Mid-Period of Modernist Urban Planning

Uma Phanita Surinta
All about Urban
Published in
4 min readFeb 29, 2024

ยุคกลางของผังเมืองสมัยใหม่ หมายถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 นับเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนเมืองโดยมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบพื้นที่เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ซึ่งการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนเมืองในช่วงเวลาของยุคกลางนี้มีแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้นสามแนวคิดด้วยกัน

  • Le Corbusier’s theory / Le Corbusier (1887–1965)
  • Defensible Space / Oscar Newman (1867–1928)
  • Neighborhood Concept / Clarence Perry (1872–1944 )

Le Corbusier’s theory

Le Corbusier เป็นนามแฝงของ Charles-Edouard Jeanneret-Gris ที่ดัดแปลงมาจากชื่อของคุณตา “Lecorbésier” และเป็นชื่อที่ใช้ในการสร้างผลงานออกแบบจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง Le Corbusier เป็นชาวสวิสที่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก เขาไม่ได้จบหลักสูตรสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการแต่เรียนรู้จากการเดินทางเพื่อศึกษาและฝึกฝนทักษะต่างๆ โดยมี L’Eplattenier เป็นครูที่ปรึกษาที่ช่วยให้คำแนะนำและชี้แนวทางในการพัฒนาความรู้ จนเขามีแนวคิดและผลงานออกแบบเป็นที่ยอมรับทั้งในวงการสถาปัตยกรรมและผังเมือง

ภาพถ่ายของ Le Corbusier https://www.nirvanadevelopment.co.th/th/blog/le-corbusier

ผลงานของ Le Corbusier ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง มีความโดดเด่นและล้ำหน้า แตกต่างไปจากผลงานของนักออกแบบคนอื่นๆในยุคนั้น จนทำให้ในปี ค.ศ.2016 งานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดย Le Corbusier จำนวน 17 โครงการ ที่ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศ ได้รับการขึ้นทะเบียนใน UNESCO World Heritage Sites และได้รับการยอมรับให้เป็นผลงานที่มีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่งของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่หรือยุคโมเดิร์น (Outstanding Contribution to the Modern Movement)

สถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดย Le Corbusier

ผลงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมของ Le Corbusier มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติแห่งยุคสมัย โดยอาคารที่เขาออกแบบ มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญห้าประการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎห้าข้อของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมโดย Le Corbusier ได้แก่

  1. Pilotis หมายถึง การวางอาคารบนเสาลอยที่ปราศจากผนังที่ยึดตามแนวเสา
  2. Roof Terrace หมายถึง การทำหลังคาแบนราบแทนรูปแบบหลังคาลาดเอียงแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้พื้นที่หลังคาสามารถใช้งานเป็นดาดฟ้าที่บรรจุ สวน ทางเดิน ใช้เล่นกีฬาหรือสร้างสระว่ายน้ำได้
  3. Free Plan หมายถึง การวางผังภายในอาคารแบบเปิด คือเป็นอิสระจากแนวเสา เนื่องจากมีการใช้เสาที่ทำจากโลหะหรือคอนกรีตทำหน้าที่รับน้ำหนักแทนการใช้ผนังในอาคารแบบดั้งเดิม ทำให้ผนังสามารถวางได้อย่างเป็นอิสระจากแนวเสา อาคารจึงไม่จำเป็นต้องมีผนังหรืออาจมีในลักษณะที่ห่อหุ้มผิวภายนอกทั้งหมดจนมองไม่เห็นแนวเสาเลยก็ย่อมได้
  4. Ribbon Window หมายถึง การวางช่องเปิดเป็นแนวยาวเหมือนริบบิ้น เป็นผลจากการที่ผนังของอาคารไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนักเหมือนอาคารในแบบดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว ผนังจึงสามารถเจาะทะลุเพื่อทำช่องเปิดขนาดใหญ่หรือหน้าต่างยาวตลอดแนวอาคาร ซึ่งเป็นผลดีทำให้ภายในอาคารได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึง
  5. Free Façade หมายถึง การมีผิวภายนอกอาคารที่ออกแบบได้อย่างมีอิสระ เนื่องจากอาคารเปลี่ยนไปใช้การถ่ายน้ำหนักผ่านเสา ผิวรอบนอกของอาคารจึงไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับรับน้ำหนัก และสามารถออกแบบให้มีรูปแบบและมีช่องเปิดได้อย่างอิสระ รวมทั้งสามารถใช้กระจกเป็นผิวภายนอกได้ทั้งหมด
ภาพของ Villa Savoye ที่ออกแบบตามหลักการห้าข้อของLe Corbusier ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม

