The Eixample Plan of Barcelona

การขยายตัวของเมืองบาร์เซโลน่าจากเมืองยุคมืดสู่ ‘The Eixample’

Uma Phanita Surinta
All about Urban
3 min readFeb 21, 2021

--

Eixample ศัพท์คำนี้แปลว่าการขยายตัวในภาษาคาตาลัน ถูกนำมาใช้เรียกรูปแบบของผังการขยายตัวของเมืองบาร์เซโลน่าในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการวางผังเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวจากเมืองในยุคมืด (Dark Age) ที่แออัดอยู่ในขอบเขตกำแพงและคูน้ำ โดยพื้นที่เมืองกระจายตัวออกจากเขตกำแพงในรูปแบบตาราง (Gridlike Layout) ที่พื้นที่อาคารมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆกัน มีเส้นถนนตัดตั้งฉากและสานกันเป็นตาราง

บาร์เซโลน่า (Barcelona) เป็นเมืองหลักของแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน นอกจากจะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากมาดริด (Madrid) บาร์เซโลนายังเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผังเมืองของบาร์เซโลน่าในยุคเริ่มต้น มีวิวัฒนาการคล้ายกับเมืองในทวีปยุโรปอีกหลายเมืองที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากเมืองในยุคมืด โดยจะสังเกตได้จากเส้นทางสัญจรภายในเขตเมืองเก่าที่แคบและคดเคี้ยว อาคารบ้านเรือนที่เรียงชิดติดกัน มีความหนาแน่นและแออัด ขาดพื้นที่เปิดโล่ง มีกำแพง คูน้ำและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันรอบเมือง ซึ่งเมืองที่เติบโตต่อเนื่องมาจากเมืองในยุคมืดเหล่านี้ ต่างเป็นเมืองหลักสำคัญที่มีการขยายตัวจากการเพิ่มของจำนวนประชากร มีการปรับปรุงรูปแบบของผังเมืองไปตามบริบทในการใช้พื้นที่เมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุค

แผนที่ของเมือง Barcelona ก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองและป้อมปราการ ; Wikipedia

ผังเมืองบาร์เซโลน่ามีความพิเศษแตกต่างจากเมืองอื่นๆทั่วไปในแถบยุโรป เป็นลักษณะพิเศษที่สามารถสัมผัสรับรู้ได้จากแนวถนนที่สานกันเป็นตารางและบล็อกอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่าๆกัน ผังเมืองรูปแบบตารางปรากฏอยู่บนพื้นที่ส่วนใหญ่ของบาร์เซโลน่าในปัจจุบัน สิ่งที่น่าเรียนรู้คือเบื้องหลังและที่มาของรูปแบบการวางผังที่เรียกว่า Eixample นี้ และการประสบกับปัญหาจนเป็นสาเหตุให้ต้องมีแนวคิดในการปรับปรุงไปสู่ผังในรูปแบบ Superblock ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสามารถอธิบายได้ตามลำดับต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นของผัง Eixample

เริ่มมาจากการเติบโตและการเพิ่มของจำนวนประชากรในเขตเมืองบาร์เซโลน่า ประกอบกับการประสบปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและมลพิษทางอากาศอันเป็นผลจากการเพิ่มของอุตสาหกรรมในเขตเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1760 ถึง ค.ศ. 1850) จนเป็นสาเหตุให้ในปี ค.ศ.1855 สภาเมืองบาร์เซโลน่าคิดหาวิธีการในการแก้ไขโดยได้จัดให้มีโครงการประกวดการออกแบบและวางผังพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างเมืองบาร์เซโลน่าที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวเมือง ซึ่งผลการประกวดได้ผู้ชนะเป็นวิศวกรโยธาที่ชื่อ Ildefons Cerdà ผู้นำเสนอผลงานชื่อ “The Eixample”

ภาพถ่ายของ Ildefons Cerdà วิศวกรโยธาผู้นำเสนอผลงานออกแบบและวางผังเมืองบาร์เซโลน่าส่วนต่อขยาย หรือ Eixample

