Visual survey

การสำรวจเมืองด้วยสายตา

Uma Phanita Surinta
All about Urban
6 min readJun 11, 2019

--

การสำรวจเมืองด้วยสายตา (Visual Survey) เป็นวิธีการพื้นฐานที่ใช้ในการเก็บข้อมูลของงานออกแบบชุมชนเมือง การที่ผู้สำรวจได้เข้าไปสัมผัสพื้นที่ศึกษา ได้มองเห็นด้วยสายตาและบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ผู้สำรวจได้เข้าใจถึงองค์ประกอบของเมือง ความสัมพันธ์และเอกลักษณ์ของพื้นที่ศึกษา เช่น ลักษณะรูปทรง กิจกรรมการใช้งาน และอิทธิพลกายภาพของพื้นที่ศึกษา การสำรวจเมืองที่มีประสิทธิภาพควรนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งช่วยในการนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงพัฒนา มีส่วนช่วยในการตัดสินใจแก้ไขหรือสร้างสิ่งใหม่ที่เหมาะสมได้

Serial Vision by Gordon Cullen

องค์ประกอบของ visual survey

  1. Settlement and History การตั้งถิ่นฐาน และประวัติความเป็นมา
  2. Image of the city จินตภาพของเมือง
  3. Vistas and Skylines ช่องมองและเส้นขอบฟ้า
  4. Landform and Nature ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ
  5. Local Climate ภูมิอากาศท้องถิ่น
  6. Urban Pattern รูปทรงของเมือง
  7. Building Use and Activity Structure การใช้ประโยชน์อาคารและโครงสร้างของกิจกรรม
  8. Architectural Details and Ornaments รายละเอียดและส่วนประดับทางสถาปัตยกรรม
  9. Routes of Movement เส้นทางและโครงข่ายการสัญจร
  10. Pedestrian Areas พื้นที่ทางเท้า
  11. Urban Spaces and Open Spaces พื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่ง
  12. Local Culture and Social Capital วัฒนธรรมท้องถิ่นและความสัมพันธ์ทางสังคม
  13. Problem Areas พื้นที่ปัญหา

1. Settlement / History

เพื่อสืบหาที่มาหรือจุดกำเนิดของพื้นที่ กลุ่มคน สาเหตุในการตั้งถิ่นฐาน เหตุการณ์ในอดีตที่เป็นที่มาของชุมชน โดยสังเกตจากลักษณะกายภาพของพื้นที่ อันได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้ง ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพื่อเข้าใจในลักษณะทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม เช่น ชุมชนดั้งเดิมในภาคอีสานมักตั้งอยู่บนเนิน มีการขุดบ่อหรือหนองน้ำในเขตชุมชนเพื่อใช้อุปโภคบริโภคและมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน ชุมชนริมน้ำทางภาคกลางที่มีการตั้งบ้านเรือนขนานไปตามแนวคลองและมีรูปแบบอาคารที่เปิดสู่ริมแม่น้ำที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลัก นอกจากนี้ ประวัติการตั้งถิ่นฐานอาจสะท้อนผ่านชื่อเรียกย่าน ถนน ชุมชน หรือเมือง ซึ่งมักจะมีความหมายเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐาน เช่น ท่าขอนยาง เป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ หนองแวง เป็นชื่อหมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำหรือหนองน้ำ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของพื้นที่มีความสำคัญต่อการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทดั้งเดิมของพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีองค์ประกอบที่มีคุณค่าควรอนุรักษ์ ในการศึกษาประวัติและการตั้งถิ่นฐานของพื้นที่ศึกษาควรมีการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงอิทธิพลและลักษณะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา วิธีการศึกษานอกจากใช้การสำรวจและการสืบค้นข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ควรมีการเปรียบเทียบแผนที่ในแต่ละช่วงเวลาประกอบกับการสอบถามสัมภาษณ์ผู้อาวุโสหรือบุคคลสำคัญในพื้นที่

ภาพแสดงการศึกษาประวัติความเป็นมาของพื้นที่เมืองยโสธร

2. Image of the city (Kevin Lynch, 1960)

หมายถึง จินตภาพของเมือง หรือภาพการรับรู้โครงสร้างกายภาพของเมืองที่เกิดขึ้นในจิตหรือภาพในความคิด

โครงสร้างทางจินตภาพของเมืองประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ Path (เส้นทาง เช่น ถนน ทางเดิน ทางคมนาคม เส้นทางของระบบขนส่งมวลชนต่างๆ) Edge (เส้นขอบ ได้แก่ แนวรั้ว กำแพง สิ่งกีดขวางอื่นๆ เช่น คลอง คันดิน หรือเส้นทางคมนาคมเองที่บางครั้งกลายเป็นเส้นขอบได้เช่นกัน) Districts (ย่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย ย่านตลาดร้านค้า เป็นพื้นที่รวมของกิจกรรมที่คล้ายกัน) Nodes (ศูนย์กลาง เช่น จุดรวมของกิจกรรม ลานกิจกรรม จุดตัดเส้นทางสัญจร จุดเปลี่ยนถ่ายระบบการสัญจร เป็นต้น) และ Landmarks (จุดหมายตา เช่น อนุสาวรีย์ อาคารสูง หอคอย ภูเขา อาคารหรือสิ่งที่มองเห็นชัดเจนและจดจำได้ง่าย)

การจำแนกองค์ประกอบทางจินตภาพช่วยให้นักออกแบบชุมชนเมืองเข้าใจโครงสร้างทางกายภาพและจินตภาพของเมือง เมืองที่ดีควรมีโครงสร้างทางจินตภาพที่ชัดเจน มีองค์ประกอบทั้งห้าที่มีคุณภาพ สร้างการรับรู้ตำแหน่งและการจดจำทิศทางให้กับคนในเมือง (Orientation) คือเป็นเมืองที่อ่านได้ (Legibility) ผู้คนในเมืองรู้สึกสะดวกปลอดภัย ไม่สับสนและหลงทาง

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาคือการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ย่านที่มีความสับสน เส้นทางที่มีความไม่ชัดเจน เส้นขอบที่ทำให้พื้นที่ขาดความต่อเนื่อง จุดรวมกิจกรรมที่เข้าถึงได้ไม่สะดวก และจุดหมายตาที่ถูกบดบัง เป็นต้น

2.1 Path

หมายถึง เส้นทางการเคลื่อนที่และการสัญจรภายในเมือง ทั้งทางเท้า ทางรถยนต์ ระบบขนส่งสาธารณะ แม่น้ำลำคลองที่ใช้ในการสัญจร

การสำรวจเส้นทางในพื้นที่ศึกษา ควรสังเกตเส้นทางสัญจรที่คนในพื้นที่ใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน และเส้นทางที่คนภายนอกหรือนักท่องเที่ยวใช้งาน จำแนกประเภทโดยแยกประเภทของการสัญจร ปริมาณและความถี่ของการใช้งาน และสิ่งสำคัญคือสังเกตจากการเป็นที่รู้จัก นึกถึง และการเป็นที่จดจำของเส้นทาง เส้นทางที่มีคนจดจำ รู้จัก และใช้งานเป็นประจำนับเป็นเส้นทางหลัก (Major path) ส่วนเส้นทางที่คนใช้น้อยและไม่เป็นที่รู้จัก หรือรู้จักเฉพาะคนในพื้นที่ นับเป็นเส้นทางย่อย (Minor path/Local path)

ขณะสำรวจควรสังเกตสองข้างทาง รับรู้ถึงความกว้างของเส้นทาง ความสูงของอาคารสองข้างทาง การแบ่งพื้นที่ใช้งานบนเส้นทางและขอบทาง ลักษณะการใช้งาน ฯลฯ ส่วนประเด็นที่ควรพิจารณาแบ่งเป็นสองมิติ ในมิติของการใช้งานเส้นทางสัญจร เส้นทางที่ดีควรทำหน้าที่ในการเชื่อมพื้นที่ภายในเมืองเข้าด้วยกัน มีความกว้างและการจัดแบ่งพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้งาน และให้ความสะดวกปลอดภัยในการสัญจร ส่วนมิติในการรับรู้และจดจำเส้นทางนั้น ความสวยงามเป็นระเบียบขององค์ประกอบบนเส้นทาง พื้นที่บนถนนและสองข้างทางสามารถช่วยในการนำทางและบ่งบอกทิศทางได้ แนวอาคาร แนวต้นไม้ พื้นผิวถนน ช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับเส้นทาง แสดงเส้นทางโค้ง เป็นจุดสังเกตให้กับทางแยก ความมีเอกภาพของอาคารสองข้างทาง ความมีอัตลักษณ์ของเส้นทาง เป็นคุณสมบัติที่จะทำให้เส้นทางนั้นมีความชัดเจนและง่ายต่อการจดจำ

