DMS telemedicine บทความโดย Ruenrudee

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition
Published in
Jul 10, 2022

สวัสดีค่ะ เพื่อนท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกคน วันนี้พริกไทยมีสาระดี ๆ ที่จะมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่านทุกคนเช่นเคยนะคะ

.

เพื่อน ๆ เคยรู้สึกหงุดหงิดในการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ เพียงเพื่อต้องการปรึกษาอาการที่ไม่ค่อยรุนแรงบ้างไหมคะ เช่น อาการปวดหัว ตัวร้อน โดยเราต้องการไปหาเพื่อรับยามาทาน เพราะเราเชื่อว่าการรับยาจากแพทย์และได้บอกเล่าอาการที่เรากำลังเป็นให้แพทย์ฟังเป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่าการที่เราจะซื้อยามาทานเอง ถึงอย่างนั้นก็ตาม การเดินทางไปโรงพยาบาลสำหรับคนพิการ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐบาล ถ้าเราไม่มีญาติหรือบุคคลในครอบครัวติดตามไปด้วย พริกไทยรู้สึกว่ามันจะลำบากมากเลยทีเดียวค่ะ เพราะนอกจากการที่เราจะต้องใช้พลังต่อสู้กับอาการป่วยที่เรากำลังเป็นอยู่แล้ว เรายังต้องอดทนกับการใช้เวลาในการดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลอีกด้วย ยิ่งถ้าเป็นคนพิการด้วยแล้ว เรายิ่งจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเพื่อให้เราสามารถผ่านขั้นตอนต่าง ๆ จนสามารถเข้าไปพบแพทย์และรับยากลับมาได้ในที่สุด

.

ในยุคไทยแลนด์ 4.0 วงการแพทย์ได้นำเทคโนโลยีสำหรับการรักษาพยาบาลผ่านระบบออนไลน์มาใช้ทดแทนการเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ผ่านแอปพลิเคชั่นชื่อว่า DMS Telemedicine ซึ่งพริกไทยคิดว่ามีความเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันเป็นอันมาก เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงต้องระมัดระวังกันอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้เกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง การใช้จ่ายมีความจำเป็นต้องประหยัด วันนี้พริกไทยจึงอยากนำเสนอช่องทางพบแพทย์ด้วยวิธีออนไลน์โดยผ่านแอปพลิเคชั่นตัวนี้ค่ะ

.

DMS Telemedicine คือ การให้บริการออนไลน์ของกรมการแพทย์ (Department of Medical Services) ด้านสาธารณสุขและการแพทย์แก่ประชาชน โดยผู้ใช้จะสามารถพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ระบบ Video Conference โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค โดยที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้งสองฝ่าย เปรียบเสมือนการมารับบริการที่โรงพยาบาล

.

จากการใช้งาน พริกไทยพบข้อดีของ DMS TELEMEDICINE โดยสามารถสรุปเป็นหัวข้อหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 📌 ประการที่หนึ่ง “การเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา” โดยเฉพาะคนพิการอย่างพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นความพิการทางการเห็น หรือความพิการทางร่างกาย รวมไปถึงผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการซึมเศร้าระยะที่รู้ตัวเองและต้องการการรักษากับจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากพูดคุยกับแพทย์แล้ว ทางโรงพยาบาลจะจัดส่งยาที่แพทย์สั่งให้มาทางไปรษณีย์ ซึ่งในกรณีถ้าเป็นคนพิการ จะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการบริการทางไปรษณีย์ค่ะ เพียงแต่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเล็กน้อยจากการให้บริการทางไกลจากแพทย์เท่านั้น

.

📌 ประการที่สอง “บริการที่พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง” ไม่จำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้า (สำหรับกรณีการปรึกษาโรคทั่วไปที่ไม่มีอาการรุนแรงนะคะ) สำหรับการรักษาอาการทางจิตและโรคซึมเศร้า แพทย์จะทำการนัดหมายล่วงหน้าและมีการคัดกรองหรือประเมินอาการผ่านระบบคัดกรอง โดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลจะต้องกรอกรายละเอียดผ่านช่องทางที่โรงพยาบาลกำหนดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

.

📌 ประการที่ 3 “ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวม” เช่น ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางมาโรงพยาบาลและประหยัดเวลาในการรอ

.

📌 ประการที่ 4 “การเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ” ซึ่งถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์คนพิการที่อาจมีอุปสรรคทั้งการเดินทางและการดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลได้ดีทีเดียวเลยค่ะ

.

นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ไม่ว่าเราจะใกล้หรือไกลจากสถานพยาบาลมากแค่ไหน สำหรับท่านใดที่สนใจใช้บริการ DMS Telemedicine ก็สามารถลองสอบถามรายละเอียดกับสถานพยาบาลที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำได้เลย เพราะตอนนี้มีสถานพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทยที่มีบริการดังกล่าวแล้ว

.

สำหรับตอนต่อไป พริกไทยจะมาอธิบายวิธีใช้งานแอปพลิเคชั่น DMS TELEMEDICINE ตัวนี้ให้เพื่อนผู้อ่านทุกคนได้ทำความเข้าใจกันนะคะ บอกเลยว่าใช้งานได้ง่ายและเข้าถึงผู้พิการด้วยค่ะ รอติดตามได้เลยค่ะ

.

เขียนโดย : พริกไทย

#VulcanCoalition #DMSTelemedicine #Telemedicine #OnlineMedicine #Application

--

--

Joy Asawasripongtorn
Vulcan Coalition

Event Review Activist / Personal Finance Evangelist / Podcaster / Content Writer and Story Teller