แนะนำวิธีการเตรียมผลงาน (Portfolio UX/UI) เพื่อยื่นฝึกงาน หรือสมัครงาน | UPSKILL UX

Krit Chainoi
UPSKILL UX
Published in
2 min readJan 17, 2020

สวัสดีปีใหม่ปี พ.ศ.2563 หรือ ค.ศ.2020 ทุก ๆ คนนะ หลังจากที่ห่างหายกันไปนาน วันนี้ก็ขอกลับมาทำตามสัญญาที่ให้ไว้ (เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน 55)

กับเนื้อหา “แนะนำวิธีการเตรียมผลงาน (Portfolio UX/UI) เพื่อยื่นฝึกงาน หรือสมัครงาน” ก่อนที่จะไปสู่เนื้อหากัน อยากให้ทุกคนลองเช็คดูก่อนว่าทุกคนพร้อมที่จะไปทำงานสายนี้หรือยัง ?

  1. มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบพฤติกรรมผู้ใช้ (User Experience) หรือยัง ?
  2. มีความรู้ และทักษะการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้งาน (User Interface) หรือยัง ?
  3. คิดถึงอนาคตตอนที่เราทำงานสาย UX/UI อยู่ในหัวตลอดหรือเปล่า ?

หากคำตอบคือ “ใช่” มากกว่า “ไม่” ผมอยากให้เริ่มเตรียมผลงาน (Portfolio UX/UI) ได้เลย

แต่ถ้าคำตอบคือ “ไม่” มากกว่า “ใช่” อยากให้ไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน บางทีอาจจะไม่ใช่เวลาที่จะเริ่มเตรียมผลงานตอนนี้ (ใจมันรัก แต่ต้องเกลาความรู้กันก่อนอีกหน่อย) ใน UPSKILL UX มีเนื้อหามากมายเลยนะ…

แนะนำวิธีการเตรียมผลงาน (Portfolio UX/UI) เพื่อยื่นฝึกงาน หรือสมัครงาน

ก่อนที่จะมาเริ่มเตรียมผลงาน อยากจะขอแนะนำเครื่องมือที่ช่วยในเตรียมครั้งนี้กันก่อน ได้แก่

  1. PDCA (Plan Do Check Act) เป็นเครื่องมือที่อยากให้ทุกคนจำไว้ในหัวเลยว่า ถ้าอยากจะทำงานอะไรก็ตามให้สำเร็จ ต้องวางแผน ลงมือทำ วัดผล และปรับปรุงอยู่เสมอ เครื่องมือนี้จะนำมาช่วยในการวางแผนการเตรียมผลงานของเราได้อย่างดี เชื่อได้เลยว่าครั้งแรกมักจะเป็นบทเรียนที่ดี แต่ครั้งต่อไปต้องดีขึ้น
  2. SMART Goal เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยในการตั้งเป้าหมายในช่วงที่วางแผน (Plan) ในการกำหนดเป้าหมายที่ดี ชัดเจน ไม่เวิ่นเว้อ อยากจะทำตามใจฉันอย่างเดียวไม่ได้แล้วงานนี้

พอได้เครื่องมือกันแล้ว มาถึงขั้นตอนการลงมือเตรียมผลงานกัน

ขั้นตอนที่ 1 : วางแผนว่าจะเตรียมผลงานนี้ไปใช้เพื่อทำอะไร ? (Plan)

อยากจะบอกทุกคนก่อนว่าผลงาน (Portfolio) เป็นตัวแปรหนึ่งที่จะช่วยให้ได้เข้าไปฝึกงาน หรือทำงาน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้ ฉันชอบผลงานนี้ก็เอาอันนี้ใส่แหละ ลองจินตนาการตามนะ

  • ถ้าบริษัทเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ แต่คุณดันไปใส่แต่ผลงานวิชาการ ชนะรางวัลคณิตศาสตร์อันดับ 1, รางวัลนักเรียนดีเด่น หรือรางวัลยอดกตัญญู แบบนี้รับรองจบเลย ไม่ต้องคาดหวังอะไร ?