Le Corbusier มีทักษะวิธีการในการออกแบบที่โดดเด่น ผลงานที่เขาออกแบบมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากรูปแบบและค่านิยมที่เป็นอยู่ในยุคสมัยนั้น Le Corbusier เชื่อว่าการออกแบบงานสถาปัตยกรรมคือการคิดสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีอิสระ ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์หรือภาพจำจากอดีต สถาปัตยกรรมคือการสร้างรูปทรงขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งาน และการเล่นกับแสงและรูปทรงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความสวยงามให้กับงานสถาปัตยกรรม

แนวคิดในการออกแบบบ้านของ Le Corbusier

บ้านตามความหมายของ Le Corbusier คือ เครื่องจักรสำหรับอยู่อาศัย “A house is a machine for living in.”

ซึ่งคำกล่าวนี้หมายถึงการให้ความหมายของบ้าน ว่าเป็นเครื่องจักรหรือสิ่งที่ควรสนองประโยชน์ในการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง และการออกแบบให้บ้านทำหน้าที่ตอบสนองการอยู่อาศัยนั้น ได้ทำให้การตกแต่งสิ่งที่ไม่ได้ตอบสนองกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยกลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย

แนวคิดการวางผังเมืองของ Le Corbusier

การวางผังเมืองตามความหมายของ Le Corbusier คือการเก็บกวาดทำความสะอาดเมือง “Cleaning and purging the city.”

ภาพเมืองตามแนวคิดของ Le Corbusier

การนำเสนอแนวคิดในการวางผังเมืองของ Le Corbusier สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาพเมืองที่แตกต่างไปจากกายภาพของเมืองเวลานั้นอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่แนวคิดการปรับปรุงเมืองในช่วงเวลานั้นพูดถึงการสร้างเมืองในแนวราบที่เน้นการใช้งานแบบผสมผสาน คือมีบริการสาธารณะต่างๆที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในระยะการเข้าถึง และใช้การสัญจรเชื่อมกันด้วยถนนและทางเดินตามแนวราบ ส่วนรูปแบบของเมืองที่ Le Corbusier นำเสนอนั้น คือการสร้างเมืองแนวตั้ง ซึ่งหมายถึงการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นอาคารสูง เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ และใช้พื้นที่ว่างที่มีเพิ่มขึ้นเป็นสวนสาธารณะ โดยมีเป้าหมายให้เมือง มีพื้นที่เปิดโล่ง มีต้นไม้ มีอากาศที่ดี และมีแสงแดดส่องถึง

ผลงานออกแบบเมืองโดย Le Corbusier

The radiant city หรือ The city of light (เมืองที่สดใส หรือ เมืองแห่งแสงสว่าง) เป็นผลงานที่แสดงถึงแนวคิดในการออกแบบและวางผังเมืองของ Le Corbusier ซึ่งไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจริง เป็นแบบร่างที่เริ่มทำในปี ค.ศ.1924 และตีพิมพ์เป็นหนังสือที่นำเสนองานออกแบบและแนวคิดฉบับสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1933 ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองที่ดีและสมบูรณ์แบบในความคิดของ Le Corbusier ไม่ใช่เพียงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย หากแต่เป็นการสร้างสังคมที่ดีไปพร้อมกัน โดยมีหลักการในการออกแบบดังนี้

  • ออกแบบบนพื้นฐานความคิดที่ต้องการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยไม่สนใจความแตกต่างทางชนชั้นของผู้ใช้งาน
  • การออกแบบเมืองที่ดีควรคำนึงถึงเรื่องสุขลักษณะ การมีแสงสว่าง และการระบายอากาศที่เพียงพอ
  • ให้ความสำคัญกับการมีที่พักอาศัยและโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมสุขภาวะและมีการตอบสนองการใช้งานที่ดี
  • เน้นการขยายพื้นที่ระหว่างอาคารให้โล่งเพื่อลดความแออัด เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง
  • เน้นความปลอดภัยในการเดินทางโดยแยกระบบการสัญจรของรถยนต์และเส้นทางเดินเท้าออกจากกัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางเชื่อมต่อพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชน
ผังแสดงหลักการของการออกแบบเมืองตามแนวคิดของ Le Corbusier
ภาพผลงานออกแบบพื้นที่ส่วนหนึ่งของกรุงปารีส ตามแนวคิด The radiant city โดย Le Corbusier

