ประวัติศาสตร์สหรัฐใน Yes, we can!

Pruet Boonma
WeReadTH
Published in
2 min readSep 25, 2016

เขียนเรื่องของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เสร็จ ทำให้นึกถึงสุนทรพจน์ของโอบามาหลังจากที่แพ้การหยั่งเสียงให้กับนางฮิลลาลี คลินตันที่นิวแฮมเชียร์ ระหว่างการชิงชัยเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครตเพื่อการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา (ดูสุนทรพจน์ฉบับเต็มที่ New York Times) ซึ่ง will.i.am นักร้องของวง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโอบามาอยู่แล้ว ก็เอาเนื้อความส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์นี้มาแต่งเป็นเพลง แล้วเชื่อเชิญเหล่าคนดังคนอื่น ๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนโอบามา มาช่วยกันร้อง โดยในส่วนแรกของเนื้อเพลง ซึ่งก็มาเอามาจากสุนทรพจน์ช่วงท้าย ๆ มีการแฝงความหมายทางประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมาก จึงขอเอามาเล่าให้ฟังครับ

ฟังเพลงประกอบ แล้วอ่านเนื้อตามไปนะครับ เอาเมาส์ไปชี้ที่ตัวเลข จะแสดงข้อความเป็นป๊อบอัพ และถ้าคลิกที่ตัวเลข จะไปที่ข้อความนั้นซึ่งจะมีลิงค์ที่เกี่ยวข้องอยู่ครับ

It was a creed written into the founding documents[1]
That declared the destiny of a nation[2] , yes we can
It was whispered by slaves and abolitionists[3]
As they blazed a trail toward freedom[4], yes we can

It was sung by immigrants as they struck out[5]
From distant shores and pioneers who pushed westward[6]
Against an unforgiving wilderness[7], yes we can

It was the call of workers who organized[8]
Women who reached for the ballots[9]
A President who chose the moon as our new frontier[10]
And a King who took us to the mountaintop[11]
And pointed the way to the Promised Land[12]

Yes we can to justice and equality[13]
Yes we can to opportunity and prosperity[14]
Yes we can heal this nation
Yes we can repair this world
Yes we can

เนื้อเพลงยังมีต่ออีก แต่ผมตัดมาเฉพาะที่ท้าวความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ครับ ใครสนใจดูสุนทรพจน์แบบเต็ม ๆ ดูได้ที่นี่ครับ

คิดอยู่นานว่าจะเอาหนังสือเรื่องไหนมาประกอบบทความนี้ดี จะไม่เอามาเลย ก็จะผิดหลักการของเว็บไปหน่อย เลยไปเลือกหนังสือมาเล่มหนึ่งจากชั้นคือ ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว ที่เล่าเรื่องราวการพัฒนาของสังคมมนุษย์ผ่านเครื่องดื่มหกชนิดคือ เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และ โคลา ซึ่งสำหรับชาแล้ว มีส่วนเกี่ยวพันที่สำคัญกับการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐ กล่าวคือ ในขณะนั้น อาณานิคมทั้งสิบสามแห่งของอังกฤษบนแผ่นดินสหรัฐนั้น มีความต้องการบริโภคใบชาสูงมาก เพราะแท้ที่จริงแล้ว คนเหล่านั้นก็คือคนอังกฤษที่ชอบดื่มชานั่นเอง แต่รัฐบาลอังกฤษกลับใช้บริษัทอินเดียตะวันออกในการผูกขาดการนำใบชาเข้าจากอินเดีย อาณานิคมอีกแห่ง มายังอาณานิคมในสหรัฐ ด้วยภาษีที่สูงมาก ทำให้ราคาใบชาในอาณานิคมในสหรัฐมีราคาที่สูง ทำให้เกิดการลักลอบนำใบชาเถื่อนเข้ามายังดินแดนดังกล่าวอย่างแพร่หลาย

ในที่สุด บริษัทอินเดียตะวันออก ก็กดดันให้รัฐบาลอังกฤษออกกฏหมายชา (Tea Act ปี 1773) เพื่อให้บริษัทสามารถนำชาเข้ามยังอาณานิคมสหรัฐได้โดยตรง โดยมีอัตราภาษีที่ต่ำ ซึ่งทำให้ทำราคาแข่งกับชาเถื่อนทั้งหลายได้ แต่ชาวอาณานิคมกลับไม่พอใจที่รัฐบาลยอมให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกทำการผูกขาดการค้า พวกเขาจึงต่อต้านไม่ให้มีการขนใบชาเหล่านั้นขึ้นมายังท่าจนถึงขั้นแต่งตัวเป็นอินเดียนแดง แอบขึ้นเรือของบริษัทฯ ที่จอดเทียบท่าที่เมืองบอสตัน แล้วทำการเทชาทิ้งทะเล ซึ่งเหตุการณ์นี้เรียกว่า งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party) ซึ่งรัฐบาลก็ตอบโต้โดยการ สั่งปิดท่าเรือบอสตันในปี 1774 ซึ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ชาวอาณานิคมในสหรัฐ และจึงปะทุออกมาเป็นสงครามปฏิวัติอเมริกาในปี 1775 นั่นเอง

