เบื้องหลังภาพลวงตา by Illusion CGI Studio

wuttitarn
wuttitarn’s stories
3 min readDec 12, 2017

การบรรยาย หัวข้อ เบื้องหลังภาพลวงตา โดย บริษัท อิลลูชั่น จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 เป็นส่วนหนึ่งของ Chiang Mai Design Week 2017 หรือเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ผู้เขียนคิดไม่ตกอยู่หลายวัน.. ว่าควรเขียนบทความนี้เก็บไว้ดีไหม เพราะส่วนตัวมั่นใจว่า การอ่านสรุปจากบทความนี้ อย่างไรก็ไม่อาจครอบคลุม หรือให้ความรู้สึกท่วมท้นเท่ากับการไปฟังบรรยายด้วยตนเองได้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจบันทึกไว้ และเชื่อว่าอย่างน้อย ก็เป็นประโยชน์ต่อตนเองในการกลับมาทบทวนและต่อหลายๆ ท่านที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมฟังบรรยาย

เท้าความไปถึงจุดเริ่มต้น ที่เห็นกิจกรรมนี้จาก Event Facebook ที่พี่ Sansern Wutthirat แนะนำให้ ผู้เขียนเองไม่รอช้ากดขอตั๋วร่วมงานจากเว็บไซต์ Eventpop เก็บไว้โดยพลัน (https://www.eventpop.me/e/2600-illusions-behind-the-scene-decoding) และใจจดใจจ่อที่จะได้ไปฟังบรรยาย

วันงานจัดขึ้น ณ หอภาพถ่ายล้านนา เชียงใหม่ ตั้งแต่ก่อนสิบโมงเช้า ผู้เข้าร่วมทั้งแบบมีตั๋วแล้ว และแบบมาโดยไม่ได้กดตั๋วล่วงหน้ามาก่อน (Walk-in) ต่างต่อแถวเพื่อลงทะเบียน เข้าไปนั่งรอฟังบรรยาย โดยได้รับแจกสมุดแนะนำ (Guidebook) และแผนที่ของเทศกาลงานออกแบบมาคนละชุด

Cr. Chiang Mai Design Week

คุณ สุรชัย พุฒิกุลางกูร จากอิลลูชั่น บริษัทชื่อดังในวงการโฆษณา ที่มีผลงานโด่งดังไปไกลระดับโลก และกวาดรางวัลยิ่งใหญ่มานับไม่ถ้วน เป็นวิทยากรนำการบรรยายในวันนี้

เริ่มจากการเกริ่นประวัติและความเป็นมาของอิลลูชั่น โดยตัวคุณสุรชัยเอง เพิ่งมารู้ตัวตอนอายุ 28 ปี ว่าตนเองชอบการตกแต่งภาพแนว Retouch มาก เหมือนเป็นการศัลยกรรมภาพให้เป็นไปตามต้องการด้วย Photoshop และชอบแนวสมจริงหรือ Realistic เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาให้นำเทคนิค Computer-Generated Imagery (CGI) มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานของอิลลูชั่นเรื่อยมา เนื่องจากตอบโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานให้สมจริงและเป็นไปตามจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่จำเป็นต้องทำร้ายสิ่งมีชีวิต เช่น เราไม่ต้องนำช้างและแรดมาต่อสู้กันจริงๆ เพื่อให้ได้งานที่เราต้องการ และทดแทนการจัดเตรียมที่วุ่นวายและใช้กำลังเงินมหาศาล

Cr. http://mushroom.es/portfolio/illusion-cgi-studio/

แต่ความท้าทายของการทำงาน CGI ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะการที่จะทำงาน CGI ให้ออกมาดีได้ ต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญต่างๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรม (Software), ความเร็วของเครื่องคอมพิวเตอร์ (Hardware) ที่ใช้ และความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของบุคลากร โดยแต่ละงานที่อิลลูชั่นได้รับ จะมาจาก Agency ที่เป็นผู้คิด Idea, Concept และ Media Type มาให้ นำไปเสนอลูกค้า หากลูกค้าตกลงและต้องการงาน หน้าที่ของอิลลูชั่น คือเป็น Production house ที่จะเสกไอเดียเหล่านั้น ให้มีชีวิตขึ้นมาได้