ผลงานชิ้นนี้เกิดจากความรู้สึกเข็ดหลาบจากภาพของเมืองบาร์เซโลน่าที่เต็มไปด้วยชนชั้นแรงงานและการอยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงได้เสนอแนวทางการพัฒนาเมืองที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เป็นเมืองที่มีความสะอาด ปลอดภัย และที่สำคัญคือสร้างสุขภาวะที่ดีในการอยู่อาศัยให้กับชาวเมือง

ผังเมืองบาร์เซโลน่าที่นำเสนอโดย Cerdà’s ปี ค.ศ.1859. Museu d’Historia de la Ciutat, Barcelona

หลักการสำคัญของ Cerdà’s plan หรือผังที่ออกแบบโดย Cerdà ได้แก่

  1. จุดมุ่งหมายของการออกแบบผัง Eixample คือการผสมผสานประโยชน์ของการอยู่อาศัยในชนบทที่มีพื้นที่สีเขียว อากาศบริสุทธิ์ การเป็นแหล่งผลิตอาหารและการมี ความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน กับประโยชน์และความสะดวกสบายของการอยู่อาศัยในเมืองที่มีทั้งร้านค้า บริการ พื้นที่ทางวัฒนธรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางการค้าและความคิดอย่างอิสระ
  2. การกำหนดคุณภาพของเมืองในภาพรวม โดยต้องการให้ชาวเมืองมีน้ำใช้ที่เพียงพอ มีอากาศที่บริสุทธิ์และถ่ายเทได้ดี ได้รับแสงสว่างที่พอเหมาะ มีพื้นที่ว่างที่รองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ผังเมืองบาร์เซโลน่าของ Cerdà จึงถูกแบ่งเป็นบล็อกตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ตัวอาคารเปิดรับแสงแดดและอากาศได้เต็มที่
  3. เป็นผังที่แสดงออกถึงความเท่าเทียมกัน โดยแต่ละบล็อกมีขนาดเท่ากัน จัดวางอาคารที่มีความสูงเท่ากันโดยเว้นพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวให้พอเหมาะกับพื้นที่แต่ละบล็อก ชั้นล่างสุดกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการค้า ส่วนพื้นที่ชั้นบนจัดเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นกลาง และชั้นที่สูงขึ้นไปเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน ด้วยการจัดวางแบบนี้ กลุ่มคนต่างชนชั้นถูกบังคับให้ต้องใช้ถนนและพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน อยู่ในสุขภาวะแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในสังคม
  4. ทุก 20 บล็อกจะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งย่านชุมชน โดยภายในย่านชุมชนต้องประกอบไปด้วยร้านค้าและบริการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล สวนหรือลานสาธารณะ ตำแหน่งของพื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้จึงมีกระจายอยู่ทั่วเมือง เป็นการเพิ่มการเข้าถึงและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับย่านชุมชนทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน
  5. ในผังดั้งเดิมของ Cerdà แต่ละบล็อกกำหนดให้มีอาคารวางอยู่เพียงสองหรือสามด้านเท่านั้น โดยตัวอาคารจะกินพื้นที่เพียงร้อยละ 50 ของพื้นที่บล็อกทั้งหมด เพื่อให้พื้นที่ภายในสามารถเปิดเป็นสวนหรือพื้นที่สีเขียว ส่วนความสูงอาคารถูกกำหนดให้สูงไม่เกิน 20 ม. ความลึกของอาคาร 15–20 ม. ทั้งนี้เพื่อเปิดให้แสงแดดสามารถส่องถึงพื้นที่สีเขียวได้ตลอดทั้งวัน
  6. ถนนกำหนดให้มีความกว้างถึง 35 ม. ซึ่งมากพอสำหรับแบ่งเป็นทางเดินเท้า รวมถึงทางขนส่งและกระจายสินค้า ต่อมาในปี ค.ศ.1859 มีการปรับปรุงรูปแบบโดยถนนถูกปรับให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 20-30 ม. ส่วนอาคารถูกปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่การค้า และในที่สุดผัง Eixample ของ Cerdà จึงได้รับการอนุมัติให้ใช้ในปี ค.ศ.1860
ผังแสดงพื้นที่ของสองบล็อกตามแนวคิดของ Cerdà ที่มาจากหนังสือที่เผยแพร่ในปี ค.ศ.1863; Wikipedia
รูปตัดของถนนเมืองบาร์เซโลน่าที่ออกแบบโดย Ildefons Cerdà ที่มาจาก https://www.re-thinkingthefuture.com/case-studies/a2721-the-cerda-plan-by-illdefons-cerda-the-extension-of-barcelona/#c7570e677be88f09209a6402ff38c4708e37b004%23188840

