จากเด็กที่ชื่นชอบเกม สู่การเป็นผู้ที่มี passion ด้าน HCI ‘พี่ตั๋งจากทีม Digital Labs’

WEDO
WEDO
Published in
2 min readJun 17, 2021

วันนี้ WEDO ชวนทุกคนมารู้จักกับพี่ตั๋งจากทีม Digital Labs ผู้ที่หลงใหลใน HCI หรือ Human Computer Interaction ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำชนิดที่ว่า เพียงแค่คิดก็สั่งการได้ เพราะคือการที่คอมพิวเตอร์และมนุษย์ทำงานอย่างมีปฏิสัมพันธ์กัน ครั้งนี้พี่ตั๋งจะมาเล่าเรื่องเส้นทางอาชีพของตัวเองที่เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจสายงานนี้แบบเจาะลึกผ่าน D2D เวทีแห่งการแชร์ passion ของ WEDO ให้ทุกคนได้ฟัง

เส้นทางกว่าจะมาเป็นผู้ที่หลงใหลด้าน HCI

พี่ตั๋งเล่าว่าจุดเริ่มต้นคือพี่ตั๋งเป็นเด็กที่ชื่นชอบเกมอย่างมาก เนื่องจากพี่ตั๋งเป็นลูกคนเดียว พ่อแม่คงอยากให้อยู่นิ่งจึงซื้อเครื่องเล่นเกมมาให้ ซึ่งเกมที่ชอบสุดก็คือ Harvest Moon และไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับเกมนี้ทุกเล่ม และคอยอ่านว่ามีสูตรอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้บ้าง จนกระทั่งเข้าสู่ ยุคของเกมคอมพิวเตอร์ อย่าง Sim City เกิดขึ้น หรือเกมจำพวก Sandbox ชนิดที่ว่าเราออกแบบชีวิตหรือพื้นที่ของเราเองได้อย่างอิสระ ทำให้มีความคิดว่าอยากจะสร้างเกมแบบนี้ ด้วยความชอบนี้ทำให้ตัวเองได้ฝึกทักษะด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์ไปโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่การแอบโหลดเกมที่ตัวเองอยากเล่น และติดตั้งลงในเครื่องของแม่ที่ทำงาน เพราะตอนนั้นที่บ้านยังไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง

สมัยก่อนพี่ตั๋งยังไม่รู้ว่าเกมสร้างอย่างไร แต่รู้ว่ามันสวยเลยทำให้สนใจเข้าเรียนในด้านศิลปะช่วงมัธยมปลาย เรียนตั้งแต่การวาดภาพไปจนถึงถ่ายรูป ซึ่งในขณะนั้นก็มีเกม online อย่าง Ragnarok เกิดขึ้น จากจุดนั้นเริ่มรู้แล้วว่าจะต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เลยเริ่มศึกษาวิธีและเขียน bot ขึ้นมา จนเริ่มเข้าใจว่าเราควรจะต้องไปเรียนด้าน Computer Science เรียกได้ว่าเป็นคนเดียวในฝั่งศิลปะที่ไปเรียนในด้าน Computer Science เลยต้องเตรียมพร้อมอย่างเข้มข้น เมื่อได้เข้าเรียนแล้วก็ยังไม่เจอวิชาที่เกี่ยวกับเกมซะที จนกระทั่งในปีสามได้เรียนวิชา interaction design ทำให้พี่ตั๋งสนใจอย่างมาก จึงไปปรึกษาอาจารย์ว่าอยากจะทำเกม โดยอาจารย์ตั้งคำถามกลับมาว่า เกมจะมีประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

พี่ตั๋งกลับมาคิดต่อที่บ้าน และก็คิดได้ว่าคุณแม่ซึ่งทำงานเกี่ยวยาและวิธีการใช้ยา มักจะพบกับปัญหาเรื่องผู้คนไม่เข้าใจการใช้ยา เลยทำเกมที่ช่วยให้คนรู้จักการใช้ยาแต่ละประเภทและนำไปส่งประกวด สุดท้ายก็เข้ารอบและได้รับรางวัล รวมถึงได้เงินรางวัลอีกด้วย นับว่าเป็นเงินก้อนแรกจากการพัฒนาโปรแกรม

หลังจากเรียนจบก็มาทำบริษัทพัฒนาเกมเพื่อสอนเด็ก โดยใช้แฟลช (Adobe Flash) ซึ่งเกมแฟลชนี้ถือว่ามีความนิยมอย่างมากในยุคหนึ่ง เกมสมัยก่อนที่ทำมักเป็นเกมที่ยิงบอลให้ถูกสี ซึ่ง ได้ออกแบบเกมภาษาสอนภาษาอังกฤษที่คล้ายคลึงกับแบบนี้ด้วยในระหว่างนั้น หลังจากนั้นแนวเกมก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง พี่ตั๋งเริ่มเข้าทำงานเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนของแพทย์ โดยช่วงแรกทำเรื่องระบบ learning system ซึ่งตอนนั้นเกมยังไม่เป็นที่ยอมรับ จึงทำวิดีโอขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นวีดีโอ 3D โดยวีดีโอตัวนี้ประสบความสำเร็จและถูกนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารที่มีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ทำให้ในโรงเรียนแพทย์เริ่มสนใจในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อ พี่ตั๋งจึงได้รับโอกาสไปเรียนต่อในเรื่อง Game Technology และ Gamification ซึ่งตอนเรียนปริญญาโท พี่ตั๋งก็ได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยที่ญี่ปุ่น โดยร่วมทำวิจัยในเรืองการบริหารจัดการการย้ายข้อมูลเมื่อมีการเกินภัยธรรมชาติ เช่น แผนดินไหว หรือน้ำทวมที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่าน การเรียนรู้ด้วยเกม เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานวิจัยและกิจกรรมที่เกิดขึ้น และผลการทดลองพบ ว่าคนที่ใช้เกม สามารถ เข้าใจเนื้อหาที่มีความซับซ้อนได้ดีพอ ๆ กัน หรือมากกว่าการเรียนรู้แบบเดิม ซึ่งงานวิจัยนี้ยังสามารถคว้ารางวัลจากงานประชุมที่สิงคโปร์ได้อีกด้วย

