Laws of UX 101: วิทยาศาสตร์กับกฎเหล็กของ UX design

Pronpitcha Sriburee
UPSKILL UX
Published in
4 min readNov 17, 2022

ใคร ๆ ก็รู้ว่าเซอร์ไอแซก นิวตันคือผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ภายหลังเราเรียกกฎ 3 ข้อที่เขาคิดว่ากฎของนิวตัน (Newton’s laws) ที่ทำให้มนุษย์และเด็กฟิสิกส์ทั่วโลกปวดหัวกันอีกในหลายร้อยปีให้หลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฏง่าย ๆ 3 ข้อนี้ช่วยตอบคำถามและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของเราไปได้เยอะเลย

ทำไมเราพูดถึงกฎนี้น่ะเหรอ เพราะเราจะบอกว่าการออกแบบ User Experience มีหลักการทำงานไม่ต่างจากหลักวิทยาศาสตร์เลยน่ะสิ

การออกแบบ User Experience หรือ UX คือการออกแบบประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด และต้องช่วยตอบโจทย์ความต้องการกับปัญหาของผู้ใช้ได้

คนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะไม่เห็นภาพว่ามันเกี่ยวข้องกับกฎฟิสิกส์ที่เรากล่าวไว้ข้างต้นยังไง แน่นอนว่าในการทำ UX ก็มีกฏเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรรู้ไว้ก่อนจะเริ่มออกแบบ ที่เราสรุปมาให้ทั้งหมด 6 ข้อ จะมีอะไรบ้างเรามาดูกันเลย

กฏข้อที่ 1: Research is a must

จุดร่วมของนักวิทยาศาตร์กับ UX Designer คือการเป็นคนรู้จักการตั้งคำถาม (Problem) และนำมาซึ่งวิธีแก้ (Solution) เพราะงานของเราคือการช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งอาจจะเริ่มจากทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า ‘ทำไม’ ‘ทำอะไร’ และ ‘ทำให้ใคร’ หรือที่เรียกกันว่าการทำ User Research นั่นแหละ เป็นด่านแรกของการออกแบบ UX เลย ถ้าไม่ทำการบ้านตรงนี้ ขั้นตอนที่เหลืออาจจะทำเราหลงทางก็ได้

ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนที่คิดทฤษฎีได้โดยไม่ทำการค้นคว้ามาก่อน จริงไหม

ในสายงานของ UX ก็จะมีคนที่ทำหน้าที่เป็น UX Reseacher คอยเก็บข้อมูลตรงนี้ เช่น กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร มีพฤติกรรมการใช้โปรดักต์แบบไหน ความต้องการและปัญหาของเขาคืออะไร และเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเขาเหล่านั้นให้ได้ความประทับใจกลับไป

By UX Indonesia on Unsplash

กฏข้อที่ 2: เรา ≠ ผู้ใช้

ในการออกแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสักชิ้น เราอาจคิดว่านี่คือดีไซน์ที่เจ๋งและทันสมัยที่สุดแล้ว แต่มันใช่สิ่งที่ลูกค้าหรือผู้ใช้ของเราต้องการจริงหรือเปล่า? สมการข้อนี้แก้ง่าย ๆ โดยท่องสูตร “อย่า-คิด-แทน” ไว้ในใจ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราออกแบบมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใช้มองหา และไม่ได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น

FB: เฮ้ยนี่มันฟุตบาทไทยแลนด์

ตัวอย่างเช่น ทางเท้าสำหรับคนไทย ที่ไม่ได้มีไว้ให้คนไทย (และใคร) เดิน

การทำ Research จะช่วยได้มาก แต่มันก็เป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจผู้ใช้ในภาพรวม ดังนั้น คิดถึงในมุมของผู้ใช้ให้เยอะ ๆ แต่อย่าคิดแทนผู้ใช้เด็ดขาดว่ามันดีแล้ว

https://xd.adobe.com/ideas/career-tips/15-rules-every-ux-designer-know/

การทดสอบช่วยพิสูจน์สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้ ซึ่งจะเก็บข้อมูลได้ตอนทำ Research และการทำ Usability Test ที่เดี๋ยวจะกล่าวถึงต่อไป

