เส้นทางไปสู่วิศวกรคอมพิวเตอร์ของ ปวินท์ เปี่ยมไทย

Inz Tiewcharoen
Vulcan Coalition
Published in
2 min readDec 28, 2020

“ตอนผมยังเป็นเด็ก ผมยังตาบอดไม่สนิท ยังพอเห็นเลือนลาง ตอนนั้นผมชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ผมชอบรื้อนู่นรื้อนี่ประมาณว่า ถ้าที่บ้านซื้อสเตอริโอมาหนึ่งเครื่อง ผมจะเป็นคนแรกที่ใช้เป็นทุกฟังชั่น ช่วงประมาณ 9 ขวบ แม่ผมทำงานเป็นนักบัญชี ช่วงนั้นคอมพิวเตอร์ PC เพิ่งเริ่มมีเข้ามา แม่ผมมีแนวคิดว่า อยากซื้อคอมไว้สักเครื่อง เผื่อได้เอางานกลับมาทำที่บ้าน แม่ผมซื้อคอมมาแต่แม่ใช้คอมไม่เป็น แม่ก็เลยให้ลุงมาสอน ตอนที่ลุงมาสอนแม่ ผมก็ด้อมๆมองๆ เอ๊ะ เค้าสอนอะไรกันนะ ผมก็จำโดยไม่รู้ตัว และไม่รู้ว่าตัวเองสนใจ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมผ่าตัดตาก็เลยเป็นช่วงที่ต้องอยู่บ้านบ่อยๆ ประมาณว่านอนๆ อยู่บ้าน 2 เดือน พอตอนที่แม่ผมไปทำงาน เบื่อๆ ไม่มีอะไรทำตอนกลางวัน ก็เลยลองไปเปิดคอม จำได้ว่า ลุงให้กดตรงนี้ แล้วมันก็จะมีหน้านี้ขึ้นมา ตอนนั้นผมก็จำไม่ได้ว่าผมทำอะไรบ้าง เริ่มแรกก็เริ่มเรียนแบบในสิ่งที่แม่ทำ เสร็จแล้วผมก็เริ่มมั่วนู่นมั่วนี่

หลังจากนั้นก็เริ่มศึกษาเยอะขึ้น เริ่มลงวินโดวส์เอง เริ่มทำ ฟอร์แมต ฮาร์ดดิสก์ เริ่มทำ พาทิชั่นเอง เริ่มฝึกเขียนโปรแกรมเอง แต่ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรุ่ง เพราะตอนนั้นผมยังไม่ได้ภาษาอังกฤษ ผมต้องอ่านทุกอย่างเป็นภาษาไทย ถ้าพีคสุดตอนที่กำลังมองเห็นคือ 12 ขวบ ผมกำลังจะฝึกเขียนเกมส์เอง ตอนนั้นจำได้ว่ามีโปรแกรม RPG maker ดังมากใน thai ware community ผมสั่งหนังสือวิธีใช้ RPG maker เรียบร้อยแล้ว เดือนมกรา กุมภาผมผ่าตัดแล้วทุกอย่างก็หายไปเลย หนังสือที่ซื้อมาสุดท้ายก็ไม่ได้ใช้

ตอนนั้นผมได้เข้าโรงเรียนสอนคนตาบอดแล้วก็ได้เริ่มเรียนเหมือนเด็กปกติทั่วไป ตั้งแต่ ป. 4 ผมก็ได้ศึกษาคอมพิวเตอร์ต่อในรูปแบบของคนตาบอด ศึกษาวิธีการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ว่าใช้งานยังไงบ้าง ฝึกเขียน JAWS Script ให้ใช้ควบคู่ไปกับโปรแกรมอื่น ๆได้ ทดลองว่าคนตาบอดใช้อะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

