Urban Farming

สวนแบ่งปัน & Edible Garden City

Uma Phanita Surinta
All about Urban
3 min readJul 2, 2021

--

หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนคืออาหาร จากอดีตที่การเพาะปลูกในแต่ละชุมชนเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆ ต่อมาเมื่อการเติบโตและเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วจากชุมชนกลายเป็นเมืองใหญ่ ทำให้เมืองไม่สามารถผลิตอาหารเองได้อีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ถูกใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่การค้า และกิจกรรมบริการอื่นๆไปเสียแล้ว

ขณะเดียวกัน วิถีในการทำเกษตรซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาหารกำลังถูกคุกคามทั้งจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ การต่อสู้ระหว่างการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ต้นทุนสูงกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถควบคุมผลผลิตได้ ไปจนกระทั่งการสูญเสียพื้นที่เกษตรจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่เมือง คนเมืองต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับการขนส่ง คุณภาพที่ลดต่ำลงจากระยะเวลาและคุณภาพในการจัดเก็บ และความเสี่ยงต่อสารพิษตกค้างที่มาพร้อมกับผลผลิตต่างๆที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

จากปัญหาและภาวะความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้คนเมืองต้องหันกลับมาหาวิถีทางเพื่อความอยู่รอดด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ในเขตเมือง เป็นที่มาของแนวคิดการทำเกษตรในเขตเมืองโดยถูกพัฒนาขึ้นแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของการเกษตรในเขตเมือง Urban Agriculture คือ การนำเอาพื้นที่ขนาดเล็กในเขตเมือง (เช่น ที่ดินว่างเปล่า สวน ริมรั้ว ระเบียง) มาใช้ปลูกพืชและผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบริโภคหรือขายในตลาด เป็นแหล่งอาหารและรายได้ให้กับคนในเขตพื้นที่นั้น ทั้งนี้ Urban Agriculture มีลักษณะเป็นแนวคิดที่มีพลวัต มีความหลายหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การปลูกเพื่อบริโภคในระดับครัวเรือนไปจนถึงการนำผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพื่อแปลงเป็นรายได้ ในบางครั้งอาจถูกเรียกว่า Urban Farming ซึ่งหมายถึงการเพาะปลูกที่มีการนำผลผลิตมาบริโภค ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกัน โดยที่ Urban Farming ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่มีการร่วมมือกันของกลุ่มคน เป็นการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารของคนในชุมชน สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน สร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพโดยเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยในราคาประหยัด

แนวคิดการเกษตรในเขตเมืองถูกพัฒนาไปพร้อมๆกับการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง มีโครงการจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในประเทศเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งความมั่นคงทางอาหารยังเป็นปัญหาใหญ่ของหลายเมือง แต่ละโครงการมีจุดเริ่มต้น รูปแบบการดำเนินงาน และทิศทางการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างสองโครงการจากประเทศไทยและสิงคโปร์ที่จะกล่างถึงต่อไปนี้ สามารถสะท้อนภาพการพัฒนาการเกษตรในเขตเมืองที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

สวนแบ่งปัน ประเทศไทย

https://www.facebook.com/sharefarming/

เป็นการพัฒนาพื้นที่รกร้างในเมืองเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด โดยใช้พื้นที่ว่างด้านล่างของเส้นทางรถไฟรางคู่ซึ่งในปัจจุบันถูกยกรางสูงขึ้น มาทำเป็นแปลงผักสวนครัว สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยขึ้นในชุมชนริมทางรถไฟในเขตเมืองขอนแก่น ดำเนินการโดยทีม Hug Town ร่วมกับสถาบันจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส), คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และชุมชนริมทางรถไฟ