กฎข้อที่ 3: การใช้งาน > ความสวยงาม

รู้ไหมว่าเราเรียกการออกแบบที่ใช้ไม่ได้จริงว่า Bad UX และ Bad UX = Bad Experience ต่อให้จะหน้าตาสวยงามขนาดไหน แต่ถ้าเอามาใช้ไม่ได้จริง…ก็ตุ้บ

Bad UX คือการออกแบบที่มีช่องโหว่ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้จริง ๆ

เช่นเดียวกับกฎ Action = Reaction ของนิวตัน เมื่อการออกแบบมันใช้ไม่ได้จริง ก็จะไม่มีใครอยากใช้ การออกแบบ UX ที่ดีจึงควรคิดถึงการนำมาใช้งานจริงก่อนความสวยงาม โดยสำคัญคือจะต้องมีประโยชน์ ใช้งานง่าย และมีความเหมาะสมน่าใช้ เป็นต้น

7 factors of UX

ปัจจัยของ UX ที่ดีจะประกอบด้วย มีประโยชน์ (Useful) / ใช้งานง่าย (Usable) / ค้นพบได้ (Findable) / มีคุณค่า (Valuable) / เป็นที่พอใจ (Desirable) / Credible (น่าเชื่อถือ) และ รองรับการเข้าถึงสำหรับผู้มีความจำกัดทางด้านร่างกายเช่น ผู้พิการ (Accessible) ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ 7 factors of UX โดย Peter Morville

กฎข้อที่ 4: อย่าทำให้มันยาก

ถ้าวิทยาศาสตร์มันยากเกินไป ใคร ๆ ก็ไม่อยากเรียน ผู้ใช้ของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น

หนึ่งเรื่องที่คุณควรรู้ คือผู้ใช้ส่วนใหญ่เขาไม่มานั่งเปิดคู่มือหรือเสียเวลาศึกษาเกิน 10 นาทีหรอกว่าของแบบนี้ ๆ เว็บไซต์นี้ ๆ ใช้งานอย่างไร เขาจะอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลัก ประสบการณ์ของผู้ใช้เลยเป็นเรื่องสำคัญมาก

By Shravya Simha

ตัวอย่างเช่น การออกแบบปุ่มกดลิฟต์ ที่ดูจากภาพแล้ว พอจะบอกได้ไหมว่าอันไหนใช้ง่ายไม่ยุ่งยากที่สุด?

เวลาที่เข้าใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นใด ๆ ที่ใช้งานยาก หรือทำให้ผู้ใช้ต้องเสียเวลาในการเรียนรู้จนเกิดความรู้สึก (Experience) ติดลบ นั่นก็ถือเป็น Bad UX เหมือนกัน อาจจะแย่ถึงขั้นที่ผู้ใช้ไม่อยากกลับมาใช้บริการสินค้าของเราอีก เราจึงควรออกแบบอะไรก็ตามให้ไม่ซับซ้อน หรือ keep it simple เข้าไว้

By Weblium

ตัวอย่างของเว็บไซต์ที่ใช้งานยาก ทั้งรูปภาพ ตัวอักษร การใช้สีและการจัดวางชวนสับสน อาจจะมีทุกอย่างที่ผู้ใช้ต้องการครบถ้วน แต่ไม่น่าใช้เอาเสียเลย

กฎข้อที่ 5: ทดสอบการใช้งาน

วิทยาศาสตร์คือการทดลองฉันใด Usability ก็สำคัญฉันนั้น

By Vladislav Gavriluk

หลังจากทำการ Reseach และออกแบบเพื่อผู้ใช้แล้ว จะรู้ได้อย่างไรล่ะว่ามันดีหรือยัง? สมมติฐานย่อมควรได้รับการพิสูจน์ ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นแค่ความคิดของเราคนเดียว เมื่อเราออกแบบชิ้นงานเสร็จ ก็ควรจะนำไปให้ผู้ใช้ลองทดสอบด้วย ตรงนี้เรียกว่า Usability test หรือการทดสอบการใช้งาน และผลที่ออกมาเนี่ยแหละจะช่วยชี้ว่าดีไซน์ของเราช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้หรือยัง มีจุดที่ต้องแก้ไขหรือไม่ ใช้ได้แน่นะวิ?

