[รีวิว] Xiaomi Mijia 1C หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถูพื้น ฟังก์ชั่นครบ จบในราคา 5 พันกว่าๆ

ตอตาวตัวโต
towswnt
Published in
4 min readSep 6, 2020

ก่อนจะเริ่มการรีวิว ต้องบอกก่อนว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Xiaomi Mijia 1C ตัวนี้ไม่ใช่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวแรกที่ผมเคยใช้ครับ เพราะก่อนหน้านี้ที่บ้านเคยใช้เจ้า Autobot Storm รุ่นแรกมาก่อน ซึ่งก็ใช้ได้ดีมาก พอย้ายไปอยู่คอนโด เลยซื้อ Autobot Smart Mark II ไปใช้ เพราะคิดว่าคอนโดห้องเล็กๆ พื้นที่นิดเดียว เอาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นธรรมดาๆ คงใช้ได้ ไม่น่ามีปัญหา

แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่เลยครับ เพราะเจ้า Autobot Smart Mark II มันไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ เดินหลง ติดลูปวนรอบห้อง ดูดไม่เสร็จสักทีบ้าง ทั้งๆ ที่ตัวมันเองก็มี Gyroscope ที่ทำหน้าที่ Mapping พื้นที่ห้องนะ แทนที่จะช่วยเพิ่มความสะดวก กลายเป็นเพิ่มความปวดหัวให้ชีวิตอย่างงั้น

พอเจ้า Autobot Smart Mark II ไม่ตอบโจทย์ ก็เลยเป็นที่มาของการหา “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” เครื่องใหม่ ที่ผมเองก็กำหนดเกณฑ์เลือกซื้อไว้หลายข้อเลยครับ

  1. ต้องทำแผนที่ได้ ไม่ว่าจะใช้กล้อง หรือ Lidar หมุนๆ ด้านบนก็ได้ทั้งคู่ ไม่ติด
  2. ต้องฉลาด ไม่หลง เดินไม่งง ไม่มั่ว
  3. ต้องถูพื้นได้
  4. ราคาไม่แพง ต้องไม่เกิน 6,000 บาท
ราคาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในท้องตลาดมีหลากหลายมาก ตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลายหมื่นบาท

จากการหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นใน Lazada และ Shopee ก็พบว่า หุ่นยนต์ที่จะเดินแม่น เดินฉลาดที่สุด ต้องเป็นรุ่นที่ใช้ Lidar ในการสแกนพื้นที่ห้องครับ แต่ด้วยข้อจำกัดคือราคา การจะหาหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ Lidar ในราคาประมาณ 6 พันบาท มันเป็นไปไม่ได้เลย

สุดท้ายเลยมาจบที่ Xiaomi Mijia 1C ครับ เจ้านี่เรียกว่าตรงกับความต้องการของผมทุกอย่างเลย ทั้งทำแผนที่ได้ (ใช้กล้องที่อยู่ด้านบนสแกนเพดานห้อง) เดินไม่หลงแน่นอน แถมทำได้ทั้งดูดทั้งถู ในราคาที่ได้มาคือประมาณ 5,200 บาท เท่านั้นครับ

แต่ๆ ราคา 5,200 บาท ที่ผมได้มา เพราะเจ้า Xiaomi Mijia 1C เป็นเครื่องเวอร์ชันจีน ที่แต่ละร้านเอาเข้ามาขายกันเอง จึงไม่มีประกันจากศูนย์ มีเพียงประกันร้านเท่านั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมราคามันถึงถูก

แกะกล่องกันสักนิดก่อนเริ่มใช้งานจริง

พอเปิดฝากล่องออกมาชั้นแรกเราจะเจอกับตัวถังใส่น้ำ พร้อมผ้าไมโครไฟเบอร์สำหรับถู และคู่มือ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภาษาจีนทั้งหมดครับ จีนล้วน ไม่มีภาษาอังกฤษมาเลย แต่ความจริงแล้วคู่มือผมเชื่อว่าเดี๋ยวนี้คงไม่ค่อยได้อ่านกันอยู่แล้วมั้งครับ ไม่น่ามีปัญหา อีกอย่างคือพอจะเดาจากรูปได้อยู่บ้าง

ยกกระดาษขึ้นมา เราก็จะพบกับพระเอกของเราแล้วครับ นั่นคือตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น Xiaomi Mijia 1C นั่นเอง พร้อมกับแท่นชาร์จ ทั้งหมดเป็นพลาสติกสีขาวนะครับ สวยใช้ได้เลยแหละ ตัวเนื้อพลาสติกก็โอเค ไม่ได้บอบบางอะไร

