Interaction Design (การออกแบบปฏิสัมพันธ์) คืออะไร?

Joyy Suparat
UPSKILL UX
Published in
3 min readApr 12, 2022
Interaction Design (การออกแบบปฏิสัมพันธ์) คืออะไร?

Interaction Design คืออะไร?

Interaction Design (IxD)การออกแบบปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผลิตภัณฑ์หรือบริการกับผู้ใช้งาน โดยนักออกแบบจะต้องศึกษาผู้ใช้ในเรื่องของความต้องการ ข้อจำกัด และบริบทของการใช้งานอย่างละเอียด เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ซึ่ง Interaction Design เป็นส่วนหนึ่งของ UX Design ในเรื่องของการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การใช้งาน ดังนั้นในการออกแบบเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เกิด UX ที่ดีนั้น Interaction Design จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้าง UX ที่ดีต่อผู้ใช้ได้นั่นเอง

ภาพประกอบจากบทความ Interaction Design | https://bit.ly/3uvHxkw

องค์ประกอบของ Interaction Design

สำหรับ UX Designer “Interaction Design” จะประกอบไปด้วย 5 มิติ ดังนี้

👉 1D ข้อความ (Text) : ให้ข้อมูลกับผู้ใช้

👉 2D การแสดงภาพ (Visual Representation) : องค์ประกอบกราฟิก เช่น รูปภาพ, Font, หรือไอคอนต่างๆ

👉 3D วัตถุ/การใช้งานทางกายภาพ (Physicals Object/Space) : สื่อหรืออุปกรณ์ที่ผู้ใช้โต้ตอบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ เช่น ใช้งาน Laptop ด้วยเม้าส์ หรือใช้งาน Smartphone ด้วยนิ้วมือ

👉 4D เวลา (Time) : สื่อที่เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาต่างๆ เช่น แอนิเมชั่น, วิดีโอ หรือเสียง

👉 5D พฤติกรรม (Behavior) : วิธีการตอบสนองของผลิตภัณฑ์หรือบริการกับผู้ใช้ คือการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการนั่นเอง

หลักการของ Interaction Design

Nick Babich ได้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ XD.Adobe.com เกี่ยวกับหลักการของ Interaction Design ว่าโดยทั่วไปแล้ว จะครอบคลุมในเรื่องของการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นในประเด็นต่างๆ ดังนี้

👉 ออกแบบโดยเป้าหมาย (Goal-Driven Design)

เป็นรูปแบบของการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้ผู้ใช้ เน้นตอบสนองความต้องการของบุคคลที่จะใช้งานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการออกแบบนั่นเอง

👉 ใช้งานได้ดี (Good Usability)

การใช้งานได้ (Usability) เป็นการตอบคำถามที่ว่า “ผู้ใช้สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่?” ดังนั้นการใช้งานผลิตภัณฑ์ได้ดี จึงเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับ Interaction Design โดยให้คำนึงถึง 5 ประเด็นต่อไปนี้

  • ความสามารถในการเรียนรู้ (Learnability) — ผู้ใช้สามารถเรียนรู้การใช้งาน Interface ได้ง่ายแค่ไหน?
  • ประสิทธิภาพ (Efficiency) — ผู้ใช้ใช้เวลากับการใช้งานผลิตภัณฑ์เพื่อทำงานต่างๆ เท่าไหร่?
  • อัตราการผิดพลาด (Error Rate) — ในขณะที่ใช้งาน ผู้ใช้มีการใช้งานผิดพลาดกี่ครั้ง?
  • การแก้ไข/กู้คืนข้อผิดพลาด (Error-Recovery) — ข้อผิดพลาดเหล่านั้นสามารถแก้ไขหรือกู้คืนได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วหรือไม่?
  • ความพึงพอใจโดยรวม (Overall Satisfaction) — ผู้ใช้มีความสุขกับการใช้งานอย่างไร?

👉 การยศาสตร์ (Ergonomics)

ในการออกแบบ Interaction นักออกแบบจะใช้หลักการทางสรีรวิทยา เพื่อลดความผิดพลาดของมนุษย์ในขณะที่กำลังใช้งาน โดยใช้แบบจำลองของ Fitts ในการวางตำแหน่งของส่วนประกอบต่างๆ ของ Interface เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกนั่นเอง

👉 การตอบสนองทางอารมณ์เชิงบวก (Positive Emotional Responses)

นักออกแบบต้องสร้างงานออกแบบที่ตอบสนองอารมณ์เชิงบวกของผู้ใช้ องค์ประกอบต่างๆ จะต้องช่วยกระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์ของผู้ใช้ เช่น การเลือกใช้สี, ฟ้อนต์, หรือแอนิเมชั่นประกอบ

👉 ออกแบบเพื่อผู้คน (Design for People)

อย่าลืมว่าเราไม่ได้ออกแบบเพื่อตัวเอง ดังนั้นในการเริ่มต้นออกแบบใดๆ ก็ตาม ต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้งานของเราเสมอ ว่าพวกเขาเป็นคนกลุ่มไหน มีพฤติกรรมอย่างไร และความคาดหวังต่อผลิตภัณฑ์ในการที่จะช่วยพวกเขาเหล่านั้นแก้ไขปัญหาคืออะไร? เพื่อที่จะทำให้เราออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ดีนั่นเอง

แนวทางในการออกแบบ Interactions

เว็บไซต์ Usability.gov ได้นำเสนอคำถามเหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบโต้ตอบกับผู้ใช้ ดังนี้

  • What commands can a user give to interact with the interface? — ผู้ใช้สามารถใช้คำสั่งใดในการโต้ตอบกับ Interface?
  • What about the appearance (color, shape, size, etc.) gives the user a clue about how it may function? — รูปแบบของ Interface ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจการทำงานได้อย่างไร?
  • What information do you provide to let a user know what will happen before they perform an action? — เราให้ข้อมูลอะไรกับผู้ใช้บ้างก่อนที่จะมีการดำเนินการ?
  • Are there constraints put in place to help prevent errors? — มีการกำหนดข้อจำกัดเพื่อช่วยป้องกันข้อผิดพลาดหรือไม่?
  • Do error messages provide a way for the user to correct the problem or explain why the error occurred? — มีข้อความแสดงที่ข้อผิดพลาด หรือมีวิธีให้ผู้ใช้แก้ไขปัญหาหรืออธิบายเหตุผลของข้อผิดพลาดหรือไม่?
  • What feedback does a user get once an action is performed? — ผู้ใช้จะได้รับ Feedback อะไรบ้างเมื่อดำเนินการ?
  • How long between an action and a product’s response time? — ใช้เวลานานแค่ไหนในการโต้ตอบและดำเนินการ?
  • Are the interface elements a reasonable size to interact with? — ส่วนประกอบต่างๆ ของ Interface มีขนาดที่เหมาะสมหรือไม่?
  • Are familiar formats used? — มีการใช้รูปแบบที่คุ้นเคยหรือไม่?

สรุปสั้นๆ ว่า “Interaction Design” เป็นเหมือนการออกแบบบทสนทนา เพื่อสื่อสารและโต้ตอบระหว่างผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์กับผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์เรานั้นให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายสำคัญใน Interaction Design ก็คือการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้และตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด นำไปสู่ User Experience ที่ดีนั่นเอง

รวมบทความอ้างอิง

👉 Interaction Design (https://bit.ly/3uvHxkw)

👉 What is Interaction Design & How Does it Compare to UX? (https://adobe.ly/3E2rFsV)

--

--