[1] Founding documents ในที่นี้ก็คือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งก็มีเอกสารหลาย ๆ ฉบับ เช่น คำประกาศอิสรภาพ และ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

[2] ในคำประกาศอิสรภาพ มีการกล่าวถึงว่าสิบสามอาณานิคมจะไม่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ แต่จะรวมกันเป็นประเทศใหม่ ซึ่งในขณะนั้น สิบสามอาณานิคมกำลังทำสงครามปฏิวัติอเมริกันกับอังกฤษอยู่

[3] เป็นการอ้างอิงถึงการเลิกทาส และสงครามกลางเมือง

[4] น่าจะหมายถึงการที่ทาสที่อยู่รัฐทางใต้ ต้องเดินทางฝ่าพายุหิมะไปยังรัฐทางเหนือระหว่างสงครามกลางเมือง เพื่อให้ได้อิสรภาพ

[5] ประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดรับผู้อพยพจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่าสหรัฐเป็นเบ้าหลอมของหลายวัฒนธรรม (A melting pot of cultures)

[6] หมายถึงเหล่านักเดินทางจากฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอาณานิคมดั้งเดิม ได้เดินทางไปยังฝั่งตะวันตกเพื่อขยายดินแดนออกไป เช่น The Great Migration of 1843 ที่ผ่านเส้นทางที่เรียกว่าOregon Trail

[7] ในขณะนั้น ดินแดนภาคกลาง และฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ยังไม่ถูกบุกเบิก มีแต่เพียงคนพื้นถิ่น (อินเดียนแดง) อาศัยอยู่

[8] การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นยุคศตวรรษที่ยี่สิบ ไปจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นกำลังสำคัญในการพลักดันเรื่องสิทธิพลเมือง เพราะแรงงานส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวดำ

[9] หมายถึงการที่ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เหมือนผู้ชาย ซึ่งในสหรัฐอเมริกา แต่ดั้งเดิมผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนกระทั้งในปี 1920 จึงมีการประกาศมาตราที่สิบเก้าแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐ (Nineteenth Amendment to the United States Constitution) ที่รับรองว่าพลเมืองทุกคนของสหรัฐมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าเป็นเพศใด

[10] หมายถึงประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี ที่ประกาศเมื่อปี 1962 ว่าสหรัฐจะส่งคนไปเดินบนดวงจันทร์ภายในสิบปี ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้เห็นเหตุการณ์นี้ เพราะในอีกหนึ่งปีต่อมา เขาก็ถูกลอบสังหาร

[11] King ในที่นี้ขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เพราะเป็นชื่อคน หมายถึง มาติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของเขา เขาได้กล่าวว่าพระเจ้าได้ในเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา และชี้ให้เขาดูดินแดนแห่งพันธสัญญา

[12] Promised Land หรือดินแดนแห่งพันธสัญญานี้เป็นการอ้างอิงถึงคำภีร์ไบเบิ้ลที่พระเจ้าสัญญากับชาวยิวว่าจะยกดินแดนที่เป็นอิสราเอลและปาเลสไตน์ในปัจจุบันให้ ถ้าชาวยิวยึดมั่นในพระองค์ ซึ่งในสุนทรพจน์ของคิง เขาอ้างอิงถึงดินแดนดังกล่าว เป็นเหมือนจุดมุ่งหมายที่ต้องเดินทางไป เคยเขียนถึงสุนทรพจน์นี้ของคิงที่บทความนี้ครับ

[13] อ้างอิงถึง Bill of Right หรือสิบมาตราแรกในรัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสหรัฐ ที่รับประกันสิทธิ์อันเท่าเทียมกัน และการได้รับความยุติธรรม

[14] น่าจะหมายถึงประโยคนี้ Life, Liberty and the pursuit of Happiness ในคำประกาศอิสรภาพ

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ weread.in.th เมื่อ 6 ธันวาคม 2556

--

--