ความลับ(สุดท้าย)ของความล้มเหลวในการบริหารเวลา (EP. 3)
การบริหารจัดการเวลาเป็นเรื่องท้าทายและเราต่างมีวัตถุประสงค์ในการบริหารเวลาแตกต่างกัน เราอาจไม่ได้ทำมันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามและบริหารจัดการไปตลอดชีวิต ถ้ามองว่ามันหนัก มันก็คงหนักไปทั้งชีวิตของเราเลยค่ะ เลยอยากชวนให้เริ่มต้นปีใหม่นี้ มาทำเท่าที่กำลังเราทำได้
อดทนในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขอบคุณและให้อภัยตัวเองให้ได้ทุกวัน
เก็บความประทับใจต่อตัวเองไว้เป็นกำลังใจให้กล้าจะเริ่มต้นเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ๆ ด้วยหัวใจที่สดใส ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้เรากดดันตัวเองว่าจะต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันค่ะ สามวันที่แล้วมันอาจจะดีมากๆ เลย อาทิตย์นี้มันอาจจะเละเทะไปทั้งอาทิตย์เลยก็ได้ มันอาจทำให้เราผิดหวังในตัวเองบ้าง
แต่เรื่องดีๆ ที่เราขอบคุณและให้อภัยตัวเอง จะทำให้เรากล้าเริ่มต้นใหม่ และมีพลังใจที่จะเติมเต็มชีวิตในแบบที่เราต้องการในทุกๆ วัน ซึ่งมันสำคัญกว่าการที่เราทำตาม to do list ได้ทั้งหมดภายในเวลาสั้นๆ แต่กลับรู้สึกถึงความว่างเปล่าที่ไม่สิ้นสุดหลังจากนั้นค่ะ
ถ้าสังเกตในตอนที่ 1 และ 2 การบริหารจัดการเวลาจะมีทั้งทักษะที่เราต้องจัดการตัวเองและการทำงานกับปัจจัยภายนอก ผสมปนเปกันไป โดยที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการจัดการกับตัวเอง ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกับเราจะมากหรือน้อย อาจจะขึ้นอยู่กับหลายต่อหลายเรื่องที่วันนี้เราอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำค่ะ ค่อยๆ เรียนรู้กันไปเนาะ เพราะชีวิต คือ lifelong learning ค่ะ
บางคนเลือกจะจัดการปัจจัยภายในของตัวเองให้เข้มแข็ง และผ่อนปรนบ้างเมื่อทำงานกับปัจจัยภายนอก บางคนอาจจำเป็นต้องควบคุมปัจจัยภายนอกอย่างมากเพิ่มไม่ให้ส่งผลต่อปัจจัยภายในของเรา ของแบบนี้ไม่มีใครดูแลแทนกันได้ค่ะ
ฉะนั้น ตอนสุดท้ายนี้ .. อยากให้เป็นตอนที่ได้ชวนให้พวกเรามาสนุกกับการได้เรียนรู้ชีวิตตัวเองในทุกวันกันค่ะ แอบหวังลึกๆ ว่าในระยะยาวผู้อ่านที่น่ารักของเราจะรู้สึกท้าทาย เวลาได้ดูแลและจัดการเรื่องราวต่างๆ ของตัวเอง แอบปล่อยให้มัน go with the flow บ้าง และมีความสุขกับการได้ขอบคุณและให้อภัยตัวเองค่ะ
กลับเข้า runway กันต่อนะคะ 55 เหลืออีกไม่กี่เรื่องหรอกที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการบริหารเวลาของเราได้ เรามาจบเรื่องกันสักทีใช่มั้ยคะ เฮ่.. ลุย..!
เราตั้งคำถามมากพอหรือยัง?
>> Due date คือเมื่อไร
>> มี requirement อะไรบ้างในการที่งานชิ้นนี้จะเสร็จออกมาเดินฟินาเล่ได้
>> มีพลังงานภายใน เครื่องมือ อุปกรณ์ ไฟล์งาน แหล่งข้อมูล เพื่อนช่วยงาน หรือสิ่งจำเป็นอะไรที่ทำให้งานเสร็จแล้วบ้าง และอะไรที่ยังไม่มี
>> อะไรที่จะส่งผลกับการทำงาน (งานด่วน สอบเก็บคะแนน เวลาอ่านนส. กิจกรรมคณะ สุขภาพร่างกาย)
>> มีเวลาทำจริงๆ กี่ชั่วโมง
ละเอียดถึงหน่วยชั่วโมงจะดีมาก หักลบกลบเวลาเรียน เวลาอ่านนส. และการบ้านวิชาอื่นให้หมด
>> แล้วเมื่อไรที่เราควรจะทำเสร็จ
ลองตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับมันตามลำดับ และหาคำตอบของแต่ละคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจเราให้ได้ค่ะ เพราะอะไรมันถึงสำคัญใช่มั้ย… เพราะการจะตัดสินใจอะไรได้ดี หรือมีงานที่ตรงตามมาตรฐานสูงๆของเราได้ เราต้องทราบปัจจัยที่ส่งผลต่องานให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ค่ะ
สกิลการตัดสินใจ (Decision making) ของเรามันคมพอจะตัดใจได้มั้ย?
