ความลับของความล้มเหลวในการบริหารเวลา ( EP. 2)

Sasinipa Uthaisaad
UCADEMiA Community
Published in
2 min readDec 19, 2019

“เรียกร้องจากตัวเองให้มากขึ้น คุณจะเด็ดเดี่ยวขึ้น

เรียกร้องจากคนอื่นให้น้อยลง ความผิดหวังของคุณจะลดลง”

นี่เป็นสุภาษิตจีนที่ในช่วงท้ายของปีที่ผ่านมาที่พี่แอบอินกับมันเป็นเป็นพิเศษ
เพราะพอเรากลับมาทบทวนชีวิตทั้งปี ก็ทำให้เราเข้าใจเลยค่ะว่า การที่มี mindset ที่คิดว่าชีวิตเราแย่เพราะคนอื่น และคาดหวังให้ชีวิตเราดีได้ด้วยกับการกระทำของคนอื่น มันช่างเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าผิดหวัง

ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะปีใหม่นะคะที่เราจะออกนโยบายในการปฏิรูปพฤติกรรม
และความคิดของตัวเอง เรามีวันใหม่ๆ ของเราได้ตลอด 365 วันเลยค่ะ^^

ใครที่พร้อมอยากเริ่มต้นวันใหม่ของตัวเองแล้ว มาเริ่มต้นไปด้วยกันกับทักษะการบริหารจัดการเวลาในตอนนี้กันนะ..

1.การมีแรงจูงใจในตัวเอง (self-motivation)

Photo by Fab Lentz on Unsplash

มันก็มีแหละวันที่เราขี้เกียจแบบไม่ไหวแล้ว ขอนอนเน่าๆ บนเตียง ไม่ทำอะไรทั้งนั้น บางทีเราคงทั้งเบื่อ เหนื่อยหน่าย หรือขาดแรงจูงใจภายในอย่างแรงจนไม่รู้ว่าอนาคตจะทำอย่างไรกับตัวเองดี

เราสามารถเรียนรู้ที่จะบิ้วท์ตัวเองให้มีแรงจูงใจในตัวเองได้ด้วย การพัฒนาความตระหนักรู้ในตัวเอง(self- awareness)ค่ะ (ถ้าจำไม่ได้ว่ามันคืออะไรกันนะคะ ก็ย้อนกลับไปอ่านบทความตอนที่แล้วได้เลยจ้า) นับว่าเป็นทักษะจำเป็นก่อนการฝึกให้มีแรงจูงใจจากภายในเลย เพราะยิ่งเรารู้จักตัวเองมากเท่าไร เรายิ่งรู้ทันความคิด และสิ่งที่จิตใจเราต้องการ และ Hack เอาข้อมูลพวกนี้แหละ มาใช้ในการดึงตัวเองออกจากหุบเหวต่างๆ ของชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนพูดน้อย จะมีความหนักใจเป็นอันมากถ้าต้องทำงานเป็นกลุ่ม ยิ่งต่างคณะ ยิ่งกุมขมับ ฉะนั้นประการแรกเลยคือ เราจะเตรียมใจก่อนเลย เวลามีงานกลุ่ม จะพยายามเป็นฝ่ายซัพพอร์ตที่น่ารัก และปล่อยวางไม่ทำงานของคนอื่น ในกรณีที่ในสายตาเรามองว่ามันยังดีกว่านี้ได้ เรียกได้ว่าเลเวลความปลงเนี่ยต้องสูงกว่าตอนเราทำงานคนเดียวนะ …เตรียมใจเอาไว้ (แต่อภิปรายเพื่อพัฒนางานกันได้)

หรือการที่เรารู้ว่าสิ่งที่ตัวเราเองให้คุณค่ากับมันมากที่สุดในชีวิตคืออะไร (ลองลิสมาสัก 3 อย่าง) เราจะเอาสิ่งเหล่านี้แหละ มาเสริมกำลังทั้งกับการเรียนและการใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ถ้าเอาไม่อยู่..การที่เรารู้ว่าตัวเราเองชอบทำกิจกรรมแบบไหนเพื่อผ่อนคลายความคิดหรือสถานที่ไหนที่อยู่แล้วรู้สึกดีกับตัวเอง มันก็จะสามารถประคับประคองให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้บ้าง

สิ่งที่ดีที่สุด!! คือ การทบทวนตัวเองสม่ำเสมอ

ให้เราอยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ ว่าเราทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร แล้วมันตรงกับความคาดหวังในชีวิตของเราจริงๆ หรือเปล่า ถามตัวเองบ่อยๆ เอาตัวเองออกมาจากการหลงทางให้เร็ว มองหาโอกาส และสร้างทางเลือกให้ตัวเองอยู่ตลอด ชีวิตเราจะมีแรงจูงใจจากเบื้องลึกขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ^^