2.2 Edge

หมายถึงเส้นขอบ แนวรั้ว ถนน ทางรถไฟ เส้นแบ่ง แนวเขตที่ใช้แบ่งแยกย่านของเมืองที่แตกต่างกันออกจากกัน

ควรสังเกตทั้งเส้นขอบที่มองเห็นได้ทางกายภาพ เช่น แนวรั้ว กำแพง แม่น้ำลำคลอง และเส้นขอบที่เกิดขึ้นและรับรู้ได้จากความรู้สึกที่พื้นที่ถูกแบ่งแยกออกจากกันเป็นสองฝั่ง เช่น ถนน ทางด่วน หรือ แม่น้ำ ที่กว้างจนพื้นที่สองฝั่งทางไปมาหาสู่กันลำบาก รวมไปถึงความแตกต่างที่เกิดจากองค์ประกอบและกิจกรรมในพื้นที่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ความชัดเจนของเส้นขอบช่วยสร้างการรับรู้ถึงการอยู่ในขอบเขตพื้นที่ หรือการผ่านเข้ามาถึงพื้นที่เฉพาะที่แตกต่างออกไป การรู้สึกถึงขอบเขตที่ชัดเจนช่วยให้เรารับรู้ถึงสถานที่ หมู่บ้าน หรือเมืองนั้นได้ดี

2.3 District

เมืองประกอบขึ้นจากพื้นที่ย่อยหรือ “ย่าน” ที่มีบทบาทและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่สามารถศึกษาเพื่อจำแนกความเป็นย่านได้แก่ รูปทรงกายภาพ (Physical form) และกิจกรรม (Visible activity) การสำรวจย่านควรสังเกตถึงองค์ประกอบทางกายภาพภายในย่าน เช่น ความหนาแน่นและรูปทรงอาคาร เส้นทางสัญจร รวมไปถึงองค์ประกอบสำคัญได้แก่กลุ่มคนและกิจกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในย่าน เช่น วิวัฒนาการของรูปแบบอาคารจากลักษณะดั้งเดิม เป็นต้น

การสังเกตความเป็นย่านเป็นการทำความเข้าใจถึงบริบทและบทบาทของย่านที่มีต่อเมือง ความชัดเจนของย่านเกิดจากความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์ประกอบทางกายภาพและกิจกรรม ย่านที่ผู้คนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่รับรู้ได้ช่วยให้คนในพื้นที่สามารถรับรู้ทิศทางรวมทั้งรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้ดี และช่วยส่งเสริมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันความภาคภูมิใจในพื้นที่ของตนเอง ความชัดเจนของย่านสำหรับคนนอกพื้นที่จะช่วยให้การรับรู้ตำแหน่งและทิศทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.4 Node

พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นจุดรวมหรือศูนย์กลางจะสังเกตได้จากการใช้งานและกิจกรรมที่มีผู้ใช้งานหรืออยู่รวมกันจำนวนมาก อาจมีลักษณะเป็นอาคารสถานที่ที่มีความสำคัญ ลานกลางแจ้ง จุดพักรถ สถานีรถไฟ ท่าเรือ ฯลฯ

ทุกเมืองต้องการพื้นที่สาธารณะ พื้นที่กิจกรรม สถานนีรอรถ ลานหรือศูนย์กลางของเมืองที่ชัดเจน ช่วยรองรับกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้คนได้ดี คุณภาพของพื้นที่จุดรวมเหล่านี้สังเกตได้จากการตอบสนองต่อกิจกรรม ขนาดพื้นที่ที่พอเหมาะ มีรูปแบบที่ใช้งานได้ดี ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่ายจากผู้ใช้งาน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ node นั้นมีประสิทธิภาพ ถูกใช้ประโยชน์ ผู้คนรับรู้และจดจำได้

2.5 Landmarks

เป็นการสำรวจเพื่อระบุตำแหน่งของจุดหมายตา เช่น อนุสารีย์ หอนาฬิกา อาคารสูงหรืออาคารสำคัญที่คนส่วนใหญ่จดจำได้ สิ่งสำคัญในการสังเกตลักษณะของจุดหมายตาคือการพิจารณาจากมุมมองระดับสายตา โดยใช้ภาพถ่าย และการเปรียบเทียบ skyline หรือเส้นระดับสายตาของพื้นที่ศึกษา

