“มาร่วมสร้างงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้เป็น New normalของงาน Event กันเถอะ” บทความโดย Vitamins.elle

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition
Published in
3 min readJun 23, 2022

--

“มาร่วมสร้างงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้เป็น New normalของงาน Event กันเถอะ”

“มาร่วมสร้างงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้เป็น New normalของงาน Event กันเถอะ”

จะดีแค่ไหนถ้า Event ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นมา สามารถให้คน “ทุกคน” สามารถเข้าถึงได้

.

บ่อยครั้งที่ผู้มีความบกพร่องทางกายภาพต้องพบกับข้อจำกัดในการเข้าร่วมงาน Event ต่าง ๆ ทั้งการไม่สามารถเข้าถึงสถานที่ สื่อ หรืองานที่จัดแสดง ส่งผลให้พวกเขาต้องพลาดงาน Event ดี ๆ และทำให้ตัวงานก็ไม่มีโอกาสได้แสดงคุณค่ามากเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก วันนี้เราเลยอยากชวนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับแนวคิด Inclusive event ซึ่งเป็นแนวคิดวิธีการจัดงานอีเว้นท์ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ และไม่ต้องเว้นใครไว้ข้างหลัง โดยการจัดงานอีเว้นท์ให้อยู่ในรูปแบบ Inclusive มีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้

.

เริ่มต้นตั้งแต่การลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงาน ผู้จัดงานอาจมีการถามถึงข้อจำกัดทางร่างกายและสิ่งอำนวยความสะดวกที่บุคคลนั้นมีความต้องการ เช่น ผู้ที่สายตาเลือนรางอาจขอนั่งแถวหน้าเพื่อเห็นได้ชัดเจนขึ้น การขอผู้ช่วยในการจดบันทึกหรือการเดินนำทาง หรือในกรณีการจัด Workshop กลุ่มย่อยสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอาจจะต้องมีการจัดรูปแบบที่นั่งโดยการหันหน้าเข้าหากันเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อ เพราะง่ายต่อการได้ยินหรือการอ่านปากและสีหน้า หากทราบข้อท้าทายเหล่านี้ก่อน ผู้จัดงานจะได้เตรียมการจัดการไว้ล่วงหน้า

.

การจัดเตรียมสถานที่ สถานที่ควรเดินทางสะดวก เช่น มีรถโดยสารสาธารณะ หรือมีจุดบริการรับ-ส่งที่เข้าถึงได้สะดวกและเพียงพอ สำหรับพื้นที่การจัดงาน ต้องคำนึงถึงที่จอดรถ ทางเข้าอาคาร ห้องประชุม ห้องน้ำ หรือเส้นทางเชื่อมต่อต่างๆ มีทางลาดที่ Wheelchair สามารถใช้งานได้ หรือมีลิฟต์ในการขึ้น-ลง ระหว่างชั้น รวมถึงพื้นที่ระหว่างบู๊ท เคาน์เตอร์ ประตูมีความกว้างและความสูงที่เหมาะสม ที่ผู้ใช้ Wheelchair สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ รวมถึงการจัดการตารางกิจกรรม ที่คำนึงถึงการเคลื่อนย้าย พื้นที่ทำกิจกรรม เนื่องจากบางคนอาจเคลื่อนที่ช้า หรือเส้นทางที่สะดวกในการเดินทางมีระยะทางไกลกว่า

.

