Recent Period of Modernist Urban Planning

Uma Phanita Surinta
All about Urban
Published in
4 min readApr 9, 2024

ยุคปลายของผังเมืองสมัยใหม่ หมายถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความเคลื่อนไหวหรือทิศทางของการวางผังเมืองถูกพัฒนาทั้งในเชิงวิชาการและในทางปฏิบัติ มีการพัฒนาแนวคิดที่สำคัญเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ในที่นี้ขอนำเสนอสามแนวคิดที่สามารถแสดงถึงทิศทางในการศึกษาและพัฒนาทางด้านผังเมืองที่แตกต่างกัน โดยสองแนวคิดแรกกล่าวถึงการศึกษาและวิเคราะห์เมืองผ่านการมองเห็นและการรับรู้ของมนุษย์ ได้แก่ จินตภาพของเมือง (Image of the city) และบุรีทัศน์หรือภูมิทัศน์เมือง (Townscape) ส่วนแนวคิดที่สามกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ (Community-based approach) ซึ่งเน้นการรักษาและสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิม และการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน

  • Image of the city / Kevin Lynch (1918 –1984) ​
  • Townscape / Gordon Cullen (1914 –1994)
  • Community-based approach / Jane Jacobs (1916 –2006)

Image of the City by Kevin Lynch

Kevin Lynch (เควิน ลินช) เป็นนักวิชาการด้านผังเมืองชาวอเมริกัน จบปริญญาตรีด้าน City Planning จากสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) ทำงานวิจัยและเขียนหนังสือวิชาการด้านการวางผังเมืองจนต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณด้านผังเมือง เควินเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวางจากงานศึกษาเพื่อหาวิธีการแปลผลการรับรู้กายภาพของเมืองของผู้ใช้งาน ให้กลายเป็นภาษาที่ผู้ออกแบบสามารถทำความเข้าใจและนำมาใช้ในการปรับปรุงผังเมือง ให้เป็นเมืองที่ผู้ใช้งานสามารถจดจำและเข้าใจได้ง่าย (Legibility)

เควินศึกษาและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรับรู้กายภาพของเมือง โดยผลงานการศึกษาที่มีชื่อเสียงของเขาคือ งานศึกษาจินตภาพเมืองที่ถูกเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Image of the City ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1960 บทความในหนังสือเป็นผลที่ได้จากการศึกษา สังเกต และเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยใช้เมืองในอเมริกาจำนวน 3 เมือง ได้แก่ Boston, Jersey City และ Los Angeles เป็นพื้นที่ศึกษา

ภาพผังเมือง Boston ในจินตภาพโดยลายเส้นของเควิน https://benkraal.com/lynch-s-sketch-maps

ในหนังสือได้รายงานผลการศึกษาเอาไว้ว่า “ผู้ใช้พื้นที่เมืองมีความเข้าใจสภาพแวดล้อมในรูปแบบซ้ำๆที่คาดเดาได้ โดยภาพของเมืองในความทรงจำจะถูกสร้างเป็น Mental Map หรือแผนที่ในความคิด ซึ่งภาพนั้นมักจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่ซ้ำๆกันห้าองค์ประกอบ ได้แก่ Node, Edge, Path, District และ Landmark”

Image of the City หรือ จินตภาพของเมือง เป็นแนวคิดที่กล่าวถึงการรับรู้เมืองในจินตภาพโดยเชื่อว่าเมืองที่มีองค์ประกอบครบทั้งห้าประการ และแต่ละองค์ประกอบมีความชัดเจน จนทำให้ผู้ใช้งานทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ สามารถรับรู้และจดจำได้ และทำให้เมืองนั้นมีโครงสร้างของเมืองชัดเจน มีเอกลักษณ์ ผู้คนสามารถอ่าน(เมือง)ออกและจดจำ(ทิศทาง)ได้ ไม่เกิดความสับสนหลงทาง

แสดงความหมายขององค์ประกอบทั้งห้าของเมือง Node, Edge, Path, District และ Landmark

ความหมายขององค์ประกอบของเมืองทั้ง 5 ประการ

NODE

หมายถึงจุดรวมกิจกรรมที่มีผู้คนมารวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานีรถโดยสาร ป้ายรถเมล์ วัด โบสถ์ มัสยิด ตลาด สวนสาธารณะ ลานกีฬา อาคารสาธารณะต่างๆ โดยปัจจัยหลักของการเกิด Node คือ การรวมตัวของคนเพื่อทำกิจกรรมบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่ภายนอกหรือภายในอาคาร