ควรพิจารณาดู ขนาด ความสูง หรือความเด่นชัดจากบริบทรอบข้าง นอกจากนี้ ความเป็นมาหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับจุดหมายตาจะช่วยให้การรับรู้จุดหมายตามนั้นมีความเด่นชัดมากขึ้นในการรับรู้ของผู้คน

3. Vistas and skylines

ช่องมองและเส้นขอบฟ้า

Vista หรือช่องมอง ควรทำการสำรวจบนเส้นทางสำคัญ เช่น ถนนสายหลักที่เชื่อมพื้นที่เมืองทั้งหมด เส้นทางที่เป็นทางเข้าออกของเมือง เส้นทางที่เปิดสู่พื้นที่ที่มีความสำคัญของเมือง เป็นต้น การวิเคราะห์ช่องมองควรพิจารณาคุณภาพของอาคารและองค์ประกอบสองข้างทาง ช่องมองที่ดีไม่ควรมีสิ่งบดบังสายตา มีองค์ประกอบสองข้างทางที่กลมกลืน มีการนำทางที่ชัดเจน มีสัดส่วนที่พอเหมาะและมีองค์ประกอบที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมือง

Skyline หรือเส้นขอบฟ้า เกิดจากเส้นความสูงของอาคารร่วมกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น เส้นความลาดเอียดของภูเขา โดยเป็นเส้นแนวต่อเนื่องที่มองเห็นจากด้านใดด้านหนึ่งของเมือง การวิเคราะห์เส้นขอบฟ้าควรพิจารณาถึงความต่อเนื่องหรือความขัดแย้ง รวมถึงสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นของฟ้าของเมือง เช่น อาคารสูง หอคอย โดยทั่วไป เมืองควรมีเส้นขอบฟ้าที่มีความต่อเนื่องซึ่งเกิดจากอาคารที่มีการควบคุมความสูง และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เกิดจากการสร้างอาคารที่มีความสูงแตกต่างกันไว้ใกล้กัน ซึ่งจะส่งผลเสียทั้งต่อการมองเห็นและการใช้งานอาคาร เช่น การบดบังแสงแดด การมองเห็นและความเป็นพื้นที่ส่วนบุคค

4. Landform and Nature

หมายถึง ลักษณะภูมิประเทศและองค์ประกอบทางธรรมชาติของพื้นที่

ข้อมูลจากการสำรวจควรแสดงถึง

  • Landform หรือ ลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ เส้นชั้นความสูงของพื้นที่ แสดงความลาดเอียง พื้นที่ราบ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เนิน ภูเขา ขอบเขตของแหล่งน้ำ แม่น้ำ คูคลอง บึงหรือหนองน้ำ เป็นต้น
  • Nature หรือ องค์ประกอบทางธรรมชาติได้แก่ ประเภทของพืชพรรณ ตำแหน่งหรือกลุ่มต้นไม้สำคัญ เช่น แนวต้นไม้บนถนน เป็นต้น

ในการออกแบบเมืองควรพิจารณาถึงรูปทรงที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและไม่ทำลายหรือส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบทางธรรมชาติของพื้นที่ การสำรวจควรพิจารณาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นผลกระทบจากรูปทรงของเมืองที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ ปัญหาที่เป็นผลจากการทำลายสภาพแวดล้อม เช่น พื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม พื้นที่ที่ควรป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำ เป็นต้น

แสดงการศึกษาภูมิประเทศของพื้นที่เมืองเก่าสิงห์ท่า จ.ยโสธร

5. Local Climate

หมายถึงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลที่ควรสำรวจได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ร่มเงา ความเร็วและทิศทางลม เป็นต้น การสำรวจจำเป็นต้องใช้แอพพลิเคชั่นหรือเครื่องมือวัดอย่างถูกต้อง ข้อมูลที่ได้ควรนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของสภาวะสบาย โดยสภาวะสบายในประเทศไทยจะอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 24–27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ประมาณ 50–70 เปอร์เซ็นต์ และความเร็วลมที่ 0.2–1.0 m/s1