Pediatric Advanced Life Support (PALS)

หลังจากเรียนจบ พี่ตั๋งก็กลับมาทำงานเรื่อง learning technology ให้กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งพี่ตั๋งได้ทำการจำลองเกมขึ้นมาสำหรับนักศึกษาแพทย์เพื่อช่วยในส่วนของการเรียนรู้ในการทำงานเมื่อรักษาคนไข้

จนในที่สุดก็ขยับสายงานอีกครั้งสู่ WEDO โดยเริ่มต้นที่การถูกชวนให้มาทำ VR หรือ AR เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ได้เจอโจทย์แรกสุดท้าทายเลยคือ HCI ซึ่ง HCI คือการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ ว่าเราต้องการอะไร เช่น การสั่งงานด้วยเสียง หรืออย่างเช่น AR VR ก็ถือเป็นหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งของ HCI รวมไปถึง biomatric แบบ apple watch ที่จับคลื่นหัวใจ พอได้มาทำ HCI ก็เหมือน connect the dot เพราะประกอบไปด้วยสิ่งที่ตัวเองเรียนมา

โดยปัจจุบันนี้พี่ตั๋งกำลังทำ Smart Mirror อยู่ด้วย รอติดตามกันได้เลย นอกเหนือจากโปรเจกต์นี้แล้วพี่ตั๋งก็ยังดูแลโปรเจกต์ BCI (Brain Computer Interface) อยู่ด้วย

BCI ฟังดูแล้วไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่คิด ช่วงหลังมานี้มีองค์กรใหญ่ ๆ ต่างให้ความสนใจในการลงทุนด้านนี้ BCI คือ subset หนึ่งของ HCI หลักการก็คือสมองของเราจะมีคลื่นความถี่ออกมาในลักษณะต่างๆ แตกต่างกันไปตามกิจกรรมที่เราทำอยู่ขณะนั้น เช่น การคิดการพูด ก็จะมีคลื่นลักษณะนึง ในระหว่างที่เราอยู่เฉย ๆ คลื่นก็จะออกมาในอีกลักษณะนึง และปรับเปลี่ยน ไปตามสิ่งที่ทำอยู่ พอเรารู้ว่าสมองทำงานอย่างไรแล้ว ก็จะมีเครื่องมือที่เรียกว่า EEG มาจับคลื่นเหล่านั้น และส่งต่อไปให้ คอมพิวเตอร์วิเคราะห์และประมวลผลต่อไป

พี่ตั๋งเล่าต่อไปว่า สมองแบ่งเป็นหลายส่วนในการทำงาน เช่น ส่วนหน้าควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ส่วนกลาง ควบคุมการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัส แต่ส่วนที่เราจะโฟกัสคือส่วนหลังหรือ occipital lobe เพราะจะทำงานในส่วนของการมองเห็น ซึ่ง เราใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า Nextmind อุปกรณ์จับคลื่นสมอง ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเรามองจุดไหนอยู่ ผ่านสมองส่วนการมองเห็น ฟังแล้วดูสุดล้ำเลย ซึ่งทั้งหมดนี้คืองานที่พี่ตั๋งกำลังทำอยู่

เทคนิคสำคัญที่ทำให้พี่ตั๋งได้ทำงานที่ตัวเองมี passion อย่างงานในด้าน HCI, BCI

  1. ช่างสังเกต ช่างสงสัยกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบโอกาส จากสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ก็เป็นได้
  2. รักในการค้นคว้า ทดลอง อะไรที่ดูเป็นไปได้ยาก ก็มีทางเป็นไปได้ หากเราศึกษา ค้นคว้าดูอย่างจริงจัง
  3. มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ถ้าใจพร้อม ก็จะพร้อมสู้เพื่อสิ่งที่เราสนใจและมี passion จริง ๆ

ฟังแล้วก็รู้สึกเต็มเปี่ยมไปด้วย passion เพราะพี่ตั๋งได้เล่าให้ฟังย้อนไปตั้งแต่วัยเด็ก นี่สินะที่บอกว่าใช้ passion นำทาง จากคนชื่นชอบเกม เรียนด้านศิลปะ สู่การทำงานด้านคอมพิวเตอร์ที่ล้ำสุด ๆ ใครมี passion กับสิ่งไหนก็รีบเดินตามฝันและสู้เพื่อ passion กันนะ WEDO ขอเป็นกำลังใจให้ และครั้งหน้าจะมีใครมาแชร์เรื่องราว passion ให้ฟังกันอีกติดตามในเพจไว้ได้เลย

--

--