Quality of Urban Space

คุณภาพของพื้นที่ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้งาน

Uma Phanita Surinta
All about Urban
2 min readJun 11, 2019

--

คุณภาพในการเข้าถึงและการเชื่อมต่อพื้นที่ (Access and Linkages)

การออกแบบพื้นที่หรือเส้นทางภายในเมืองควรคำนึงถึงความสะดวกในการเข้าถึง(Accessibility) จากคนทุกกลุ่ม(Universal Design)โดยที่ผู้คนสามารถใช้สัญจรไปยังพื้นที่ต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย

การเชื่อมต่อพื้นที่กับสภาพแวดล้อมโดยรอบมีความสำคัญทั้งในด้านมุมมองและการสัญจรเข้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้งาน

มุมมองที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึง ประกอบไปด้วย มุมมองจากภายนอกที่ทำให้คนภายนอกมองเห็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ด้านการรับรู้ มุมมองที่สวยงามและประการสำคัญคือความปลอดภัยในการใช้งาน การเปิดให้คนภายนอกมองเห็นจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากการมองเห็นด้วยสายตา นอกจากนี้ มุมมองภายในพื้นที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้พื้นที่น่าใช้งาน พื้นที่สาธารณะต้องการพื้นที่เพื่อการพักผ่อน
ผู้ใช้งานย่อมไม่ต้องการเป็นที่จ้องมองหรือเปิดเผยมากนัก ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ปิดจนมิดชิดอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้งานได้

ส่วนในเรื่องการเข้าถึงนั้น พื้นที่ควรช่องทางเข้าออกที่สอดคลองกับบริบทโดยรอบ
การกั้นเขตพื้นที่เป็นการบ่งบอกอาณาเขตและขณะเดียวกันการกั้นขอบเขตอาจสร้างความรู้สึกตัดขาดและแปลกแยกได้

วิธีการแบ่งขอบเขตพื้นที่สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแบ่งด้วยวัสดุและความต่างระดับของพื้น การแบ่งด้วยแนวเสา (bollards) หรือรั้วที่สามารถเลือกระดับความสูงให้พอเหมาะได้ รั้วที่ต่ำกว่าระดับสายตาหรือสามารถมองทะลุผ่านได้จะทำให้พื้นที่
ดูเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกได้มากกว่ารั้วที่สูงและทึบ เป็นต้น บางครั้งการเชื่อมกับพื้นที่ภายในกับภายนอกกลายเป็นแรงจูงใจในการใช้พื้นที่ได้ เช่น การเดินไปในถนนที่รอบข้างเป็นร้านค้าจะสร้างบรรยากาศที่ดีและกระตุ้นความสนใจมากกว่าการเดินในพื้นที่โล่งหรือเดินตามแนวกำแพง เป็นต้น

คุณภาพความน่าใช้งาน ภาวะความสบายและภาพลักษณ์ที่สวยงาม (Comfort and Image)

พื้นที่ที่น่าใช้งานคือพื้นที่ที่สามารถสร้างภาวะน่าสบายให้กับผู้ใช้งานได้ ภาวะความสบายนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้นและแสงแดดที่พอเหมาะ โดยเฉพาะในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย

การให้ร่มเงาที่เพียงพอการเปิดช่องเพื่อระบายอากาศและเปิดรับแสงธรรมชาติที่พอเหมาะ นับเป็นส่วนสำคัญในการทำให้พื้นที่น่าใช้งาน ร่มเงาที่เกิดจากต้นไม้สามารถเพิ่มออกซิเจนซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมของเมืองโดยรวม การเปิดให้อาคารหรือถนนมีระยะที่แสงแดดส่องถึง มีความกว้างและทิศทางที่สามารถปล่อยให้ลมพัดผ่านได้จะช่วยให้พื้นที่ได้ระบายอากาศเสียและปรับระดับอุณหภูมิและความชื้นที่พอเหมาะกับการใช้งานของผู้คนได้

นอกจากภาวะความสบายแล้ว พื้นที่ที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นอย่างดีย่อมส่งผลถึงคุณภาพและความน่าใช้งาน ภาพลักษณ์ที่สวยงามของพื้นที่ขึ้นอยู่กับการจัดองค์ประกอบ เช่น สัดส่วนของพื้นที่ การเลือกวัสดุและสี การจัดวางตำแหน่งและการแบ่งพื้นที่ใช้งานที่เหมาะสม ผู้ออกแบบควรจัดองค์ประกอบพื้นที่โดยคำนึงถึงทั้งความสวยงามและการรองรับประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม

คุณภาพในการนำทาง(Orientation)

หมายถึงคุณภาพที่เกิดจากการรับรู้ทิศทางเส้นทางและตำแหน่งภายในเมือง
ผู้ใช้พื้นที่โดยเฉพาะผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวอาศัยโครงข่ายเส้นทางและองค์ประกอบของเมืองเพื่อช่วยนำพาไปยังพื้นที่ต่างๆภายในเมือง พื้นที่ที่มีโครงข่ายเส้นทางที่ชัดเจน ไม่สับสน มีองค์ประกอบภายในเมืองที่ทำให้รับรู้และจดจำได้ง่ายย่อมทำให้เมืองเกิดคุณภาพในการนำทางที่ดี

คุณภาพในการนำทางขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการรับรู้ทั้งทางกายภาพและจินตภาพ
เมืองที่มีความชัดเจนทางกายภาพหมายถึงการจัดระเบียบเส้นทางและกลุ่มอาคารที่เป็นระเบียบไม่บดบังมุมมองหรือสร้างทัศนียภาพที่ไม่ดี และที่สำคัญคือช่วยในการจดจำพื้นที่และเส้นทาง เช่น ความมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ความสอดคล้องของกลุ่มอาคาร ความสอดคล้องของแนวอาคารและเส้นทาง เป็นต้น

