Deliver, Expand, Embed: สร้างการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างไร ไม่ให้เป็นประชาธิปไตยแบบปลอมๆ

Thanisara GG
WeVisDemo
Published in
4 min readOct 11, 2022

หลายปีมานี้ เราอาจเห็นว่ามีการเรียกร้องและเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือคนทำงานเข้ามา ‘มีส่วนร่วม’ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการสาธารณะ หรือแนวทางการทำงานในองค์กรต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นเป็นเพราะช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง และเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้ผู้คนเริ่มรู้สึกว่า การตัดสินใจผ่านระบบที่เป็นอยู่นั้นเชื่องช้า ไม่ทั่วถึง และบางครั้งก็ไร้ประสิทธิภาพ เพราะคนที่ตัดสินใจนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ไม่ใช่คนที่เข้าใจปัญหาจริงๆ

ถ้าพูดกันในระดับโครงสร้าง ความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังตกต่ำลง โดยเฉพาะในประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)

หลายสังคมจึงเชื่อว่า Collective Intelligence หรือการระดมความคิดเห็น ทักษะ และแนวทางแก้ปัญหาจากผู้คนที่หลากหลาย ย่อมนำมาซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์มากกว่า อีกทั้งยังทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีหนทางในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มากำกับและดูแลชีวิตของพวกเขาด้วย

หลายๆ องค์กร เมือง และประเทศบนโลก จึงเกิดกระแสเรียกร้อง ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ (Citizen Participation) อย่างล้นหลาม และแม้หลายๆ ที่จะพยายามทำให้เกิด ‘การมีส่วนร่วม’ แล้ว แต่ก็ยังล้มเหลวและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก บ้างก็ว่าเป็น Democracy Washing หรือประชาธิปไตยแบบปลอมๆ คือให้คนพอจะรู้สึกมีส่วนร่วมได้ ไม่ให้ลุกฮือหรือเรียกร้อง

เพราะการมีส่วนร่วมไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่แค่งานอีเวนท์ที่จัดเพื่อให้คนมาเข้าร่วมแล้วรู้สึกว่า “อ๋อ ฉันได้มีส่วนร่วมแล้ว” เท่านั้น แต่มันมีความคาดหวังชิ้นใหญ่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง..

Nesta องค์กรที่ผลักดันนวัตกรรมเพื่อสังคมใน UK จึงออกรายงานเรื่อง Democratic Innovation and Digital Participation เพื่อแนะนำ Framework สำหรับการออกแบบการมีส่วนร่วมผ่านขั้นตอน Deliver, Expand, Embed พร้อมวิเคราะห์อุปสรรค และแนวทางการแก้ปัญหาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่โฟกัสไปที่องค์กรภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบาย (Policymakers) แต่หากเราเอง ทำงานในองค์กรที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบางอย่าง ก็สามารถนำหลายสิ่งไปปรับใช้ได้เช่นกัน

หมายเหตุ: รายงานฉบับนี้ วิเคราะห์จากสองรูปแบบนวัตกรรมหลักที่ใช้ในหลากหลายประเทศ นั่นคือ Participatory Budgeting หรือการที่ประชาชนสามารถเสนอ พูดคุย และโหวตว่างบประมาณของรัฐควรถูกใช้ไปกับเรื่องอะไร โดยมีเทคโนโลยีเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมได้ และองค์กรสามารถรวบรวมข้อมูลได้

อีกอย่างคือ Mini-publics หรือการรวมกลุ่มตัวแทนของประชาชนเพื่อมาหาฉันทามติในเรื่องบางเรื่อง โดยมีเทคโนโลยีช่วยในการรวบรวมความคิดเห็นก่อนการรวมตัว หรือให้ฟีดแบคหลังได้ผลลัพธ์แล้ว

เข้าใจ Framework: Deliver, Expand, Embed

Nesta อธิบายว่า Framework นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เข้าใจตรงกันถึงเป้าหมายในการสร้างและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน (Citizen Participation) รวมถึงเพื่อระบุอุปสรรคและแนวทางการแก้ปัญหาแต่ละขั้นตอนได้อย่างชัดเจน

