เปิดมุมมองทีมงานผู้ออกแบบ 13 Hell Weeks ทำงานจริง เรียนรู้จริง และเจ็บจริง จาก WEDO Young Talent Program 2022
หลังจากที่น้อง ๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ WEDO Young Talent Program ได้ฝ่าด่านการคัดเลือกสุดโหด ตั้งแต่ Online Bootcamp, Video Audition และ Hell Day ด่านประลองสุดโหดแบบ non-stop ตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วง Hell Weeks จำนวน 13 สัปดาห์ มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ทำไมต้อง 13 สัปดาห์และในแต่ละสัปดาห์น้อง ๆ จะได้เจออะไรบ้าง
จากพี่ ๆ WEDO กว่าร้อยคนตั้งแต่ CDO ไปจนถึง staff ที่ร่วมดูแลโครงการนี้ วันนี้พี่ ๆ ทั้ง 4 คนมาเป็นตัวแทนเปิดมุมมองโครงการ WEDO Young Talent Program 2022 ทั้ง 13 สัปดาห์ จากฝั่งทีมงานให้ทุกคนได้ฟัง ทั้งจากพี่เบล ผู้วางแผนเนื้อหาสำหรับน้อง ๆ ตลอด 13 สัปดาห์ รวมไปถึงพี่แนนด์ พี่อุ๋ย และพี่กัส ทีมงานที่คอยดูแลภาพรวมโครงการ ดูแลผู้เข้าร่วมและกิจกรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นตลอดการเดินทางของน้อง ๆ ว่าจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ถ้าพร้อมแล้วไปติดตามกันได้เลย!
ก่อนอื่น ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ช่วง Hell weeks ของโครงการ WEDO Young Talent Program 2022 คืออะไร?
พี่แนนด์: เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของ WEDO Young Talent Program ที่ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกมารับโจทย์ทำงานจริงในรูปแบบ Innoprise (Innovation + Micro Enterprise) และเจ็บจริง ซึ่งเราจะไม่ treat น้องเป็นเด็กหรือน้องฝึกงานแต่เราจะ treat ทุกคนเป็น talent ที่มีศักยภาพที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว มาตั้งแต่ Bootcamp, Video Audition และ Hell Day
พี่อุ๋ย: ในช่วงนี้ของโครงการ น้อง ๆ จะได้จับกลุ่มลงมือทำโปรเจ็คจริง ๆ ได้ค้นคว้าหาข้อมูล ลงพื้นที่สัมภาษณ์ คิด Design, Technology, และ Business Model ในหัวข้อที่ตนเองสนใจ เหมือนการทำงานของจริงเลย พี่มองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่น้องทุกคนจะได้ลงมาทำตรงนี้
พี่กัส: เป็นช่วงประมาณ 3 เดือนสุดท้ายก่อนจบโครงการ ที่น้องทุกคนจะได้จับกลุ่มร่วมกันสร้างนวัตกรรมขึ้นมาจริง ๆ โดยมีพี่ ๆ WEDO จากทุกสายที่พร้อมมาสนับสนุนไอเดียของทุกคนให้สามารถเกิดขึ้นได้ มั่นใจมาก ๆ ว่าผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้ค้นพบศักยภาพอันเหลือเชื่อของตัวเองแน่นอนค่ะ
ทำไมต้องเป็น Hell weeks ที่ยาวนานถึง 13 สัปดาห์?
พี่แนนด์: จริง ๆ ปีที่แล้วเราทำ 10 weeks แต่เวลาทำงานของน้องค่อนข้างกระชั้นชิด ทางทีมงานเลยคุยกันว่า ปีนี้เราน่าจะขยับเพิ่มมาอีก 3 สัปดาห์เพื่อให้น้อง ๆ ได้มีเวลาทำงานกันมากขึ้นค่ะ
พี่กัส: เวลาเราไปสมัครงานที่ไหน บริษัททั่ว ๆ ไปเขาจะดูว่าพนักงานคนไหนผ่านโปรหรือไม่ผ่านโปร เขาก็ให้โอกาสพนักงานคนนั้น ๆ ทดลองงานประมาณ 3 เดือน จึงคิดว่าช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนหรือ 13 สัปดาห์ นี้แหละค่ะ เป็นเวลามาตรฐานสากลที่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้โชว์ศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่
ในช่วงของ Hell weeks มีการจัดแบ่งกิจกรรมออกเป็นกี่ช่วง น้อง ๆ จะได้พบกับอะไร และได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง?