จนกระทั่ง ม. 3 ถึงเวลาที่จะต้องเลือกสายเรียน ผมก็เลยมานั่งคิดดูว่าผมชอบอะไร สุดท้ายสรุปได้ว่า ผมชอบคอม ชอบวิทยาศาสตร์ ผมก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์ พอได้เรียนสายวิทย์จริง ผมก็รู้สึกแฮปปี้กับมันมาก ตอนเด็ก ๆ ผมเคยมีความฝันว่า ผมอยากทำงานเกี่ยวกับคอม แต่ตอนแรกไม่ได้คิดนะว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ตอนนั้นยังมองเห็นก็แค่คิดว่า เป็นแอนิเมเตอร์ก็ได้ เป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ก็ได้ เป็นโปรแกรมเมอร์ก็ได้ แต่พอมองไม่เห็นแล้วเนี่ย ทางเลือกหลาย ๆ อย่างก็ถูกตัดไปหลายอันเหมือนกัน แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าผมยังอยากทำงานเกี่ยวกับคอมอยู่ ถ้างั้น ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ไหม เพราะผมก็เคยฝึกเขียนโปรแกรมมาบ้างแล้ว ถ้าจะเรียนต่อในสายโปรแกรมเมอร์จะมีอยู่ 2 คณะที่รองรับก็คือ วิศวคอมกับวิทยาการคอม ผมก็เริ่มหาข้อมูลว่า วิศวคอมกับวิทยาการคอมมีข้อแตกต่างกันยังไง วิทยาการคอมคือจะเรียนทฤษฎีเป็นหลัก ส่วนวิศวคอมจะเน้นเรียนวิธีการใช้จริง การเขียนโปรแกรม การทำฮาร์ดแวร์ จริง ๆ ผมก็ชอบทฤษฎีนะ แต่ผมก็อยากจะปฏิบัติได้ด้วย และช่วงนั้นก็มีแนวคิดที่ว่า ส่วนใหญ่ เด็กเก่งจะเลือกวิศวคอม ผมมีแนวคิดว่าผมอยากอยู่กับคนเก่ง ถ้าผมอยู่กับคนเก่ง ๆ ผมจะพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ผมก็เลยเลือกวิศวคอม

ปัญหาในการสอบเข้าวิศวคอมของผมคือการสอบ pat 3 ซึ่งเป็นข้อสอบความถนัดทางวิศวกรรม โดยที่ข้อสอบ pat 3 จะเน้นสอบ ฟิสิกส์ประมาณ 70 เปอร์เซ็น ส่วนคณิตกับเคมี อย่างละ 15 เปอร์เซ็นต์ ผมก็มาดูว่าฟิสิกส์เขาสอบอะไรกันบ้าง อย่างเช่น กลศาสตร์ พลังงาน โมเมนตัม ไฟฟ้า ซึ่งแต่ละเรื่องต้องใช้รูปทั้งนั้น ความท้าทายของผมอย่างแรกก็คือ ดูรูปภาพที่เป็นภาพนูนได้ช้ากว่าคนตาดี ถ้าเป็นคนตาดีก็สามารถดูรูปภาพแป๊บเดียวแล้วสามารถรู้ได้เลยว่ารูปภาพนั้นมีรายละเอียดไหนบ้าง เช่น ในรูปมีก้อนวัตถุอยู่ 3 ก้อน วัตถุเรียงกันในลักษณะแบบนี้ แบบนี้ คนที่มองก็จะมอบออกแล้วสามารถอธิบายได้เลย แต่คนตาบอดไม่สามารถทำได้ ถ้าคนตาบอดจะต้องดู คนตาบอดจะต้องคลำรูปจากล่องที่ 1 แล้วลูกสอนชี้ไปกล่องที่ 2 ถ้ากล่องที่ 2 ไม่มี ก็ต้องข้อยๆหาไปเรื่อย ๆ ซึ่งการที่ผมดูรูปได้ช้าก็ส่งผลให้ผมทำข้อสอบได้ช้าเช่นเดียวกัน พอผมรู้ผมก็เลยต้องหาวิธีคือ การที่จะเข้าวิศวจุฬาในปีที่ผ่านๆมาเขาคิดคะแนนกันยังไงบ้าง ผมก็ประเมินออกมาเลยว่า ถ้าผมจะทำได้นะคือ

1. gat ผมต้องได้เกือบเต็ม ซึ่งอันนี้ผมทำได้เพราะผมได้ gat 285
2. pat 3 นี่คือปัญหาของผมเลย ซึ่งผมต้องทำข้อสอบให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