Deliver

เป็นเลเวลแรกของ Framework นี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานของการมีส่วนร่วม นั่นคือทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริง เพื่อให้คนเห็นความสำคัญ และยังเป็นการฝึกฝนให้ทั้งคนจัดกระบวนการ และคนร่วมกระบวนการ ได้เรียนรู้และฝึกฝนการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการและเครื่องมือให้ดีขึ้นต่อไป

Expand

ปัญหาโลกแตกของการมีส่วนร่วมในที่ที่กระบวนการนี้ถูกทำเป็นปกติแล้ว นั่นคือคนที่เข้ามามีส่วนร่วมมักเป็นคนหน้าเดิมๆ และไม่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มที่ยังไม่เคยเห็นหน้าได้ เลเวลถัดมา จึงมีเป้าหมายเพื่อขยายจำนวนและเพิ่มความหลากหลายของผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วม ทำยังไงให้คนสนใจมากขึ้น หรือทำยังไงไม่ให้กระบวนการที่ดำเนินการกีดกัดคนบางกลุ่มออกไป

Embed

เลเวลสุดท้าย มีเป้าหมายคือทำให้การมีส่วนร่วมเชื่อมต่อกับการทำงานขององค์กร/ผู้จัดกระบวนการจริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ขององค์กร/ผู้จัดกระบวนการเท่านั้น แต่คือการออกแบบ ‘ความสัมพันธ์’ แบบใหม่ร่วมกันระหว่าง องค์กร/ผู้จัดกระบวนการ กับผู้ร่วมกระบวนการ ว่าฝ่ายนึงจะทุ่มเทกับการมีส่วนร่วมแค่ไหน ยอมรับภาระผูกพันได้ในรูปแบบใด ขณะที่อีกฝ่ายนึงจะแสดงความรับผิดชอบต่อความคิดเห็นและความทุ่มเทนั้นอย่างไร

จะเห็นว่าการมีส่วนร่วมนั้น เป็นการออกแบบร่วมกัน (Co-Development) ไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว Nesta ยังบอกด้วยว่า ต่อให้แบ่ง Framework เป็น 3 เลเวลแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่จะต้องสลับขั้นตอนไปมาในระหว่างกระบวนการ

อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหา (Barriers & Enablers)

เมื่อเข้าใจ Deliver, Expand, Embed สิ่งที่ควรรู้ตามมาก็คือเราจะต้องเตรียมตัวเจอกับอะไรในแต่ละเลเวล ซึ่ง Nesta วิเคราะ์โดยแบ่งประเภทอุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหาไว้ 3 รูปแบบที่มีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการมีส่วนร่วม นั่นก็คือ

  • People: เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม พฤติกรรม แรงจูงใจ ทักษะ และความสามารถของคน ทั้งผู้จัดกระบวนการและผู้ร่วมกระบวนการ
  • Process: เรื่องเกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการคิด การทำงาน ตลอดจนนโยบายหรือวิถีปฏิบัติ
  • Technology: เรื่องเกี่ยวกับฟังก์ชั่น งานออกแบบ การใช้งาน และความปลอดภัยของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วม

อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหาในส่วน Deliver

People Barrier: อุปสรรคเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Deliver

  • วัฒนธรรมการทำงานแบบเก่า ที่ยึดติดกับ ‘วิธีที่เคยๆ ทำกันมา’ อย่างการที่คิดว่าเรื่องนโยบายเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม (Policymaker) หรือการตัดสินใจจากบนลงล่าง (Top-Down) เพราะคิดว่าประชาชนไม่มีความสามารถหรือความสนใจพอที่ตัดสินใจเรื่องนโยบายได้ สุดท้าย การมีส่วนร่วมก็จะถูกใช้แบบฉาบฉวย คือเปิดรับความเห็นแต่กับนโยบายที่ตัดสินใจมาแล้วเท่านั้น
  • ขาดคนที่มีทักษะที่จำเป็น ในองค์กรที่ต้องการจัดการมีส่วนร่วม อาจเพราะไม่ให้ความสำคัญในการจ้างคนที่ทำได้มาอยู่ในองค์กร หรือในบางกรณี อาจจะมีคนที่จัดกระบวนการได้ ก็อาจติดปัญหาตรงไม่มีคนที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมและนำมาใช้ให้เกิดได้จริง

