เผยความท้าทายของสายงาน ‘Business Partnership’ และ skills สำคัญที่ต้องมี! กับพี่แพม ทศพร

WEDO
WEDO
Published in
3 min readMar 22, 2023

เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบัน มีโอกาสที่จะถูก disrupt ได้ง่าย องค์กรจะมีวิธีการอย่างไรในการทำให้แน่ใจว่าองค์กรยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถทำกำไรได้และยังสามารถหล่อเลี้ยงบริษัทต่อไปได้ แม้จะเกิดการ disruption ในอนาคต นอกจากการสร้างธุรกิจต่อยอด และธุรกิจใหม่ขึ้นมาแล้วนั้น ‘partnership’ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญเช่นกัน สำคัญในแง่ใดและมีความท้าทายอย่างไร มาฟังจาก พี่แพม ทศพร อุทัยวัฒนา Head of Digital Strategic Partnership, SCG Digital กันได้เลย!

Business Partnership เป็นงานแบบใด ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง

พี่แพมเล่าว่า ทีม Business Partnership ของ SCG Digital จะเน้นไปที่เรื่องของการหา partner เพื่อร่วมมือกันในการสร้างสินค้า หรือโปรเจกต์ต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาโดยหน้าที่ของทีม partnership จะแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ

Academic Partnership — การร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อนำเอางานวิจัยต่าง ๆ มาต่อยอดและผลักดันให้เกิดนวัตกรรม สินค้า และบริการที่ออกสู่ท้องตลาดได้จริง
Co-innovation — การร่วมมือระหว่าง partner ที่หาจุดแข็งมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือหาจุดที่แตกต่างกัน เช่น คนละธุรกิจเพื่อที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ
Investment & Due Diligence — เพราะ WEDO เป็นหน่วยงานผู้สร้างนวัตกรรม เมื่อค้นพบธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความรู้ความสามารถด้าน deep tech จึงมีการลงทุนกับธุรกิจนั้น ๆ แต่เพื่อสร้างธุรกิจ ทำวิจัยร่วมกัน เพื่อให้ได้ออกมาเป็นสินค้าและบริการใหม่ ๆ
Tech Consultation & Implementation — WEDO ไม่ได้ช่วยเพียงการ transformation หรือ innovation ให้ภายใน SCG อย่างเดียว แต่มีให้บริการเหล่านี้ให้กับ partner บางส่วนอีกด้วย

ภาพจากงาน Toshiba x WEDO Open House

แรงบันดาลใจของพี่แพม ในการทำงานด้าน Business Partnership

คำว่า “แรงบันดาลใจ” ในนิยามของพี่แพม ไม่ได้หมายถึง passion แต่เป็น ambition โดยพี่แพมมองว่า คนเราจะทำสิ่งใดให้สำเร็จจะต้องมีทั้งความคิดด้านบวกและแรงกดดันเพื่อเป็นการกระตุ้นบ้าง ดังนั้น ambition ที่ทำให้พี่แพมมาทำงานด้าน Business Partnership จึงเริ่มต้นจากความท้าทาย หลากหลาย ซึ่งคนที่จะทำงานนี้ได้สิ่งที่ต้องมีความรู้รอบด้าน อาจจะไม่รู้ลึกแต่อย่างน้อยก็ต้องมีพื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถคุยกับ partner ได้อย่างเข้าใจนั่นเอง

“การที่เราอยากจะเป็นคนที่มีความรู้รอบ เหมาะสมกับตำแหน่งที่ทำหลายด้านขนาดนี้
จึงต้องพยายามตื่นตัวและเรียนรู้ให้ได้มากยิ่งขึ้นจนเก่งมากพอที่จะทำ”

ความท้าทายของการเป็น Business Partnership และวิธีรับมือ

พี่แพมมองว่า Business Partnership มีความท้าทาย 2 ด้าน ทั้งในด้านการบริหารจัดการงานด้วยตัวเอง และด้านการเป็น leadership ของทีม

