UX Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน UX) คืออะไร?

Joyy Suparat
UPSKILL UX
Published in
3 min readJan 27, 2022
UX Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน UX) คืออะไร?

UX Portfolio คืออะไร?

UX Portfolio — แฟ้มสะสมผลงาน UX คือ ผลงานการออกแบบ UX ของเรา ในรูปแบบของสื่อออนไลน์ หรือไฟล์ออฟไลน์ ที่มีเพื่อสะสมผลงานการออกแบบ UX ของเรา รวมทั้งทักษะในการจัดการกระบวนการออกแบบต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะใช้สำหรับประกอบการสมัครงาน หรือจัดแสดงบนเว็บไซต์เพื่อให้มีคนหรือบริษัทต่างๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อสัมภาษณ์งานหรือจ้างทำงานใดๆ

ภาพประกอบจากบทความ UX design portfolio: examples and websites | https://bit.ly/32A4bNk

Portfolio ที่ดี ควรจะมีข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับตัวคุณและทักษะต่างๆ ที่มีอย่างครบถ้วน เพื่อให้คนที่สนใจในตัวคุณได้ตัดสินใจว่าเราเหมาะสมที่จะทำงานกับบริษัทนั้นๆ หรือบุคคลนั้นๆ หรือไม่ ที่สำคัญ…ผลงานจะเป็นสิ่งที่พวกเขาจะพิจารณาเป็นอันดับแรก ดังนั้นยิ่งผลงานการออกแบบ UX ของเราดีมากเท่าไหร่…โอกาสในการได้งานก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

3 ประเด็นสำคัญที่ควรอยู่ใน UX Portfolio

  • Who are you? — คุณเป็นใคร? อย่าลืมให้คนอื่นๆ ที่เข้ามาดู UX Portfolio ของเรารู้จักเราให้มากขึ้น รวมทั้งนำเสนอทัศนคติที่ดีและแรงผลักดันต่างๆ เพื่อที่จะเป็น UX Designer ที่ดี
  • What you can do? — คุณสามารถทำอะไรได้บ้าง? บอกความสามารถของเราว่าสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของตำแหน่งด้วย
  • How do you think and work? — ทัศนคติต่อการทำงานเป็นอย่างไร? บอกให้คนอื่นๆ รู้ว่าเรามีวิธีการจัดการงานต่างๆ อย่างไร รวมทั้งวิธีการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ของเราเป็นอย่างไร
ภาพประกอบจากบทความ UX design portfolio: examples and websites | https://bit.ly/32A4bNk

รูปแบบของ UX Portfolio

รูปแบบของ UX Portfolio ที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 แบบ ได้แก่ แบบออนไลน์ และเอกสาร

  • แบบออนไลน์ (Online Portfolio)

เราสามารถสร้างรูปแบบ UX Portfolio แบบออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยการ Upload ผลงานและข้อมูลต่างๆ ของเราเข้าไปในเว็บไซต์ของเราหรือ Platform ที่ให้บริการได้ทันที

  • เอกสาร (Static)

เราสามารถทำให้ UX Portfolio ของเราอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ ทั้งเป็นไฟล์และบนกระดาษจริง เพื่อนำไปประกอบการสัมภาษณ์ในกรณีที่บางบริษัทต้องการ ซึ่งถ้าหากเป็นไฟล์ ควรจะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ PDF เพื่อป้องกันไม่ให้ตำแหน่งต่างๆ ที่เราออกแบบไว้ผิดเพี้ยนไปและเพื่อให้ง่ายต่อการ Print ออกมาให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารจริงนั่นเอง