People Enabler: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Deliver

  • สร้างความตระหนักและเข้าใจในระดับบริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีอำนาจตัดสินใจหรือมีอิทธิพลในองค์กรเป็นตัวช่วยผลักดัน รวมถึงการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (co-ownership) ระหว่างแผนกต่างๆ ในองค์กร ก็จะช่วยผลักดันกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้
  • สร้างและจ้างคนที่มีทักษะที่จำเป็น อย่างแรกควรเลือกก่อนว่าควรมีโครงสร้างทีมแบบไหน หลายองค์เลือกใช้ทีมพัฒนาข้างนอกและเครื่องมือสำเร็จรูปเพื่อให้กระบวนการดำเนินต่อไปได้เร็ว แต่ตำแหน่งที่แนะนำว่าควรมีอยู่ในองค์กรและทำการฝึกฝนอย่างจริงจัง คือคนที่ทำหน้าที่สร้างความร่วมมือกับชุมชน (Community) เพราะนั่นหมายถึงความเชื่อมั่นและความยั่งยืนในการสร้างการมีส่วนร่วม

Process Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Deliver

  • กฎกติกาและกระบวนการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น ยังเป็นตัวล็อกว่าใครที่เป็นคนตัดสินใจเรื่องนโยบายและงบประมาณของสังคมและองค์กร ซึ่งหลายครั้งเป็นการด้อยค่าผลลัพธ์ที่เราได้จากการมีส่วนร่วม อย่างการที่ประชาชนช่วยตัดสินใจว่าควรทำอะไรหรือใช้เงินไปกับอะไร และกลายเป็นว่าเมื่อผลลัพธ์ที่ได้ไม่มีบทบาทเท่าไหร่ ความทุ่มเทและทรัพยากรที่ถูกจัดสรรให้กระบวนการนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย โอกาสที่จะสำเร็จและได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะน้อยลง
  • ขาดการสื่อสารโจทย์หรือหัวข้อที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมเกิดความสับสน ลดความอยากมีส่วนร่วม หรือหลายครั้งก็ทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้อีก
  • ขาดการสื่อสารเรื่องการนำผลลัพธ์ไปใช้ต่อ เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คนตั้งใจมีส่วนร่วมแทบตาย แต่สุดท้าย ไม่เคยได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทุ่มเทไปถูกเอาไปใช้อะไรต่อ ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือและส่งผลกระทบกับการมีส่วนร่วมในอนาคต

Process Enables: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Deliver

  • ใช้ Risk-taking Mindset ปรับเปลี่ยนกติกาใหม่ กล้าได้กล้าลองเพื่อให้ได้เริ่มกระบวนการ
  • สร้างความไว้ใจด้วยอะไรเล็กๆ แล้วค่อยขยาย ความไว้ใจในที่นี้ หมายถึงทั้งในองค์กรและกับผู้เข้าร่วม อาจเริ่มด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและจับต้องได้ เกิดขึ้นได้เร็วก่อน พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรสำหรับการประเมินกระบวนการ อย่างน้อย 5–10% เพื่อพัฒนากระบวนการต่อ ไม่ใช่จบแล้วแยกย้ายกันไปตามทาง
  • มีกระบวนการที่โปร่งใสและการสื่อสารที่ชัดเจน ให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ รวดเร็ว และครบถ้วน บอกด้วยว่าผลที่ได้จะถูกเอาไปใช้อะไร