พี่แพมเล่าถึงมุมที่ต้องบริหารงานด้วยตัวเองว่า ความท้าทายอยู่ที่การต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า partner ต้องการสิ่งใด และเราสามารถให้สิ่งนั้นกับอีกฝ่ายได้มากหรือน้อยเพียงใด โดยต้องมองหา mutual benefits ร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายให้ได้ พี่แพมจึงต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุดด้วยการเข้าไปศึกษาธุรกิจของ partner ทั้ง พันธกิจ วิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ รวมไปถึง pain point สำคัญที่ทำให้อีกฝ่ายยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จากนั้นจึงเปลี่ยน pain point เหล่านั้นให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เราต้องการจะเดินหน้าต่อ รวมไปถึงใช้เครื่องมือต่าง ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ partner สามารถสื่อสารให้เราเข้าใจได้ว่าเราเลือกถูกจุด โดย Business Partnership ยังต้องบริหาร stakeholder ด้วย เพราะในการคุยงานจะมี effort 2 สิ่งคือ resource ที่อีกฝ่ายให้คนมาทำสิ่งนี้ร่วมกับเรา และเงินที่จะต้องมีการลงทุน ซึ่งหมายรวมไปถึงเรื่องของเวลาด้วย

สำหรับในมุมของการเป็น leader พี่แพมมองว่า เพราะงานด้าน Business Partnership แบ่งออกเป็น 4 ด้านที่มีความหลากหลาย การหา talent ผู้ชำนาญในด้านต่าง ๆ เข้ามา จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถทราบได้ว่าแต่ละโปรเจกต์ที่เข้ามาจะเป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับอะไร ดังนั้น ทีม partnership จึงจำเป็นต้องมีคนที่เก่งรอบด้านเข้ามาเสริมทัพ ไม่ว่าจะเป็น finance, software, hardware โดยเฉพาะ IoT และ smart device พร้อม ๆ กันนั้น พี่แพมยังจำเป็นต้องกระจายงานต่าง ๆ ให้น้อง ๆ ภายในทีมให้ได้เท่า ๆ กัน เพื่อป้องกัน workload และเพื่อเป็นการพิสูจน์ฝีมือของน้อง ๆ ปู career path ให้กับทีม และให้น้อง ๆ สามารถเรียนรู้ได้ในหลาย ๆ ด้าน และและตอบคำถามตัวเองได้ว่าต่อไปอยากจะทำอะไร

ภาพจากงาน Techsauce Global Summit 2022

อยากทำ Business Partnership ต้องมี skills อะไรบ้าง

ทักษะแรกที่พี่แพมนึกถึงสำหรับการทำงานด้าน Business Partnership คือ การจัดลำดับความสำคัญ และ การบริหารจัดการ พี่แพมยกตัวอย่างถึง partner ที่เข้ามาว่ามีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องจัดลำดับให้ได้ว่า เมื่อไหร่ควรจะเร็ว เมื่อไหร่ที่สามารถรอได้ สามารถจัดลำดับได้ว่าทำไมต้องรีบคุยกับรายนี้ก่อน ต้องรีบปิดดีลก่อนเพราะอะไร ในขณะที่ partner อีกรายที่แบรนด์ใหญ่มาก เราอยากคุยด้วยมาก แต่หากไม่ใช่ roadmap ที่ต้องคุยตอนนี้ จะทำอย่างไรเพื่อชะลอให้เขายังอยู่ใน track ต่อไป ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญจึงต้อง match กับกลยุทธ์ขององค์กรว่าจะไปในทิศทางใด เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเรามี partner มากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารทั้งความสัมพันธ์ของทุก ๆ ฝ่าย รวมไปถึงการรักษาความลับ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ รวมไปถึงจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมสำหรับทุกฝ่ายให้ได้นั่นเอง