ภาพประกอบจากบทความ What are UX Portfolio? | https://bit.ly/3o3ynIi

วิธีการสร้าง UX Portfolio

  1. เริ่มต้นด้วยการสร้างความประทับใจด้วยคำแนะนำตัวเองสั้นๆ
  2. เลือก Case Studies ที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับตำแหน่งที่คุณต้องการมากที่สุด 2–3 Cases
  3. ตรวจสอบว่าผลงานของเราสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ เช่น ความถูกต้องของลิงก์หรือไฟล์เอกสาร
  4. เพิ่มข้อมูลสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประวัติการทำงานเดิม ประวัติศึกษา ทักษะด้านอื่นๆ
  5. อย่าลืมข้อมูลการติดต่อของเรา
  6. ตกแต่งให้สวยงามและเหมาะสม
ภาพประกอบจากบทความ 35 Impressive UX Portfolio Examples and a Guide for Creating Yours | https://bit.ly/3u4mW6Q

ประโยชน์ของ UX Portfolio

  • UX Portfolio ช่วยให้เราได้งานตามที่เราต้องการและเพิ่มโอกาสที่ดีในการถูกเรียกสัมภาษณ์งานในตำแหน่งต่างๆ
  • ช่วยให้คนอื่นๆ เห็นผลงานที่เราออกแบบ
  • เป็นที่สะสมผลงานการออกแบบในแต่ละตำแหน่งของเรา และเพื่อให้เห็นว่ามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง
ภาพประกอบจากบทความ What are UX Portfolio? | https://bit.ly/3o3ynIi

