การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยเน้นความเข้าใจรูปแบบทางสังคม

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition
Published in
Sep 18, 2022

วัฒนธรรมและสังคมของคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตกาลก็คือ สังคมแห่งความเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูล ดังที่เราจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย คนไทยจะร่วมกันบริจาคข้าวของเงินทองให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนแบบที่เรียกว่า “ล้นหลาม” เลยทีเดียว ในส่วนผู้ด้อยโอกาสและคนพิการก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ เมื่อเราพบเห็นคนพิการ ผู้คนในสังคมจะเกิดความรู้สึกเมตตาและสงสาร มีความรู้สึกอยากบริจาค อยากทำบุญกับกลุ่มคนเหล่านั้น จนแยกไม่ออกว่าสิ่งที่ผู้คนในสังคมมอบให้พวกเขาเหล่านั้น พวกเขามีความจำเป็นและต้องการมากน้อยเพียงใด

.

ปรากฏการณ์แห่งกระแสเมตตาและสงสารนิยม เริ่มแทรกซึมเข้าสู่ทุกอณูและทุกมิติของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการ และซึมลึกเข้าไปสู่การให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่คนพิการที่รัฐต้องจัดให้ เช่น การบริการด้านสุขภาพ การกำหนดนโยบายด้านอาชีพและการจ้างงาน การกำหนดนโยบายด้านการศึกษา เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะมีความเป็นส่วนผสมระหว่างสิทธิที่คนพิการควรได้รับและความเมตตากรุณาจนเกิดขึ้นเป็น “การสงเคราะห์” เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป ระบบทุนนิยมเข้ามามีอำนาจจนบางครั้ง ลักษณะการสงเคราะห์ได้ถูกบดบังให้มีความเจือจางลง นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียมกันในสังคม

.

ส่งผลให้รัฐบาลก็มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีความทันสมัยเพื่อนำพาประชาชนเข้าสู่ความเป็นปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากนโยบายกฎหมายด้านความพิการและคนพิการ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว คนพิการจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการโดยตรง นั่นก็คือ พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ซึ่งลักษณะกฎหมายจะเน้นรูปแบบการฟื้นฟูและการสงเคราะห์เป็นสาระสำคัญ ดังนั้นกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น กฎหมายการจัดการศึกษาก็จะเน้นการให้เปล่า หมายถึงการให้เรียนฟรี การแจกอุปกรณ์ ตามความคุ้นชินของวัฒนธรรมทางสังคมซึ่งมีรูปแบบการสงเคราะห์เป็นหัวใจสำคัญ

.

เมื่อคนพิการเกิดมา ครอบครัวของพวกเขาก็มักจะส่งคนพิการเข้าโรงเรียนเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และฝึกทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเฉพาะด้านความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ หรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมคนพิการในด้านต่าง ๆ หน่วยงานเหล่านี้จะถูกคาดหวังจากภาครัฐและสังคมว่าจะสามารถทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมทางสังคมก็ยังปลูกฝังว่า คนพิการยังคงต้องเป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการสงเคราะห์ และต้องเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกด้านเมตตากรุณาและความสงสาร จนคนพิการจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดกับรูปแบบทางสังคมที่ถูกหล่อหลอมให้มีลักษณะการเข้าใจว่าตนเองต้องเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้

.

แม้ว่าจะจบการศึกษาไปแล้ว คนพิการก็จะคุ้นชินกับรูปแบบสังคมที่หล่อหลอมให้พวกเขากลายเป็นบุคคลที่ไม่สามารถก้าวผ่านความพิการหรือความด้อยโอกาสไปสู่การเห็นคุณค่าของตนเองได้ การไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเห็นคุณค่าของตนเองนั้นจะเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงในการพัฒนาตนเองของคนพิการ เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมด้วยความเข้มแข็งและกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง พร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงงาน โดยปราศจากการเรียกร้องให้คนรอบข้างช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ แต่เปลี่ยนเป็นการให้โอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเองแทน

.

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การไม่ยอมให้บุคคลอื่นนำความพิการของตนเองไปใช้ในเชิงธุรกิจ เช่น การเป็นตัวแทนแห่งสะพานบุญเพื่อให้ผู้คนนำข้าวของเงินทองมาบริจาคแบบไม่จำกัด หรือการไปร่วมกิจกรรมบางประเภทเพื่อคอยรับเงินเข้ากระเป๋ากลับบ้านโดยไม่คำนึงว่าจะได้ความรู้หรือทักษะเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งเมื่อคนพิการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง ก็มีคนพิการจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะทางกายภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวกับหน้าที่รับผิดชอบ เอาความพิการมาเป็นข้อต่อรองมากจนเกินไป ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้พิการเอง

.

จากที่พริกไทยได้สัมภาษณ์พูดคุยกับนักเรียนในโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งหนึ่งพบว่า ในปัจจุบันนักเรียนมีระยะเวลาอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 — มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมเป็นระยะเวลามากถึง 12 ปี ดังนั้นระยะเวลาที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน หากนักเรียนไม่ได้ถูกฝึกฝนให้รู้จักและเข้าใจรูปแบบทางสังคมที่พึงประสงค์ ก็จะเป็นการยากต่อการปรับตัวเมื่อตนเองต้องออกไปใช้ชีวิตจริงภายนอกโรงเรียน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ทักษะด้านอาชีพ ทักษะการเข้าสู่สังคม ตลอดจนทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต พริกไทยจึงอยากจะเสนอรูปแบบทางสังคมแบบเสริมพลังและการรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิของผู้อื่น ดังที่อธิบายไปข้างต้นให้ท่านผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาไว้ ณ โอกาสนี้ค่ะ

.

พริกไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาในวันนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงรูปแบบทางสังคมที่พึงประสงค์และร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบสังคมที่ดีขึ้น

.

.

#VulcanCoalition #PeopleWithDisabilities #Empowerment #RightsOfPersonsWithDisabilities

--

--

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition

Event Review Activist / Personal Finance Evangelist / Podcaster / Content Writer and Story Teller