Technology Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ในขั้นตอน Deliver

  • การนำเครื่องมือใหม่เข้าไปใช้ในองค์กร จะติดเรื่องระบบและกระบวนการทำงานเก่า แล้วพอเอาไปใช้ ก็จะถูกใช้แบบผิวเผิน ไม่ได้นำข้อมูลที่ได้รับไปปรับใช้กับกระบวนการทำงานจริงๆ
  • ประสบการณ์การใช้งานที่เลวร้ายของเครื่องมือ ส่งผลต่อความตั้งใจในการมีส่วนร่วมและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้วย
  • ขาดคนในวงการ Civic Tech ที่ช่วยพัฒนาได้ เพราะยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอให้เติบโตและแข็งแกร่งพอจะร่วมงานกับภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบาย

Technology Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ในขั้นตอน Deliver

  • ไม่ต้องสร้างของใหม่ ลองใช้หรือพัฒนาต่อจากเครื่องมือที่มีอยู่ ประเด็นของการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่การหาของยาก ของว้าว ของล้ำ แต่คือการเลือกเครื่องมือที่ยึดโยงกับพฤติกรรมที่คนคุ้นเคย เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงให้มากที่สุด แล้วถ้าต้องมีหลายเครื่องมือหรือแหล่งข้อมูล ก็ให้รวบรวมไว้ที่เดียว (Portal) เพื่อให้ใช้งานง่าย ค้นหาง่าย
  • สร้างและใช้เครื่องมือร่วมกันในองค์กร ลองคุยกันในหลายๆ แผนก เพื่อให้สามารถช่วยแบ่งปันต้นทุนและข้อมูลระหว่างกันได้ ที่สำคัญ ควรมี Mindset ของการ Iterate หรือการทำซ้ำ อะไรที่ใช้ได้ผลแล้วเอาไปขยายผลต่อกับโครงการที่มีเป้าหมายแนวเดียวกัน ไม่ต้องคิดสร้างของใหม่ตลอดเวลา
  • ออกแบบเครื่องมือโดยคำนึงถึงพฤติกรรมในโลกดิจิทัล ไม่ใช่ก๊อปปี้จากโลกออฟไลน์ไปวางในโลกออนไลน์ แต่ควรทำให้ใช้ง่ายที่สุดอ้างอิงจากพฤติกรรมที่คนคุ้นชิน และเครื่องมือนั้นควรเป็นตั้วเสริมกระบวนการออฟไลน์ หรือให้ในสิ่งที่โลกออฟไลน์ทำไม่ได้

อุปสรรคและแนวทางแก้ปัญหาในส่วน Expand

People Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Expand

  • ขาดความหลากหลาย ทั้งของผู้เข้าร่วม รวมถึงคนที่ทำหน้าที่เป็น Facilitator ด้วย เป็นผลมาจากไม่มีการตั้งเป้าหมายและการประเมินเรื่องความหลากหลายอย่างชัดเจนขององค์กรผู้จัดกระบวนการ หรือบางทีอาจมาจากการนิยาม ‘กลุ่ม’ กันเอง แล้วไม่ครอบคลุมทุก Identity ของประชาชนในสังคม
  • ผู้เข้าร่วมไม่มีแรงจูงใจ เพราะต้องใช้เวลาและความตั้งใจในกระบวนการมาก อาจะต้องแลกกับการสูญเสียรายได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้หลายคนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

People Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Expand

  • ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดเรื่องความหลากหลาย ทั้งสำหรับผู้เข้าร่วมและคนขององค์กรที่ทำหน้าที่เป็น Facilitator โดยอาจใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Selection Algorithm มาเป็นตัวช่วย
  • หาพาร์ตเนอร์ที่เป็นคนในชุมชน มีความเป็นกลาง และเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อช่วยตรวจสอบความครอบคลุม รวมถึงสร้างความเชื่อใจและเพิ่มคุณภาพในการพูดคุยแลกเปลี่ยน
  • ฝึกฝนคนที่ทำหน้าที่เป็น Moderator ให้ใช้คำพูดและวิธีการที่เลี่ยงอคติทุกรูปแบบ
  • ให้ค่าตอบแทนกับผู้เข้าร่วมอย่างเหมาะสม โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบตัวเงินหรือสวัสดิการ/บริการอื่นๆ ก็ได้ โดย Nesta แนะนำว่าต้องทดลองหาวิธีดู เพราะคนแต่ละกลุ่มก็อาจมีแรงจูงใจต่างกัน