คุณสุรชัยเล่าว่า อิลลูชั่นจะเปรียบทีมงานทุกคนเป็นทีมฟุตบอลใหญ่ๆ งานที่ได้รับคือลูกบอล การถ่ายบอลไปมาให้ผู้เล่นแต่ละคนที่ถนัดในตำแหน่งนั้นๆ จะเป็นการลดแรงกดดัน (Pressure) ในการทำงาน และที่สำคัญ อิลลูชั่นไม่ยึดติดกับคนทำงาน แต่จะเน้นที่กระบวนการ (Process) ที่ใช้ในการทำงานมากกว่า เพราะหากว่าคนใดคนหนึ่งในทีมออกจากสนามไป ผู้เล่นใหม่ที่เข้ามา ก็สามารถทดแทน ทำให้งานและทีมดำเนินต่อไปได้

Process การทำงานที่สำคัญที่สุดคือการ Study

การศึกษาหรือ Study ของอิลลูชั่น จะเกิดก่อนที่ลูกค้าจะว่าจ้าง หรือเกิดหลังได้รู้รายละเอียดคร่าวๆ ของงานใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าลูกค้าจะจ้างหรือไม่ แต่ถ้าน่าสนใจ อิลลูชั่นไม่รอช้าที่จะค้นคว้าไปจนถึงรายละเอียดของงาน อาทิ ได้รับบรีฟงานใหม่ให้ทำปลาหมึก อิลลูชั่นจะไปหาดูว่ามีคนทำ CGI ปลาหมึกไว้ไหม Process งานของเขาเป็นอย่างไร แกะ แงะ มันออกมาศึกษา และคิดไว้เสมอว่าเราจะนำเสนอผลงาน ที่แท้จริงแล้วมันน่ากลัวสำหรับคนทั่วไปออกมาอย่างไรให้มัน ‘น่าดู’ ด้วยการใส่ความงามลงไป โดยไม่บิดเบือน Concept หลัก

Cr. http://mushroom.es/portfolio/illusion-cgi-studio/

ภาพ CGI แบบระยะใกล้ (Close-up) ของตัวแมลง เป็นงานที่อิลลูชั่นไม่คิดจะรับมาก่อน เพราะเป็นงานยากและละเอียดมาก แต่สุดท้ายเลือกที่จะรับ เพราะได้ยินประโยคที่ว่า “อิลลูชั่นทำไม่ได้เหรอ ?” และหลังจากทำงานนี้สำเร็จ เหมือนอิลลูชั่นได้ก้าวผ่านขอบเขตที่เคยกลัวและ Comfort zone ที่มีก็ใหญ่ขึ้น ถือเป็นแนวคิดที่อยากให้เราทดลองท้าทายการทำงานของตนเอง และก้าวผ่านขอบเขตเดิมๆ ที่มีอยู่ดู เราอาจจะบอกว่าทำไม่ได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรถ้าไม่ทดลองทำ

ทุกงานของอิลลูชั่นจะเริ่มจากทำ CG ก่อน แล้วค่อยวาดรายละเอียดทับลงไปเฉกเช่นบริษัทอื่นๆ แต่ในเวลาที่เท่ากัน เราจะทำอย่างไรให้งานของเราดีกว่า คือสิ่งที่ทำให้อิลลูชั่นแตกต่าง คำตอบคือ เราต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน ทำให้เต็มที่ ซัดเต็มร้อยให้หมด ไม่ว่าราคาจ้างจะถูกหรือแพงเท่าไหร่ และการทุ่มเทนั้นจะส่งผลออกมาดีได้ หากเรารู้จักการบริหารจัดการ และนำ System ที่เหมาะสมมาช่วยในการทำงาน อิลลูชั่นใช้บันได 4 ขั้น ได้แก่