แยกส่วนประกอบออกมาทั้งหมด อุปกรณ์ที่เราได้มาก็ตามนี้เลยครับ

  1. ตัวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น
  2. แท่นชาร์จ พร้อมสายไฟ
  3. แปรงปัด ที่ให้มาอันเดียวเองแหะ ไม่มีสำรองมาสักหน่อย
  4. หวี? 555 พร้อมใบมีด เอาไว้สางเศษเส้นผมที่ติดอยู่กับตัวแปรงดูดด้านล่างครับ
  5. ถังใส่น้ำสำหรับถูพื้น พร้อมผ้าไมโครไฟเบอร์อีก 1 ผืน

ที่ด้านบนของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เราจะเห็นปุ่มสองปุ่มครับ ปุ่มแรกคือปุ่ม Power ทำหน้าที่เปิด-ปิด เมื่อกดค้างสัก 3 วินาที แต่ถ้าเครื่องเปิดทิ้งไว้อยู่แล้ว กดครั้งเดียวจะเป็นการสั่งเริ่มการดูดฝุ่นครับ

ส่วนปุ่ม Home ที่เป็นรูปบ้าน คือปุ่มที่สั่งให้เจ้าหุ่นยนต์ของเรากลับมายังแท่นชาร์จครับ ซึ่งเจ้านี่สามารถเดินกลับมายังแท่นชาร์จได้โดยไม่หลง ไม่ต้องเดินวนรอบห้องเพื่อหาแทนชาร์จด้วยครับ เพราะมันจำได้ว่าตัวแท่นอยู่ตรงไหนของห้อง

ส่วนถ้าเราต้องการตั้งค่าให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเชื่อมต่อกับ WiFi ก็แค่กดทั้งสองปุ่มนี้ค้างไว้พร้อมกันครับ เจ้านี่จะพูดออกมาเป็นภาษาจีน ที่ผมฟังไม่ออก หน้าที่ของเราก็แค่เปิดแอปฯ Mi Home ขึ้นมา แล้วก็ทำตามขั้นตอนในแอปฯ ได้เลย ไม่เกิน 5 นาทีก็เสร็จแล้ว ง่ายมากๆ ถึงบอกว่าคู่มือภาษาจีนล้วนไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนกล่องเก็บฝุ่น จะอยู่ใต้ฝาพลาสติกครับ จับมันเปิดขึ้นมาได้เลย กล่องเก็บฝุ่นจะเป็นพลาสติกใสๆ พร้อม HEPA Filter ที่เราสามารถเอาไปล้างน้ำ และตากแดดให้มันแห้งได้ครับ

แล้วก็จะมีไฟสถานะ WiFi ด้วยครับ ถ้าเราต่อ WiFi สำเร็จแล้ว ก็จะมีไฟสีฟ้าๆ แสดงขึ้นมาด้วย ส่วนปุ่มข้างๆ ที่ต้องใช้ดินสอจิ้ม เดาว่าเป็นปุ่ม Reset WiFi มั้งครับ? ไม่แน่ใจแหะ

เมื่อจับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นหงายขึ้นมา เราก็จะพบกับแปรงดูดด้านล่าง ที่เหมือนลูกกลิ้งสีส้มขนสีดำครับ ตัวนี้จะทำหน้าที่ปัดฝุ่นจากใต้เครื่องเข้าไป ซึ่งเวลาใช้งานจริงก็อาจจะมีเส้นผมของเราติดอยู่บ้าง ยิ่งถ้าเป็นผมผู้หญิงยาวๆ นะคุณเอ้ยยย ต้องทำความสะอาดมันบ่อยๆ เลยแหละ

ส่วนที่มุมด้านซ้ายบน จะเห็นจุดสำหรับใส่แปรงปัด ที่ผมลืมใส่ให้ดูครับ มันทำหน้าที่ปัดฝุ่นที่อยู่ด้านข้าง ให้โดนดูดโดยแปรงดูดสีส้มๆ ที่เล่าไปเมื่อกี้ครับ

ส่วนเซ็นเซอร์สีดำที่เราเห็น น่าจะเป็นตัวตรวจจับการเดิน ทำหน้าที่ร่วมกับกล้องที่อยู่ด้านบน