ส่วนในเรื่องของรูปทรงอาคารและรูปแบบของผัง หลักการของ Le Corbusier สะท้อนถึงแนวคิดที่แตกต่างจากงานออกแบบทั่วไปในยุคนั้น โดยพูดถึงระบบของ Modular ที่เน้นการทำซ้ำใหม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งสะท้อนการเฟื่องฟูของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงทำให้สามารถผลิตวัสดุต่างๆได้จำนวนมากในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน ยืนยันได้จากคำกล่าวของ Le Corbusier

“เมืองในปัจจุบันกำลังจะตายเพราะไม่ได้ออกแบบตามหลักเรขาคณิต ผังเมืองแบบเรขาคณิตคือผังที่ใช้รูปทรงซ้ำกันได้ การใช้รูปทรงที่ซ้ำได้คือความมีมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์”

Defensible Space by Oscar Newman

Oscar Newman เป็นสถาปนิกและนักผังเมืองที่ให้ความสนใจกับการป้องกันอาชญากรรมและการสร้างชุมชนและที่อยู่อาศัยที่มีความปลอดภัย โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือชื่อ Defensible Space ในปี ค.ศ.1972 เนื้อหาในหนังสือได้เล่าถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับที่พักอาศัยในกรุงนิวยอร์กว่าโครงการที่พักอาศัยที่สร้างในลักษณะอาคารสูงหรือ High-rise มีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูงกว่าอาคารในลักษณะ Low-rise และได้อธิบายถึงสาเหตุที่เป็นแบบนั้นว่า เกิดจากการขาดมาตรการควบคุมและการขาดความรับผิดชอบ ซึ่งในหนังสือได้นำเสนอแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขและป้องกัน โดยเน้นการจัดการพื้นที่ให้สามารถควบคุมและตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

Newman เชื่อว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย คือเลือกรูปแบบที่อยู่อาศัยและรูปแบบการวางผังที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคนและเหมาะสมกับระดับการควบคุมที่ต้องการ

Defensible Space หรือ ทฤษฎีพื้นที่ป้องกันตนเอง

แนวคิดนี้กล่าวถึงหลักการในการสร้างพื้นที่ที่สามารถช่วยป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาอาชญากรรมในย่านพักอาศัย โดยนำเสนอวิธีการห้าประการ ได้แก่

  1. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงช่วงอายุ วิถีการใช้ชีวิต ระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ระดับรายได้ และโครงสร้างของครอบครัว เพื่อจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้งาน
  2. สร้างการรับรู้ถึงอาณาเขตเพื่อแบ่งแยกกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่แตกต่างกันออกจากกัน และสร้างพื้นใช้งานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีลักษณะคล้ายกัน
  3. การจัดวางช่องเปิดที่ช่วยเพิ่มการมองเห็นระหว่างพื้นที่สาธารณะภายนอกอาคารและพื้นที่ส่วนสาธารณะภายในอาคารที่อยู่อาศัย เช่น โถงทางเข้า ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น เป็นต้น
  4. ออกแบบที่พักอาศัยให้มีพื้นที่บางส่วนเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะ เช่น ทางเข้าออกหรือช่องเปิด เพื่อให้บรรยากาศบนถนนสามารถเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่พักอาศัยได้
  5. หลีกเลี่ยงการสร้างรูปทรงและลักษณะของอาคารที่แปลกแยก หรือสื่อสารให้เข้าใจว่าผู้อยู่อาศัยนั้นมีความแปลกแตกต่างไปจากสังคมโดยรวม

หลักการสำคัญในการสร้างพื้นที่ป้องกันตัวเอง Defensible Space

ในการสร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม มีปัจจัยที่ Newman ได้สรุปไว้ในงานศึกษาดังนี้

Territoriality

หมายถึงการสร้างอาณาเขต แยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะอย่างมีลำดับ และเหมาะสมกับการใช้งาน โดยใช้การออกแบบที่ช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของ เป้าหมายคือการทำให้ความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ครอบคลุมไปมากกว่าอาณาเขตพื้นที่ส่วนตัวในบ้านของตนเอง เนื่องจากคนจะรู้สึกถึงความรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขามองเห็นว่าเป็นของตน