ดังนั้นผลงานที่คุณเตรียมเพื่อใช้ในแต่ละบริษัทควรไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าบริษัทที่คุณจะไปสมัครนั้นทำงานเกี่ยวกับอะไร ? (เตือนแล้วน่าาา)

ในการวางแผนในใช้เครื่องมือ SMART Goal มาช่วย โดยเขียนดังนี้

1.เป้าหมายต้องมีความเฉพาะเจาะจง (S : Specific)

เขียนในชัดเจนว่าผลงานที่จะเตรียมนั้นไปใช้ทำอะไร ? ที่ไหน ? ตำแหน่งอะไร ?
ตัวอย่างเช่น อยากจะเตรียมผลงานเพื่อนำไปสมัครงานตำแหน่ง Senior UX ที่บริษัทลูกธนาคารสีเขียว เป็นต้น

2. วัดผลได้เชิงปริมาณ หรือคุณภาพ (M : Measurable)

จำนวนผลงาน คุณภาพของผลงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการดูผลงาน เนื่องจากแต่ละตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น Junior Senior หรือ Manager ก็จำเป็นต้องใช้เรื่องของประสบการณ์ในการทำงานเป็นตัวตั้ง อีกทั้งผลงานก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วย เวลาตั้งตัววัดผล ทางเราของแนะนำประมาณนี้

คำแนะนำสำหรับจำนวนผลงาน
- ฝึกงาน (Internship)
ไม่จำเป็นต้องมีผลงานเป็นตัวตน หรือแบบโปรเจคที่ใช้จริง แต่พยายามแสดงผลงานออกแบบที่เกี่ยวข้อง
- ระดับเริ่มต้น (Junior) มีผลงานอย่างน้อย 3 โปรเจคขึ้นไป เอาเฉพาะที่โดดเด่น หรือใกล้เคียงกับธุรกิจที่บริษัทที่เราจะไปสมัคร
- ระดับกลาง (Mid > Senior) มีผลงานอย่างน้อย 6–9 โปรเจคขึ้นไป เอาเฉพาะที่โดดเด่น หรือใกล้เคียงกับธุรกิจที่บริษัทที่เราจะไปสมัคร
- ระดับผู้บริหาร (Manager) ต้องมีหลากหลายองค์ประกอบร่วมกัน แต่ถ้านับผลงานเอามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระดับนี้เค้าไม่คุยแค่เรื่องผลงานอย่างเดียว แต่ต้องนำทีม จัดการงาน ทุกอย่างผสมกันหมด

3. สามารถบรรลุผลได้จริง (A : Attainable)

ในการจะสร้างผลงานเพื่อนำไปฝึกงาน หรือสมัครงานในตำแหน่ง UX/UI บางครั้งสำหรับคนที่ยังไม่เคยทำงานในสายงานนี้มาก่อน มักจะใส่ผลงานที่เป็นแบบฝึกทำเอง หรือลองทำตามตัวอย่าง ความจริงสามารถนำไปใส่ได้ แต่อยากให้ใส่เรื่องของกระบวนการเข้าไปด้วย เช่น กว่าจะออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้งาน (User Interface : UI) ตัวอย่างที่เห็นในผลงาน ใช้วิธีขั้นตอนการออกแบบพฤติกรรมผู้ใช้อย่างไรบ้าง ทำตัวอย่างกลุ่มผู้ใช้งานหรือเปล่า ?

เพราะมันจะทำให้เห็นว่าเรามีความรู้ในมุมมองของการออกแบบพฤติกรรมผู้ใช้งานด้วย (User Experience) หรือแม้กระทั้งเรื่องของการออกแบบที่ไม่ได้เกี่ยวของกับสายไอที เป็นงานธรรมดา แต่ใช้เรื่องของการออกแบบพฤติกรรมผู้ใช้ (User Experience) มาเกี่ยวข้องกันก็สามารถนำมาใส่ได้ เช่น จัดกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัย มีการประชุมกัน จำลองตัวอย่างกลุ่มน้อง ๆ ปรึกษาเรื่องความต้องการต่าง ๆ

หากทำแบบนี้จะสามารถอธิบาย และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลงานมากยิ่งขึ้นได้

4. สมเหตุ สมผล กับความเป็นจริง (R : Relevant)

ผลงานของเราสามารถบอกเรื่องของค่าตอบแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน หรือทำงานจริง ๆ ทางเราอยากให้ลองวางแผนให้สอดคล้องกับค่าแรงในตลาด กับตำแหน่งที่จะสมัครด้วย

อีกทั้งอยากให้มองเรื่องของบริษัทด้วย บางครั้งต้องสำรวจดี ๆ ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน(User Experience) มากหรือน้อยแค่ไหน ? พอเข้าไปทำงานจริงแล้ว จะได้สนุกกับสิ่งที่ตัวเองเลือกไป ไม่ใช่ทำไปแล้ว ไม่ได้ทำตามที่ตัวเองคิด

เอาเรื่องของสิ่งที่อยากทำตั้งไว้ ค่าแรงให้คิดตามผลงาน ประสบการณ์ ไม่ต้องกลัวถ้าเราเจ่งจริง ใครก็อยากได้ (เชื่อได้เลยครับ อาชีพนี้หาคนที่สุดจริงยาก แต่ถ้าสุดจริง คนจะตามหาเอง)

