มารู้จัก Double Irish ที่แอปเปิ้ลใช้เลี่ยงภาษี 5 แสนล้านบาท

Thanapha Chantharaphaichit
vcharkarndotcom
Published in
2 min readJun 12, 2017

ล่าสุดหลายท่านคงได้ทราบข่าวว่าสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้ตัดสินให้เรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากบริษัท แอปเปิล (Apple Inc.) (เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยกันมากมาย) เป็นจำนวนเงินถึง 13,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท เนื่องจาก Apple ได้ใช้เทคนิคเลี่ยงภาษีที่เสียภาษีเพียง 0.005% ของกำไรเท่านั้น ฟังแล้วจะแปลกใจว่าทำได้อย่างไร ซึ่งเทคนิคนี้ Apple ไม่ได้ใช้คนเดียวนะครับ อีกสองบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล หรือ เฟซบุ๊ก ก็ใช้วิธีการนี้เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้ Apple กำลังอุทรหณ์ เพราะมิฉะนั้นแล้วผลประกอบการจะกระทบหนักทีเดียวครับ

การเลี่ยงภาษีแบบนี้ เรียกได้ว่ากระทบกับคำว่าจริยธรรมทางธุรกิจทีเดียว เพราะประชาชนคนทั่วไปในสหรัฐอเมริการเสียภาษีในอัตราสูงกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เสียอีก

สามบริษัทยักษ์ใหญ่จะเลี่ยงภาษีได้ ก็ต้องอาศัยการรู้เห็นเป็นใจกับรัฐบาลไอร์แลนด์ ที่เป็นต้นกำเนิดของเรื่องราวในวันนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ เนื่องจากนโยบายการคลังของสหภาพยุโรปคือไม่อยากให้ประเทศสมาชิกเป็นแหล่งเลี่ยงภาษี ซึ่งจะทำได้อย่างไรนั้น มันจะซับซ้อนเล็กน้อย แต่ขอไปทีละขั้นนะครับ

1. มารู้จักคำว่า Double Irish กันก่อน

กลยุทธ์นี้มีชือเล่นกันในหมู่บริษัทอเมริกันว่า Double Irish Strategy หรือ กลยุทธ์ไอริชแบบทวิ ซึ่งเป็นช่องว่างการเก็บภาษีธุรกิจในไอร์แลนด์ ที่ค่อนข้างหละหลวม และบวกกับช่องว่างภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดว่า บริษัทอเมริกันไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนกำไรที่เกิดจากบริษัทลูกที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเดาว่าโลจิกคือ บริษัทลูกในต่างประเทศคงจะเสียภาษีให้กับรัฐบาลที่ไปลงทุนและเกิดผลกำไรแล้ว

ที่มา: Double Irish Deception: How Google — Apple — Facebook Avoid Paying Taxes

คำถามต่อมา ทำไมต้องเป็นไอร์แลนด์ คำตอบคือ เพราะ ไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งสามารถทำธุรกรรมในประเทศสมาชิกได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีซ้ำซ้อนไปมา เดี๋ยวเราจะกลับมาทีหลังนะครับว่า Apple เค้าใช้ช่องว่างกติกานี้อย่างไร

2. Double Irish มีกลไกการทำงานอย่างไร

กลไกการทำงานของ Double Irish จะซับซ้อนเล็กน้อยครับ ลองมาดูแผนภาพข้างล่างนี้ (ขอบคุณ Double Irish Deception: How Google — Apple — Facebook Avoid Paying Taxes) สำหรับแผนภาพครับ

ทำไมถึงเรียกว่า Double Irish เพราะว่าการจะเลี่ยงภาษีแบบนี้ได้ ต้องใช้กลไกบริษัทสัญชาติไอร์แลนด์อย่างน้อยสองบริษัท และบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาในการดำเนินการครับ เพื่อไม่ให้งงนะครับ เราจะเริ่มจากการสมมติว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาชื่อว่า บริษัท A นะครับ โดยบริษัท A จะต้องให้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในอียู ให้กับบริษัทลูกที่ตัวเองตั้งมาและต้องเป็นบริษัทไอร์แลนด์เท่านั้น โดยบริษัทลูกสัญชาติไอร์แลนด์ สมมติว่าชื่อ บริษัท B จะต้องไปทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศที่ไม่มีภาษี เช่น เกาะเคย์แมน หรือ บาฮามัส เป็นต้น

