อัจฉริยภาพด้านการศึกษา: ธ ทรงเป็นยิ่งกว่านักการศึกษา

Thanapha Chantharaphaichit
vcharkarndotcom
Published in
2 min readJun 12, 2017

“การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซี่ยน” เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ชี้ชัดว่า การศึกษาของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งหมายถึงคุณภาพของคนวิกฤติ และหมายถึงประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่ผลออกมาเช่นนี้เพราะ ในการทดสอบวัดคุณภาพการศึกษา เขาวัดกันด้วยการศึกษา 4.0 แต่การเรียนการสอนของประเทศไทยยังเป็นการศึกษา 1.0

แนวทางการแก้วิกฤติคุณภาพคน เป็นกระแสรับสั่งซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่านักการศึกษา โดยกระแสรับสั่งดังกล่าว ได้กลายมาเป็นวัตถุประสงค์ของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ที่ทรงให้จัดตั้งขึ้นในปี 2557 เพื่อปฏิรูปการศึกษาของประเทศ

ขอนำเสนอโดยใช้โปสเตอร์ 2 แผ่น ที่ปรากฏอยู่ที่หน้าห้องบรรยายขนาดใหญ่ทุกห้องในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยแผ่นที่ 1 แสดงถึงวิวัฒนาการการศึกษาจาก 1.0 ถึง 4.0 เป็นลำดับคือ 1.0-ครูเป็นผู้ป้อนความรู้ 2.0-ผู้เรียนหาความรู้เองจากสื่อออนไลน์ได้ 3.0-ผู้เรียนสร้างความรู้ได้ 4.0–ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้ โดยคำว่าสร้างนวัตกรรมครอบคลุมตั้งแต่การนำความรู้จากชั้นเรียนไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้

แผนที่ 2 เป็นผลงานวิจัยสะสมมายาวนาน ที่รู้จักทั่วไปในวงการศึกษาในชื่อ ปิรามิดการเรียนรู้ (Learning Pyramid) ที่นักการศึกษาทั่วโลกยอมรับและเป็นสิ่งหลายประเทศนำไปปรับใช้ โดยการวัดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาจากความรู้ที่เหลืออยู่กับผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ซึ่งพบว่า การเรียนที่ให้ครูเป็นผู้ป้อนความรู้นั้น มีความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปเพียง 5% ถ้าผู้เรียนอ่านเพิ่มเติมจะได้ความรู้ติดตัวไป 10% ถ้าป้อนแล้วมีภาพประกอบก็จะเพิ่มช่องทางการเข้าใจ ความรู้ที่ติดตัวไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% และถ้าครูจัดให้มีการสาธิตประกอบจะทำไห้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 30% แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังถือว่าผู้เรียนเป็นเพียงผู้เสพความรู้ (ที่มา: ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ) หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกการเรียนรู้แบบนี้ซึ่งก็ยังเป็นการป้อนความรู้ว่า เป็นแบบจากข้างนอกสู่ข้างใน (Outside in) ซึ่งผลที่ได้ก็คือนกแก้ว-นกขุนทอง

รูปแบบการศึกษา 3.0 ถูกเสนอไว้อย่างง่ายและชัดเจนในฐานปิรามิด โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 3/1-จัดให้มีการถกเถียง 3/2-ให้ลงมือปฏิบัติ 3/3-ให้สอนผู้อื่น ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันว่า นอกจากจะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้เองได้แล้ว ยังเหลือความรู้ติดตัวไปกับผู้เรียนถึง 50% 70% และ 90% ตามลำดับเลยที่เดียว โดยในระดับที่ 1 ซึ่งได้แก่การจัดให้มีการถกเถียง (Debate หรือ Discussion) กันด้วยข้อมูลนั้น ผู้สอนมีหน้าที่ตั้งคำถามที่มีมุมมองในหลายมิติ จัดแบ่งผู้เรียนให้เป็นกลุ่ม ๆ ให้มีการถกเถียงกันด้วยข้อมูลภายในกลุ่ม แล้วนำผลสรุปในแต่ละกลุ่มมานำเสนอและให้ถกเถียงหรือโต้แย้งกันข้ามกลุ่ม หรือแม้แต่ให้เกิดการถกกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน โดยในการหาข้อมูลสามารถเปิดกว้างให้ค้นหาผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือแม้กระทั่งผ่านมือถือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะด้านสารสนเทศเพื่อให้สามารถค้นหาความรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของเยาวชนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21

การศึกษา 3.0 ในระดับที่ 2 ที่อยู่ที่ฐานปิรามิด ได้แก่ การให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ (Practice) หรือทำการทดลองด้วยตนเอง ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า ความรู้จะเหลืออยู่ที่ผู้เรียนถึง 70% และสุดยอดของการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ตามแนวทางของการศึกษา 3.0 คือ การให้ผู้เรียนสอนผู้อื่น (Teach other) หรือติวให้กับเพื่อนหรือการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เพราะก่อนที่จะนำเสนอหรือสอนผู้อื่นได้ ผู้เรียนต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องตกผลึกความรู้ ต้องสรุปประเด็น จัดหมวดหมู่ข้อมูลและนำเสนออย่างเป็นระบบ ซึ่งการสอนผู้อื่นโดยการนำความรู้ไปใช้ทันที (Immediate use) นี้ ผลการวิจัยระบุว่า ผู้เรียนจะเก็บความรู้ติดตัวไปได้ถึง 90%