ส่วนความชัดเจนทางจินตภาพนั้น ทฤษฎีของ Kevin Lynch กล่าวถึงองค์ประกอบห้าประการที่ทำให้จินตภาพของเมือง (Image of the city) มีความชัดเจน ซึ่งได้แก่ จุดหมายตา (Landmark) จุดรวมกิจกรรม (Node) เส้นขอบ (Edge) เส้นทาง (Path) และย่าน (District)

ในการสร้างจินตภาพเมืองที่ชัดเจนนั้น เส้นทาง (Path) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเชื่อมพื้นที่ต่างๆภายในเมือง รูปแบบเส้นทางและการตกแต่ง façade หน้าอาคารสามารถส่งเสริมให้จินตภาพของเส้นทางนั้นมีความชัดเจนขึ้นได้ เส้นทางที่ดีควรมีรูปแบบและสัดส่วนความกว้างที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งสร้างความต่อเนื่องและเชื่อมพื้นที่ภายในเมืองเข้าหากัน การมีต้นทางและปลายทางเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจะช่วยส่งเสริมการรับรู้และสร้างความต่อเนื่องทางจินตภาพของเมืองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การมีจุดรวมกิจกรรม (Node)และจุดหมายตา (Landmark) บนเส้นทางย่อมมีส่วนช่วยส่งเสริมการรับรู้เส้นทางให้ชัดเจนขึ้นได้

เส้นขอบ (Edge) มักปรากฏเป็นเส้นแบ่งระหว่างย่าน (District) โดยมีรูปทรงที่แตกต่างและมีความต่อเนื่องเป็นแนวกันชน เช่น แนวอาคาร เส้นทางรถไฟ แนวกำแพงหรือคูเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีเส้นขอบไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ในการแบ่งแยกพื้นที่เมืองออกจากกันเสมอไป หลายครั้งที่เส้นขอบ เช่น แม่น้ำและทางหลวง ทำหน้าที่คล้ายกับเส้นทางที่ช่วยเชื่อมพื้นที่ภายในเมืองได้เช่นกัน

ย่าน (District)เป็นส่วนพื้นที่ของเมืองที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกัน โดยปรากฏในองค์ประกอบย่อย ภายในพื้นที่ เช่น texture, space, form, detail, symbol เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พื้นที่ของย่านมีความโดดเด่นและแตกต่างจากพื้นที่อื่น ดังนั้นการสร้างจินตภาพที่ดีของย่านจึงเป็นการเน้นองค์ประกอบดังที่กล่าวมา เพื่อให้การรับรู้ความเป็นย่านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จุดรวมกิจกรรม (Node) เป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง โดยอาจมีลักษณะเป็นเพียงจุดตัด ทางแยก ไปจนกระทั่งลาน พื้นที่จัตุรัสหรือพลาซ่ารูปทรงต่างๆ จุดรวมกิจกรรมที่ดีควรมีองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างการรับรู้ให้กับพื้นที่โดยรอบ

จุดหมายตา (Landmark) ทำหน้าที่เป็นจุดอ้างอิงตำแหน่ง สามารถมีขนาดที่แตกต่างกันตั้งแต่อนุสาวรีย์ขนาดเล็กไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ คุณสมบัติสำคัญของจุดหมายตาได้แก่รูปแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงการสร้างความแตกต่างให้กับพื้นที่ตั้งสร้างการรับรู้และจดจำให้กับพื้นที่

คุณภาพในการรองรับผู้ใช้งานและกิจกรรม (Users and Activities)

พื้นที่เมืองและพื้นที่สาธารณะที่ดีควรรองรับการใช้งานและกิจกรรมได้เป็นอย่างดีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การรองรับกิจกรรมที่ดีหมายถึงการมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม มีลักษณะและองค์ประกอบของพื้นที่ที่ตอบสนองต่อการใช้งานได้ดี
เช่น พื้นที่พักอาศัยควรมีขนาดพื้นที่ที่ไม่แออัดจนเกินไป มีพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับกิจกรรมการพักผ่อนและนันทนาการ มีย่านร้านค้าที่ให้บริการได้อย่างเพียงพอ เป็นต้น

นอกจากนี้คุณภาพของพื้นที่ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้งาน
กลุ่มผู้สูงอายุย่อมมีความต้องการพื้นที่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
การออกแบบพื้นที่ที่ดีควรจัดการให้สามารถรองรับกิจกรรมของผู้คนทุกเพศวัยหรือสามารถใช้พื้นที่ในการรองรับกิจกรรมที่แตกต่างกันได้ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะควรออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เช่น การใช้พื้นที่ว่างริมน้ำในการเป็นพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกายและขณะเดียวกันสามารถปรับพื้นที่เพื่อใช้ในกิจกรรมประเพณีได้

คุณภาพเชิงสังคม (Sociability)

หมายถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน เพื่อให้เกิดการพบปะพูดคุย ทำกิจกรรมสาธารณะหรือใช้พื้นที่ร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม รวมไปถึงการมีพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นศูนย์รวมที่สร้างความภาคภูมิใจและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ระดับของคุณภาพเชิงสังคมเริ่มตั้งแต่ในระดับครอบครัว
ระดับชุมชนละแวกบ้านไปจนถึงระดับเมือง การจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้คนในเมืองได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใช้พื้นที่ร่วมกันในการทำกิจกรรมต่างๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคน ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพของสังคมที่ต้องการได้ในที่สุด

--

--