พี่แพมยังเสริมว่า ทักษะการให้คำปรึกษา เป็นอีกสิ่งที่มีประโยชน์ในการทำงาน เพราะสิ่งแรกที่ทำให้ partner เชื่อเรา คือ ความมั่นใจและไว้ใจว่าเราจะทำงานให้เขาได้หรือไม่ ดังนั้นทักษะการให้คำปรึกษา การจัดลำดับการตอบคำถาม การเรียงคำตอบ การพูดคุยที่เป็นเชิงการให้ข้อมูล เป็นส่วนสำคัญ นอกจากนั้น การเป็น Business Partnership ยังควรที่จะต้องมีทักษะการทำเสนอ รวมไปถึงทักษะการขายด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุด ควรขายตัวเองและองค์กรได้ว่าเราเจ๋งอย่างไร และทำไมคุณถึงต้องเลือกเรา รวมไปถึงทักษะสุดท้าย คือ การคิดเชิงโครงสร้างและการคิดวิเคราะห์ เพื่อที่จะสามารถจัดเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งทีอีกฝ่ายพูด และวิเคราะห์ถึงเหตุผลต่าง ๆ ของ partner ระหว่างการสนทนาได้

Business Partnership มีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร

เพราะในปัจจุบัน ธุรกิจมีโอกาสที่จะถูก disrupt ได้ง่าย พี่แพมยกตัวอย่างธุรกิจของ SCG ที่หลายคนมีภาพจำว่าเป็นธุรกิจปูนและผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แต่หากในวันใดวันหนึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้การสร้างบ้านไม่ต้องฉาบปูนแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้ซื้อหุ้น หรือ stakeholder ต่าง ๆ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาน่านน้ำใหม่ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า หากวันหนึ่งที่ธุรกิจหลักถูก disrupt ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถทำกำไรและหล่อเลี้ยงบริษัทต่อไปได้ และการเกิด digital disruption จึงเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการทำ partnership ในการตามหาผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มาช่วยกัน เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์หรือสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับ SCG ได้ นี่จึงเป็นบทบาทของ Business Partnership ต่อองค์กรนั่นเอง

ภาพจากงาน Techsauce Global Summit 2022

แนะนำน้อง ๆ ที่สนใจงานด้าน Business Partnership ที่ SCG Digital

พี่แพมแนะนำน้อง ๆ ที่สนใจอยากมาทำงานที่ WEDO ในด้าน Business Partnership ว่า ควรเป็นคนที่ชอบอะไรใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับกระบวนการทำงานแบบเดิม ๆ เพราะการอยู่ในองค์กรที่ทำนวัตกรรม โปรเจกต์แต่ละโปรเจกต์ที่เข้ามาจะไม่สามารถใช้วิธีเดิม ๆ ได้ทุกครั้ง ต้องมีการคิดใหม่ ตั้งโจทย์ใหม่อยู่เสมอ

นอกจากนั้น น้อง ๆ อาจจะต้องมีพื้นฐานในเรื่องการสื่อสาร การเจรจาต่อรอง โปรแกรมต่าง ๆ เช่น Excel หรือการทำ presentation เพราะการมีพื้นฐานที่แข็งแรงจะสามารถต่อยอดไปทำอะไรได้อีกมากมายเลยทีเดียว

และพี่แพมยังทิ้งท้ายว่าตอนนี้ทีม Business Partnership กำลังมองหาสมาชิกใหม่มาเสริมทีมใน 2 ตำแหน่ง คือ

Strategic Partnership ที่มีประสบการณ์ด้าน software hardware development finance business development เคยอยู่ในงานของ tech consultant หรือ tech company มา แม้จะไม่เคย implement โดยตรง แต่เข้าใจใน terminology ก็สามารถส่ง CV มาได้ ที่ join.wedo@scg.com

Strategic Partnership ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่หากคิดว่าตัวเองเป็น talent ที่มีความสามารถและสนใจงานนี้ก็สามารถส่ง CV พร้อมบอกสิ่งที่ตัวเองสนใจเข้ามาที่ join.wedo@scg.com เช่นกัน!

และนี่ก็คือเรื่องราวความท้าทายของพี่แพม ในบทบาท Head of Digital Strategic Partnership ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรม สินค้า และบริการใหม่ ๆ ให้กับ WEDO และ SCG รวมไปถึงอีกหลายธุรกิจเลยทีเดียว และสำหรับครั้งหน้า WEDO จะมีเรื่องราวดี ๆ จากใครมาแชร์ให้ฟัง อย่าลืมกดติดตาม Medium ของ WEDO ไว้ได้เลย!

เขียนโดย ธยาน์ อังธนานุกุล, Digital Content & Campaign Specialist, WEDO

--

--