เป้าหมายของการศึกษาลักษณะภูมิอากาศคือการประเมินคุณภาพของพื้นที่ศึกษาในการรองรับการอยู่อาศัย การรองรับกิจกรรมและการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เช่น การศึกษาทิศทางของแสงแดดจะช่วยให้ผู้ออกแบบรู้ช่วงเวลาและบริเวณที่จะเกิดร่มเงาเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในงานออกแบบและการกำหนดความสูงของอาคารเพื่อให้พื้นที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะ รวมถึงการเพิ่มแนวต้นไม้หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวหากได้ทราบว่าพื้นที่นั้นได้รับแสงแดดมากเกินไปจนทำให้อุณหภูมิสูง เกิดความร้อนมากจนส่งผลต่อการใช้งาน

นอกจากนี้ การศึกษาสภาพภูมิอากาศโดยมีข้อมูลในอดีตมาเปรียบเทียบกับข้อมูล ณ เวลาปัจจุบัน จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณให้ผู้ศึกษาสามารถคาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเกิดอันตรายจากมลพิษทางอากาศ การสังเกตเห็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การเกิดเกาะความร้อน (Urban Heat Island) และสามารถหาวิธีป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต

แสดงการศึกษาการเกิดความร้อนและร่มเงาของอาคารในเขตเมืองยโสธร

6. Urban Pattern

รูปทรงของเมือง

รูปทรงของเมืองหมายถึง การประกอบตัวของพื้นที่อาคาร พื้นที่ว่างและเส้นทางสัญจรภายในเมือง โดยมีปัจจัยพื้นฐานของการเกิดรูปทรงที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละเมืองมาจาก ภูมิประเทศ การปลูกสร้างอาคาร และเส้นทางสัญจรที่ใช้เชื่อมกับเมืองอื่นๆโดยรอบ ส่วนทิศทางในการขยายตัวจนเกิดรูปทรงของเมืองในแต่ละช่วงเวลา เป็นอิทธิพลจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เช่น การมีลำน้ำไหลผ่าน การมีพื้นที่ลาดเอียงหรือแนวภูเขา รวมไปถึงปัจจัยอื่นทางด้านวัฒนธรรมหรือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีอิทธิพลในการสร้างแรงดึงดูดหรือกีดขวางการขยายตัวของเมือง

วิธีการศึกษารูปทรงของเมืองให้ใช้ แผนที่ Figure&Ground (เป็นแผนที่ที่ถูกปรับให้อาคารเป็นสีดำ เรียกว่า Figure และพื้นที่ว่างเป็นสีขาว เรียกว่า Ground) โดยแผนที่นี้จะช่วยให้ผู้ศึกษามองเห็นถึงความหนาแน่นของอาคารเปรียบเทียบกับพื้นที่ว่าง ช่วยในการทำความเข้าใจรูปทรงของเมือง โดยดูจากขนาดของ Grain หรือเม็ดของอาคารเปรียบเทียบกับพื้นที่ว่าง

Pattern, Grain, and Texture สามองค์ประกอบนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและทำให้เกิดรูปทรงที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละเมือง

  • Pattern หมายถึง รูปทรงของเมืองที่เกิดจากการเกาะกลุ่มหรือการเรียงตัวกันของอาคารและพื้นที่ว่าง
  • Grain หมายถึง ระดับความละเอียดและความหยาบของเมือง ซึ่งวัดจากขนาดของอาคารและการกระจายตัวของกลุ่มอาคาร เมืองที่มี Grain ละเอียดหมายถึงมีอาคารขนาดเล็ก เกาะกลุ่มใกล้ๆกัน มีพื้นที่ว่างระหว่างอาคารน้อย ส่วนเมืองที่มี Grain หยาบหมายถึงมีอาคารขนาดใหญ่ มีพื้นที่ว่างระหว่างอาคารมาก
  • Texture หมายถึง ระดับความหยาบ-ละเอียดของกลุ่มอาคารและพื้นที่ว่าง

การวิเคราะห์รูปทรงของเมืองจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงวิวัฒนาการและลักษณะเฉพาะของแต่ละเมือง โดยความรู้ความเข้าใจนี้จะช่วยให้งานออกแบบและวางผังมีความสอดคล้องกับรูปทรงเดิมของเมือง ช่วยในการตัดสินใจแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับรูปทรงและความหนาแน่น ช่วยในการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมให้กับรูปทรงของเมืองได้

ความแตกต่างของ Pattern, Grain, and Texture ของเมืองที่ไม่ได้วางแผนและเมืองถูกวางแผน
แผนที่แสดงการศึกษา Pattern ของเขตเมืองเก่ากาฬสินธุ์

