8 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ (จากประสบการณ์ส่วนตัว)

Witchaya Towongpaichayont
Witchaya.me
Published in
3 min readJun 20, 2020

หลายที่เพิ่งผ่านพ้นภาคการศึกษาแห่งตำนาน จากวิกฤตการณ์โควิด — 19 และการล็อกดาวน์ ทำให้ครู อาจารย์ ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัวไปสู่การเรียนการสอนออนไลน์เต็มตัว สถานการณ์ปัจจุบันถึงจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่หลายที่ก็ยังตัดสินใจให้การเรียนการสอนในภาคการศึกษาหน้าเป็นแบบออนไลน์ต่อไปก่อน ส่วนตัวผมเองถึงแม้จะเตรียมตัวระดับหนึ่งตั้งแต่สถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีในระดับที่ตัวเองพอใจ แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากการลองผิดลองถูกกับการสอนออนไลน์ จึงอยากมาแชร์ประสบการณ์เป็น 8 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อเตือนใจตัวเอง และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่ผ่านมาอ่านครับ

  1. การเรียนการสอนออนไลน์ ยังไงก็ไม่เหมือนการเรียนในห้องเรียนปกติ

ในการเรียนการสอนปกติ ครูอาจารย์จะคุ้นเคยกับที่มาสอนหน้าห้อง สอนตามเนื้อหา สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนนักศึกษาในห้องได้ สามารถสังเกตปฏิกิริยาของผู้เรียนเพื่อดูว่าผู้เรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาที่เราสอนหรือไม่ หรือสามารถจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความมีส่วนร่วมหรือความเข้าใจได้ ซึ่งหากครูอาจารย์พยายามใช้วิธีเดียวกันนี้ในการสอนออนไลน์ จะพบว่าใช้ไม่ได้เลย

ข้อแรก ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของผู้สอนกับผู้เรียนเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ถึงแม้ว่าหลายท่านพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ให้ผู้เรียนพิมพ์ตอบ บางท่านอาจจะบังคับให้เปิดกล้อง หรือวิธีอื่น ๆ แต่จากที่เทอมนี้ผมสอนออนไลน์ทั้งหมด 4 ตัว ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีวิธีไหนได้ผลครับ

สาเหตุที่ไม่ได้ผล เกิดจากทั้งข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ข้อจำกัดของผู้เรียน รวมทั้งพฤติกรรมโดยธรรมชาติของผู้เรียนด้วย ทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ ไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับการเรียนการสอนแบบเจอหน้ากันได้เลย

ข้อที่สอง ด้วยความที่ทุกคนอยู่คนละสถานที่ ทำให้กิจกรรมหลายอย่างที่สามารถทำได้ในห้อง อาจไม่เหมาะสมสำหรับออนไลน์อีกต่อไป

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าการเรียนการสอนออนไลน์แบบสดจะทำไม่ได้ กลับกัน ผมมองเห็นว่ายังไงการสอนสดก็เป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่ผู้สอนต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด

ผมขอยกตัวอย่างวิชาหนึ่งที่ผมสอนเทอมนี้ครับ

ในวิชานี้ ผมใช้ Gamification เข้ามาช่วยตั้งแต่แรก ก่อนเข้าสถานการณ์โควิดเสียอีก เป็นเกมใช้ Google Sheets ง่าย ๆ ที่ผู้เรียนสามารถยึดฐานได้เพื่อรับ EXP (ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นคะแนนตอนปลายเทอม) รวมกับการทำแล็บในลักษณะเควสเพื่อรับ EXP + ของที่จะช่วยให้การยึดฐานง่ายขึ้น รายละเอียดยังมีมากกว่านี้แต่ผมขอเล่าแค่คร่าว ๆ ว่าในแต่ละสัปดาห์ ผู้เรียนในฐานะผู้เล่นจะมีจำนวน Action ที่สามารถทำได้อย่างจำกัด ทำให้ผู้เล่นต้องวางแผนใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และจากการที่มี Action นี่เอง ทำให้ผมสามารถดัดแปลงการสอนได้

ข้อเสียของการสอนออนไลน์คือ ปฏิสัมพันธ์ต่อผู้เรียนต่ำลง แต่ข้อดีคือ ผู้เรียนสามารถมีอิสระตราบใดที่ยังเรียนอยู่มากขึ้น

ผมไม่ใช้การเช็คชื่อ แต่ใช้การแจก 1 Action ให้กับ 3 คนแรกที่เข้ามาในห้องต่อคาบ

ผมใช้ข้อดีของความอิสระของผู้เรียน มาอุดข้อเสียด้วยการถามคำถามที่เป็นลักษณะให้คิดต่อ หรือเป็นคำถามที่ต้องไปหาคำตอบ (เปิดให้ Google ได้เลย) ใครตอบได้ตามจำนวนคำตอบที่วางไว้ ก็เอาไปคนละ Action