เมื่อถึงเวลาที่เราต้องก้าวออกมาจากมหาวิทยาลัยพร้อมแบกคำว่า ผู้ใหญ่ ออกมาใช้ตลอดชีวิต เราก็ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองในทุกมิติ ฟังแล้วหนักเนาะ

แต่ถ้าเรามีสกิลชีวิตเหล่านี้มันจะช่วยประคับประคองชีวิตเราไม่ให้ปะทะกับความกดดันและความตึงเครียดของชีวิตโดยตรง จนกลายเป็นขาดแรงจูงใจในการมีชีวิต

พี่ยืนยันและนอนยันจากใจจริงว่า การรู้จักสร้างแรงจูงใจภายในให้ตัวเอง เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ในการทำงานในอนาคตของพวกเราค่ะ

ฉะนั้นแล้วหากทักษะการมีแรงจูงใจในตัวเองแข็งแกร่งมากพอ ก็จะสามารถสร้างงานของตัวเองให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้

ตัดภาพมาที่ตัวเองที่นอนเน่าหนอนอยู่บนเตียง รอให้เวลาผ่านไปวันๆ มันสะเทือนใจมากจริงๆ นะ

ชีวิตมันแปปเดียว ใช้ให้คุ้ม อยู่ให้มันส์ค่ะ อย่าเปลืองเวลานอนเน่าคาเตียงเป็นอันขาด go rock the world ค่ะลูกสาว!

2.โฟกัส (focus)

Photo by Stefan Cosma on Unsplash

อ่านปากนัชชาอีกครั้งนะคะโฟ-กัส ค่ะ

ใช่ค่ะ เราจะทำอะไรไม่เสร็จได้เลย ถ้าเราไม่โฟกัส (เว้นแต่เราจะโยนงานเราไปให้ชาวบ้านทำ ด้วยจิตใจที่ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี555)

ทักษะการโฟกัสนี้เป็นทักษะที่รวมเอาทั้งความสามารถในการลำดับความสำคัญของงาน และการมีสมาธิในการทำงานเข้าไว้ด้วยกัน นับว่าเป็นทักษะขั้นแอดวานส์ที่ควรค่าแก่การฝึกฝนมาก ไม่ว่าเราจะเรียนหรือทำงานที่ไหนก็ตามทีนะ (ตอนนี้พี่เองก็ยังฝึกฝนอยู่ และคิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้หยุด)

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ชีวิตการเรียนการทำงานเรานั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันท้าทายมากว่าเราเลือกจะทำอะไร และไม่ทำอะไร เราทำทุกอย่างหมดไม่ได้เพราะชีวิตเรามีเวลา ความสามารถ และทรัพยากรในตอนนั้นๆ อยู่จำกัดค่ะ

ขากรรไกรงูเขียวฟันน้ำนมของเราคงเขมือบช้างแมมมอธไม่ได้ทั้งตัวภายในขอบเขตเวลาอันน้อยนิด ฉะนั้นจงเลือกจะโฟกัสว่าจะเขมือบอะไรก่อน (ลำดับความสำคัญ) จากนั้นจงตั้งใจที่จะจัดการกับส่วนนั้นอย่างขะมักเขม้นค่ะ เพราะ multi-tasking ที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอยู่จริงบนโลกที่สั่งงานแบบมหาสมุทรช้างแมมมอธ เราต้องทำให้เสร็จเป็นอย่างๆไปค่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องฝึกฝนให้เป็นทักษะระยะยาวในการช่วยชีวิตตัวเอง ก็คือการโฟกัสกับงานที่เราเลือกมันมาทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป ก่อนจะหยิบเอาส่วนอื่นมาทำตามลำดับค่ะ

3.การวางแผนก่อนลงมือ (planning)

Photo by Curtis MacNewton on Unsplash

สุภาษิตคมๆ ของอับราฮัม ลินคอร์น มาค่ะ (ดีดนิ้ว เปาะ..)