จะเห็นว่าทั้งใน 3 ระดับของการศึกษา 3.0 นั้น ตลอดระยะเวลาในชั้นเรียน ผู้เรียนจะทำหน้าที่สร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิด การค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาถกเถียง การแก้ปัญหาในการลงมือปฏิบัติ รวมไปถึงการสรุปข้อมูลเพื่อนำไปเสนอหรือนำไปสอนผู้อื่น วิธีการเรียนรู้รูปแบบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ชนิดจากข้างในสู่ข้างนอก (Inside out) ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ จะทำให้ผู้เรียนอยากรู้อยากเห็น ทำให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง และในที่สุดก็จะออกมาเป็นแรงบันดาลใจ (inspiration) นำไปสู่การค้นพบตัวเอง โดยการที่ผู้เรียนต้องคิด ต้องแก้ปํญหาตลอดกระบวนการที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนั้น ถือเป็นกระบวนการฝึกฝนเพื่อให้คิดหลุดกรอบหรือคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นต้นทางของการคิดสร้างสรรค์ และต้นทางของคำว่า นวัตกรรม ซึ่งหมายถึง สิ่งที่แตกต่างและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ การแก้ปัญหาชุมชนหรือการสร้างมูลค่าในทางธุรกิจต่อไป

“ให้ครูสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่ง สอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” เป็นกระแสรับสั่งซึ่งกลายมาเป็นวัตถุประสงค์ของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับผู้เรียนจะเหนือกว่าขั้นสูงสุดของปิรามิดการเรียนรู้ โดยนอกเหนือจากความรู้จะติดตัวไปกับผู้ที่ทำหน้าที่สอนคนอื่นกว่า 90% แล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ ความรัก ความสามัคคีซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นการสร้างชุมชนและสังคมที่อบอุ่นและเข้มแข็งตามวิถีไทยที่ประมาณค่าไม่ได้

มาถึงการศึกษา 4.0 ซึ่งเป็นรูปแบบที่นักการศึกษาทั้งโลกต่างให้ความสำคัญ โดยหวังว่าผู้เรียนต้องสามารถ “สร้างนวัตกรรมได้” โดยแนวทางของการศึกษา 4.0 คือ ไม่แยกการศึกษาออกจากชุมชน นั่นคือ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน โดย การเรียนในชั้นเรียนยังคงเน้นที่การศึกษา 3.0 คือ จัดให้มีการ “แบ่งกลุ่มถกเถียง ลงมือปฏิบัติ และให้สอนผู้อื่นหรือนำเสนอหน้าชั้นเรียน” ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การคิดนอกกรอบและการคิดสร้างสรรค์ดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการเรียนรู้นอกชั้นเรียนนั้น หมายถึง ให้ผู้เรียนได้ออกปฏิบัติงานจริงในชุมชน ในภาคอุตสาหกรรมและในสถานประกอบการ เพื่อนำความรู้ในชั้นเรียนไปผูกโยงเข้ากับชีวิตจริง และนำสิ่งที่เห็นในชีวิตจริงกลับไปคุยกันในชั้นเรียน เพื่อย้อนกับไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน นำไปช่วยชุมชน ช่วยสังคม รวมไปถึงการนำความรู้ไปสร้างมูลค่าทางธุรกิจต่อไป

โครงการ “สถานศึกษาพอเพียง” ของมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เป็นอะไรที่ยิ่งกว่า (beyond) การศึกษา 4.0 เพราะเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน นำปัญหาและนำภูมิปัญญาชาวบ้าน ไปพูดคุย ปรับปรุงหรือต่อยอดในโรงเรียน หรือนำไปทำวิจัยเชิงลึกในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนและทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นที่เยาวชน นั่นหมายถึงความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ

จะเห็นได้ว่า แนวทางการปฏิรูปการศึกษา “ให้เด็กที่เรียนเก่ง สอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” ซึ่งเป็นส่วนของการศึกษาในชั้นเรียน และโครงการ “สถานศึกษาพอเพียง” ซึ่งเป็นส่วนของการศึกษานอกชั้นเรียน ถือเป็นอัจฉริยภาพด้านการศึกษาที่ยิ่งกว่าการศึกษา 4.0 เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่จะทำให้ความรู้เหลือติดตัวผู้เรียนไปมากกว่า 90% ตามปิรามิดการเรียนรู้และไม่แยกโรงเรียนออกจากชุมชนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นทฤษฎีหรือปรัชญาที่มีความยิ่งใหญ่และสำคัญต่อประชาชนชาวไทยและต่อประชาคมโลก ไม่แตกต่างไปจากทฤษฎีหรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเลยทีเดียว ดังนั้น คนที่รักพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงควรน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพราะนั่นคือ ทางรอดทางเดียวในการแก้ปัญหาวิกฤติคุณภาพคนของประเทศ

--

--