คือ สิ่งที่เราเสียเปรียบคู่แข่ง แต่ก็ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำให้ดีกว่า

ตัวอย่าง

สินค้ามีให้เลือกน้อย ราคาสินค้าแพงกว่าคู่แข่งขัน รูปแบบสินค้าไม่ทันสมัย เงินทุนไม่เพียงพอ กำลังการผลิตต่ำ สายผลิตภัณฑ์สั้น ต้นทุนการผลิตสูง จำนวนแรงงานไม่เพียงพอ ช่องทางการจัดจำหน่ายไม่เพียงพอ ไม่มีงบประการการโฆษณา

ปัจจัยภายนอก

  • Opportunity หรือ โอกาส คือ สิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้และเป็นสิ่งที่ส่งผลดีกับเรา และมักจะมีการเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่าง

การแข่งขันยังมีน้อย คู่แข่งขันเลิกกิจการ จำนวนผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ทัศนคติที่ดีต่อสินค้าของผู้บริโภค เศรษฐกิจมีอัตราเจริญเติบโตสูงขึ้น มีคนกลางที่ช่วยจัดจำหน่ายมาก เทคโนโลยีหรือวิชาการใหม่ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจ

  • Threat หรือ อุปสรรค คือ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เช่นกัน แต่อุปสรรคจะส่งผลเสียหรือขัดขวางต่อองค์กร โดยวิธีจัดการกับอุปสรรคส่วนมากจะเป็นการรอให้อุปสรรคนั้นหายไปเอง หรือเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวอย่าง

ราคาของต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น คู่แข่งขันรายใหม่เข้ามาในตลาด มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใหม่ คู่แข่งขันทุ่มการโฆษณาสูง มีสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ สินค้าถูกกดราคาจากคนกลาง เศรษฐกิจอยู่ในขั้นตกต่ำ ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยม จำนวนผู้บริโภคลดน้อยลง

ข้อกำหนดนี้ต้องเป็นเอกสารหรือไม่

ข้อกำหนดไม่ได้กล่าวไว้ และจริงแล้ว ปัจจัยภายนอกและภายในไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นเอกสารแต่จะอยู่ในเอกสารการประเมินโอกาสและความเสี่ยง ตามข้อ 6.1 เพราะเราระบุปัจจัยเพื่อทำการประเมินความเสี่ยงและโอกาส ด้วยเหตุนี้หากไม่ได้ระบุปัจจัยเพื่อทำการพิจารณาความเสี่ยงและโอกาสจะขาดหลักฐานในการแสดงให้เห็นว่าได้มีการกระทำตามข้อกำหนดโดยปริยาย
การกำหนดความเสี่ยงมีความแตกต่างจากการประเมินความเสี่ยง ดังนั้นการพูดคุยระหว่างการพูดคุยประชุมทางธุรกิจ ย่อมใช้เป็นหลักฐานในการกำหนดพิจารณาปัจจัยภายนอกและภายในรวมถึงพิจารณาผลของความไม่แน่นอนดังกล่าว (นิยามความเสี่ยง)

สุดท้ายแล้ว ในข้อกำหนดนี้ไม่มีผิด หรือถูกต้องหรือไม่ นะครับ แต่ตรงสามารถระบุประเด็นและปัจจัยต่างๆให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน และเดินทางในเส้นทางที่ตั้งเป้าหมายไว้

เรียบเรียงโดย Total System Consultant ที่ปรึกษาของความสำเร็จ

ข้อมูลอ้างอิง

— Requirement ISO 9001 Version 2015

— isotoyou.com

— greedisgoods.com

--

--