วิธีนี้ ทำให้แม้จะสอนด้วย YouTube Live ที่ไม่เห็นหน้า ก็สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้

นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ แต่จะเห็นว่า การที่จะทำการสอนออนไลน์ให้มีปฏิสัมพันธ์เหมือนสอนสด สามารถทำได้ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่แค่บอกให้ผู้เรียนตอบเท่านั้น (ซึ่งยากที่ผู้เรียนจะตอบ) แต่เราสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ให้ได้ผลลัพท์ที่ต้องการได้ บางทีอาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

2. การสอนออนไลน์ ไม่เท่ากับการผลิตสื่อออนไลน์

หลายท่านเห็นว่าการเรียนการสอนออนไลน์ คือการที่ครูอาจารย์ต้องผลิตสื่อเพื่อให้ผู้เรียนไปศึกษา นำมาซึ่งความยุ่งยากทั้งด้านอุปกรณ์ และเทคโนโลยี รวมถึงความรู้ เช่น การตัดต่อวีดีโอ เป็นต้น แต่ความเห็นของผม การผลิตสื่อออนไลน์เป็นแค่ส่วนหนึ่ง หรือวิธีการหนึ่งของการสอนออนไลน์เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ “จำเป็นต้องทำ” แต่อย่างใด

การเรียนการสอนสด กับสื่อการสอน ยังไงก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่ขณะเดียวกัน สามารถนำมาใช้ควบคู่กันได้หากผู้สอนมีศักยภาพที่จะทำ เพราะอารมณ์ที่ได้ไม่เหมือนกัน รวมถึงการเรียนรู้ที่เกิดจากการสอนกับการดูวีดีโอ ก็ไม่เหมือนกัน ในทางกลับกัน การสอนสดออนไลน์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบันทึกย้อนหลัง (เหตุผลอยู่ในข้อต่อไป)

4 วิชาที่ผมสอนในเทอมนี้ ไม่มีวิชาไหนเลยที่เป็นการผลิตสื่อแล้วให้ผู้เรียนไปเรียน แต่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยบันทึกการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมาทบทวนทีหลังได้ เช่น YouTube Live, Google Meet, หรือ Microsoft Teams (ผมเองแบ็คอัพอีกชั้นด้วย OBS ทุกครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาในชั้นแรกก็ลบทิ้ง) วิธีนี้ในความเห็นของผม ง่ายมากกว่าการผลิตสื่อมาก และได้ผลดีกว่าการที่ผู้เรียนไปนั่งดูลิสต์วีดีโอเอง (ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าน้อยคนที่จะไปนั่งดูจนกระทั่งสัปดาห์ก่อนสอบ)

3. มองในมุมผู้เรียนบ้าง

จริงอยู่ว่าการเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่มาแทนการเรียนในห้อง แต่ผู้สอนไม่สามารถคาดหวังให้ผู้เรียนมาเรียนในเวลาได้เลย

สาเหตุเกิดได้จากหลายอย่าง

  • ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต เครื่องมือ
  • ความไม่พร้อมทางสถานที่โดยรอบ
  • ความไม่พร้อมของตัวผู้เรียนเอง
  • ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดของผู้เรียน แม้ว่าผู้เรียนจะต้องการเรียนในเวลา แต่ด้วยเหตุจำเป็นอาจจะทำให้ไม่สามารถทำได้ (ไม่นับความไม่ใส่ใจของผู้เรียนส่วนตัว)

ดังนั้น อย่างแรกเลยที่ส่วนตัวผมเห็นว่าไม่ควรทำ คือการเช็คชื่อ

4 วิชาที่ผมสอน มีวิชาเดียวที่ผมเช็คชื่อเพราะโดนบังคับโดยระบบ แต่ผมไม่เช็คเข้าสายเลย ส่วน 3 วิชาที่เหลือ ผมใช้การจูงใจทางอ้อมให้มาเรียนในเวลาทั้งหมด โดยที่คนที่ไม่ได้เข้าก็ไม่ได้เสียอะไร

ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ทางเลือกแก่คนที่ไม่ได้เข้าเรียนในเวลาด้วย ดังที่ผมกล่าวไปในข้อที่แล้ว การสอนทุกครั้งต้องมีบันทึกย้อนหลัง

ผู้สอนบางครั้งอาจมีความกังวลในเนื้อหาที่สอน ไม่ต้องการให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เรียนเข้ามาดูได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นปัญหา เช่น การตั้ง Unlisted ใน YouTube หรือการตั้งบันทึกใน Microsoft Teams