Process Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Expand

  • ข้อจำกัดในกระบวนการอาจเป็นอุปสรรคกับคนบางกลุ่ม เช่น การใช้ภาษาที่ไม่ใช่ทุกกลุ่มเข้าใจ หรือการเลือกสถานที่และเวลาในการเข้าร่วม ที่อาจไม่สะดวกกับคนบางกลุ่มที่ต้องการให้เข้าร่วม
  • การให้ข้อมูลที่ไม่คิดถึงคนรับสาร อย่างการให้ข้อมูลมากเกินไปจนปิดกั้นการรับรู้ หรือการอธิบายด้วยคำศัพท์เฉพาะทาง (Jargon) มากเกินไป ก็เป็นการสร้างภาระให้ผู้ที่อยากมีส่วนร่วม
  • การครอบงำบทสนทนาโดยคนบางกลุ่ม จากการออกแบบกระบวนการที่ไม่ได้คำนึงถึงการเปิดพื้นที่ให้เสียงของทุกคนดังเท่ากัน ทำให้ผู้เข้าร่วมบางคนอาจกลัวหรือกังวลที่จะพูดออกไป และตัดสินใจไม่เข้าร่วมในที่สุด

Process Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Expand

  • ออกแบบร่วมกับชุมชนของผู้เข้าร่วม (Community) นำคุณค่าที่ชุมชนให้ความสำคัญ มาพัฒนาร่วมกับกระบวนการออกแบบนโยบาย อะไรที่คนร่วมกำหนด คนก็จะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของและทุ่มเทกับมัน
  • ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหรือสถานที่ที่คนในชุมชนหรือสังคมนั้นไปหรือใช้งานอยู่แล้ว
  • เปิดโอกาสให้มีช่องทางพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เข้าร่วม โดยเท่าเทียมกัน เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ และเปิดมุมมองให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ก็มีเทคโนโลยีอย่าง NLP มาช่วยรวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต่อได้ด้วย
  • ลงทุนกับการสื่อสารและการออกแบบการประชาสัมพันธ์ข้อมูล นับตั้งแต่การเอากระบวนการออกแบบมาเพื่อเรียนรู้ความต้องการของชุมชน ไปจนถึงการนำเสนอด้วยวิธีที่คนจะเข้าใจสิ่งนั้น คำนึงถึงทุกภาษาที่ประชาชนในชุมชนนั้นใช้ และไม่มีคำเฉพาะทางเยอะ

Technology Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ในขั้นตอน Expand

  • อุปสรรคด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่อาจเกิดจากการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตได้ (Digital Poverty) หรือไม่มีทักษะในการเข้าใจสิ่งเหล่านั้น (Digital Literacy) ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้ามาในกระบวนการมีส่วนร่วมได้
  • อัลกอริธึมในโลกโซเชียลมีเดีย ที่แบ่งฝั่งของบทสนทนาในชีวิตประจำวัน (Eco Chamber) และอาจทำให้คนไม่อยากเข้าร่วม เพราะกลัวการ ‘เกรียน’ (Trolling) ที่นำไปสู่บทสนทนาที่ไม่สร้างสรรค์ หรือไม่ก็ทำให้ไม่ได้รับความเห็นที่แตกต่างจากคนที่ไม่เข้าร่วมเพราะมาจากกลุ่มก้อนที่มีความเห็นคล้ายๆ กัน
  • ความสมดุลของการกำกับดูแลในโลกออนไลน์ ก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับองค์กรที่จัดให้มีการมีส่วนร่วม เพราะการไม่ควบคุมอะไรและอนุญาตให้มีส่วนร่วมแบบไม่ระบุตัวจนได้ อาจทำให้การมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น (ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง) แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่อันตรายและสร้างความเกลียดชัง และหากจะกำกับดูแล ก็มีโจทย์ว่าจะจัดการข้อมูลปริมาณมากอย่างไร และจะทำให้อย่างไรให้มั่นใจว่าไม่มีอคติหรือความไม่โปร่งใสในกระบวนการนั้น