การสร้างเมืองบาร์เซโลน่าตามแบบของ Cerdà เป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยใช้เวลาถึง 50 ปี กว่าที่บล็อกอาคารตามแนวถนนสายหลักจะถูกสร้างจนแล้วเสร็จ ขณะที่ผังส่วนที่อยู่ในเขตเมืองเก่านั้นถูกละเว้นไป เนื่องจากต้องมีการเวนคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากการดำเนินการที่เชื่องช้า ส่วนของพื้นที่ที่สร้างไปแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกรื้อจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ โดยในปี ค.ศ.1872 ร้อยละ 90 ของบล็อกที่สร้างไปแล้วถูกบังคับให้เปลี่ยนจากโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำการค้าและโรงงาน

นอกจากนั้น อาคารยังถูกสร้างขึ้นยังแตกต่างไปจากรูปแบบที่วางไว้ โดยตัวอาคารถูกสร้างขึ้นทั้ง 4 ด้านของบล็อกแทนที่จะเป็น 2–3 ด้านตามแบบ เมื่อคำนวณพื้นที่อาคารต่อพื้นที่บล็อก พบว่ามีพื้นที่อาคารปกคลุมถึงร้อยละ 70 แทนที่จะเป็นร้อยละ 50 ตามรูปแบบดั้งเดิมของ Cerdà สุดท้ายพื้นที่อาคารปกคลุมรวมทั้งหมดจึงมีมากกว่าที่ Cerdà วางผังไว้ถึงสี่เท่า ซึ่งทำให้พื้นที่ว่างภายในบล็อกส่วนใหญ่ดูมืดและอับทึบ รวมทั้งมีบางบล็อกที่พื้นที่ว่างภายในถูกเปลี่ยนการใช้งานไปเป็นพื้นที่จอดรถ ร้านค้า หรือบางครั้งถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน

ภาพแสดงพื้นที่ภายในบล็อก จากงานออกแบบดั้งเดิมของ Cerdà ที่กำหนดไว้ 67,200 ตารางเมตร (ภาพซ้ายบน) ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็น 295,000 ตารางเมตร ในปี ค.ศ.1972 (ภาพล่างขวา). Wynn, 1979
ภาพมุมสูงของผัง Eixample ของเมืองบาร์เซโลน่า ในปีค.ศ.2007 Alhzeiia, Wikipedia

ผัง Eixample ได้ถูกดำเนินการจนแล้วเสร็จ ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับรูปแบบที่วางไว้ในครั้งแรก และในเวลาต่อมาบาร์เซโลน่าได้กลายเป็นเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้คนอาศัยอยู่ในเขตเมืองอย่างแออัด มีกิจกรรมที่วุ่นวาย ทำให้พื้นที่เมืองในเขต Eixample กลายเป็นพื้นที่ที่มีราคาแพงเนื่องจากเป็นที่ต้องการและมีการแข่งขันสูง ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าผังและแนวคิดที่ Cerdà วางไว้เป็นรูปแบบที่มีศักยภาพสูงในการปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี อย่างไรก็ดี การเติบโตและความหนาแน่นที่มากเกินควร ทำให้เมืองบาร์เซโลน่าตกอยู่ในภาวะป่วยในเวลาต่อมา

สถานการณ์ป่วยของเมืองบาร์เซโลน่า (Barcelona’s Illness)

การที่ผังเมืองบาร์เซโลน่าในรูปแบบของ Eixample เกิดอาการป่วยเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ

  1. ความหนาแน่นประชากร …. เมืองบาร์เซโลน่ามีประชากรราว 1.6 ล้านคน โดยแทบจะไม่เพิ่มจำนวนขึ้นอีกเลยในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากความหนาแน่นเฉลี่ย 16,000 คนต่อตารางกิโลเมตรนั้น มากเสียจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก (ความหนาแน่นของประชากรในเมืองบาร์เซโลน่ามากเป็นลำดับที่สี่ของยุโรป และในพื้นที่ที่หนาแน่นที่สุด มีตัวเลขถึง 53,000 คนต่อตารางกิโลเมตร มากกว่ากรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นมากที่สุดของโลก)
  2. จำนวนรถยนต์ส่วนตัว….แต่ถึงแม้จำนวนประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้น ตัวเลขการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวและจำนวนรถยนต์ที่วิ่งอยู่ในเขตเมืองกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปริมาณการเดินทางเข้ามาใจกลางเมืองของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตชานเมือง ซึ่งการเข้ามาของรถยนต์จำนวนมากได้สร้างปัญหาให้กับเมืองมากมาย โดยเฉพาะเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นมากๆอย่างบาร์เซโลน่าแล้ว ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
  3. พื้นที่สีเขียว…. ตัวเลขพื้นที่สีเขียวของบาร์เซโลน่ามีเพียง 2.7 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของ World Health Organization (WHO) ที่กำหนดไว้ 9 ตารางเมตรต่อคน
  4. ความร้อน….บาร์เซโลน่าประสบปัญหาเกาะความร้อน (Urban Heat Island) ในระดับวิกฤติ สาเหตุมาจากความร้อนจากรถยนต์และพื้นคอนกรีตดาดแข็ง ซึ่งทำให้อุณหภูมิของเมืองบาร์เซโลน่าสูงกว่าเมืองอื่นๆโดยรอบถึง 3 °C หรือในบางฤดูมากถึง 7-8°C ซึ่งความร้อนในระดับนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อกลุ่มคนเปราะบางอย่างเด็กและผู้สูงอายุ
  5. เสียงดัง….การมีพื้นที่ดาดแข็งจำนวนมาก การขาดแคลนพื้นที่สีเขียว รวมถึงการมีรถยนต์จำนวนมาก ทำให้บาร์เซโลน่าเกิดมลพิษทางเสียง จากข้อมูลพบว่าเมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีเสียงดังมากที่สุดของโลก ถึงแม้มลพิษทางเสียงจะไม่ใช่ประเด็นที่คนสนใจเท่ากับมลพิษทางอากาศ แต่เสียงที่ดังมากเกินไปสามารถสร้างปัญหาสุขภาพต่างๆได้ เช่น การสูญเสียความสามารถในการได้ยิน ความเครียด และปัญหาโรคหัวใจ

งานศึกษาโดย Barcelona Institute for Global Health ในปี 2017 ให้ข้อสรุปสถานการณ์ป่วยในขั้นวิกฤติของกรุงบาร์เซโลน่า ออกมาเป็นตัวเลขของประชากรที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ที่มีจำนวนมากถึง 3,000 คนต่อปี

จากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองบาร์เซโลน่า บีบบังคับให้เมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ผัง Eixample จะถูกปรับให้กลายเป็นเมืองที่กลับมาให้ความสำคัญกับ คน การเดินเท้า และการใช้จักรยาน และถูกเรียกชื่อว่า ‘Superblocks’

ต่อ From ‘Eixample’ to ‘Barcelona’s Superblocks’

https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-08-07/inside-a-barcelona-superblock-pedestrians-rule

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-11-11/barcelona-s-new-car-free-superblock-will-be-big?cmpid=BBD111120_CITYLAB&utm_medium=email&utm_source=newsletter&utm_term=201111&utm_campaign=citylabdaily&fbclid=IwAR23bdLEJx-q7JxEJZhqtu49wVJ6T221XUpbjiOqspbAJf9G0IRVo9LDCGM

--

--