การจัดเตรียมเอกสารที่เข้าถึงได้ ทั้งกำหนดการกิจกรรม เอกสารประกอบการบรรยาย สไลด์ หรือสื่อการนำเสนออื่น ๆ โดยหากเป็นสื่อนั้นประเภทไฟล์เอกสาร ก็ควรทำให้เป็นไฟล์ที่โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าถึงได้ เช่น ไฟล์ Word ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นกว่า PDF เช่นการปรับรูปแบบ ขนาด และสีของตัวอักษร การปรับความ Contrast ของสีกราฟิก ข้อความ หรือกราฟ ตลอดจนการมีคำบรรยายรูปภาพ เพื่อให้ทราบว่าภาพประกอบคือภาพอะไร ถ้าเป็นไฟล์วิดีโอ ก็สมควรมีการทำเสียงบรรยายภาพ (Audio description) สำหรับกลุ่มคนคนตาบอด หรือการมีคำบรรยายแทนเสียง (Closed caption) สำหรับกลุ่มคนหูหนวก นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้จัดงานอาจคำนึงถึงการเข้าถึง เช่น การจัดเตรียมเอกสารในเวอร์ชั่นอักษรเบรลล์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวก็อาจไม่จำเป็น หากมีไฟล์เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิส์ เพราะผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถเข้าถึงเอกสารเหล่านั้นผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เลย โดยผู้จัดงานอาจส่งให้ผู้เข้าร่วมงานล่วงหน้า เพื่อให้พวกเขาได้สำรวจเอกสารและเข้าถึงข้อมูลก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ ผู้จัดงานก็ควรการส่งเอกสารเหล่านี้ให้ล่ามภาษามือก่อน เพื่อช่วยให้ล่ามได้มีการเตรียมตัวเพื่ออธิบายเนื้อหาได้อย่างชัดเจนและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์งาน Event ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าร่วมงาน การ Download เอกสารรายละเอียดกิจกรรม การเผยแพร่วีดีโอและรูปภาพเพื่อโปรโมทกิจกรรม จนถึงการมีปฏิสัมพันธ์หลังจบงาน ดังนั้นการคำนึงถึงการเข้าถึงสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการใช้รูปแบบ สี ขนาดตัวอักษรที่เหมาะสม การคำนึงถึงการเลื่อนไปยังส่วนต่างๆ ของหน้าเว็บไซต์ การเพิ่มข้อความบรรยายรูปภาพ (Alternative Text) หรือการเพิ่ม Caption ในรูปภาพ ก็จะช่วยให้ผู้ที่มองไม่เห็นรูปภาพเข้าใจว่าภาพนั้นคือรูปภาพใด ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดนี้ จึงมีการออก Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ซึ่งเป็นข้อแนะนำในการออกแบบเว็บไซต์ที่ให้ผู้พิการเข้าถึงและใช้งานได้อย่างราบรื่น

(สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถศึกษาข้อกำหนดของ WCAG เพิ่มเติมได้ที่ https://www.w3.org/WAI/standards-guidelines/wcag/)

.

การมีแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อจัดทัศนวิสัยให้เหมาะสมกับคนที่อยู่บนเวทีไม่ว่าจะเป็นผู้พูดและล่ามแปลภาษา เนื่องจากผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจำเป็นต้องใช้สายตาในการรับข้อมูลทั้งการอ่านปากและสีหน้า การมองล่ามภาษามือ หรือการอ่านข้อความบนสไลด์ประกอบ ดังนั้นการจัดบรรยากาศให้เหมาะสมคือต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงฉากหลังที่ทำให้เสียสมาธิโดยง่าย เช่น การมีพื้นหลังสีฉูดฉาดและลายตา หรือการมีแสงแดดหรือแสงแฟลชที่ส่องจ้าไปทางผู้เข้าร่วมภายในงาน

.

การเตรียมระบบเสียงให้ดังและชัดเจน ไม่มีเสียงรบกวน เนื่องจากการเข้าร่วมงานในโอกาสต่างๆ เราเชื่อว่าสิ่งที่ผู้ร่วมงานทุกคนต้องการที่จะได้รับก็คือเนื้อหาของงานนั้น ๆ ทั้งความรู้ ความบันเทิง ความสนุก ซึ่งหากอุปกรณ์หรือระบบเสียงทำให้ผู้ฟังได้ยินไม่ชัดเจน จะทำให้สารที่ได้รับจากวิทยากรอาจไม่ครบถ้วน ทั้งนี้รวมถึงไมโครโฟนเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วม ในช่วงการถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็น ทางที่ดีควรเป็นไมโครโฟนแบบไร้สาย เพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้ายให้มีความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมทุกคน

.