จากนั้น จะต้องจัดตั้งบริษัทในไอร์แลนด์ ขึ้นอีกหนึ่งบริษัท สมมติว่าชื่อ บริษัท C นะครับ โดยบริษัท B จะเป็นผู้ให้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในอียู ให้กับบริษัท C แลกกับการที่บริษัท C ต้องจ่ายค่าสิทธิดังกล่าวให้กับบริษัท B ซึ่งบริษัท C จะมีโมเดลธุรกิจคือ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของบริษัท A ทั้งหมดในกลุ่มประเทศสมาชิกอียู แล้วหักค่าใช้จ่าย ซึ่งหนึ่งในค่าใช้จ่ายก้อนโตก็คือ ค่าสิทธิฯ ที่ต้องจ่ายให้กับ บริษัท B ที่เป็นก้อนมหาศาล ทำให้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเงินได้ที่ต้องนำไปประเมินภาษีนิดเดียว คือเทียบเท่ากับ 0.005% ของที่ควรจะเสียจากกำไร ซึ่งอัตราภาษีธุรกิจในไอร์แลนด์ก็ต่ำอยู่แล้ว คือแค่ 12.5% เจอแบบนี้เข้าไป เสียภาษีน้อยมากๆ ครับ

3. แล้ว Apple ทำอย่างไร

สิ่งที่ Apple ทำนั้น ก็จะล้อตามโมเดลในข้อสองนั่นเอง นั่นก็คือ Apple จัดตั้ง บริษัท Apple Sales International ที่เป็นสัญชาติไอร์แลนด์แต่จดทะเบียนที่แถบประเทศแหล่งเลี่ยงภาษีข้างต้น กับ บริษัทสัญชาติไอร์แลนด์อีกบริษัทชื่อ Apple Operation Europe ทีนี้วิธีการคือ สินค้าของ Apple ที่จัดจำหน่ายในประเทศสมาชิกอียูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไอโฟนที่ขายได้ที่อิตาลี MacBook ขายได้ที่ฝรั่งเศส จะเป็นการบันทึกรายได้ไปที่บริษัท Apple Operation Europe ทั้งหมด และ Apple Operation Europe ก็ต้องเสียค่าสิทธิในผลิตภัณฑ์ให้กับ Apple Sales International แต่ Apple Sales International ไม่ต้องเสียภาษีเพราะว่าจดทะเบียนในประเทศเลี่ยงภาษี และกฎหมายสหรัฐก็บอกว่าไม่ต้องเอาผลกำไรที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศมาคิดภาษี ว่ากันง่ายๆ คือ รายได้และผลกำไรของ Apple ในประเทศสมาชิกอียู วิ่งเข้าไปที่สองบริษัทนี้ทั้งหมด

4. ทำไมอียู ถึงบอกว่า Apple ต้องเสียภาษี

จริงอยู่ที่กฎหมายมีช่องว่าง แต่อียู บอกว่า บริษัทที่ Apple จดขึ้นมาสองบริษัทที่เป็นทางผ่านของเงินนั้น เป็นบริษัทผี ที่แทบไม่มีการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด คือมองเจตนาว่านี่คือการเลี่ยงภาษีชัดๆ เลยตัดสินว่าไอร์แลนด์จะต้องเก็บภาษี Apple ย้อนหลังเป็นเงินห้าแสนล้านบาท และต้องนำส่งให้ส่วนกลางของอียู ตามกติกาประเทศสมาชิก ทั้งที่ไอร์แลนด์เองก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือกับอียูเท่าไหร่

ตอนนี้แม้แต่ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอ Apple หรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม ก็บอกว่าอียูกำลังแทรกแซงการดำเนินงานของไอร์แลนด์อย่างหนักหน่วง และ Apple จะทำการอุทรหณ์อย่างแน่นอน

ส่วนไอร์แลนด์นั้น ไม่ต้องพูดถึงครับ คนในวงการไอทีจะรู้ว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศไหนที่เป็นประเทศที่มีบริษัทไอทีข้ามชาติไปลงทุนมากที่สุด ถ้าไม่ใช่ อินเดีย และไอร์แลนด์ ดังนั้นไอร์แลนด์เองก็อยากเป็นศูนย์กลางของธุรกิจไอทีในอียู ซึ่งคนที่รู้จักประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์จะรู้ว่าไอร์แลนด์แทบจะกระโดดข้ามจากประเทศยุคที่หนึ่งคือยุคการเกษตร ข้ามยุคที่สองคืออุตสาหกรรม ไปยุคที่สามเลยคือประเทศแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศเลยทีเดียว จนมีโจ๊กเล่ากันว่า ไอร์แลนด์สมัยก่อนเป็นประเทศล้าหลังมาก เป็นประเทศที่อาจจะมีแกะมากกว่าคนอีก คนไอร์แลนด์ต้องไปทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในอังกฤษ แต่ตั้งแต่ประเทศก้าวมายุคที่สาม คนอังกฤษต้องไปทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในไอร์แลนด์แทนครับ

อย่างไรก็ตาม กรณีเหล่านี้กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงจริยธรรมในการประกอบธุรกิจว่าเป็นการเอาเปรียบสังคมหรือไม่ ซึ่งชัดเจนครับว่าคุณได้ประโยชน์จากแผ่นดินใด คุณก็ควรจะตอบแทนคืนให้กับแผ่นดันนั้น

ที่มา: มารู้จัก Double Irish ที่แอปเปิ้ลใช้เลี่ยงภาษี 5 แสนล้านบาท โดย ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์

--

--