15 ข้อผิดพลาดที่มักพบใน UX Portfolio

  1. ลืมว่าผู้ใช้เป็นใคร! — อย่าลืมว่าผู้ใช้สำหรับ UX Portfolio ของเรานั้นเป็นใคร มีเป้าหมายเพื่ออะไร และอะไรเป็นสิ่งที่พวกเขาจะตัดสินใจเลือกเรา
  2. แสดงผลงานมากเกินไป — ในการพิจารณาผลงาน อย่าลืมว่าบริษัทต่างๆ ไม่ได้พิจารณาผลงานของเราแค่คนเดียว ยังมีอีกหลายๆ คนที่ส่งผลงานเข้าร่วมเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกผลงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เราต้องการมากที่สุด เพื่อให้คนที่เข้ามาดูผลงานของเราเห็นงานที่ดีที่สุดและเกี่ยวข้องมากที่สุด โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาตัวเลือกที่เยอะเกินไป
  3. แสดงผลงานน้อยเกินไป — ในข้อนี้จะตรงกันข้ามกับข้อที่แล้ว หากเราเป็นผู้ที่กำลังเริ่มต้นจะเข้าสู่ UX Industry ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่หรือคนที่ย้ายสายงานมา แน่นอนว่าผลงานและประสบการณ์ทำงานก็จะยังไม่มากพอ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการทำ Case Study นำเสนอว่าเรามีกระบวนออกแบบอย่างไร วิธีการทำงาน และแนวคิดในการพัฒนาเป็นอย่างไร เพื่อให้ UX Portfolio ของเรานั้นสมบูรณ์มากที่สุด
  4. บรรยายมากเกินไป — สำหรับตำแหน่ง Junior UX Designer หากมีการบรรยายที่มากเกินไปใน UX Portfolio ของเรา จะทำให้ผู้ที่เข้ามาดูหรือพิจารณานั้นรู้สึกว่าเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็น ดังนั้นควรเน้นไปที่กระบวนการออกแบบ เพื่อให้พวกเขาเห็นถึงแนวคิดและวิธีการทำงานของเรา
  5. บรรยายน้อยเกินไป — การบรรยายที่น้อยเกินไปอาจส่งผลให้การรับรู้และเข้าใจของบุคคลเป้าหมายที่เข้ามาดูผลงานของเรานั้นบกพร่องไป เพื่อให้ UX Portfolio ของเราสมบูรณ์ ควรจะมีข้อมูลอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ ของเราด้วย เช่น รูปภาพ, Wireframe, เอกสารการทำ Research เป็นต้น และควรจะมีลำดับของเนื้อหาที่เหมาะสมด้วย
  6. ขาดความชัดเจนในตำแหน่งของ Project — ในแต่ละ Project นั้นไม่ใช่การทำงานคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันทำงานเป็นทีมตามตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ดังนั้นใน UX Portfolio ก็ควรจะมีข้อมูลในส่วนนี้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีทัศนคติอย่างไรเมื่อต้องทำหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในโครงการ นำเสนอการสื่อสารและวิธีการทำงานร่วมกับทีม
  7. ใช้รูปแบบทั่วไป —ทำไมการใช้รูปแบบทั่วไปถึงเป็นข้อผิดพลาด? อย่าลืมว่าเราไม่ได้ใช้รูปแบบเหล่านั้นแค่คนเดียว และเพื่อให้ UX Portfolio ของเราแตกต่างและน่าสนใจ เราอาจจะต้องลงทุนเล็กน้อยเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและไม่ให้เกิดการใช้รูปแบบเดียวกันซ้ำๆ เช่น template Mockup เพื่อการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ดีขึ้นและไม่ซ้ำกับคนอื่นๆ
  8. ใช้รูปภาพที่เล็กเกินไป — หากเราใช้ขนาดรูปภาพที่ไม่เหมาะสม UX Portfolio ของเราอาจจะไม่สมบูรณ์ เนื่องจากรายละเอียดที่เป็นรูปภาพนั้นมีขนาดที่เล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นขนาดของรูปภาพประกอบก็สำคัญเช่นกัน ควรกำหนดให้มีขนาดที่เหมาะสม
  9. ความละเอียดของรูปภาพ — นอกจากขนาดแล้ว คุณภาพและความละเอียดก็สำคัญเช่นกัน เราควรเลือกใช้ความละเอียดของรูปภาพให้เหมาะสมตามข้อกำหนดของเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อไม่ให้คุณภาพของ UX Portfolio ของเรามากหรือน้อยจนเกินไปตามข้อกำหนดของ Platform นั้นๆ
  10. การพิมพ์ผิด — การใช้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญในการนำเสนองาน ดังนั้นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้อาจเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ก็เป็นได้ ควรตรวจสอบคำผิดให้ดีก่อนที่จะนำเสนอ UX Portfolio
  11. ข้อความแนะนำที่ซ้ำซาก — หลีกเลี่ยงการใช้คำโปรยหรือประโยคแนะนำตัวที่ซ้ำซาก ควรใช้เป็นประโยคทั่วไปที่เป็นตัวเรา นำเสนอความเป็นตัวเราออกมาให้ได้มากที่สุด ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับ UX Portfolio ของเรา
  12. แบบอักษรทั่วไป — การที่เราใช้แบบอักษรทั่วไปอาจเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งได้ เนื่องจากมันเป็นรูปแบบที่เห็นได้บ่อย จนทำให้น่าเบื่อ ดังนั้นควรใช้รูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อไม่ให้ UX Portfolio ของเรามีรูปแบบซ้ำซาก
  13. รูปแบบการนำเสนอ — ผู้ที่เข้ามาชม UX Portfolio ของเราในบางครั้งอาจจะไม่ได้เปิดเข้าชมจากหน้า desktop เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเราควรจะให้มันนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น หน้า Responsive ที่รองรับการเปิดใน Smartphone
  14. Template ที่ซับซ้อน — ความซับซ้อนมักจะเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับการนำเสนอ ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้รูปแบบ Template ที่เหมาะสมกับงานของเรา และต้องไม่ซับซ้อนจนเกินไป
  15. ไม่มีการกระตุ้น — เป้าหมายของการสร้าง UX Portfolio ของเราคืออะไร? อย่าลืมว่าเราต้องการให้ UX Portfolio นี้ช่วยนำเสนอให้กับใคร เมื่อได้รับการพิจารณาแล้วนั้น อย่าลืมให้ข้อมูลการติดต่อกับคนที่เข้ามาชมด้วย เช่น ลิงก์ผลงาน, E-mail, เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

เว็บไซต์แนะนำสำหรับทำ UX Portfolio

  • UXfolio
  • Dribbble
  • Behance
  • Pixpa
  • PortfolioBox

--

--