Node ที่มีคุณภาพควรรองรับการใช้งานกิจกรรมต่างๆได้ดี มีตำแหน่งที่ตั้งและการจัดวางเส้นทางให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก และสามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้

EDGE

หมายถึง เส้นขอบหรือแนวเขตที่แบ่งพื้นที่ออกจากกันเป็นสองฝั่ง Edge ที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้คนรับรู้ถึงขอบเขตของพื้นที่ เช่น

  • คูเมืองหรือกำแพงเมืองที่พบในเขตเมืองเก่า ช่วยสร้างการรับรู้ถึงขอบเขตของย่านนั้น
  • แนวรั้ว กำแพง ถนน ทางรถไฟ คลอง แม่น้ำ ที่ทำให้รับรู้ถึงการแบ่งแยกระหว่างสองพื้นที่
  • ความแตกต่างของพื้นที่ ที่ทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ จากรูปแบบอาคาร ขนาดของเส้นทาง บรรยากาศที่แตกต่าง เป็นต้น

การใช้ Edge ในงานออกแบบชุมชนเมือง การมีสิ่งบ่งบอกอาณาเขตของย่านชุมชนหรือพื้นที่ใด จะช่วยทำให้คนในชุมชนและผู้ใช้งานพื้นที่รับรู้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของย่านชุมชน รู้สึกถึงความเป็นสถานที่หรือเป็นชุมชนเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการสร้างการรับรู้ถึงเส้นขอบหรืออาณาเขต สามารถทำได้หลายวิธี เช่นการสร้างประตูเมืองเพื่อทำให้คนที่เดินทางผ่านเส้นทางเข้าเมืองรับรู้ถึงความเป็นย่านชุมชนชัดเจนขึ้น

PATH

หมายถึง เส้นทางที่ผู้คนในเมืองใช้สัญจร ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ภายในเมืองเข้าด้วยกัน Path ที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนเกิดจากการมีอาคารหรือองค์ประกอบสองข้างทางต่อเนื่องเป็นแนวเส้นชัดเจนเป็นที่จดจำ หรือมีการใช้งานอย่างหนาแน่นเป็นเส้นทางหลักของเมือง หรือเป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมสถานที่สำคัญของเมือง

Path ที่ดีนอกจากรองรับการสัญจรได้ดีแล้ว ควรสร้างการรับรู้และจดจำได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการสร้างความต่อเนื่องขององค์ประกอบสองข้างทาง จากแนวอาคารหรือแนวต้นไม้ รวมถึงการเพิ่มจุดหมายตา เช่น วงเวียน อนุสารีย์ สะพาน ซุ้มประตู ฯลฯ เพื่อเป็นหมุดหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละช่วงของเส้นทางที่ผู้ใช้เส้นทางนั้นเกิดการรับรู้ สร้างความประทับใจจนสามารถจดจำเส้นทางหรือ Path นั้นได้อย่างชัดเจน

DISTRICT

หมายถึง ย่าน เขตพื้นที่ หรือชุมชนที่มีลักษณะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ละพื้นที่มักมีชื่อเรียกเฉพาะที่สะท้อนถึงความเป็นมา โดยสามารถจำแนกหรือรับรู้ความเป็นย่านได้จากปัจจัยหลายประการ

  • การมีรูปแบบอาคารที่คล้ายกันหรือกลมกลืนกัน เช่น ย่านเมืองเก่าที่มีอาคารในยุคสมัยเดียวกัน กลุ่มชุมชนริมน้ำที่มีบ้านไม้ใต้ถุนสูง ย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์และอาคารสูง เป็นต้น
  • การมีกลุ่มอาคารหรือพื้นที่ที่มีกิจกรรมประเภทเดียวกัน เช่น ย่านการค้าที่อาคารส่วนใหญ่ประกอบกิจกรรมค้าขายประเภทต่างๆ
  • คนในพื้นที่เป็นกลุ่มเชื้อชาติเดียวกัน เช่น ย่านคนจีน ย่านคนเวียตนาม โดยสามารถรับรู้ความเป็นย่านได้จากวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหาร เป็นต้น
  • คนในพื้นที่เป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน ที่สามารถรับรู้และบ่งบอกความเป็นย่านได้จากศาสนสถาน วัฒนธรรม การแต่งกาย เป็นต้น

