ภาษีเงินได้ เรื่องง่ายๆ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้ | วันนี้มีอะไร EP.3

Warittaya W.
WeLoveBug dot Com
Published in
4 min readAug 1, 2023

“วันนี้มีอะไร” เป็นบทความพิเศษที่ผู้เขียนขอมาแชร์เรื่องราวที่ได้ประสบพบเจอผ่านการสอดแทรกความรู้ ความบันเทิง ไลฟ์สไตล์ ข้อคิดและมุมมองของผู้เขียนให้ทุกท่านได้อ่านและพูดคุยร่วมกัน

Image by Author

“ภาษีเขาเสียกันยังไงนะ?” “แล้วเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะเริ่มเสียภาษีล่ะ?” “ภาระทางบ้านก็เยอะยังจะต้องเสียภาษีอีกหรือ?” นานาสารพันปัญหาเรื่องภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะ First Jobber หรือมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ ที่ควรจะเป็นเรื่องพื้นฐานในการทำงานเลยก็ว่าได้ เนื่องด้วยรายได้ที่จำนวนน้อย อีกทั้ง เรื่องภาษีมิได้ถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จึงทำให้ถูกมองข้ามและยกให้เป็นเรื่องไกลตัวไปซะอย่างนั้น

หากพูดคำว่า “ภาษี” ทุกคนมักจะนึกถึงคำว่า “รายจ่าย” ใช่ไหมคะ แต่ทุกคนรู้ไหมว่า หากเราสามารถบริหารและจัดการวางแผนภาษีได้จะทำให้เราสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้เช่นกัน ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสียและรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่าเสียก่อน

ภาษีคืออะไร

ภาษี (Tax) คือ เงินตราหรือทรัพย์ที่ประชาชนต้องนำส่งให้กับรัฐหรือสถาบันที่มีหน้าที่เทียบเท่ากับรัฐทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อนำเงินตราหรือทรัพย์ที่เก็บได้จากประชาชนมาใช้ในการบำรุงผลักดันและสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งภาษีเหล่านี้จะถูกนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในระบบราชการ สาธารณูปโภคและพัฒนาประเทศต่อไป

ภาษีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

  1. ภาษีทางตรง ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีโดยตรง ไม่สามารถผลักภาระไปให้กับบุคคลอื่นได้ กล่าวคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเอง
  2. ภาษีทางอ้อม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแต่ไม่ต้องรับภาระ สามารถที่จะผลักภาระภาษีนี้ไปให้กับบุคคลอื่น ซึ่งเรามักจะเรียกว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เวลาเราไปกินข้าวตามร้านอาหารต่างๆ แล้วมักจะมีภาษีตัวนี้แถมมาด้วย

ภาษีเงินได้คืออะไร

ภาษีเงินได้ เป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากเงินได้ขอผู้ที่มีรายได้ พูดง่ายๆ คือ ใครมีรายได้ คนนั้นต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งภาษีเงินได้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับวันนี้เราจะมาพูดถึง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ จำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติภาษีจะถูกจัดเก็บเป็นรายปี ภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป ยิ่งมีรายได้มากก็จะยิ่งทำให้อัตราภาษีสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี

แหล่งที่มาของเงินได้

1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ == เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมีหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย หรือ กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
กิจการของนายจ้างในประเทศไทยหรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า

ผู้ที่มีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากรกำหนดไว้เสมอ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย == เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมีหน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศ หรือ กิจการที่ทำในต่างประเทศ
หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

ผู้ที่มีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศจะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อ

  • ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นระยะเวลาหนึ่งหรือหลายช่วงเวลา ซึ่งรวมระยะเวลาทั้งสิ้นครบ 180 วัน
  • ผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

เงินได้ประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี

เงินได้พึงประเมิน ==เงินได้ที่กฎหมายบังคับให้เราต้องเสียภาษี ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สินที่ตีราคาได้ สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้ เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายให้เรา และเครดิตภาษีเงินปันผล ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น เงินรางวัลจากการถูกลอตเตอรี ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน

โดยเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร สามารถแบ่งออกเป็น 8 ประเภท

  • ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานประจำ ได้รับค่าตอบแทนในสถานะนายจ้าง ลูกจ้าง หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (1)
  • ประเภทที่ 2 ได้แก่ ค่าจ้างทั่วไป ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงาน ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะนายจ้าง ลูกจ้าง หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (2)
  • ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าลิขสิทธ์ ทรัพย์สินทางปัญญา ค่า Goodwill หรือเงินรายปีอื่น ๆ หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (3)
  • ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล และ Cryptocurrency หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (4)
  • ประเภทที่ 5 ได้แก่ ค่าเช่า รวมถึงเงินได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (5)
  • ประเภทที่ 6 ได้แก่ การประกอบวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ การประกอบโรคศิลป นักกฎหมาย วิศวกร นักบัญชี สถาปนิก และ ประณีตศิลปกรรม หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (6)
  • ประเภทที่ 7 ได้แก่ การรับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือที่เรียกกันว่า เงินได้ 40 (7)
  • ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดให้เข้าในเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1–7 ได้ หรือที่เรียกว่า เงินได้ 40 (8)

