รับมือกับตะขาบ : ป้องกันภัยร้ายในฤดูฝน

Thanapha Chantharaphaichit
vcharkarndotcom
Published in
1 min readJun 12, 2017

นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่หยดน้ำจากฟ้าลงมาสู่โลก ทำให้มนุษย์มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมแล้ว ฤดูฝนยังทำให้สัตว์จำนวนมากหนีน้ำจากที่อยู่อาศัยเดิม มายังที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่สัตว์มีพิษที่เป็นอันตรายดังเช่น “ตะขาบ”

Photo By : Tod Baker

ตะขาบเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในชั้น Chilopoda อาจมีขา 15–177 คู่ แล้วแต่สายพันธุ์ ลำตัวแบน อาจมีสีแดง น้ำตาล หรือดำ ตามสายพันธุ์ ที่ส่วนหัวมีหนวดยาวและเขี้ยวที่ปากซึ่งมีต่อมพิษที่ใช้พิษนี้ล่าเหยื่อ เช่น แมลง แมงมุม หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก โดยทั่วไปตะขาบอาศัยในที่มืดและอับชื้น และออกหากินในเวลากลางคืน

ปกติแล้วตะขาบจะไม่รุกรานสัตว์ที่ขนาดใหญ่กว่าตัวมันมาก ๆ อย่างเช่นมนุษย์ก่อน แม้ว่าจะหนีน้ำเข้ามาอาศัยในเขตที่อยู่ของมนุษย์ก็ตาม แต่เนื่องจากออกหากินในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่สายตาของมนุษย์และสัตว์จำนวนมากมองไม่เห็น จึงอาจเหยียบมันได้ หรือบางครั้งก็ซ่อนในที่มืดและอับชื้นเช่นในรองเท้า ซึ่งคนอาจใส่รองเท้าที่มีตะขาบอยู่โดยไม่รู้ตัว ทำให้ตะขาบกัดและปล่อยพิษเพื่อป้องกันตนเอง

พิษของตะขาบประกอบด้วย hydroxytryptamine หรือ cytolysin ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือบวมแดงจากการอักเสบในบริเวณที่ถูกกัด อาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดขาดเลือด และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณถูกกัดตายได้ หากไม่ได้รับการถอนพิษทันท่วงที และในผู้แพ้ อาจเกิดอาการไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองบวม ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

การถอนพิษตะขาบเบื้องต้น ได้แก่

  • 1. ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์
  • 2. ใช้น้ำแข็งประคบที่ปากแผลเป็นเวลาประมาณสิบนาทีเพื่อบรรเทาการปวด
  • 3. กินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หลีกเลี่ยงยาที่มีฤทธิ์กดประสาทรุนแรง
  • 4. หากอาการปวดมาก หรือมีอาการไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลือบวม หรืออื่น ๆ ควรรีบนำไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม วิธีการรับมือกับพิษตะขาบที่ดีที่สุด คือป้องกันไม่ให้ตนเองถูกตะขาบกัดโดยการชิงป้องกันไม่ให้มันเข้ามายังที่อยู่อาศัย หรือขับไล่มันไปก่อน ได้แก่

  • 1. อุดรูรั่วของช่องว่างตามผนังอาคาร เพื่อไม่ให้ตะขาบเข้ามาในอาคารได้
  • 2. พยายามไม่ให้บ้านมีมุมมืดและอับชื้น อันเป็นที่ซึ่งตะขาบชอบอยู่
  • 3. โรยปูนขาวในจุดที่คาดว่ามีตะขาบอยู่ ปูนขาวจะดูดความชื้น ทำให้ตะขาบไม่ชอบ หรืออาจใช้ยาฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ พ่นไปยังจุดที่คาดว่าจะมีตะขาบอยู่
  • 4. หลีกเลี่ยงการฆ่าตะขาบด้วยการเหยียบ เนื่องจากตะขาบที่ถูกเหยียบจะปล่อยฟีโรโมน ซึ่งดึงดูดตะขาบตัวอื่นให้มายังบริเวณที่มันตาย

อ้างอิง :

www.desertusa.com/insects/centipede-bites.html

www.doyourownpestcontrol.com/centipede.htm

www.orkin.com/other/centipedes/

--

--