Early Period of Modernist Urban Planning

Uma Phanita Surinta
All about Urban
Published in
4 min readJan 13, 2024

ยุคเริ่มต้นของผังเมืองสมัยใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเสริมความงามและสร้างสุนทรียภาพให้กับเมือง เกิดขึ้นช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นการเคลื่อนไหวปรับปรุงฟื้นฟูเมืองให้สวยงาม โดยมุ่งแก้ไขปัญหาความแออัดและมลพิษในเขตเมืองอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

  • Modernization of Paris ​/ ​Baron Haussmann (1809–1891)
  • City Beautiful Movement / Daniel Burnham (1846–1912)
  • Garden City Movement / Ebenezer Howard (1850–1928)

Modernization of Paris by Baron Haussmann

การเคลื่อนไหวเพื่อปรับโฉมเมืองให้ทันสมัย หรือ Modernization of Paris เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงปารีสในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดย Georges Eugène Haussmann (จอร์จ ยูจีน ออสมัน) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 1857 จึงถูกเรียกว่า บารอนออสมัน (Baron Haussmann) เขาเรียนจบด้านกฎหมายและดนตรี หากแต่มีความเชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากการเข้าทำงานบริหารราชการและทำงานได้ดีจนได้รับโอกาสร่วมวางแผนและลงมือปรับปรุงกรุงปารีส ภายใต้คำสั่งนโปเลียนที่ 3 (Napoléon III) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของเมืองที่กำลังมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายใต้การปกครองของนโปเลียนที่ 3 ออสมันได้รับสิทธิ์ขาดในการแปลงโฉมกรุงปารีสตามรูปแบบที่เขาต้องการ โดยรัฐสภาฝรั่งเศสได้ปรับกฎหมายการเวนคืนที่ดินให้การตัดถนนและปรับปรุงพื้นที่สองข้างตามแนวถนนได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แต่ต้องการเพียงความเห็นชอบของกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 เท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาจากการแปลงโฉมกรุงปารีสตามแผนงานของกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 คือการใช้เงินจำนวนมากจนจากเงินจากคลังหลวงไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการลงทุนในรูปแบบที่ภาคเอกชนหรือนายทุนสามารถให้เงินสนับสนุนแลกกับสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ตามแนวถนนที่ตัดขึ้นใหม่นี้

ผังแสดงการวางผังแนวถนนให้ตัดตรงเพื่อความสวยงามแทนถนนที่แคบและคดเคี้ยวจากเมืองปารีสในยุคมืด*
ภาพวาดแสดงการรื้อทำลายและการปรับปรุงอาคารตามแนวถนนที่ตัดขึ้นใหม่
L’avenue de l’Opéra
สีแดงแสดงถนนที่ถูกตัดขึ้นในยุคของบารอนออสมันและนโปเลียนที่ 3

ออสมันสร้างถนนขนาดใหญ่ เรียกว่า Boulevard หรือ Avenue ตัดผ่านใจกลางเมืองและพื้นที่สลัม โดยรื้อทำลายอาคารไปกว่า 12,000 หลัง เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทำถนน สวนสาธารณะ โรงโอเปร่าและตลาด ซึ่งเป้าหมายของการปรับปรุงกรุงปารีสโดยสรุปของบารอนออสมัน (Haussmann’s renovation of Paris) คือ

  • เพื่อสร้างความสวยงามและเป็นระเบียบให้กับเมือง จัดระเบียบอาคารและสร้างถนนที่เป็นแนวแกนร่วมกับระบบตาราง (Grid system)
  • เพื่อเพิ่มพื้นว่างและจัดสร้างสวนสาธารณะ ปรับปรุงระบบการจ่ายน้ำ การระบายน้ำไฟแสงสว่างบนเส้นถนน
  • เพื่อปรับปรุงระบบเส้นทางสัญจรเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆของกรุงปารีสให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คุณูปการของบารอนออสมันในการปรับโฉมกรุงปารีส

  1. สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองในแบบที่ยากจะสามารถทำได้อีก เนื่องจากเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 หรือเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการในรูปแบบของเผด็จการ
  2. ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลงานของสิ่งที่เขาทำได้สร้างให้เกิดกรุงปารีสในปัจจุบันที่ดูสวยงามและน่าประทับใจ โดยทำให้วิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงเมืองที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้แต่กลับเกิดขึ้นได้จริง
  3. ทำให้กรุงปารีสกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว มีความสวยงามของสถาปัตยกรรม และแก้ปัญหาเรื่องความแออัด ลดปัญหาเรื่องขยะและการระบายน้ำเสีย ทำให้ปารีสกลายเป็นเมืองที่ผู้คนมีสุขภาวะที่ดี
ภาพแสดงแนวถนนในกรุงปารีสก่อนและภายหลังการปรับปรุง
ภาพแสดงแนวถนนในกรุงปารีสก่อนและภายหลังการปรับปรุง