แผนภูมิแสดงการจัดลำดับการเข้าถึงพื้นที่ Public >Semi-public > Semi-private > Private ภาพซ้ายในกลุ่มอาคาร High-rise ภาพกลางในกลุ่มอาคาร Middle-rise และภาพขวาในกลุ่มอาคาร Low-rise
ภาพที่อยู่อาศัยในอาคาร High-rise แสดงให้เห็นว่ายังขาดพื้นที่ Semi-public และ Semi-private ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยตัดขาดจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง
ภาพที่อยู่อาศัยในอาคารแบบ Middle-rise ซึ่งส่วนที่ติดถนนเป็นพื้นที่ Semi-public และมีพื้นที่ Semi-private อยู่ภายในอาคารบริเวณโถงทางเข้าที่พัก ซึ่งทำให้คนในอาคารไม่ได้รับรู้ถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ภายนอกอาคารมากนัก
ภาพที่อยู่อาศัยในอาคารแบบ Low-rise ซึ่งส่วนที่ติดถนนเป็นพื้นที่ Semi-private ทำให้คนในอาคารที่พักอาศัย ยังสามารถรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของหรือมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ส่วน Public หรือถนนได้มาก

Hierarchy of Space

ลำดับของอาณาเขตความเป็นเจ้าของ ให้เกิดการรับรู้ว่าเข้ามาในอาณาเขตของชุมชน หรือในเขตพื้นที่พักอาศัยส่วนตัว สามารถออกแบบให้เกิดการรับรู้และแบ่งแยกได้โดยใช้องค์ประกอบและสัญลักษณ์ในการสื่อสารต่างๆ เช่น

  • การวางผังและการออกแบบตัวอาคาร เช่น การวางอาคารโอบล้อมพื้นที่ การวางทิศทางของทางเข้า การเปิดช่องเปิด
  • การจัดภูมิทัศน์ เช่น แนวต้นไม้หรือแผ่นพื้น
  • การเปลี่ยนของระดับหรือใช้พื้นผิวที่แตกต่างกัน
  • การใช้แนวรั้ว ป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบอกทาง
  • การใช้สี ภาพ หรือลวดลายบนผนังหรือแนวรั้ว
  • การลดปริมาณการสัญจร เช่นจากการเปลี่ยนพื้นผิวหรือลดขนาดถนน
  • การสร้างจุดสังเกต เช่น ป้ายชุมชน

Natural surveillance

หมายถึงการทำให้เกิดการตรวจตราดูแล เป็นการออกแบบพื้นที่ให้ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยอาชญากรรม โดยจัดวางตำแหน่งของช่องเปิดและวางผังอาคารที่เอื้อให้เกิดการมองเห็นระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารในระดับที่เหมาะสม เพื่อทำให้คนในพื้นที่ได้สอดส่องดูแลชุมชนของตนเอง

การวางผังพื้นที่และอาคารให้สร้างความรู้สึกปลอดภัย เช่น จัดวางตัวอาคารโดยหันหน้าเข้าหาพื้นที่เปิดโล่งตรงกลางและเปิดให้คนภายในและภายนอกสามารถมองเห็นกันได้ การอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจหรือสถานีย่อย การอยู่ในย่านการค้าที่พลุกพล่าน

Hierarchy of Space หรือ Transitional Zones หรือ ลำดับของความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ จาก Public พื้นที่สาธารณะบนถนน , Semi-public พื้นที่กึ่งสาธารณะบนทางเท้า, Semi-private พื้นที่กึ่งส่วนตัวบริเวณสวนหรือทางเข้าหน้าบ้าน และ Private พื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน ที่มา https://city.langley.bc.ca/sites/default/files/uploads/Development/CPTED_BROCURE-_2013.pdf

Neighborhood Concept by Clarence Perry

Clarence Perry เป็นชาวอเมริกันที่ผ่านประสบการณ์การทำงานเป็นนักผังเมือง นักสังคมสงเคราะห์ นักเขียน และนักการศึกษา ซึ่งในช่วงเวลาของการทำงานในแผนกผังเมืองของนิวยอร์กทำให้ Perry ได้คลุกคลีกับงานวางผังชุมชนและศูนย์นันทนาการชุมชน จากความคุ้นเคยทำให้ Perry ได้เรียนรู้และนำเสนอแนวคิดในการสร้างชุมชนพักอาศัยในรูปแบบที่เชื่อว่าจะสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีได้