พี่เบลล์: ในการสร้างนวัตกรรมแบบ WEDO เรามี 3 ปัจจัยหลักที่คำนึงถึง คือ Desirability, Practicality, และ Feasibility ซึ่ง 3 ปัจจัยนี้ก็เป็นสิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้และได้ลองฝึกฝนในโครงการนี้
อย่างแรกคือ Desirability เราจะเน้นเสมอว่านวัตกรรมต้องมีคนอยากใช้ อยากได้ และมีคุณค่าจริง ๆ และในการจะรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เราจะต้องระบุให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร เขาต้องทำอะไรบ้าง มีจุดมุ่งหมายคืออะไร มีปัญหาอะไร หรือมีจุดไหนที่เราสามารถเพิ่มประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้เขาได้บ้าง ในขั้นตอนนี้ การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งสำคัญมาก สิ่งที่น้อง ๆ จะได้เรียนรู้คือ ทักษะในการฟังเชิงลึก และการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสถานการณ์ ปัญหา ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งที่สำคัญสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ จากจุดนี้ น้อง ๆ จะได้ลองคิดและออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เหล่านั้นให้ได้
ต่อมาคือ Practicality นอกจากจะสามารถคิดและออกแบบการแก้ปัญหาได้แล้ว ไอเดียนั้นต้องทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วย ทั้งในแง่การใช้งาน และในแง่ธุรกิจ น้อง ๆ จะได้ลองคิด Business Model และออกแบบการทำงานและเข้าถึงตลาดของนวัตกรรมที่ตนเองได้ออกแบบมา
และอย่างสุดท้าย Feasibility น้อง ๆ จะได้ลองทำต้นแบบ และทำกระบวนการทดสอบต้นแบบนี้ว่าสามารถทำงานได้จริงตามที่ออกแบบไว้และตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ หรือไม่ ภายใต้แนวคิด Lean Startup
สิ่งที่ท้าทายในการออกแบบ WEDO Young Talent Program 2022 สำหรับปีนี้ คืออะไร?
พี่เบลล์: สำหรับโครงการนี้ เราตั้งใจให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะในการทำงานและในการสร้างนวัตกรรมผ่านแนวคิด Design Thinking ซึ่ง WEDO เองมีเนือหาและหลักสูตรที่เข้มข้นมาก และมีพี่ ๆ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านคอยสนับสนุนและช่วยน้อง ๆ เสมอ ขณะเดียวกันเราก็อยากให้ทุกคนได้ลองผิดลองถูก ได้พยายามหาทางออกเอง และได้มีโอกาสเติบโตจากการเรียนรู้การทำงานแบบมี ownership จริง ๆ การ balance ระหว่างการแนะแนวทางหรือการให้ coaching ที่ไม่มากเกินไป กับการปล่อยให้น้อง ๆ ได้ลองทำเอง มีอิสระในความคิด และการทำงานของตนเองจึงสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายค่ะ
มีวิธีในการดูแลผู้เข้าร่วมโครงการ พร้อมกันทั้ง 47 คน อย่างไรบ้าง?
พี่อุ๋ย: อุ๋ยกับกัสแบ่งกันดูแลกลุ่มน้อง ๆ กันคนละครึ่ง เพื่อที่จะดูแลน้อง ๆ ทั้งหมดได้อย่างใกล้ชิดและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ช่วยดูแลส่วนของเอกสารในโครงการ เช่น การมาเยี่ยมชมของอาจารย์ของมหาวิทยาลัย และเอกสารขอฝึกงานต่าง ๆ มีเข้าไปสังเกตการณ์เวลาน้องประชุมบ้าง เพื่อติดตามความคืบหน้า พยายามช่วยซัพพอร์ตทุกคน กรณีเมื่อน้องมีคำถามหรืออยากปรึกษาอะไร สามารถทักมาได้ตลอด ช่วยได้จะช่วยทันทีเลย
พี่แนนด์: ในส่วนของแนนด์จะดูภาพรวมของโครงการทั้งหมด ส่วนการดูแลน้องแบบใกล้ชิดจะเป็นพี่อุ๋ยและพี่กัสที่ได้คลุกคลีกับน้องมากกว่าค่ะ แต่พวกเราก็มีอัพเดตประจำรายสัปดาห์อยู่เสมอ ว่าตอนนี้แต่ละทีมเป็นอย่างไร ติดปัญหาตรงไหน ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง
พี่กัส: กัสกับอุ๋ยจะแบ่งกันค่ะ กัสดูแลกลุ่ม 1–6 อุ๋ยดูแลกลุ่ม 7–11 นอกจากเรื่องคำแนะนำ เอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ การเตรียมสถานที่ และคอยเช็คความคืบหน้าของแต่ละกลุ่มแล้ว ทุกวันนี้พวกเราทั้ง 3 คนเหมือนพี่คนนึงที่น้อง ๆ ไว้ใจและพร้อมวิ่งเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิตส่วนตัวด้วยค่ะ ซึ่งเราไม่ได้ก้าวก่ายน้องทุกคนนะคะ แต่อยู่ตรงนี้เสมอเวลาที่มีใครต้องการ
คาดหวังอะไรหลังจากน้อง ๆ อยู่กับเราครบทั้ง 13 สัปดาห์ และนำไปสู่การวางแผนเนื้อหาที่จะใช้สอนอย่างไร?