“Give me six hours to chop down a tree and i will spend the first four sharpening the axe.” (เฉียบบบ)

ทุกคนคะ เราจะวางแผนงานที่มีประสิทธิภาพได้ เราต้องรู้เนื้อหนังของงานที่เราจับต้องอยู่ค่ะ ไม่อย่างนั้นเราออกแบบงานที่เราจะทำไม่ได้ วางแผนเวลาที่ใช้ไม่ได้ ลำดับความสำคัญไม่ได้ และแน่นอนค่ะ งานไม่เสร็จง่ายๆ ค่ะ ฉะนั้นเราจง…

  • รู้ว่ามีงานย่อยอะไรในงานใหญ่ และงานย่อยไหนต้องทำก่อน ไม่งั้นจะทำงานย่อยที่เหลือไม่ได้
  • งานไหนส่งผลกับคนอื่น เขาต้องรองานที่ส่งต่อจากเรามั้ย พวกนี้เป็นปัจจัยที่คนทำงานใช้กัน เพื่อเรียงลำดับสิ่งที่ทำก่อนหลัง และวางแผนงานใหญ่ที่จะเสร็จออกมาตามเวลาอันน้อยนิดที่เราและทีมทำงานมีค่ะ

4.ซุปเปอร์ฮีโร่ คือ ทักษะการสื่อสาร (communication)

Photo by Icons8 Team on Unsplash

จากที่เคยพูดไว้ข้างบนว่าเราทำงานทุกอย่างไม่ได้เนาะ และอีกอย่างก็คือ เราทำงานสเกลใหญ่ๆ ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ค่ะ เราต้องมี ‘ทีม’ รู้ว่าใครควรทำอะไร ควรแบ่งงานนี้ไปให้ใคร หรือใครมีหน้าที่รับผิดชอบงานนี้กันนะ เพื่อแบ่งงานที่รับผิดชอบไม่ให้มากเกินไป ซึ่งสิ่งนี้ไม่เป็นผลดีกับทั้งตัวเราและงานเลยค่ะ

แล้วเจ้าทักษะการสื่อสารนี่แหละค่ะที่จะเข้ามาเป็นฮีโร่ช่วยเราให้พ้นภัย มาเรียนรู้ไปด้วยกันนะ พี่เองก็ยังไม่เซียนบอกตรง ผิดใจกันมามากแล้ว แล้วก็ควรพอซะที!

• อธิบายที่มาที่ไปของงาน ประมาณว่าหลักการและเหตุผล

• มาตรฐานงานที่ต้องการเมื่อถึงเวลาส่งมอบงาน

• เมื่อมีปัญหาด่วนขึ้นมา หรือติดขัดอะไร ตัวเราต้องให้เพื่อนร่วมงานทราบด้วย เพราะมันกระทบเค้าแน่นอนไม่ว่าจะมากน้อย และอธิบายอย่างชัดเจนว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับปัญหานี้อย่างไร (แต่ถ้าคิดวิธีแก้ไม่ออก ก็เอาปัญหานี้แหละไปหาคำตอบร่วมกันค่ะ )

• กล้าจะ say no! รวมทั้งกล้าจะให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเรากำลังไม่ชอบใจอะไรค่ะ เพราะเราทุกคนก็อยากทำงานเสร็จใช่มั้ย การรู้จักปฏิเสธงานที่ไม่สำคัญออกไป หรือลำดับมันไว้ในความสำคัญที่เหมาะสม จะช่วยให้เราไม่ต้องทนทุกข์ในสถานการณ์ที่รับงานมาแบกไว้ทั้งที่รู้แก่ใจว่าเกินกำลัง เพราะเราทุกคนมีงานของตัวเองเนาะ และมีลำดับความสำคัญของงานแตกต่างกันไป ช่วยเหลือกันได้ แต่ต้องให้เกียรติกันและกันด้วย

เราจะเก่งได้ ด้วยการฝึกฝน ทำมันบ่อยๆ พัฒนามันอยู่เสมอๆ ถึงเราจะยังบริหารเวลาได้ไม่ดีในตอนนี้ แต่ถ้าเราฝึกฝนด้วยความต่อเนื่องและหวังในสิ่งดีๆ ที่จะตามมา เราก็จะอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และทำอย่างมีีความสุขไปพร้อมกันค่ะ

ก่อนจะจากกันเช่นเคย เราขอมอบ quote คูลๆ ไว้ประดับบทความเราซักนิดนึง

Much unhappiness has come into the world because of bewilderment (สถานการณ์ที่สับสน หรือหลงทาง) and things left unsaid.

โดย Fyodor Dostoyevsky

ขอให้วันนี้เป็นวันใหม่ที่สดใสของเราทุกคนเลยนะคะ :)

--

--

Sasinipa Uthaisaad
UCADEMiA Community

Creator who passionate on Communication Designed and everything about Nature 🌾🐛🦋