ค่าใช้จ่ายถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี โดยอัตราการหักค่าใช้จ่ายจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้นั้น

เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท

ค่าลดหย่อนภาษี

“ค่าลดหย่อน” เป็นสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งที่ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงและใช้ในการคำนวณภาษีอีกตัวหนึ่ง โดยเกณฑ์ที่กำหนดไว้นั้นเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและช่วยส่งเสริมประชาชนที่ดูแลตัวเองให้ได้รับภาษีคืนกลับไปบางส่วน

รายการลดหย่อนภาษี ปี 2566

สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาระติดตัวคุณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันและการลงทุน พรรคการเมือง และการบริจาคตอบแทนสังคม ดังรูป

สรุปรายการลดหย่อนภาษี ปี 2566 อัพเดทเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566

วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่าย สามารถคำนวณได้จากการนำเงินได้พึงประเมินทั้งหมดมารวมกัน ลบด้วยค่าใช้จ่าย (หักตามประเภทเงินได้ทั้ง 8 ประเภท) และค่าลดหย่อนต่างๆ จะได้ยอดเงินได้สุทธิ จากนั้นแล้วจึงนำยอดเงินได้สุทธิไปคูณด้วยอัตราภาษีตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด

การคำนวณภาษีให้ทำเป็น 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง

คำนวณหาจำนวนภาษีตามวิธีคิดอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได

อัตราภาษีแบบขั้นบันได ที่กรมสรรพากรกำหนด

หลักการคิดแบบขั้นบันไดคือ ภาษี = (เงินได้สุทธิ — ยอดขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษีขั้นของเงินได้สุทธิ%

ตัวอย่างเช่น

  • เงินได้สุทธิ 0–150,000 บาท (อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี)
    หรือภาษี = 0
  • เงินได้สุทธิ 150,001–300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
    หรือภาษี = (เงินได้สุทธิ — 150,000) x5%

ขั้นตอนที่สอง

ภาษีแบบเหมา = (เงินได้ทุกประเภท — เงินเดือน) x 0.005

การคำนวณภาษีแบบเหมาเป็นผลรวมของเงินได้พึงประเมินทุกประเภทในปีภาษี ยกเว้น เงินได้พึงประเมินตามประเภทที่ 1 จำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน (เงินได้พึงประเมินทุกประเภทลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คูณด้วย 0.005)

ขั้นตอนที่สาม

เป็นการเปรียบเทียบและสรุป ระหว่าง 2 วิธีนี้ข้างต้น คือ วิธีคิดแบบขั้นบันไดและวิธีคิดแบบเหมา โดยวิธีใดคำนวณแล้วเสียภาษีสูงกว่า ก็จะเลือกเสียภาษีตามวิธีนั้น

สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวิธีที่ 2 (แบบเหมา) แต่ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 (แบบขั้นบันได)

ตัวอย่างการคำนวณภาษี

ตัวอย่างการคำนวณภาษีของมนุษย์เงินเดือน 2 คน ที่มีค่าลดหย่อนส่วนตัวและประกันสังคมเท่ากัน แต่มีเงินได้จำนวนที่ต่างกัน

สรุปได้ว่าหากเงินได้ทั้งปีน้อยกว่า 319,000 บาท (319,000 คำนวณได้จากค่าใช้จ่ายที่หัก 100,000 + ค่าลดหย่อยส่วนตัว 60,000 + ประกันสังคม 9,000 + 150,000 แรกที่ยกเว้น) นั้นไม่ต้องเสียภาษี เอ้ะๆ! แต่ยังต้องยื่นภาษีนะคะ​

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับภาษีเงินได้

ยื่นภาษี ≠ เสียภาษี

คนส่วนใหญ่มักจะกลัวการยื่นภาษีและเข้าใจผิดกันไปเองว่า การยื่นภาษี = การเสียภาษี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การยื่นภาษีและการเสียภาษีนั้นถูกแยกออกเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

  • การยื่นภาษี == ผู้เสียภาษีจะต้องทำการยื่นภาษี แม้ว่าในปีนั้นจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีก็ตาม โดยปกติแล้วต้องทำการยื่นภาษีเงินได้ปีละ 1 ครั้งโดยกำหนดการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีจะอยู่ระหว่างวันที่ มกราคม — 31 มีนาคม ของทุกปี
  • การเสียภาษี == หลังจากผู้เสียภาษีทำการยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว และจะเสียภาษีก็ต่อเมื่อ มีเงินได้หรือมีรายได้ถึงเกณฑ์การเสียภาษีเท่านั้น โดยเกณฑ์รายได้ที่จะต้องเสียภาษีนั้นเป็นไปตามกำหนดของกรมสรรพากร

อายุเท่าไหร่ถึงจะเสียภาษี

โลกปัจจุบันไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เช่น การขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ การเป็นเจ้าของช่องบน YouTube หรือการเป็นเน็ตไอดอล อินฟลูเอ็นเซอร์บนโลกโซเชียล จึงเป็นที่สับสนอย่างมากว่า อายุเท่าไหร่ล่ะถึงจะต้องเสียภาษี?

ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

  • บุคคลธรรมดา
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  • กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  • วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเสียภาษีนั้นมิได้มีการกำหนดหรือจำกัดช่วงอายุแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า ต่อให้ผู้มีรายได้คือเด็กทารกที่มีอายุเพียง 1 วัน สามารถสร้างรายได้เป็นของตัวเองแล้ว ก็จะต้องทำการยื่นหรือเสียภาษีหากเงินได้สุทธินั้นถึงเกณฑ์ภาษีที่กฎหมายกำหนด

มีรายได้ แต่ยังไม่บรรจุนิติภาวะ ยื่นภาษีอย่างไร?

ในกรณีที่น้องๆ หลายคนที่มีรายได้และรายได้นั้นถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษี แต่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องทำการยื่นภาษีและเสียภาษีแทนในระยะเวลาที่กำหนด

เงินเดือนที่ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินเท่ากันทุกเดือน

การจะเรียกว่าเป็น “เงินเดือน” หรือ “เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1” ต้องเป็นลักษณะของ “การจ้างแรงงาน” โดยมีสัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงาน แบบนี้ถึงจะฟันธงได้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ซึ่งหากบางครั้งมีการจ่ายเงินเดือนตรงทุกเดือน แต่ลักษณะของการทำงานเป็นการว่าจ้างในรูปแบบอื่น แต่ตกลงกันแค่ว่าจะจ่ายทุกเดือน แบบนี้ก็อาจจะถือว่าไม่ใช่เงินเดือนตามกฎหมาย

ฟรีแลนซ์ที่ไม่ใช่วิชาชีพอิสระและไม่ใช่การรับเหมา

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า ฟรีแลนซ์ = วิชาชีพอิสระ และถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 6 แต่ความจริงแล้ว ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพอิสระและถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมาย

เพราะคำว่าวิชาชีพอิสระ คือ อาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง โดยกฎหมายกำหนดไว้ทั้งหมด 6 วิชาชีพ

  • แพทย์ (ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์)
  • ทนายความ
  • นักบัญชี
  • วิศวกรรม
  • สถาปนิก
  • ประณีตศิลป์

หรือบางคนเข้าใจผิดว่างานที่ทำอยู่มันคือ การรับเหมา ซึ่งถ้าจะถือว่าเป็นการรับเหมาหรือเงินได้ประเภทที่ 7 ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่เราต้องเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ทุกอย่าง มีการลงทุนทั้งค่าแรงงานและค่าของต่างๆ ด้วยตัวเอง ถึงจะเข้าข่ายงานรับเหมา มิเช่นนั้นก็จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 เช่นกัน

เงินได้ไม่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

เมื่อมีคำว่าเงินได้และผูกกับอาชีพ หลายคนจึงคิดว่าการมีวิชาชีพอิสระจะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ความเป็นจริงแล้ว การมีอาชีพกับการมีรายได้นั้นแตกต่างกัน เช่น คุณหมอที่มีใบประกอบโรคศิลป์ท่านหนึ่ง จะถือว่าตัวเองมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 ได้ ก็ต่อเมื่อเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง แต่ถ้าหากคุณหมอท่านนั้นเป็นเพียงแพทย์ที่รับเงินเดือนจากโรงพยาบาล ก็จะถือว่ามีเงินได้ประเภทที่ 1 หรือหากคุณหมอท่านนี้มีรายได้จากการปล่อยเช่าทรัพย์สิน ก็จะจัดว่ารายได้นั้นเป็นเงินได้ประเภทที่ 5 นั่นเอง

ดังนั้น อาชีพที่ทำอยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับประเภทของเงินได้ แต่เราจะรู้ได้ว่าเงินได้ประเภทไหน ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานนั้นๆ ไม่ใช่กำหนดมันจากอาชีพที่ทำอยู่

เห็นไหมล่ะคะว่า ภาษีน่ะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ แม้ว่าเงินเดือนพนักงานออฟฟิศแบบชาวเราที่ยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี แต่ก็ยังต้องยื่นภาษีรายปีต่อกรมสรรพากรอยู่ดี การคำนวณก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างชวนปวดหัวมากนัก เพียงแค่เราสามารถแยกประเภทของเงินได้พึงประเมินและค่าลดหย่อนภาษีได้ก็สามารถคำนวณภาษีได้แบบถูกต้องแล้วค่ะ อีกทั้งในอนาคตหากชาวเรามีเงินเดือนที่มากขึ้น ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการเสียภาษีต่อไป

สำหรับ EP.หน้า เราจะมาพูดถึงการวางแผนภาษี ให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราได้มีช่องทางประหยัดเงินภาษี จะมีวิธีและการวางแผนอย่างไรรอติดตามกันได้เลยค่ะ

Photo by The New York Public Library on Unsplash

เนื่องจากเดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนเกิดของผู้เขียน จึงขออวยพรให้เดือนนี้เป็นเดือนที่ดีสำหรับทุกท่านนะคะ 🌷🌷🌷

1 สิงหาคม 2566

--

--