LANDMARK

หมายถึง จุดหมายตา จุดเด่น หรือจุดสังเกต เป็นงานสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรมที่ทำหน้าที่เป็นหมุดหมายทางสายตาให้สามารถมองเห็นและรับรู้ได้ โดย Landmark ที่มีคุณภาพควรแสดงถึงอัตลักษณ์รวมถึงเพิ่มคุณภาพของพื้นที่และเส้นทางจากการมีคุณสมบัติสามประการ ได้แก่

  • Outstanding คือดูโดดเด่น มองเห็นได้ง่าย แตกต่างแยกจากสภาพแวดล้อม
  • Proportion คือมีขนาดใหญ่และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  • Location คือจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่าย

การออกแบบจุดหมายตาหรือ Landmark ที่ดีต้องคำนึงถึงฉากหลังหรือ Background โดยฉากหลังควรทำหน้าที่ส่งเสริมให้ Landmark เป็นจุดเด่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในงานออกแบบเมือง นอกจากการออกแบบ Landmark ให้สวยงาม มีเอกลักษณ์ น่าจดจำแล้ว ต้องมีการออกแบบหรือควบคุมอาคารที่เป็นฉากหลังให้สามารถส่งเสริมความเป็นจุดเด่นของ Landmark ได้ เช่น ควบคุมสี และความสูงให้สอดคล้องกัน

Townscape by Gordon Cullen

Gordon Cullen (กอร์ดอน คันเลน) เป็นสถาปนิกและนักออกแบบเมืองชาวอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิด Townscape (ภูมิทัศน์เมือง หรือ บุรีทัศน์) โดยแนวคิดนี้นำเสนอทฤษฎีและวิธีการใหม่ในการสำรวจและวิเคราะห์กายภาพของเมืองจากการมองเห็นและสัมผัสกับสภาพแวดล้อมของเมืองในระดับสายตา หรือในแบบที่คนทั่วไปที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนได้มองเห็นและสัมผัสในชีวิตจริง ซึ่งสิ่งที่ได้จากการสำรวจนั้นถูกนำมาใช้สร้างงานออกแบบเมืองที่สอดคล้องกับจิตวิทยาในการรับรู้ของมนุษย์ เช่น ความต้องการของมนุษย์ในการรับรู้ถึงช่วงเวลา แสงแดด ร่มเงา อุณหภูมิ รวมถึงความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ถึงลักษณะรูปทรง ความสูง ความกว้างหรือแคบของพื้นที่ ความขรุขระของพื้นผิว เป็นต้น

แนวคิดภูมิทัศน์เมืองถูกบันทึกไว้ในหนังสือที่เขาเขียนชื่อ “The Concise Townscape”ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1961 และถูกตีพิมพ์ซ้ำมาแล้วมากกว่า 15 ครั้ง โดยนับเป็นหนึ่งในหนังสือด้านการออกแบบเมืองที่เป็นที่นิยมมากที่สุดฉบับหนึ่งในศตวรรษที่ 20

(ภาพซ้าย) ภาพหน้าปกของหนังสือ The Concise Townscape แสดงลักษณะเมืองที่ออกแบบเพื่อรถยนต์คือมีทางเท้าที่ไม่มีคนใช้งาน ส่วนภาพลายเส้นสีเหลืองที่วาดอยู่บนทางเท้าแสดงภาพของเมืองที่มีลักษณะเอื้อต่อการเดินเท้า ซึ่งสะท้อนว่าเมืองที่น่าอยู่ในยุคนั้นกำลังจะเป็นไปได้เพียงแค่ในภาพวาด ….(ภาพขวา) ลายเส้นที่วาดโดยฝีมือของคัลเลน บันทึกภาพลานสาธารณะที่แสดงบรรยากาศและรายละเอียด มีผู้คนใช้งานหลากหลายเพศและวัย มีอาคารล้อมรอบ มีต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ถนนที่มีพื้นผิวเอื้อต่อการเดินเท้ามากกว่าให้รถยนต์วิ่ง