7. Building Use and Activity Structure

การใช้ประโยชน์อาคารและโครงสร้างของกิจกรรม

สำรวจรูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารในเขตเมือง เช่น ที่อยู่อาศัย ร้านค้า สถานที่ราชการ บริการสาธารณะ โรงเรียนหรือพื้นที่เพื่อการเรียนรู้อื่น วัดพื้นที่ทางศาสนา ฯลฯ ศึกษาประเภทของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับย่าน การเกาะกลุ่มของกิจกรรมที่คล้ายกัน ความขัดแย้งหรือรบกวนกันของกิจกรรม รวมถึงอาจดูถึงการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

การวิเคราะห์ควรพิจารณาถึงขอบเขต ความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้ง ความเพียงพอของพื้นที่ในการรองรับการอยู่อาศัย การใช้งาน หรือการเติบโตของเมือง สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม และระยะห่างระหว่างกิจกรรมที่สัมพันธ์กัน เช่น ระยะทางจากย่านพักอาศัยไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน จากบ้านไปตลาดหรือย่านร้านค้า ระยะห่างระหว่างบ้านกับสวนสาธารณะ

พิจารณาการเกื้อหนุนหรือขัดแย้งกันระหว่างกิจกรรม เช่น การมีร้านค้าและพื้นที่พักผ่อนใกล้ย่านพักอาศัย ความขัดแย้งของกิจกรรม เช่น สถานบันเทิงอยู่ติดวัดหรือโรงเรียน สถานีบริการน้ำมันหรือร้านซ่อมรถในเขตย่านพักอาศัย

แผนที่แสดงโครงสร้างของกิจกรรมในเขตพื้นที่เมืองเก่า เมืองกาฬสินธุ์

8. Architectural Details and Ornaments

รายละเอียดและส่วนประดับทางสถาปัตยกรรม

สำรวจดูองค์ประกอบและส่วนประดับของอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เช่น ลวดลายปูนปั้น ลักษณะของราวระเบียง รูปแบบช่องเปิด รูปทรงหลังคา ฯลฯ สังเกตุถึงลักษณะของลวดลาย สีสัน การเลือกใช้วัสดุ นอกจากตัวอาคาร ควรสำรวจดูรูปแบบขององค์ประกอบอื่น เช่น Street Furniture ที่สะท้อนลักษณะของท้องถิ่น เช่น ป้าย ม้านั่ง ถังขยะ เสาไฟแสงสว่าง ตัวหนังสือ ลวดลาย งานศิลปะหัตถกรรม เป็นต้น

ควรวิเคราะห์ถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ค้นหาประวัติที่มา และคุณลักษณะสำคัญซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ ข้อมูลจากการสำรวจอาจแบ่งเป็นสองส่วน ในเชิงคุณภาพควรแสดงให้เห็นถึงระดับคุณค่า สถาปัตยกรรมที่พบจัดอยู่ในยุคใด มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติ ส่วนในเชิงปริมาณ ควรสำรวจและบันทึกจำนวน รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของสถาปัตยกรรมที่สำคัญเหล่านั้น

ภาพแสดงการศึกษารายละเอียดของอาคารในย่านเมืองเก่ากาฬสินธุ์

9. Routes of Movement

เส้นทางและโครงข่ายการสัญจร

เป็นการศึกษาเส้นทางและการสัญจรของคนในพื้นที่ ประกอบด้วยโครงข่ายถนน เส้นทางของการสัญจรทุกประเภท ทั้งทางเดินเท้า ทางรถ ทางเรือ ทางราง ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในเขตพื้นที่ศึกษาฯลฯ ข้อมูลจากการสำรวจควรแสดงถึงข้อมูลต่างๆ ได้แก่ โครงข่ายเส้นทาง ขนาดและรูปแบบของเส้นทาง ความหนาแน่นของการใช้งาน ตำแหน่งจุดจอดและสถานี

สิ่งที่ควรสังเกตได้แก่ ประสิทธิภาพและความสามารถในการรองรับการใช้งาน มีเพียงพอหรือไม่ ความครอบคลุมของเส้นทางและระบบขนส่งมวลชนยังมีบริเวณใดที่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงหรือมีปัญหาการสัญจรติดขัดหรือเป็นอันตราย จุดขึ้นลงรถสาธารณะอยู่ในระยะการเข้าถึงหรือระยะการเดินเท้าหรือไม่ สังเกตถึงความสะดวกและความปลอดภัยต่อการใช้งาน ลักษณะเส้นทางและระบบขนส่งมวลชนมีขนาดหรือรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานมากน้อยเพียงใด