อีกเรื่องคือการนัดสอนนอกเวลาติด ๆ กัน หรือสั่งงานติด ๆ กันโดยกำหนดเวลาจำกัดอย่างมาก สิ่งนี้หากมีเหตุสุดวิสัยก็ทำได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้เรียนไม่ได้มีวิชาที่ต้องเรียนวิชาเดียว รวมทั้งชีวิตของผู้เรียนก็ไม่ได้มีแค่การเรียนวิชานี้เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดควรต้องทำอย่างพอดี ปล่อยได้ก็ควรปล่อย

อยากพูดลามไปถึงเรื่องการสอบออนไลน์ด้วย เห็นว่าผู้สอนหลายท่านพยายามนำการสอบในห้องมาอยู่ในออนไลน์ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าทำได้ยาก บางท่านพยายามป้องกันการทุจริตด้วยการให้เปิดกล้องตลอดเวลาหรือให้บันทึกวีดีโอ แต่ผมว่ามีวิธีที่ง่ายกว่า เช่น เปลี่ยนข้อสอบจาก Closed Book เป็น Open Book, ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการตรวจทุจริตจากคำตอบ เป็นต้น

สุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนไม่ใช่การทำให้ได้คะแนนเพื่อตัดเกรดของผู้เรียนแต่ละคน แต่จุดมุ่งหมายจริง ๆ คือการที่ผู้เรียนได้ความรู้หรือความสามารถที่ควรได้จากวิชาต่างหาก

4. ผู้สอนต้องสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ใช้

ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้สอนหลายท่านโดนบังคับให้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ไม่เคยใช้ แต่ในเมื่อมันต้องใช้แล้ว สิ่งที่สำคัญเลยคือควรต้องเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ใช้อย่างไร มีไว้เพื่ออะไร

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ การส่งงานใน Google Classroom จำเป็นต้องอัปโหลดไฟล์งาน หรือตอบคำถาม หลังจากนั้นต้องกดส่งงาน (Turn in)

ด้วยประสบการณ์ที่ผมใช้ Google Classroom มา 4 ปี ทุกเทอมจะมีนักศึกษาที่ลืมกด Turn in ครับ แม้ว่านักศึกษาคนนั้น ๆ อาจจะเคยใช้งาน Google Classroom มาแล้วหลายครั้งก็ตาม

สาเหตุมีได้หลายอย่าง แต่จะบอกว่าเป็นความผิดนักศึกษาก็ไม่ได้ หลายคนใช้ ATM กดเงินมาแล้วหลายครั้ง ยังมีเหตุการณ์ลืมบัตร ATM ที่ตู้บ่อย ๆ เลย ถูกมั้ยครับ

ผมเองเวลาตรวจงาน ต้องเช็คทุกครั้งในส่วน Missing (ไม่ได้ส่งงาน) ว่านักศึกษาไม่ได้ส่งงานจริง ๆ หรือแค่ไม่ได้กด Turn in

หากกังวลว่า นักศึกษาอาจจะเห็นว่าเลยเวลาไปแล้ว เลยโมเมว่าอัปโหลดงานเฉย ๆ แล้วอ้างว่าไม่ได้กดส่ง Google Classroom มีให้กด Detail ว่าไฟล์นี้ถูกอัปโหลดเมื่อไหร่ครับ

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการที่ต้องคุ้นเคยและเข้าใจในเทคโนโลยีที่ใช้ มิฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์คะแนนของนักศึกษาหายได้ครับ

5. ยืดหยุ่นบ้าง

ในการเรียนการสอนปกติ การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังแก่ผู้เรียน ในทางกลับกัน ในการเรียนการสอนออนไลน์ เวลากลับเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ครับ

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อมีการกำหนดส่งงาน 6 โมงเย็น มั่นใจได้อย่างไรครับว่าอีเมลที่ผู้เรียนส่งตอน 5 โมง 55 นาที จะไม่มาถึงเราตอน 6 โมง 10 นาที ยิ่งช่วง Traffic หนาแน่น

หรือจะเกิดอะไรขึ้น หากไฟที่บ้านผู้เรียนดับ อินเทอร์เน็ตหมดพอดีก่อนส่งงาน โดยเฉพาะการส่งงานที่มีการบันทึกวีดีโอด้วย

ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่มีสิทธิโทษผู้เรียนด้วย ดังนั้น หากไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์การเรียนเสีย ก็ควรยืดหยุ่นเรื่องเวลาบ้าง

สำหรับผม หากส่งงานช้าไม่เกิน 1 ชั่วโมง ผมก็จะไม่มีปัญหาอะไร ยืดหยุ่นให้และตรวจไปตามปกติ หรือถ้าเป็นการสอบก็อาจจะให้สัก 30 นาที แล้วแต่ความเหมาะสม