คัลเลนนำเสนอทฤษฎีและวิธีการในการสำรวจและวิเคราะห์เมืองด้วยสายตา โดยตั้งข้อสังเกตว่าการรับรู้และมองเห็นสิ่งต่างๆภายในเมืองนั้น เป็นการรับรู้ที่ระดับสายตาและในขณะเคลื่อนที่ จนนำไปสู่การศึกษาเมืองโดยการบันทึกภาพแบบ Serial Vision หรือการจดบันทึกภาพของเมืองในแต่ละจุดตามลำดับการเคลื่อนที่ผ่าน ซึ่งรายละเอียดของพื้นที่จะถูกบันทึกด้วยภาพลายเส้น สะท้อนบรรยากาศ การใช้งาน สัดส่วน พื้นผิว แสงเงา และองค์ประกอบต่างๆ อย่างละเอียด นอกจากนี้คัลเลนยังสร้างตารางและสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการจดบันทึกบรรยากาศและลักษณะต่างๆของพื้นที่ ทำให้สามารถนำข้อมูลจากการสำรวจและจดบันทึกไปใช้ในการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ได้ในอนาคต

ภาพจากการสำรวจและจดบันทึกรายละเอียดของเขตเมืองเก่าจากการมองเห็นเมื่อเคลื่อนที่ผ่าน โดยแต่ละภาพแสดงรายละเอียดของพื้นที่ ตัวอาคาร การปิดล้อม รูปทรงและรายละเอียดของสภาพแวดล้อม
ภาพจากการสำรวจวิหารเวสท์มินเตอร์ แสดงถึงการบันทึกรายละเอียดของรูปทรงอาคาร ช่องเปิดและลวดลายที่ที่เปลี่ยนไปตามมุมมองและระยะการมองเห็น
ตัวอย่างการจดบันทึกรูปทรงอาคาร ขอบเขตพื้นที่ มุมมองและความรู้สึกที่ได้รับจากการสำรวจพื้นที่ เช่น ความเงียบ ความรู้สึกถึงเขตศาสนสถาน เขตสถานที่ราชการ ย่านร้านค้า เป็นต้น

ความสนใจในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้พื้นที่ผ่านประสาทสัมผัส ทำให้คัลเลนสามารถเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ในหนังสือของคัลเลนจึงนำเสนอการสร้างเมืองให้มีเอกลักษณ์จดจำได้จากการสร้าง Sense of Enclosure ซึ่งหมายถึง การสร้างการรับรู้ถึงขอบเขตและการโอบล้อม และ การสร้าง Sense of Place ซึ่งหมายถึง การสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของพื้นที่

Community-based Approach by Jane Jacobs

Jane Jacobs (เจน จาคอบส) มีอาชีพหลักเป็นนักข่าว นักเขียนคอลัมน์ นักทฤษฎี และนักเคลื่อนไหว เป็นคน American-Canadian ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกรณีเกี่ยวกับเมืองโดยเฉพาะในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

เจนได้เสนอแนวคิดไว้ในหนังสือ The Death and Life of Great American Cities ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1961 ว่าการฟื้นฟูเมือง (Urban Renewal)โดยการไล่รื้อย่านแออัด (Slum Clearance) คือการไม่เคารพความต้องการที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัย ซึ่งแนวคิดและทิศทางการเคลื่อนไหวของเจนสวนทางกับการพัฒนาเมืองในยุคนั้นที่เน้นการตัดถนนและใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง รวมไปถึงการสร้างพื้นที่พักอาศัยในลักษณะรื้อทำลายเมืองเดิม

(ภาพซ้าย) ปกหนังสือ The Death and Life of Great American Cities และ (ภาพขวา) ซีรี่ย์สเรื่อง Sesame Streetโดยทั้งสองภาพแสดงบรรยากาศของชุมชนเมืองในช่วงเวลานั้น ที่เจนเชื่อว่าเป็นภาพของชุมชนที่น่าอยู่ คือมีความผูกพันของครอบครัวและเพื่อนบ้าน เป็นบรรยากาศของการทักทายและนั่งพูดคุยบนชานบันไดหน้าบ้านและทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของเจน คือการรวบรวมคนในชุมชนและเพื่อนบ้านในเขตที่เธออาศัยอยู่ คือ Greenwich Village Neighborhood เป็นการแสดงออกเพื่อปกป้องพื้นที่ชุมชนจากการถูกรื้อทำลาย อันเป็นผลจากแผนพัฒนาเมืองโดย Robert Moses ซึ่งผลสรุปสุดท้ายเจนทำได้สำเร็จโดยสามารถยกเลิกการก่อสร้างทางด่วน (Lower Manhattan Expressway) ที่กำลังจะสร้างพาดผ่านเมือง Manhattan และเขตชุมชน Greenwich ที่เธออาศัยอยู่