ผู้เริ่มต้นการขับเคลื่อนนี้คือ ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ (อาจารย์และนักวิชาการด้านผังเมือง) จากโจทย์ความคิดที่ต้องการหาวิธีจัดการที่ดินของภาครัฐให้เกิดประโยชน์กับผู้คนในเมือง ร่วมกับความต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมืองโดยไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเอง ทำให้ต้องอาศัยที่ดินริมทางรถไฟเป็นพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งสองโจทย์นี้เป็นปัญหาที่มีมานานจนกระทั่งเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ความเดือดร้อนรุนแรงขึ้นเนื่องจากคนกลุ่มนี้ขาดรายได้ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องอาศัยอาหารจากการบริจาคเพื่อความอยู่รอด นอกจากนี้ ชุมชนที่อยู่ต่อเนื่องกันมานานโดยขาดการยึดโยงจากโครงสร้างทางสังคม ต่างคนต่างที่มา ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ผู้คนเริ่มไม่รู้จักกันและขาดความสัมพันธ์ในเชิงสังคม ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงกระตุ้นและเป็นที่มาสำคัญของการขับเคลื่อนสวนแบ่งปัน

การดำเนินงานของสวนแบ่งปัน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและคนในพื้นที่ในลักษณะร่วมกันสร้าง (Co-create) มีการจัดทำกระบวนการที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาและอบรมทักษะ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านงานวิจัยผสมผสานไปกับการลงมือทำ (Learning-by-doing) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างที่ไม่มีการใช้งานให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้โดยเฉพาะการเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายบางส่วนและเพิ่มโอกาสในการพบปะและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในชุมชน

เป้าหมายในอนาคตของสวนแบ่งปันคือ การขยายผลและส่งแรงกระเพื่อมโดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงทางอาหารไปยังพื้นที่และกลุ่มคนอื่นๆ สร้างความเคลื่อนไหวในสังคมเรื่องผักปลอดภัย การใช้พื้นที่สาธารณะและอาหารเชื่อมโยงกลุ่มคนต่างๆ เช่น การส่งผักจากชุมชนให้กับร้านอาหารหรือโรงเรียน เป็นต้น

กิจกรรมที่กำลังดำเนินการ เช่น

1) แปลงผักที่กระจายอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟ โดยใช้พื้นที่ว่างที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน ปัจจุบันมีเนื้อที่ของแปลงปลูกผักรวมกันประมาณ 1 ไร่ และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2) “ปันสุขริมราง” เป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยรวบรวมและแจกจ่ายของใช้จำเป็นและผลผลิตจากแปลงผักที่ปลูกตามฤดูกาล ปลอดสารเคมีอันตราย สดใหม่และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้

3) “คูปองปันกัน” คือรูปเเบบการช่วยเหลือด้านอาหารในระยะเร่งด่วนของภาคประชาชนด้วยกัน​​เองจากวิกฤตโควิด-19 โดยการระดมทุนเเละทรัพยากรจากผู้คนในสังคม​เเละภาคีท้องถิ่น แจกจ่ายเป็นคูปองคนละ​ 100 บาท​ต่อสัปดาห์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางให้เข้่าถึงอาหารราคาถูก​ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ​ร้านอาหารรายย่อยในชุมชน​​ให้สามารถมีรายได้ในภาวะวิกฤต​ โดยมีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการกว่า​ 10 ร้าน

โครงการนี้นอกจากสร้างความอิ่มท้องให้กับหลายคนในชุมชนแล้ว ยังสร้างความอิ่มใจให้กับคนทั่วไปด้วยวลีแสนน่ารักที่ว่า “พวกเราตัวเล็กมาก แต่เราอยากแบ่งปัน”

Edible Garden City จากประเทศสิงคโปร์

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=EdibleGardenCityProject&set=a.424530570906845

Edible Garden City (EGC) หรือสวนกินได้ ก่อตั้งโดยบิยอร์น โลว์ (Bjorn Low) ในปีค.ศ.2012 เริ่มต้นจากความตั้งใจที่จะเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับสิงคโปร์ด้วยการปลุกกระแสการผลิตอาหารด้วยตัวเอง (Grow your own food movement) สิ่งที่ EGC ผลักดันให้เกิดขึ้นคือการสร้างแปลงปลูกผักในที่ต่างๆทั่วเมือง ทั้งบนดิน ข้างทาง สวนหลังบ้าน บนระเบียงและดาดฟ้าของอาคาร โดยเชื่อว่าการมีแปลงผักอยู่ในทุกเมือง ทุกบ้าน และมีคนปลูกผักเป็นอยู่ในทุกครอบครัวจะช่วยลดการพึ่งพาอาหารจากภายนอกได้

การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมานานทำให้ EGC มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น กลายเป็นทีมงานที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนมากกว่า 40 คนจากหลากหลายอาชีพ เช่น วิศวกร นักธุรกิจ นักศึกษาจบใหม่ คนวัยเกษียณ ไปจนถึงกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ ต้องการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะด้านการเพาะปลูก ต้องการลงมือปลูกผักและบริโภคผักที่ปลูกเอง

ปัจจุบัน EGC มีรายได้จาก 3 กิจกรรม คือ Build-Grow-Teach

  1. Build หมายถึง การบริการให้คำปรึกษาและออกแบบสวนผัก รวมไปถึงการสอนวิธีการดูแลสวนผักให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน และการให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างรายได้จากผักที่เก็บได้ โดยพื้นที่เพาะปลูกหรือแปลงผักหลายรูปแบบที่สร้างขึ้นถูกเรียกว่า “Foodscaping” ซึ่งในปัจจุบัน ค.ศ.2021 มีจำนวนถึง 260 แห่ง ปรากฏอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วสิงคโปร์ ทั้งในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงเรียน สำนักงาน ไปจนกระทั่งระเบียงและสวนในบ้านพักอาศัย
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=EdibleGardenCityProject&set=a.424530570906845

2) Grow หมายถึง การขายผลผลิต โดยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถซื้อ ผัก สมุนไพร ผลไม้ และดอกไม้กินได้จากสวนที่ดูแลโดยสมาชิกในกลุ่ม EGC ไปประกอบอาหาร เป็นการขายในลักษณะการส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ทั้งการส่งตรงถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต และการจัดทำเป็นกล่องที่เรียกว่า Citizen Box ส่งให้กับผู้บริโภครายย่อยทั่วไป ซึ่งผู้ซื้อสามารถสมัครสมาชิกเพื่อจะได้รับกล่องผักนี้เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ มีกล่องให้เลือก 2 ขนาด ราคา 30 และ 40 เหรียญสิงคโปร์ต่อสัปดาห์ โดยที่ในกล่องนั้นอัดแน่นไปด้วยผักสดนานาชนิด

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=EdibleGardenCityProject&set=a.424530570906845

3) Teach หมายถึง การให้การศึกษา ในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการและหลักสูตรระยะสั้น โดยทีมงานของ EGC เป็นผู้สอนและให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกการทำสวนและปลูกพืชสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนออทิสติก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย เพื่อให้กลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

เป้าหมายในอนาคตของ EGC คือการขับเคลื่อนประเด็นความมั่นคงทางอาหารในประเทศสิงคโปร์ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาไกลมากจากความตั้งใจแรกเริ่มที่ต้องการเพียงใช้พื้นที่ว่างเป็นที่เพาะปลูก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้สร้างอาหารที่ปลอดภัยและสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภค การที่ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของพืชผักที่เป็นคนดูแลเอง การออกแบบสวนผักที่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อนและทำให้ผักพื้นบ้านของสิงคโปร์กลับมาและถูกนำมาใช้ปรุงอาหารอีกครั้ง รวมไปถึงการสร้างทักษะการเพาะปลูกให้กับกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิเศษ และท้ายที่สุดได้ทำให้สิงคโปร์ประกาศเป้าหมายของประเทศในการผลิตอาหารได้เองเพิ่มขึ้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 หรือที่เรียกว่า ’30 by 30

แหล่งอ้างอิง

Singh, Shrawan & Singh, D.R. & Murugan, A. & Jaisankar, I. & T.P., Swarnam. (2008). Coping with Climatic Uncertainties Through Improved Production Technologies in Tropical Island Conditions. 10.1016/B978–0–12–813064–3.00023–5.

https://www.teagasc.ie/rural-economy/farm-management/collaborative-farming/share-farming---crops/share-farming-a-short-guide/

https://smallbiztrends.com/2019/12/urban-farming.html

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9780128197745000035

https://www.ediblegardencity.com/

https://readthecloud.co/edible-garden-city-singapore/page/2/

https://www.facebook.com/EdibleGardenCityProject/

https://www.facebook.com/sharefarming/

--

--