เมื่อเราเปิดใจฟังความเห็นของผู้เข้าร่วมงานในการจัดงานอีเว้นท์ทุกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือประสบการณ์และการเรียนรู้ร่วมกัน มันอาจเป็น Inclusive Event ครั้งแรกของคุณ แต่มันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน ดังนั้นเมื่อจบงานแล้ว ความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเก็บเป็นข้อมูลสำหรับในการจัดงานครั้งต่อไป และคำแนะนำสุดท้ายที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้จัดงานก็คือ “การพูดคุยสอบถามจากผู้เข้าร่วมโดยตรงว่าต้องการอะไร” เพราะความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ไม่แน่ว่ารูปแบบงานที่คุณทำอยู่ เป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมต้องการอยู่แล้วก็ได้

.

รูปแบบการจัดงานแบบ Inclusive ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่ว่าใครก็ได้รับประโยชน์นี้ เช่น เมื่อวิทยากรอธิบายรูปภาพที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่คนตาบอดจะได้รับทราบข้อมูลไปพร้อมๆ กัน แต่คนตาดีที่อาจจะไม่สะดวกดูสไลด์ประกอบ หรือในกรณีบันทึกวีดีโอไว้ ก็สามารถทำกิจกรรมอื่นระหว่างการรับชมได้ด้วย หรือการมีคำอธิบายใต้ภาพ ก็ไม่ได้ช่วยให้คนหูหนวกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนที่เข้าใจภาษาเขียนได้ดีกว่าการฟังเสียงเหล่าวิทยากรที่มีสำเนียงที่แตกต่างกัน อย่างผู้ที่ไม่ใช่ native speaker ได้สามารถเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น จึงควรมีรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย สำหรับการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน

ในยุค New normal รูปแบบงาน Event มีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็อยากให้แนวคิด Inclusive นี้เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ทุกคนคำนึงถึงมากขึ้น แม้จะเป็นแนวคิดใหม่แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น งาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25–26 มิถุนายนนี้ ที่มีการออกแบบงานให้ “ทุกคน” เข้าถึงได้ ทั้งการจัดเตรียมสถานที่ให้สะดวกกับ Wheelchair การทำการ์ดที่มีอักษรเบรลล์ มีสัญลักษณ์ระบุตำแหน่ง QR Code ให้ผู้พิการทางการเห็นใช้ Smartphone เพื่อเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบไฟล์ที่โปรแกรมอ่านจอภาพเข้าถึงได้ดี การเตรียมระบบ Platform สำหรับรับชม Online รวมไปถึงการมีล่ามภาษามือสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และการให้ความรู้อาสาสมัครในการช่วยอำนวยความสะดวกภายในงานด้วย โดยปีนี้ Concept ของงานคือ “The Future of Everything” เพื่อให้ “ทุกคน” ได้เตรียมพร้อมเดินไปข้างหน้ากับอนาคตของทุกสิ่งในกระแสธุรกิจและชีวิตรอบตัว ภายในงานจะพบกับการแบ่งปันความรู้ประสบการณ์รวมถึงเทรนด์จากมุมมองของ Speaker ระดับชั้นแนวหน้าของประเทศ มากกว่า 80 ท่าน จากแวดวง Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship, และ People Skill ผ่านการบรรยายและเสวนากว่า 70 หัวข้อพร้อม Workshop และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.ctc2022.com/

.

มาร่วมสร้างงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้เป็น New normalของงาน Event กันเถอะ !

.

เขียนโดย : L.cognito mode

.

#VulcanCoalition #Inclusive #InclusiveEvent #CTC2022 #CREATIVETALK

--

--

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition

Event Review Activist / Personal Finance Evangelist / Podcaster / Content Writer and Story Teller