ด้านลบจากการปรับโฉมกรุงปารีสโดยบารอนออสมัน

  1. ในมุมมองของชาวเมืองบางส่วน กระบวนการปรับปรุงเมืองของฮอสมันเป็นการกระทำของเผด็จการที่ดูป่าเถื่อน เป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของกรุงปารีสจากการตัดถนนขนาดใหญ่ผ่านสลัมหรือย่านแออัด และดูเหมือนเป็นการกระทำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กองทัพฝรั่งเศสสามารถปราบการจลาจลได้เร็วขึ้น
  2. คำวิจารณ์ถึงฮอสมันมักจะเป็นการเปรียบเปรยว่าสิ่งที่เขาทำคือการสร้างกรุงปารีสที่เต็มไปด้วยถนนที่ปูด้วยหิน ปกปิดอาคารด้วยfacadeที่ทำจากหิน ถนนขนาดใหญ่ที่วังเวงที่เป็นการเปิดทางให้กองทัพได้เข้าระงับเหตุการณ์ไม่สงบ
  3. บางคำวิจารณ์กล่าวว่าเขาได้ทำลายสมบัติของเมืองที่สืบต่อมาจากยุคมืด ซึ่งหมายถึงเสน่ห์ของตรอกซอยที่แคบและคดเคี้ยว
ภาพวาดแสดงการปราบจลาจลของกองทัพในกรุงปารีส
ภาพวาดแสดงการซ่อมแซมและปรับโฉมของอาคารตามแนวถนนตัดใหม่

City Beautiful Movement by Daniel Burnham

การเคลื่อนไหวเพื่อปรับโฉมเมืองให้สวยงาม หรือ City Beautiful Movement เกิดขึ้นที่หัวเมืองขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 โดยมี Daniel Burnham (แดเนียล เบอร์แนม) เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงพื้นที่และอาคารสำคัญในเขตใจกลางเมือง เขาเป็นสถาปนิกและนักออกแบบเมืองชาวอเมริกัน เป็นคนเรียนไม่เก่งแต่วาดรูปได้ดี เริ่มค้นพบความชอบของตัวเองจากอาชีพนายช่างเขียนแบบ และสะสมทักษะและความรู้จนสามารถเปิดสำนักงานออกแบบร่วมกับเพื่อน โดยเริ่มมีชื่อเสียงจากการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมากและได้พัฒนาการทำฐานรากในรูปแบบที่เรียกว่า Floating Foundation คือแผ่นคอนกรีตที่ทำหน้าที่เสมือนชั้นหินธรรมชาติใต้ชั้นดิน

หลักการของเบอร์แนมคือ อย่าคิดทำงานเล็ก เพราะมันไม่มีพลังพอที่จะปลุกเร้าอารมณ์ของผู้คน (Make no little plans. They have no magic to stir men’s blood!)

ความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความสวยงามและสุนทรียภาพให้กับเมืองโดยเบอร์แนม ปรากฏขึ้นจากการออกแบบและจัดงาน World’s Columbian Exposition ในปี 1893 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของ ศักราชแห่งการเสริมความสวยงามให้กับเมือง หรือ City Beautiful Movement

แผนผังของงาน World’s Columbian Exposition ที่ออกแบบโดย Daniel Burnham

งาน World’s Columbian Exposition ถูกจัดขึ้นบนพื้นที่ย่านใจกลางกรุงชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบปีที่ 400 ของการเดินทางมาค้นพบอเมริกาของ Christopher Columbus งานออกแบบชิ้นนี้เป็นผลงานที่สะท้อนภาพของเมืองต้นแบบในความคิดของเบอร์แนมและทีม เป็นการวางผังและออกแบบโดยใช้หลักการสร้างแนวแกนให้เกิดความสมดุลและสง่างาม ประกอบกับแนวคิดในการจัดแสดงผลงานในรูปแบบของสารานุกรมที่บอกเล่าถึงอารยธรรมความเจริญ (A Veritable Encyclopedia Of Civilization) ของอเมริกา ทั้งในด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการเกษตร ด้านศิลปกรรม

ภาพวาดทัศนียภาพแสดงพื้นที่จัดงาน World’s Columbian Exposition ที่ออกแบบโดย Daniel Burnham
ภาพถ่ายบรรยากาศของงาน World’s Columbian Exposition ที่ออกแบบโดย Daniel Burnham

หลักการในการออกแบบเมืองของศักราชแห่งการเสริมความสวยงามให้กับเมือง The City Beautiful Movement