พอเราแกะตัวกันกระแทก กับแผนพลาสติกที่ติดไว้กันรอยออกหมดแล้ว ก็จัดการเสียบสายไฟเข้ากับแทนชาร์จ เอาไปวางไว้ในจุดที่เราต้องการได้เลยครับ แต่ต้องเว้นที่ด้านข้างและด้านหน้าให้มันหน่อย เวลาเจ้าหุ่นยนต์จะถอยเข้าออกครับ

เพียงแค่เราเอาเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปวาง ให้หน้าสัมผัสมันตรงกัน ไฟเข้า รอมันเปิดเครื่องให้เสร็จนิดหน่อย แค่นี้ก็พร้อมใช้งานแล้วครับ แต่ถ้าอยากใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ก็ต้องต่อ WiFi แล้วสั่งงานผ่านแอปฯ Mi Home ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อไปทีหลังครับ

เริ่มใช้งาน ดูดก็ได้ ถูก็ดี

วิธีเริ่มต้นการทำงานของเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นก็ทำง่ายๆ ครับ อย่างที่บอกไปตอนแรก ก็คือการกดปุ่ม Power 1 ครั้ง เจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเราก็จะเริ่มถอยหลังออกจากแท่นชาร์จ แล้วเริ่มทำงานทันที

ด้วยความที่เคยใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั้งแบบที่ใช้ Lidar และ Gyroscope ในการทำแผนที่มาก่อน ก็เลยอยากเล่ารูปแบบการทำงานที่ต่างกันสักนิดนึงครับ คือเจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ Lidar สแกนพื้นที่ห้อง จะเริ่มทำงานโดยหมุนรอบตัวเอง แล้วเดินไปสแกนพื้นที่ห้อง หากำแพง และสิ่งกีดขวางพวกขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ก่อนครับ พอเจอแล้ว ก็จะเริ่มทพความสะอาดโดยเดินชิดขอบห้องก่อน พอทำความสะอาดขอบห้องเสร็จแล้ว ก็จะเดินเป็นเส้นตรง ขึ้น-ลงสลับไปเรื่อยๆ จนทำความสะอาดเสร็จ

ส่วนเจ้า Xiaomi Mijia 1C ที่ใช้กล้องด้านบนในการทำแผนที่ห้อง จะเริ่มทำความสะอาดโดยเดินเป็นเส้นตรง ขึ้น-ลง ทันทีที่เริ่มทำงานครับ จะไม่ได้มีการสแกนหากำแพงหรือสิ่งกีดขวางก่อน แล้วทำความสะอาดได้ไปเรื่อยๆ เจ้าหุ่นยนต์จะมาทำความสะอาดเก็บขอบและมุมห้องทีหลังครับ พอเก็บมุมเก็บขอบเรียบร้อย เจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเรา ก็จะหาทางกลับแท่นชาร์จทันที เพื่อเข้าไปชาร์จแบตครับ เท่าที่ใช้มา ไม่มีการหลง หรือเดินงงๆ ให้เห็นเลย

แต่สิ่งที่เห็นความต่างอย่างชัดเจน คือความสามารถในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางครับ เพราะเจ้า Xiaomi Mijia 1C จะชนกับสิ่งกีดขวางค่อนข้างแรง เพราะตัวมันไม่ได้มีเซ็นเซอร์ที่จะตรวจเจอสิ่งกีดขวางก่อนที่จะชนแบบที่ Lidar สามารถทำได้ แต่ที่ด้านหน้าของเครื่องก็มีตัวกันชนเป็นยางนิ่มๆ อยู่แล้ว ช่วยป้องกันความเสียหายกับเฟอร์นิเจอร์ได้ระดับหนึ่ง ไม่น่ากังวลอะไร

แผนที่ที่เจ้า Xiaomi Mijia 1C จะเป็นแบบนี้ครับ จะเห็นได้ว่ามันจะเป็นแผนที่คร่าวๆ พอให้นำทางได้ ไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนแบบที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ Lidar ทำได้ครับ ก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดที่กล้องสามารถทำได้เนอะ สีในแผนที่ที่เราเห็นสีเข้มคือบริเวณที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเราดูดไปแล้ว สีอ่อนคือยังไม่ได้เข้าไปครับ

แต่ถึงแม้ว่าจะใช้กล้องเพื่อทำแผนที่ห้อง แต่ก็มีประสิทธิภาพดี เดินฉลาดใช้ได้ ไม่หลง ไม่งงทาง ไม่ติดลูปนะครับ ไว้ใจได้