Technology Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘เทคโนโลยี’ ในขั้นตอน Expand

  • ออกแบบด้วยแนวคิด Inclusive Design เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึง อาจใช้ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีและงานออกแบบเพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกของผู้เข้าร่วม เช่น มีการแปลให้หลายๆ ภาษา หรือสามารถเลือกแสดงข้อมูลได้หลายแบบให้เหมาะกับความต้องการแต่ละกลุ่ม
  • เลือกทีมพัฒนาและคนทดสอบที่หลากหลายมาเข้าร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำหรือวิธีที่ใช้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย
  • ส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลและการเข้าถึงเทคโนโลยี อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ทุกองค์กรควรมีส่วนให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้
  • ใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเบื้องต้น ทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และออกแบบโครงสร้างในการโต้เถียงกันเพื่อให้สร้างสรรค์ (ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัว arguman)
  • ติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด มีงานวิจัยรองรับแล้วว่าสุดท้ายเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เข้าร่วมจะต้องเรียนรู้ร่วมกับผู้จัดกระบวนการ ว่าการรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นการสร้างวัฒนธรรมร่วมกันในระยะยาว

อุปสรรคและแนวทางแก้ไขในส่วน Embed

People Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Embed

  • ไม่ยอมให้อำนาจที่แท้จริงกับประชาชน โดยองค์กรรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายมักให้มีส่วนร่วมแต่เรื่องเล็กๆ เพราะกลัวจะเสียอำนาจที่เชื่อว่าตัวเองมี ในการควบคุมบางอย่างไป และเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญย่อมรู้ดีกว่าคนทั่วไป
  • มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในองค์กร ทำให้การมีส่วนร่วมดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น เพราะเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นที่เห็นต่าง ก็จะทำให้กระบวนการหยุดชะงัก
  • การใช้คนนอก (Outsource) ช่วยทำกระบวนการมีส่วนร่วมมากและบ่อยจนเกินไป ทำให้รู้สึกว่าองค์กรไม่ได้เป็นเจ้าของกิจกรรมนี้ และขาดความร่วมรับผิดชอบในกระบวนการ

People Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘คน’ ในขั้นตอน Embed

  • สร้างวัฒนธรรมแบบ Citizen-Centered ออกแบบกระบวนการและตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยยึดประชาชนเป็นหลัก
  • สร้างความรู้ ความสัมพันธ์ และเครือข่ายในองค์กร เพื่อให้การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องของทุกคน รวมถึงศึกษาเรียนรู้จากคนนอก เพื่อเปลี่ยนกำลังสำคัญมาเป็นคนในให้ได้
  • สร้างเครือข่ายประชาชนที่ซัพพอร์ตการทำงานขององค์กร ยิ่งประชาชนเข้าร่วมตัดสินใจมากเท่าไหร่ ก็ส่งผลให้เกิดการลงมือทำและอิมแพคมากขึ้นเท่านั้น

Process Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Embed

  • โฟกัสแต่เรื่องระยะสั้น ไม่ได้มองว่าการมีส่วนร่วมเป็นวิธีการทำงานที่ต้องตั้งเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนองค์กรระยะยาว บางส่วนอาจเป็นเพราะการยึดติดกับสมัยการเลือกตั้ง (Election Cycle) หรือยึดติดกับข่าว (News Cycle) มากจนเกินไป
  • การบริหารงานแบบบนลงล่าง (Silo) ทำให้มีข้อจำกัดในการสร้างกระบวนการของการมีส่วนร่วม
  • ไม่มีการซัพพอร์ตในองค์กร สร้างเหมือนเป็นงานที่ต้องทำแล้วจบไป (Box Ticking Culture) เลยไม่มีทรัพยากรและทุนมาลงอย่างเพียงพอ กลายเป็นภาระของคนที่พยายามจัดให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