แต่ถ้าใครติดต่อผมล่วงหน้า แจ้งว่าเกิดปัญหาจริง ๆ ผมก็จะอนุโลมจนกว่าจะแก้ปัญหาได้

หากมีสิ่งที่นอกเหนือจากนี้ ก็ต้องดูตามความเหมาะสม แต่ทั้งหมดต้องจำไว้ตลอดว่า จุดประสงค์ของการเรียนการสอนคือการที่ผู้เรียนได้ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่การตัดเกรดเป็นสำคัญครับ

6. ความพร้อมของอุปกรณ์ของผู้สอน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญ จริง ๆ แล้วการสอนออนไลน์ อุปกรณ์พื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คหนึ่งเครื่อง ก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่หากผู้สอนลงทุนเพิ่มอีกสักนิด การเรียนการสอนก็จะราบรื่นมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างง่าย ๆ อินเทอร์เน็ต ผู้สอนจำเป็นต้องตรวจสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตเสมอ หรือถ้าเป็นสื่อออนไลน์ อย่างน้อย ๆ คุณภาพของภาพและเสียงที่บันทึกก็ต้องดีระดับหนึ่ง เพราะผู้เรียนดูผ่านอุปกรณ์ไม่เหมือนกัน บางคนดูผ่านจอมือถือเล็ก ๆ หากไม่ชัดเจน การเรียนการสอนก็จะเกิดปัญหา

สำหรับผม สองอย่างแรกที่รู้ว่าต้องมีเลยคือไมโครโฟน และจอคอมพิวเตอร์ที่สอง (ตอนหลังสองไม่พอ ต้องสาม) ไมโครโฟนผมก็หาตัวที่เสียบกับ USB เพราะต้องการใช้หูฟังเช็คเสียงตัวเอง และพอดีผมมีประสบการณ์ไม่ดีกับหูฟังแบบมีไมโครโฟนในตัวเท่าไหร่

สุดท้ายการทำให้การสอนราบรื่นพอสมควร ไม่ต้องไปเสียเวลาโฟกัสกับสิ่งกวนใจเหล่านี้มากครับ

7. การสื่อสารสำคัญที่สุด

การเรียนการสอนออนไลน์มีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ ยิ่งในเวลาที่ผู้เรียนกับผู้สอนไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน การสื่อสารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

ผู้สอนหลายคนคุ้นเคยกับการที่ถึงเวลา เดินเข้ามาในห้องและเริ่มสอน ใครมาช้ากว่า โดนเช็คสาย เรียน ๆ ไป ถึงปลายภาคสอบ

แต่การเรียนออนไลน์มันไม่ใช่แบบนั้น

ผู้สอนควรสื่อสารกับผู้เรียนตลอดเวลาถึงเนื้อหา งาน ความคาดหวัง แม้จะมีกำหนดต้องเรียนในเวลานั้น ๆ อยู่แล้ว ก็ควรแจ้งผู้เรียนก่อนถึงเวลาเรียน

ขณะเดียวกัน ก็ควรเปิดช่องทางสื่อสารให้ผู้เรียนสามารถติดต่อ หรือแจ้งปัญหาได้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นอีเมลครับ

8. มองข้อดีของการเรียนการสอนออนไลน์บ้าง อย่ามองแต่ข้อเสีย

ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าการเรียนการสอนออนไลน์มีข้อจำกัดมากมาย แถมทำให้ผู้สอนเหนื่อยกว่าเดิมอย่างมาก แต่มีหลายสิ่งที่การสอนออนไลน์มีข้อดีมากกว่าการเรียนในห้อง เช่น

  • ผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนเมื่อไหร่ก็ได้
  • ผู้เรียนสามารถเห็นสื่อการสอน หรือได้ยินเสียงอย่างเท่าเทียม จากที่อยู่ในห้องอาจมีปัจจัยเรื่องตำแหน่งที่นั่งในห้อง
  • ผู้เรียนสามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบสิ่งที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาได้ทันที
  • ฯลฯ

ทั้งหมดทั้งมวล หากผู้สอนสามารถสมดุลระหว่างข้อดีข้อเสียดี ๆ แล้ว การเรียนการสอนออนไลน์ก็สามารถเป็นตัวช่วยการเรียนการสอนได้อย่างดี และอาจจะสามารถนำไปปรับใช้กับการสอนในอนาคตได้

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ซึ่งอาจไม่ตรงกับหลาย ๆ ท่าน ด้วยข้อจำกัดที่ต่างกัน หรือแนวคิดที่ต่างกัน หากท่านใดต้องการอ่านแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ยินดีแลกเปลี่ยนแนวคิดกันนะครับ

--

--

Witchaya Towongpaichayont
Witchaya.me

Lecturer & Researcher @CS_KMITL — AR, MR, Games, UbiComp, and anything exciting.