Thailand 4.0 กับ ความท้าทายที่ไม่ควรมองข้าม

Boom Phienphantawanich
urbes
Published in
1 min readNov 19, 2016

Thailand 4.0 คืออะไร ?

Thailand 4.0 คือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการจะพาประเทศไทยให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกับดักความเหลื่อมล้ำทางรายได้ พร้อมกับปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงประชาคมโลก โดยขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไล “ประชารัฐ” และอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโลยี และการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Thailand 4.0 จะเป็นโมเดลสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศโลกที่หนึ่ง”

หรือหากให้พูดง่ายๆก็ คือ เราจะเปลี่ยนจาก ทำมากแต่ได้น้อย เป็น ทำน้อยให้ได้มาก

แนวคิด Thailand 4.0 จะเป็นการจุดประเด็นด้านการกระจายอำนาจ และสร้างความสามารถในการบริหารจัดการเมืองของแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างอำนาจให้กับประชาชน และชุมชนในการร่วมกำหนดทิศทาง การแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในการบริหารจัดการการเมือง เช่น การแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย หรือปัญหาที่พบเจอในแต่ละท้องถิ่น ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น application บนมือถือ หรือเว็บไซต์ เช่น ช่องทางของชุมชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ทั้งนโยบายที่บังคับใช้แล้ว หรือนโยบายที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา หรือแม้แต่ช่วงรวบรวมไอเดียเพื่อออกนโยบาย หากรัฐบาลนำไปใช้ และพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนในแต่ละปี รวมถึงคาดการณ์ปีงบประมาณให้สอดคล้องกับความเสียหาย และความต้องการที่แจ้งเข้ามา ซึ่งจะช่วยทำให้ภาครัฐใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม กว่าที่เราจะก้าวไปถึงจุดที่สามารถพูดได้ว่า โมเดลนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะต้องเจอกับความท้าทายต่างๆ เช่น

1. การขาดความเข้าใจในปัญหาที่แท้จริงของรัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบาย

ขั้นตอนการออกนโยบายของประเทศไทยมีลักษณะเป็น Top-down ทำให้ภาครัฐไม่เข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายาม generalize ปัญหาเหล่านั้น ในขณะที่ปัญหาของแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ และมีความแตกต่าง ซึ่งต้องอาศัยการเก็บข้อมูลจากชุมชน และพิจารณาในลักษณะ bottom-up ด้วยเหตุนี้เอง นโยบายที่ออกมาจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

2. เสถียรภาพทางการเมือง และเศรษฐกิจ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยขาดเสถียรภาพเป็นอย่างมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ครบวาระ ทำให้นโยบายที่ออกมาในแต่ละรัฐบาลขาดความต่อเนื่อง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชุดรัฐบาล ส่งผลให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงที่สุด นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศ กำลังอยู่ในช่วงฝืดเคือง ส่งผลให้ความสนใจของประชาชนอยู่ที่ความอยู่รอดมากกว่าการพัฒนาให้ดีขึ้น หรือในกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจในนโยบายหรือการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนไม่ต่อเนื่อง จนประชาชนขาดความมุ่งมั่นในการพัฒนาในที่สุด

3. การขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน

เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนจำเป็นต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นๆ และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกับการอัพเดทเทคโนโลยี และการฝึกฝน การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ดี แต่การทุ่มงบประมาณไปกับเทคโนโลยีจำนวนมาก ที่จะไม่ได้รับการใช้อย่างเต็มที่นั้น ถือเป็นการผลาญภาษีของประชาชนโดยใช่เหตุ

การพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่กลุ่มคนไม่กี่คน หรือเมืองไม่กี่เมือง แต่ประชาชนทั้งประเทศจะต้องมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อให้การพัฒนานั้นกระจายไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ในระหว่างการพัฒนา ภาครัฐและประชาชนต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ประชาชนยังไม่เห็นเป้าหมาย หรือรับรู้ถึงความสำคัญของการก้าวข้ามครั้งนี้ ความเป็นไปได้ที่ Thailand 4.0 จะสำเร็จ ก็ดูจะเป็นไปได้ยาก

--

--