Process Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Embed

  • ทรีทให้การมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในกระบวนการออกนโยบายขององค์กรไปเลย
  • สร้างทีมที่คอยรับผิดชอบดูแล เพื่อสื่อสารและดำเนินการให้ชัดเจนและโปร่งใส รวมถึงทำให้ผลจากการมีส่วนร่วมนั้นกลายเป็นผลลัพธ์ในเชิงนโยบายโดยเร็วที่สุด
  • ออกแบบกระบวนการ กฎกติกา และวิธีการทำงานร่วมกับสังคมใหม่ โดยยึดเอาการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลักในการทำงาน

Technology Barriers: อุปสรรคเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Embed

  • การสร้างและดูแลรักษาเครื่องมือดิจิทัลที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดโครงสร้างพื้นฐานและทีมงานขององค์กรที่สามารถดูแลและพัฒนาต่อได้
  • ไม่มีแนวคิดการลงทุนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นการจัดจ้างระยะสั้นๆ และมักที่จะให้เงินโครงการเล็กๆ เพื่อสร้างของใหม่มากกว่ารักษาและพัฒนาของที่มีอยู่ ส่งผลให้สูญเสียข้อมูลที่เคยเป็นเจ้าของ รวมถึงต้องเริ่มกระบวนการที่เคยสร้างมาแล้วอย่างน่าเสียดาย
  • ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย หลายครั้ง ช่องทางการมีส่วนร่วมทำให้คนรู้สึกกังวลในความน่าเชื่อถือหรือความปลอดภัยในการนำข้อมูลของตนไปใช้ต่อ ก็จะทำให้คนหลีกเลี่ยงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในที่สุด

Technology Enablers: แนวทางแก้ปัญหาเรื่อง ‘กระบวนการ’ ในขั้นตอน Embed

  • มองเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงองค์กร นอกเหนือไปจากแค่เพียงเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม เช่น ไต้หวันที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างรัฐบาลเปิด เปิดข้อมูลให้ประชาชนรู้และเพื่อความโปร่งใส ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และสื่อสารระหว่างองค์กรภาครัฐด้วยกันเอง
  • ระบุความรับผิดชอบ ให้สมาชิกองค์กรจัดการกับความคิดเห็น ตอบคำถาม และรับผิดชอบต่อเรื่องที่ปรากฏในกระบวนการมีส่วนร่วม
  • สร้าง Civic Tech Community ให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเครื่องมือและเข้าถึงเครือข่ายได้มากขึ้น โดยองค์กรก็สนับสนุนทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบไม่แทรกแซง ส่วน Civic Tech เองก็ต้องมีแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการเพื่อให้องค์กรดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วย (ต่างจากการจ้างองค์กรเอกชน เพราะไม่ต้องคิดระหว่างกำไรกับประโยชน์ส่วนรวม)

สุดท้ายแล้ว ก็ต้องขอย้ำอีกทีว่า การมีส่วนร่วมนั้น เป็นการออกแบบร่วมกัน (Co-Development) ระหว่างองค์กร/ผู้จัดกระบวนการและผู้เข้าร่วม รวมถึงว่า กระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะรูปแบบใด ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแทนที่หรือล้มล้างระบบตัวแทนที่มีอยู่ แต่ก็อาจเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงและออกแบบการทำงานร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ การแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงตามความต้องการ รวมทั้งพาเราให้เข้าใกล้ประชาธิปไตยแบบไม่ปลอมได้มากขึ้น

อ่านรายงานของ Nesta ได้ที่ https://www.nesta.org.uk/report/democratic-innovation-and-digital-participation-report/

ลองดู Toolkit ได้ที่ https://www.nesta.org.uk/toolkit/advancing-democratic-innovations-toolkit/

และฟัง Webinar เรื่องนี้ได้ที่ https://youtu.be/zoYA_r_zq8c

--

--