พี่เบลล์: การทำงานจริงมันต่างจากตอนที่เราเป็นนักเรียนมาก เราอยากให้น้อง ๆ ได้เห็นถึงจุดนี้และได้ตระหนักถึงข้อแตกต่าง เพื่อสามารถเตรียมและฝึกฝนตนเองสำหรับการทำงานจริงในอนาคตได้ โดยสำหรับเราเอง ข้อแตกต่างข้อใหญ่เลย คือ ownership
เพราะการที่เรามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงานนั้น ทำให้เราเองอยากจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานของเราสำเร็จ และในชีวิตจริง หนทางสู่ความสำเร็จนั้นไม่ได้มีใครมาบอกเราเลยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง ถ้าเทียบกับตอนเป็นนักเรียนแล้ว จะค่อนข้างต่างกันมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วคุณครูจะคอยบอกนักเรียนว่า ให้นักเรียนทำอะไร 1 2 3 4 5 และหน้าตาของสิ่งที่ต้องส่งคุณครูคืออะไร จะให้คะแนนแบบไหน ถ้าทำมาแบบนั้นก็คือดี แต่ในการทำงานจริง ไม่มีใครมาบอกเราได้ตลอดว่าคุณทำตาม step 1 ถึง 5 สิ และงานคุณก็จะสำเร็จ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการได้โจทย์มากกว่า และเราเองต้องทำงานตามโจทย์นั้นออกมาให้สำเร็จให้ได้ นี่จึงเป็นที่มาของรูปแบบโครงการ WEDO Young Talent Program ของเราเลย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ไม่ได้จะปล่อยให้น้อง ๆ คิดและทำทุกอย่างเอง ในทางกลับกัน เราเตรียมพร้อมเป็นอย่างมากในการจัดเตรียมประสบการณ์ และขั้นตอนในการเพิ่มความสามารถและศักยภาพของทุกคน ซึ่งในโปรแกรมนี้ เราออกแบบบนพื้นฐานของแนวคิด Design Thinking เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ปรับใช้ได้ดีกับการทำโจทย์ด้านนวัตกรรมของเรา และเป็นแนวคิดและทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีในการทำงานจริง ๆ
สุดท้ายนี้ อยากให้พูดถึงโครงการ WEDO Young Talent Program 2022 ในช่วง Hell weeks ภายใน 1 ประโยค จะพูดว่าอะไร?
พี่อุ๋ย: ทำงานจริง เหนื่อยจริง ได้ประสบการณ์จริงจ้า
พี่แนนด์: Hell weeks ทั้งพี่ ทั้งน้อง!
พี่กัส: Congratulations น้อง ๆ ทั้ง 47 คน ที่ผ่านเข้ามาถึงตรงนี้ ขอบคุณที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดเกือบครึ่งปีนะจ๊ะ!
เป็นยังไงกันบ้างกับเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานแบบจัดเต็มจากทีมงานผู้ออกแบบการทำงานจริง ในโครงการ WEDO Young Talent Program 2022 ที่เรียกได้ว่าทีมงานได้เตรียมงานกันมาอย่างดีและใส่ใจกับผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการคัดเลือกสุดหินทั้ง 47 คนเป็นที่สุด และสำหรับที่อยากเอาติดตามและเอาใจช่วยให้น้อง ๆ ให้ผ่านช่วง Hell Weeks ทั้ง 13 สัปดาห์ไปได้ อย่าลืมมาติดตามกันที่
Facebook page: WEDOtheofficial
LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/wedotheofficial
Tiktok: https://www.tiktok.com/@wedotheofficial
เรียบเรียงโดย ทูทู ธยาน์ อังธนานุกุล Digital Content and Campaign Specialist, WEDO