เคยเป็นมั้ยคะ ที่ไอเดียเรามันโคตรปัง แต่มีเวลาและสกิลน้อยหรืออาจไม่พอด้วยซ้ำ เราคงต้องตัดสินใจแล้วแหละว่าจะให้งานเราเสร็จออกมาหน้าตาแบบไหน บางทีภาพในหัวเรามันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาสร้าง 20 ชั่วโมง แต่หักลบเวลาเรียน เวลานอน เวลาไถเฟส และช็อปปิ้งออนไลน์ของเราแล้ว เรามีเวลาให้มันจริงๆ แค่ 6 ชั่วโมงก่อนเดทไลน์เท่านั้นเองนะ
ก็คงต้องตัดสินใจเหมือนกันแหละ ว่าจะเอายังไง จะโดดเรียนบางวิชามาทำงานมั้ย หรือจะยอมสละเวลานอน หรือจะตัดทอนงานให้ทำได้ภายในเวลา 6 ชั่วโมง ทุกอย่างมันขึ้นกับการตัดสินใจของเราหมด
อย่าลืมว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งของเรา มันส่งผลกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเราเป็นโดมิโนเลย
เช่น ถ้าเราเลือกจะสละเวลานอนมาทำงานให้เพอร์เฟคกับภาพฝันของเรา มันจะไปกระทบการเรียนในคาบเช้าวันต่อไปมั้ย แล้วงานของวิชาอื่นล่ะ เราจะทำมันได้ดีมั้ยถ้าเรามีสภาพอดหลับอดนอนแบบนั้น หรือเราจะ play safe ในงานไหน แล้วจะตัดสินใจ take risk งานตัวไหน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราทั้งหมดค่ะ
แต่ถ้าพลาดท่าเสียทีไปแล้ว ก็อย่าได้กังวลใจค่ะ ชีวิตมันคือการลองผิดลองถูก จนกว่าเราจะเจอสไตล์การตัดสินใจในแบบที่เราสามารถรับมือกับผลที่ตามมาได้ และ move on ไปข้างหน้าในแบบที่เคารพในการตัดสินใจของตัวเองได้ค่ะ (ขยิบตาหนึ่งที)
กล้าจะบันทึกและวัดผลตัวเองมั้ย?
ถ้ากล้า.. ก็ไปต่อค่ะ …ติดตามการทำงานของตัวเอง จดให้หมดว่าเริ่มทำตั้งแต่กี่โมง ระหว่างนั้นเราวอกแวกทำอะไรบ้าง ช่วงเวลาไหนที่ทำแล้วงานอืด หรือช่วงไหนทำแล้วงานเสร็จเร็วกว่ากำหนด ลักษณะงานแบบไหนที่เราอืด แบบไหนที่เราว่องไวจนประทับในตัวเอง ทำ time blocking, podomoro, bojo journal ฯลฯ
มีเครื่องมืออะไรที่ชอบใช้ก็เอามันมาช่วยได้ตามสะดวกค่ะ โปรแกรมที่ช่วยเรื่อง productivity ใน app store หรือ google play ที่ช่วยบริหารจัดการมีเยอะมาก (แนะนำกันได้นะ) หรือใครเซียนหน่อย มีนาฬิกาเรือนเดียวก็เพียงพอแล้ว
ประโยชน์ของการตั้งใจจะวัดผลการทำงานของตัวเอง จะช่วยให้เราได้ลับคมทักษะอื่นๆ ไปได้ด้วย ไม่ว่าจะการโฟกัส ตระหนักรู้ในตัวเอง การมีแรงจูงใจภายใน รวมทั้งการตัดสินใจอย่างเฉียบคมค่ะ
อย่าทำอะไรโดยละเลย สุขภาพกาย และสุขภาพใจ
ถือว่าเป็นคำเตือนที่จริงจังที่สุด ที่เราจะให้เพื่อนรักของเราคนหนึ่งเลยนะ
เพราะเมื่อไรที่สภาพจิตใจ หรือสุขภาพกายของเราพังทลาย การบริหารเวลา(ทำงาน) จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่บน high-priority ของเราโดยอัตโนมัติ
ฉะนั้น ถ้าสุขภาพกายและใจของเรากำลังอยู่ใน Red zone ต้องระวังอย่าทำให้แผนการบริหารจัดการเวลาของเราไปทำให้มันแย่ลงไปอีก สิ่งที่เราทำได้และควรทำอย่างยิ่ง คือ ให้การบริหารเวลาเป็นไปเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของเราเป็นไปอย่างสมดุลค่ะ เอาสุขภาพเป็นหนึ่งในเรื่องที่เราอยากบริหารจัดการในตารางชีวิตของเราด้วยค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว.. อยากเชิญชวนให้กลับมานั่งอยู่เฉยๆ แล้วถามตัวเองหลายๆ ครั้ง และตอบมันหลายๆ ครั้ง ว่าจริงๆ แล้วเราจะบริหารจัดการเวลาของเราไปเพื่ออะไรกันนะ แล้วคำตอบไหนที่มันจริงที่สุด ให้เรายึดถือไว้ให้ดี มันจะเข้ามาช่วยให้การบริหารจัดการเวลาของเรามีคุณค่ากับชีวิตเราอย่างแท้จริง และเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องตัดสินใจอะไรสำคัญๆ มันจะทำให้การตัดสินใจของเราคมที่สุดในแบบที่เราไม่เสียใจกับสิ่งที่ตามมาเลยค่ะ
ชีวิตเราคง Crack เอา Life Hack มาบอกกันไม่ได้ทั้งหมดหรอกนะ
ฉะนั้น เรามาเรียนรู้ไปด้วยกันนะ …เริ่มจากตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเลยค่ะ ว่าจริงๆ แล้วเราบริหารจัดการเวลาของเราไปเพื่ออะไรกัน :)
ขอบคุณแรงบันดาลใจจากบทความ 17 Essential Time Management skills
รู้สึกเป็นเกียรติเหลือเกินที่เราได้ใช้เวลาร่วมกันในบทความนี้นะคะ
สวัสดีปีใหม่ 2020 ค่ะ :)