5. มีระยะเวลาชัดเจน แน่นอน (T : Time)

เรื่องของเวลาก็สำคัญ ให้คำนึงถึง 2 เรื่อง คือ ผลงานที่เราทำ กับเรื่องของการหาบริษัทที่ฝึกงาน หรือสมัครงาน

ผลงานที่จะเตรียม ควรเป็นผลงานที่ไม่นานเกินไป เช่น ออกแบบเว็บไซต์ aaa.com เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แบบนี้ได้อยู่ แต่ถ้าเป็นผลงานที่ทำตั้งแต่ อนุบาล อย่าเอามาใส่เด็ดขาด ขอร้องเลย

ส่วนการหาบริษัทที่ฝึกงาน หรือสมัครงาน ขอให้ตั้งเวลาไว้ให้ชัดเจน เช่น 2 เดือนนี้จะต้องมีบริษัทติดต่อมา 10 ที เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ต้องมีแผนสำรองด้วยนะ ว่าถ้าไม่เป็นตามที่ตั้งไว้ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ? (เชื่อได้เลยว่าบ่อยครั้งมันไม่เป็นตามที่เราตั้งไว้ แต่ขอให้เชื่อว่าแค่ลงมือทำมันก็สำเร็จไปนิดหน่อยแล้ว)

ขั้นตอนที่ 2 : ลงมือออกแบบแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) (Do)

ในการออกแบบแฟ้มสะสมผลงานนั้น เชื่อได้เลยว่าทุกคนจะทำโดยคิดว่าอยากจะออกแบบตามที่ตัวเองอยากให้เป็น

คำแนะนำ คือ ให้ออกแบบให้ดูง่าย สบายตา ไว้ก่อน เน้นอธิบายผลงานที่เราทำ กระบวนการ จะแสดงว่าเรารู้จริงในกระบวนการนั้น ๆ

สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปทั้งหมด ฉันมีสไตล์ สีสันต้องฉูดฉาด บอกได้เลย พังงงงงงงง (ลองคิดดูว่าเราเป็นคนสัมภาษณ์งานจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเจอ 5555555)

ขั้นตอนที่ 3 : ตรวจสอบผลงาน (Portfolio) ทุกครั้งทั้งก่อน และหลังสัมภาษณ์ (Check)

ในการจะไปสัมภาษณ์ หรือสัมภาษณ์เสร็จแต่ละครั้งให้มานั่งเช็คเสมอว่าในแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ของเรายังขาดตกบ่งพร่องอะไรบ้าง ?

บางทีคำผิด รูปแบบตัวเลขผิด หรือรูปภาพผิด

ขอให้เช็ค และปรับปรุงเสมอ เพราะมันจะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อผลงานที่เราทำไป ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่แฟ้มสะสมผลงาน แต่มันจะแสดงให้เห็นถึงความละเอียด รอบคอบได้ (อย่าคิดว่า ไม่เป็นไร นิดเดียว เค้าไม่เห็นหรอก 55)

ขั้นตอนที่ 4 : ปรับปรุงผลงาน (Portfolio) และควรมีหลาย ๆ เล่ม เพราะแต่ละบริษัททำธุรกิจไม่เหมือนกัน (Act)

ในการเตรียมผลงาน (Portfolio) สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือปรับปรุงอยู่สม่ำเสมอ และควรเตรียมพร้อมสำหรับหลากหลายสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องนำไปใช้ในเหตุการณ์ไหนบ้าง

อย่างน้อยขอให้มีสัก 2 เล่ม สำหรับคนที่ทำงานสายนี้อยู่แล้ว

  • เล่มที่ 1 ผลงานสำหรับเอาไปเสนองาน หาลูกค้า รับงานเอง
  • เล่มที่ 2 ผลงานสำหรับนำไปสมัครงานใหม่ เลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ

สุดท้ายขอให้ดูเป้าหมายที่เราตั้งไว้ด้วยนะ ว่าตอนที่เราทำไปแล้วมันเป็นไปตามที่เราวางไว้ไหม ? ถ้าไม่เป็นก็พยายามปรับปรุงให้เป็นไปตามที่เราวางไว้

สุดท้ายนี้ เชื่อได้เลยว่า การจะเตรียมผลงานที่ดีที่สุด เพื่อเอาไปใช้ อาจจะต้องใช้เวลาลองผิด ลองถูกหลาย ๆ ครั้ง แต่มันจะทำให้เรามีประสบการณ์ และความรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเตรียมผลงาน หรือสัมภาษณ์งาน

หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนนะครับ สวัสดีครับ

--

--

Krit Chainoi
UPSKILL UX

Senior UX Designer & Managing Director, Upskill UX