10. Pedestrian areas

หมายถึง ทางเท้าหรือพื้นที่รองรับการเดินเท้า ซึ่งควรมีลักษณะที่เอื้อต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ข้อมูลที่ควรสำรวจและบันทึก ได้แก่ ระยะความกว้างของพื้นที่ทางเท้า การใช้งานพื้นที่ทางเท้า วัสดุและพื้นผิวของทางเท้า คุณภาพของทางเท้าที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนทุกเพศวัยและความสามารถ (Universal design) ความต่อเนื่องหรือคุณภาพของทางเท้าในการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการรองรับการใช้งาน เช่น สะดวกในการใช้งานหรือไม่ การมีสิ่งกีดขวาง การขาดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด แสงสว่าง ม้านั่ง ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา เป็นต้น รวมไปถึงการใช้งานร่วมกันระหว่างทางเท้ากับกิจกรรมในและหน้าอาคารริมทางเท้า โดยเฉพาะในย่านร้านค้า ร้านอาหารที่มักใช้พื้นที่หน้าร้านให้บริการ สังเกตถึงการแบ่งขอบเขตและความสะดวกในการใช้งาน

11. Urban Spaces and Open Spaces

พื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่ง

  • Urban spaces: พื้นที่สาธารณะภายในเมือง ได้แก่ ลานกิจกรรมที่มักล้อมรอบด้วย facade อาคาร ช่องว่างระหว่างอาคาร พื้นที่ริมถนนระหว่าง facade อาคารและพื้นที่การสัญจร
  • Open spaces: พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่ทางธรรมชาติของเมือง ซึ่งมักถูกจัดเป็นสวนสาธารณะ

สำรวจตำแหน่งของพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะ ขอบเขต ขนาด รูปทรงและการปิดล้อม ตำแหน่งและเส้นทางการเข้าถึง สำรวจระยะทางจากชุมชนหรือกลุ่มผู้ใช้งาน รวมถึงการรองรับกิจกรรมและพฤติกรรมการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่ม

การวิเคราะห์พื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งภายในเมืองควรพิจารณาคุณภาพและความเพียงพอของพื้นที่ เป็นการศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การศึกษาเชิงปริมาณควรพิจารณาถึงปริมาณของพื้นที่เปิดที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรในพื้นที่ ส่วนการศึกษาในเชิงคุณภาพนั้นนักออกแบบเมืองควรมองถึงประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่มในเมือง ลักษณะที่เหมาะสมของพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เปิดที่มีอยู่ภายในเมือง เช่น การมีพื้นที่รองรับกิจกรรมที่เหมาะสม ความสะดวกในการเข้าถึงจากพื้นที่โดยรอบ ความร่มรื่นและบรรยากาศที่เหมาะสมกับการใช้งาน มีกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของคนในเมืองได้

12. Local Culture and Social Capital

วัฒนธรรมท้องถิ่น และความสัมพันธ์ทางสังคม

สำรวจถึงวิถีชีวิต อาหารการกิน การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ศาสนาและความเชื่อในท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์และเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม

สังเกตโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในพื้นที่ การแบ่งเขตชุมชน โครงสร้างการปกครอง ระดับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนหรือกลุ่มเพื่อนบ้าน

13. Problem Areas

พื้นที่ปัญหา

เป็นบทสรุปจากการสำรวจ เพื่อแสดงตำแหน่งของปัญหาและความต้องการซึ่งควรระบุและบันทึกลงในแผนที่ขณะสำรวจ ปัญหาที่ระบุควรเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเมือง เช่น จุดที่เกิดความสับสนหรือปัญหาในการใช้งาน (ในประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการสัญจร เป็นต้น) พื้นที่ที่ไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นที่จดจำหรือไม่สามารถบ่งบอกทิศทางได้ พื้นที่ที่ขาดสุนทรียภาพ พื้นที่ที่ขาดอัตลักษณ์ มีป้ายสัญลักษณ์ที่ไม่ชัดเจน พื้นที่เสี่ยงต่ออาชญากรรม โครงข่ายเส้นทางที่ไม่สมบูรณ์ เส้นทางสับสน เป็นต้น

--

--