ในแอปพลิเคชัน Mi Home เราสามารถควบคุมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเราได้อย่างเต็มความสามารถมากกว่าการสั่งให้เริ่มทำงานโดยการกดปุ่มที่ตัวเครื่องครับ นอกจากแผนที่ที่บอกไปแล้วตอนต้น เรายังสามารถสั่งให้หุ่นยนต์กลับเข้าแท่นชาร์จ สั่งให้เริ่มหรือหยุดทำความสะอาดได้ ปรับความแรงของการดูดได้ 4 ระดับ คือ เงียบ มาตรฐาน แรง และเทอร์โบ ซึ่งปกติผมจะใช้อยู่แค่ เงียบ กับมาตรฐานแค่นี้แหละครับ อาศัยการดูดบ่อยๆ แทน ฝุ่นไม่ได้เยอะอยู่แล้ว

นอกจากนี้เจ้า Xiaomi Mijia 1C ยังเลือกระดับการปล่อยน้ำได้ 3 ระดับนะครับ คือ ต่ำ ปานกลาง และสูง ส่วนตัวเคยใช้แต่ปานกลางครับ กำลังดีที่สุด ถูแล้วหมาดๆ ไม่ได้แฉะเกินไป เพราะพื้นที่ห้องเป็นลามิเนตด้วย แฉะเกินไปเดี๋ยวบวมเอา

ส่วนที่เหลือก็จะเป็นพวกการตั้งเวลาทำความสะอาดอัตโนมัติครับ ตั้งได้ด้วยว่าจะให้ทำครั้งเดียว หรือทำซ้ำ ตามวัน และเวลาที่เราเลือกไว้ก็ได้ แต่ส่วนตัวไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ เพราะก่อนจะให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเริ่มทำงาน เราต้องเคลียร์พื้นที่ห้อง เก็บผ้าเช็ดเท้า และสายไฟที่กองๆ ไว้ก่อน เพราะพวกนี้คืออุปสรรคสำคัญของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเลยครับ เจอเมื่อไหร่จอดตายแน่ๆ

การจัดการแผ่นที่ เราสามารถตั้งค่าบริเวณที่จะไม่ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปได้ด้วยครับ โดยจะแบ่งเป็นเส้นตรง เอาไว้กันตรงหน้าประตูห้องที่เราไม่อยากให้มันเข้าไป หรือจะเลือกเป็นแบบกรอบสี่เหลี่ยม เอาไว้กันตรงโต๊ะ หรือเก้าอี้ที่เราไม่อยากให้มันเข้าไปก็ได้เช่นกันครับ

สรุป อยากชีวิตดี ต้องซื้อแล้วจ้าา

ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งาน Xiaomi Mijia 1C ถือว่าน่าพอใจมากๆ ครับ เก็บฝุ่นได้ดีมาก เดินแล้วเนียนเท้าเลย บางจุดอาจจะไม่สะอาดเท่ากวาด-ถู เอง แต่ถ้าใช้บ่อยๆ ทุกวัน ก็ช่วยลดภาระการทำความสะอาดใหญ่ของเราไปได้มาก

Xiaomi Mijia 1C ถือว่าคุ้มกับราคาประมาณ 5,200 บาท ที่ผมได้มามากๆ ครับ เพราะฟังก์ชั่นครบ กวาด-ถูได้ในตัวเดียว ทำแผนที่ได้ ฉลาด เดินไม่หลง จบ ครบมากๆ ถึงแม้ว่าจะบางอย่างอาจจะเทียบกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นที่มีราคาแพงกว่านี้ไม่ได้ แต่ในระดับราคา 5 พันกว่าบาท Xiaomi Mijia 1C ถือว่าตอบโจทย์มากๆ

แต่ถ้าใครอยู่บ้านหลังใหญ่ๆ การซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นแพงกว่านี้ อาจเหมาะกว่านะครับ โดยเฉพาะการทำแผนที่ด้วย Lidar ที่แม่นยำมากกว่า

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ Xiaomi Mijia 1C ที่ผมซื้อ ไม่ได้ขายโดย Xiaomi ในไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเรื่องประกันจึงกลายเป็นการประกันร้าน ซึ่งจะดีหรือไม่ดี คงต้องอยู่ที่ร้านที่ซื้อมาด้วย นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรุ่นที่มีความสามารถเยอะๆ แบบนี้ มีราคาถูกครับ

--

--