  1. ความถูกต้อง : ทำการศึกษาหรือ Study ถึงสิ่งที่เป็นจริง ว่ามันเป็นอย่างไร เข้าใจมันให้ดี ก่อนที่เราจะบิดเบือนมัน
  2. ความสวยงาม : จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เป็นจริงเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งโหดร้าย น่ากลัว ให้มันออกมาน่าดู น่าชมได้
  3. เล่าไอเดีย : ทำให้งานสามารถสื่อแนวคิดออกมาได้ชัดเจน ตรงตามวัตถุประสงค์ และเกิดความสมดุลระหว่างความถูกต้อง ความสวยงาม และสิ่งที่ต้องการนำเสนอ
  4. Make a Masterpiece : เคล็ด(ไม่)ลับของอิลลูชั่น คือการใส่รายละเอียดเข้าไปในผลงาน รายละเอียดที่บางครั้งไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าจากระยะไกล นอกจากจะซูมใกล้ๆ เพื่อดู แต่เคล็ดลับนี้ทำให้งานหนึ่งงานธรรมดา กลายเป็นผลงานชิ้นเอก ที่ทรงคุณค่าขึ้นมาได้อย่างใจหวัง เช่นในผลงานด้านล่าง คุณสุรชัยเผยภาพกระบวนการสร้างผลงานให้ดูว่า หลังจากได้ภาพตึก ถนนหนทาง อิลลูชั่นได้มานั่งเก็บรายละเอียดของสิ่งอื่นๆ ตามหลัง นั่งเติมไฟทีละดวงด้วยสองมือ เมื่อมีแสงก็ต้องมีเงา เมื่อมีน้ำก็ต้องมีแสงสะท้อนบนพื้นน้ำ (Reflection) ไม่ให้พลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ เป็นต้น
Cr. http://mushroom.es/portfolio/illusion-cgi-studio/
ภาพฟันที่น่ากลัว จะทำอย่างไรให้ออกมาน่าดู Cr. http://mushroom.es/portfolio/illusion-cgi-studio/

คุณสุรชัยแทนตัวเองเป็นใยแก้วนำแสงหรือ Fiber Optic มีแนวคิดที่ต่างจากความเป็นศิลปิน คือ จะไม่ใส่อะไรที่เป็นตัวเอง หรือภาพที่ตัวเองมองเห็นในหัวลงไปในงาน แต่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ผลงานที่ออกมา ตอบโจทย์ภาพในหัวของลูกค้า ตรงใจเขา และดียิ่งกว่าที่เขาคาดหวังไว้

เน้นหลายครั้ง ว่าการศึกษาหรือ Study เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานมาก ว่าเราไม่จำเป็นต้องทำการศึกษาหลังจากได้โจทย์ แต่เราสามารถศึกษาได้ตลอดเวลา หากสนใจในหัวข้อไหน ให้รีบทำการศึกษา ค้นคว้า หากเราไม่เข้าใจจุดใด ที่อาจทำให้งานมีปัญหา/ไม่เสร็จ/ไม่สวย เราต้องรีบศึกษา และทำให้ได้เร็วที่สุดด้วย แปลว่าไม่ใช่แค่โปรแกรม (Software) และเครื่องมือ (Hardware) ที่ต้องเร็วขึ้นรองรับการทำงาน แต่หัวสมองของเราก็ต้องเร็วขึ้นตามไปด้วย เมื่อเรามีวัตถุดิบเป็นความรู้อยู่ในหัว เมื่อถึงตอนทำงาน เราจะสามารถดึงมันออกมาใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้ และงานไหนที่เราเคยทำมันมาก่อน ในครั้งต่อไป เราต้องทำมันให้ได้ดีกว่า เพราะว่ามันเคยผ่านมือเรามาแล้ว.

สำหรับผู้เริ่มต้นที่อยากประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลยิ่งใหญ่เหมือนที่อิลลูชั่นได้รับ อาจจะเริ่มจาก Scale ความสำเร็จเล็กๆ ใกล้ตัวก่อน ลองทำซ้ำจนชำนาญ และก้าวไปสู่สิ่งใหม่ ให้เกิดการพัฒนาตนเองอยู่ตลอด จาก Scale ความสำเร็จเล็กๆ ที่ทำได้ ความสำเร็จก้าวต่อไปก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นเอง

ผู้เขียนชอบและประทับใจที่สุด คือประโยคที่คุณสุรชัยพูดไว้ว่า

“ มีคนแต่สงสัย จะทำไปทำไมวะ ทำไปก็ไม่มีใครเห็น.. เรื่องนี้มันเป็นทัศนคติในชีวิตของแต่ละคน มันอยู่ที่ Attitude.. ถ้าการที่เราไม่ปล่อยรายละเอียดไป ทำให้เต็มที่ มันทำให้เรามีความสุข เราก็ควรทำ เพราะบางทีความสำเร็จ มันวัดกันที่ความสุข.. ไม่ใช่ที่เงิน”

เอาล่ะ.. เรามาทำงานแบบใส่ใจลงไป และมีความสุขในทุกๆ รายละเอียดที่ได้ลงมือทำกันดีกว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานสายอาชีพใด May the detail be with you นะคะ! ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ ❤

--

--

wuttitarn
wuttitarn’s stories

senior UX/UI Designer with 7 years of experience. Works remotely, recharges through nature trips, loves cats, coffee, and storytelling through writing ♡