  • สร้างเมืองที่สวยงามเหมือนเมืองในฝันตามแบบเมืองในยุคบาโรค มีถนนกว้าง สะอาดตา จัดวางตำแหน่งอาคารอย่างเป็นระเบียบแบบแผน มีแนวแกนสำคัญที่ส่งเสริมความสง่า
  • อาคารที่ออกแบบโดยนำเอาลักษณะของสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิคกลับมาใช้หรือเรียกว่า นีโอคลาสสิค (Neoclassical Architecture)
  • พื้นที่สาธารณะมีการประดับประดาอย่างสวยงามด้วย น้ำพุ โคมไฟ อนุสาวรีย์ รูปปั้น ทางเดิน ที่นั่งพักผ่อน สนามหญ้า ไม้ประดับ ฯลฯ

ตัวอย่างพื้นที่ใจกลางเมืองที่ออกแบบโดย Daniel Burnham

Washington DC
Cleveland
Manila, Philippines
Chicago
San Francisco

Garden City by Ebenezer Howard

Garden City (อุทยานนคร) กำเนิดขึ้นจาก Ebenezer Howard (อีเบเนเซอร์ โฮเวิร์ด) ชายชาวอังกฤษผู้มีอาชีพหลักเป็นนักจดชวเลข การได้บันทึกและเขียนรายงานเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง และการได้รับรู้ถึงเหตุการณ์และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับเมืองจากประสบการณ์การทำงานทั้งในอเมริกาและอังกฤษทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือชื่อ To-Morrow: A Peaceful Path to Real Reform ตีพิมพ์ในปี 1898 โดยถ่ายทอดแนวคิดถึงเมืองในฝัน (Utopia City) ที่คนในเมืองสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นจุดกำเนิดของการเคลื่อนไหวของแนวคิดอุทยานนครหรือ Garden City Movement

แนวคิดอุทยานนคร เป็นแนวคิดเมืองใหม่ในฝันที่ต้องการแก้ไขปัญหาความแออัด ความสกปรกและมลพิษภายในเขตเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยนำเสนอทางเลือกในการออกแบบเมืองที่นำเอาข้อดีของชนบทมารวมกับข้อดีของการอยู่อาศัยในเขตเมือง กลายเป็นเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ สร้างโอกาสที่ดีให้ผู้อยู่อาศัยทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังคงความสวยงามของธรรมชาติ มีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวอย่างเพียงพอ ปราศจากมลพิษ และไม่มีชุมชนแออัด

แผนภาพแม่เหล็กสามอันที่แสดงหลักการของอุทยานนคร เป็นการดึงเอาข้อดีของการอยู่อาศัยในชนบทและในเมืองมารวมกันเพื่อสร้างเมืองใหม่

หลักการออกแบบเมืองตามแนวคิด Garden City

  • ความหนาแน่นที่พอเหมาะ คือมีประชากรไม่เกิน 32,000 คน ต่อพื้นที่เมือง 4 ตร.กม. (ประมาณ 8,000 คนต่อ ตร.กม.) และมีพื้นที่เกษตรกรรม 20 ตร.กม
  • วางผังเป็นวงกลมโดยพื้นที่ภายในเมืองแทรกด้วยพื้นที่เปิดโล่งและสวนสาธารณะ
  • เมืองมีลักษณะที่พึ่งพาตนเองได้ (self-sufficient) หมายถึงมีสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น ร้านค้า โรงเรียน บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆครบถ้วน
  • มีถนนหรือทางรถไฟเพื่อใช้เดินทางระยะไกลเชื่อมกับเมืองอื่นๆ
แผนภาพแสดงการแบ่งเขตพื้นที่ของเมืองในฝันที่พึ่งพาตนเองได้ตามแนวคิดอุทยานนคร

โครงข่ายของเมืองที่ปราศจากสลัมหรือพื้นที่แออัดและฝุ่นมลพิษ

  • มีเมืองศูนย์กลาง Central City พื้นที่ 48.5 ตร.ก.ม. จำนวนประชากร 58,000คน ล้อมรอบด้วยเมืองรองที่มีขนาดพื้นที่ 32 ตร.กม. จำนวนประชากร 32,000 คน
  • มีรถไฟและแนวคลองเป็นโครงข่ายเชื่อมแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน
  • รอบเขตเมืองมีพื้นที่แบ่งให้คนในเมืองเช่าหรือใช้สำหรับทำสวน
  • พื้นที่นอกเขตเมืองใช้สำหรับทำการเกษตร แหล่งกักเก็บน้ำ สถาบันการศึกษาทางการเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม
แผนภาพแสดงโครงข่ายของเมืองตามแนวคิดอุทยานนคร เป็นโครงข่ายเมืองที่ปราศจากชุมชนแออัดและมลพิษ (Group of slumless smokeless cities)

ตัวอย่างเมืองที่ออกแบบตามแนวคิด Garden City

Letchworth, UK
Welwyn , UK

--

--