การเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่อาชีพของคนพิการ

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition
Published in
Sep 18, 2022

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
.
เมื่อไม่นานมานี้ พริกไทยได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมกับคนพิการทางการเห็นและคนพิการทางการเคลื่อนไหวมาค่ะ พริกไทยจึงมีเรื่องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ซึ่งมันจะเป็นหัวข้อเรื่องอะไรนั้น มาติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ
.
ในปี 2550 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้คนพิการได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการเปลี่ยนการช่วยเหลือคนพิการ “แบบสงเคราะห์” เป็น “การส่งเสริม” ให้คนพิการได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่มีด้วยความเสมอภาคเทียบเท่ากับคนทั่วไป
.
ด้วยพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้ฉบับนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต้องร่างกฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ. ดังกล่าว สำหรับในด้านการศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ร่างพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 และมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการอีกครั้งในปี 2556 ส่งผลให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาที่กว้างขวางและมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งการศึกษาแบบเฉพาะทาง การศึกษาแบบเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไป การศึกษาสายอาชีวะฝึกอาชีพ
.
อย่างไรก็ตาม ถ้าศึกษาสถิติด้านปลายทางการศึกษาของคนพิการแล้ว จะเห็นได้ว่า คนพิการยังมีอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต่ำ หรือแม้ว่าจะมีการได้รับการจ้างงานแล้ว คนพิการก็ยังขาดความมั่นคงในอาชีพการงาน มีภาวะการณ์ลาออกจากงานที่สูง รวมทั้งลักษณะงานที่คนพิการทำ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีลักษณะการใช้แรงงานมากกว่าการใช้ทักษะความเชี่ยวชาญในสาขาที่ได้ศึกษามา
.
หลังจากที่พริกไทยได้สืบค้นข้อมูลและสัมภาษณ์ในประเด็นการมีงานทำของผู้พิการและทุพลภาพในปีพ.ศ. 2563 ทำให้พริกไทยตั้งคำถามถึงลักษณะการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้กำหนดปลายทางหรือวัตถุประสงค์ของการศึกษาคนพิการเป็นอย่างไร
.
น่าตกใจที่ต้องพบว่า การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในปัจจุบัน ยังมีวัตถุประสงค์ปลายทางที่ไม่ชัดเจน ทำให้เมื่อนักเรียนพิการเรียนจบไปแล้ว ก็จะไม่มีแนวทางในการนำความรู้ไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้คนพิการที่จบการศึกษาไปแล้ว ก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมหรือฝึกทักษะในการประกอบอาชีพเพิ่มเติม โดยไม่มีพื้นฐานทางด้านวิชาชีพนั้น ๆ อยู่เลย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้คนพิการเกิดข้อเสียโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะคนพิการไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ค้นหาความสามารถของตนเองในช่วงวัยเรียน ทำให้ไม่รู้ว่าตนเองมีความถนัดในด้านใดเป็นพิเศษ
.
ในฐานะที่พริกไทยเป็นคนพิการ พริกไทยจึงมีความคิดที่อยากจะเสนอและแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่านว่า การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในปีสุดท้ายของชั้นประถมและมัธยมนั้น ควรที่จะมีการจัดหลักสูตรการเตรียมความพร้อมคนพิการเพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้คนพิการสามารถค้นพบตนเองว่ามีความถนัดในอาชีพด้านใด เพื่อรองรับการฝึกทักษะของคนพิการให้สอดคล้องสถานประกอบการที่มีความประสงค์ที่จะรับคนพิการเข้าทำงาน
.
ยกตัวอย่างเช่น พริกไทยเองที่มีความชอบงานประเภทจัดเตรียมข้อมูล AI พริกไทยก็ควรจะได้รับการฝึกฝนในการใช้คอมพิวเตอร์ การฝึกพิมพ์ดีดให้มีความเร็วที่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะรับมือกับข้อมูลที่ได้รับมอบหมายได้ เป็นต้น
.
แต่ก่อนที่จะจัดหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา สิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต้องทำก็คือ การค้นหาความถนัดและความสามารถของคนพิการให้พบ แล้วจัดกลุ่มเตรียมความพร้อมตามความสนใจของคนพิการแต่ละท่าน ไม่ใช่จัดขึ้นตามความเชื่อหรือค่านิยมที่ปลูกฝังกันมา เช่น การจัดให้มีการฝึกเล่นดนตรีกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกคน โดยมิได้คำนึงว่านักเรียนจะมีความสนใจในเรื่องนั้นหรือไม่
.
สิ่งนี้เป็นแค่เพียงประเด็นสั้น ๆ ที่พริกไทยอยากนำเสนอเบื้องต้นก่อนเท่านั้นนะคะ ครั้งต่อไปพริกไทยจะนำข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่อาชีพของคนพิการมานำเสนอ ซึ่งรับรองว่าเมื่อทุกท่านได้อ่านแล้ว จะเห็นความแตกต่างมากมายระหว่างนักเรียนที่เข้ารับการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมหรือเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาสู่อาชีพ กับ กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อไปสู่อาชีพ แน่นอนค่ะ รับรองว่าท่านผู้อ่านจะมีมุมมองเกี่ยวกับคนพิการที่เปลี่ยนไปแน่นอนค่ะ อย่าลืมติดตามชมนะคะ
.
.
#VulcanCoalition #PeopleWithDisabilities #Education #Employment

--

--

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition

Event Review Activist / Personal Finance Evangelist / Podcaster / Content Writer and Story Teller