ผมก็มาดูว่าคนอื่นเขาแก้ปัญหากันยังไง อย่างประเทศไทยยังไม่มีคนตาบอดสอบวิศวะเลย ผมเลยไปดูข้อมูลของต่างประเทศ ซึ่งการจัดสอบของต่างประเทศเขาให้เวลาคนตาบอดเพิ่ม แต่ประเทศไทยยังไม่ให้ ผมก็เลยเขียนหนังสือร้องเรียนไปยัง สทศ. เพื่อชี้แจงความจำเป็นไป แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธ ผมก็เลยมาวางแผนการสอบใหม่ ผมเองต้องวางแผนให้ตัวเองสามารถทำข้อสอบให้ได้ 210 หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ไวกว่าคนปกติ ซึ่งช่วงนั้นผมซ้อมทำข้อสอบค่อนข้างมาก และต้องวางแผนการทำในแต่ละข้อแบ่งให้ตัวเองชัดเจนว่า ข้อไหนควรทำก่อนหรือทำหลัง

ตอนเข้าเรียนที่คณะวิศวะ ความท้าทายแรกของผมก็คือ ผมเป็นคนตาบอดคนแรกที่เรียนวิศวะในคณะ และในประเทศ ดังนั้น วิธีการเรียนมันจึงไม่มีเลย จะพอมีบ้างก็จากรุ่นพี่ที่เรียนวิทยาการคอม ซึ่งวิธีการจากวิทยาการคอมนั้นก็สามารถใช้ได้กับวิชาคอมบางวิชาเท่านั้น ซึ่งมันไม่ควบคุมไปถึง ฟิสิกส์ เคมี แล็ปเคมี แล็ปฟิสิกส์ ผมก็ต้องมาหาแนวทางใหม่ ซึ่งก็โชคดีอยู่อย่างคือจุฬาค่อนข้างซับพอร์ตก็คือ ทางคณะได้ตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา 1 ชุดเพื่อมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายผม ฝ่ายอาจารย์ และฝ่ายอาจารย์ของอีกคณะ เพราะบางทีก็มีวิชาที่ต้องเรียนนอกคณะ เพื่อหาวิธีการว่า จะจัดสอบยังไง การสอบต้องเพิ่มเวลาไหม จะใช้มาตรฐานไหน ซึ่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่ออาจารย์โปรดปรานเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ ผมเองก็จะได้วิธีการเรียนจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งผมก็ต้องนำมาประยุกต์ใช้อีกที เพราะว่า วิชาเรียนมันไม่เหมือนกัน

ตอนนี้ผมกำลังศึกษาเรื่อง Network security เพราะมีความตั้งใจอยากจะเรียนปริญญาโทต่อ และอีก 5 ปีข้างหน้า ผมอยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ครับ ผมอยากจบปริญญาเอก แต่ตอนนี้ก็มีความสนใจอื่น ๆ เข้ามาด้วยเหมือนกัน

ผมอยากให้ลบภาพคนพิการที่มีอยู่ในหัวออกไปก่อน เพราะคนไทยชอบติดภาพคนพิการว่า คนตาบอดต้องใส่แว่นดำ ถือไม้เท้า ทำอะไรไม่ได้ ขอทาน ขายลอตเตอรี่ ซึ่งที่ผมกล่าวมาไม่ใช่ว่าคนตาบอดที่มีลักษณะอย่างนั้นจะผิดอะไรนะ แต่ภาพจำของคนไทยมักจะเป็นอย่างงั้น จริง ๆ แล้วคนพิการไม่ใช่เฉพาะคนตาบอด คนพิการก็รวมถึงคนพิการประเภทอื่น ๆ ด้วย ถ้าเรามารู้จักคนพิการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะรู้ว่าเขาทำอะไรได้หรือไม่ได้ก็ต้องให้เขาแสดงให้เห็นว่าเขาทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะตัดสินไปเอง”

#HidenAbility #VulcanCoalition #Vulcan
#คนพิการ #Empowering

--

--