By UX Indonesia on Unsplash

โดยการทำ Usability test ก็มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอามาใช้กับโปรเจ็กต์ของเราอย่างไร บางทีก็ต้อง test กับกลุ่มทดลองหลายคนสักหน่อย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นเอกฉันท์ ก่อนจะนำไปปรับปรุงแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการที่ปล่อยสู่ตลาดได้

กฎข้อที่ 6 : ดีไซน์แบบหมุนไปตามโลก

วัตถุจะหยุดนิ่งเมื่อไม่มีแรงมากระทำ แต่โลกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น หลักการออกแบบก็เช่นกัน

ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ประจำ จะเห็นได้ว่าเทรนด์ดีไซน์ไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งองค์กรดัง ๆ ก็จะเริ่ม Rebrand ตัวเองเพื่อภาพลักษณ์ที่ทันสมัย และตามกระแสไปกับการใช้งานที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้

By EVO OF

หน้าตาของเว็บไซต์ Google ปี 1998 และ 2020

By Chloe R

หน้าตาของแอปพลิเคชัน Instragram ปี 2011 และ 2020

จะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรมีการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ และปรับปรุงดีไซน์ให้เข้ากับการใช้งานของผู้ใช้ตลอด เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกอยากใช้งานต่อ เมื่อถึงเวลาเราก็จะต้อง designs it better โดยต้องไม่ลืมความสะดวกและพึงพอใจของผู้ใช้ด้วยนะ

ดังนั้น จงเป็นวัตถุที่เคลื่อนที่ แม้ไม่มีแรงมากระทำ อันนี้นิวตันไม่ได้กล่าว

สรุป 6 กฎเหล็กของ UX ที่ควรรู้ มีดังนี้

  1. ทำความเข้าใจผู้ใช้ รู้ปัญหา คิดวิธีแก้ และให้คำอธิบายได้
  2. ออกแบบเพื่อผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ใช่ออกแบบเพื่อตัวเอง
  3. การใช้งานสำคัญกว่าความสวยงาม
  4. ออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และน่าใช้
  5. ทดสอบการใช้งานจริง เพื่อนำไปแก้ไขจุดที่บกพร่องก่อนปล่อยสู่ตลาด
  6. ปรับปรุงการออกแบบอยู่เสมอ เพื่อความทันสมัย และประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้

เห็นไหมว่า UX Design ก็ไม่ต่างกับหลักวิทยาศาสตร์ที่ต้องพึ่งเหตุและผลเลย มีทั้งการคิดวิเคราะห์แถมยังต้องมีการทดลองด้วย บางทีก็อาจจะต้องพึ่งศาสตร์อื่น ๆ อย่างเช่นศิลปะและจิตวิทยา เพื่อออกแบบให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการออกแบบ UX จริง ๆ อาจไม่ได้มีหลักการหรือขั้นตอนตายตัว แต่คุณสามารถเรียนรู้กฎพวกนี้แล้วนำไปปรับใช้กับการทำงานของตัวเองได้

สุดท้ายนี้ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์หรือสร้างความบันเทิงให้กับคนที่กำลังศึกษา UX แบบเราได้บ้าง ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจและขอบคุณ UPSKILL UX สำหรับโอกาสดี ๆ ในการเขียนบทความครั้งนี้ด้วยค่ะ :)

อ้างอิง:

--

--

Pronpitcha Sriburee
UPSKILL UX
0 Followers
Writer for

SIET MU / Medical Art student / UX/UI learner