เจน มีมุมมองต่อเมืองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบไปด้วยระบบการทำงานที่มีการเติบโตไปตามช่วงเวลาและมีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปตามลักษณะการใช้งาน โดยเชื่อว่าเมืองที่ดีควรเติบโตอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม เมืองควรเป็นพื้นที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้คนและการตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ ทฤษฎีชีวิตสังคมเมือง หรือการพัฒนาเมืองจากความต้องการที่แท้จริงของชุมชน (Community-based Approach) ไม่ใช่จากนโยบายของผู้บริหารหรือนักการเมือง

ทฤษฎีชีวิตสังคมเมือง

ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน โดยเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องมีทางเท้าที่เอื้อต่อการใช้งาน มีสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พบปะและพักผ่อนหย่อนใจ มีร้านค้าปลีกเพื่อจับจ่ายซื้อขายในเขตชุมชน พื้นที่เมืองควรมีความหนาแน่นที่พอเหมาะ มีขนาดชุมชนที่ไม่เล็กเกินไปจนมีจำนวนคนไม่เพียงพอให้เกิดร้านค้า ไม่ใหญ่เกินไปหรือมีจำนวนผู้อยู่อาศัยมากเกินไปจนเกิดความแออัด โดยการพัฒนาเมืองตามแนวคิดของเจนประกอบด้วย

  • ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างผสมผสาน (Mixed Use) ภายในชุมชนควรประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ร้านค้าและบริการ สวนสาธารณะ (Live, Work, and Play) เพื่อให้ผู้คนสามารถพึ่งพาและใช้ชีวิตประจำวันในเขตชุมชนได้
  • สนับสนุนให้ในเขตชุมชนมีกิจการร้านค้าขนาดเล็ก และอุตสาหกรรมขนาดเล็กทีไม่สร้างมลพิษ
  • รักษาอาคารเดิมที่มีความสำคัญเพื่อสืบทอดความเป็นชุมชนให้ผู้คนรู้สึกคุ้นเคยและมีความผูกพันกับชุมชนหรือเขตที่อยู่
  • ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่ สร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของสถานที่

Eyes on the street

เป็นวิธีการที่เจนนำเสนอเพื่อทำให้เมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยใช้การดูแลกันในหมู่เพื่อนบ้าน ใช้การออกแบบถนนให้มีความปลอดภัยด้วยการดึงดูดให้มีผู้คนผ่านไปมาตลอดเวลา การออกแบบร้านค้าและอาคารริมทางให้มีช่องเปิดด้านหน้าอาคาร ที่ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นและเพิ่มความปลอดภัยให้กับพื้นที่บริเวณนั้น โดยนำเสนอสามวิธีการที่จะช่วยให้ถนนในชุมชนเกิดความปลอดภัย

  1. มีการแบ่งแยกขอบเขตของพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวอย่างชัดเจน
  2. เปิดช่องเปิดและระเบียงของอาคารเข้าสู่ถนน เปิดให้คนในชุมชนได้มองเห็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งทำให้คนแปลกหน้ารู้สึกถึงความปลอดภัยและไม่ถูกคุกคาม
  3. ควรสนับสนุนให้มีอาคารที่มีผู้ใช้งานตลอดเส้นทางเดินเท้า เพื่อให้คนในอาคารสามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดภายนอก ไม่มีใครชอบมองถนนที่ว่างเปล่า การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่ผสมผสาน
(ภาพซ้าย) การเปิดช่องมองระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคารเพื่อให้คนในบ้านสามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายนอก และในขณะเดียวกันคนที่มาจากภายนอกจะถูกสังเกตและมองเห็น (ภาพขวา) การแบ่งเขตระหว่างพื้นที่ส่วนบุคคลภายในอาคารกับพื้นที่สาธารณะคือทางเท้าภายนอกอาคาร โดยมีพื้นที่กึ่งสาธารณะหน้าอาคารเป็นตัวเชื่อมที่ทำหน้าที่ทั้งคัดกรองคนภายนอกและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนภายในชุมชน

--

--