แนวคิดดังกล่าวถูกเรียกว่า The Neighborhood Unit Plan หรือ การวางผังชุมชนละแวกบ้าน ซึ่งอธิบายถึงหลักการและกระบวนการวางผังชุมชนพักอาศัยที่บรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาเมืองของนิวยอร์ก (New York) ในประเทศสหรัฐอเมริกา แนวคิดนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือชื่อ ‘Neighborhood Planning’ ในปี ค.ศ.1953 โดยหนังสือได้กล่างถึงแนวคิดและวิธีการในการออกแบบให้ชุมชนที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพที่อยู่อาศัยในช่วงเวลานั้น ซึ่งเมืองกำลังตกอยู่ในยุคการเฟิ่องฟูของอุตสาหกรรมทำให้เขตชุมชนเมืองมีสภาพแออัดและสกปรก

แผนภูมิแสดงผังชุมชนตามแนวคิด Neighborhood Planning

Clarence Perry เชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการสร้างชุมชนอยู่อาศัยที่มีถนน ทางเท้า พื้นที่สาธารณะและพื้นที่บริการอื่นๆที่อยู่ในระยะการเข้าถึง สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอ มีการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสร้างความผูกพันกันระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน โดยชุมชนละแวกบ้านนี้จะมีการจำกัดขนาดให้เล็กและมีการจัดวางผังของที่อยู่อาศัยที่เอื้อให้คนในชุมชนอยู่รวมกลุ่มกัน สามารถทำความรู้จักและเป็นเพื่อนบ้านกัน สนับสนุนการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน ที่เรียกว่า Sense of Belonging หรือ Sense of Community

ภาพแสดงการเปรียบเทียบพัฒนาการของผังแนวคิด Neighborhood Planning ในยุคเริ่มต้นที่อาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบ้าน ยุคกลางที่มีรูปแบบที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบทั้งแบบบ้าน อพาร์เมนท์และอาคารสูงปะปนกัน และในยุคใหม่ซึ่งที่อยูอาศัยในเขตเมืองมีความหนาแน่นและส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง

หลักการออกแบบชุมชนละแวกบ้านตามแนวคิดของ Clarence Perry

การออกแบบชุมชนละแวกบ้านมีหลักการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่

  1. จำนวนประชากรในหนึ่งหน่วยชุมชน ควรมีประมาณ 5,000–9,000 คน เพื่อให้มีจำนวนเด็กพอสำหรับโรงเรียนอนุบาลหนึ่งแห่ง
  2. ความหนาแน่นของชุมชนที่พอเหมาะ มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนประชากร คือ ที่อยู่อาศัย 10 หน่วยต่อพื้นที่ 4,047 ตารางเมตร หรือ 1 หน่วยต่อ 400 ตารางเมตร
  3. ขนาดของชุมชนที่เหมาะสม โดยรัศมีของชุมชนละแวกบ้านกำหนดจากระยะการเดิน คือไม่ควรมีระยะเกินกว่า ¼ ไมล์ หรือ คิดเป็น 400 เมตร
  4. ในหนึ่งชุมชนควรมีศูนย์กลางเป็นที่ตั้งของพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น โรงเรียน ร้านค้า ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ฯลฯ
  5. จัดลำดับของถนนและเส้นทางสัญจร โดยมีถนนสำหรับรถยนต์ตัดล้อมรอบพื้นที่ทำหน้าที่เป็นถนนสายหลักและกำหนดขอบเขตชุมชน ส่วนถนนภายในที่ตัดเข้าไปในเขตที่พักอาศัยออกแบบให้แยกออกจากถนนภายนอก คำนึงถึงความปลอดภัยโดยมีวิธีการที่ทำให้รถวิ่งได้ช้าลง
  6. แยกทางรถยนต์ออกจากทางเท้าโดยเด็ดขาด มีทางเท้าตัดผ่านหลังบ้านทุกหลังเชื่อมไปที่ส่วนและพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนทางเท้าในส่วนที่จำเป็นต้องตัดผ่านทางรถยนต์กำหนดให้มีการยกระดับถนนข้ามเส้นทางเท้าเพื่อความปลอดภัย
  7. กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เปิดโล่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ของชุมชน
ภาพแสดงทางเท้าที่ตัดผ่านสวนหลังบ้านและภาพถนนที่ยกระดับข้ามทางเท้า

https://planningtank.com/planning-theory/clarence-a-perrys-neighborhood-unit

--

--