2 ปีผ่านไปกับการออกแบบ UI และ 9 ไฮไลท์ที่อยากบันทึกไว้เป็นบทเรียน 📁🌈

wuttitarn
wuttitarn’s stories
7 min readJun 17, 2019
Me, 2019
Me, 2017

I’m a UI Designer.

เราชื่อต้าน ตอนนี้เราอายุ 24 ย่าง 25 ปี ผ่านพ้นช่วงวัยนักศึกษาปริญญาตรีมาได้สองปีเศษ วันนี้เราอยากลองมาเขียนรีวิวตัวเองในเรื่องราวที่ผ่านมาหลังจากก้าวขาสู่วัยทำงาน ว่าเป็นยังไง มีตรงไหนไหมที่ควรปรับปรุงพัฒนา เนื้อหาจึงจะค่อนข้างเป็นส่วนตัวและเข้าถึงยาก เราตั้งใจบันทึกไว้เพื่อให้ตัวเองในอีกสองปีได้มาย้อนดูอีกทีใน Medium เป็นการเก็บพัฒนาการของตัวเองไปในตัว แรก ๆ เรามองว่ามันออกจะแปลก บวกกับเคอะเขินที่ต้องมาตั้งใจเขียนถึงตัวเอง แต่พอได้ลองเขียนจริง ๆ มันทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นนะ หลังจากที่เราเขียนจบ มันให้ความรู้สึกโล่งใจเหมือนกับว่าทางที่ตั้งใจจะเดินไปสว่างไสว เหมือนดัน Brightness & Contrast แบบสมดุลกันขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก

🌟

__

01.06.2017

เราเริ่มทำงานทันทีหลังจากที่ฝึกงานจบในบริษัทเดียวกันกับที่ฝึก มีเรื่องราวที่เราเคยเล่าไว้ในบทความ Junior UI Designer ใน 8 เดือน

Design Room 2017, when the office moved to Suthep District

เรายังจำได้ดีว่ากว่าจะศึกษาและพัฒนาทักษะตัวเองจากนักศึกษาวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาเป็นดีไซน์เนอร์ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การฝึกงานเสร็จสิ้น เป็นเพียงตัววัดว่า เราสามารถผ่านพ้นโปรเจคสุดท้ายของวิชาและเกณฑ์ทดลองงานต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตในวัยทำงานได้อย่างราบรื่นดั่งใจหวัง

When I was a student.

สิ่งที่เราได้รับหลังจากฝึกงาน คือคำตอบที่ยืนยันคำถามที่เราตั้งไว้ก่อนมาฝึกงานว่า การออกแบบ UI จะเป็นงานที่ใช่และเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำมันต่อไปในทุกวันหรือเปล่า? ถึงเราจะสามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ว่า “ใช่” แต่อีกคำถามที่เรายังไม่แน่ใจคือ เราจะสามารถฝึกฝนตัวเองให้เป็น Front-End Developer ควบคู่กันไปได้ไหม? เพื่อไม่ให้ทักษะที่เรียนรู้มาเปล่าประโยชน์ ปฏิบัติการจับปลาสองมือของเราจึงได้เริ่มต้นขึ้นนับจากวินาทีนั้น น้องต้านจึงได้เข้าทำงานในตำแหน่ง UX / UI Designer & Web — Frontend Developer

Who picked this shot for me.. Noooo~ 😂

ก่อนเริ่มงาน เรารู้สึกเหมือนแบกความหวังต่าง ๆ เอาไว้ หลายสิ่งหลายอย่างที่องค์กรตั้งเป้าและพูดถึงตัวเรา ดูไม่ใช่ตัวเราเองเลย เราจะสามารถไปถึงเป้าที่เขาหวังได้ไหมในสองปีและช่วงระยะเวลานี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ร้ายหรือดี อะไรที่ควรค่าแก่การรักษา และอะไรคือสิ่งที่ควรละทิ้งไป เป็นเหตุให้เราต้องการรีวิวตัวเองผ่านบทความนี้ และรวบรวมไว้ในเก้าบทเรียนหรือ ‘9 Lessons’

Lesson 1 : My day one

เรายื้อเวลาหลังจบให้ตัวเองหนึ่งเดือนก่อนเริ่มงาน มันเป็นช่วงที่เรายังว่างและคิดว่ายังไม่พร้อมรับเงินเดือน ในตอนนั้นเราจำได้ว่าสิ่งที่เรากังวลที่สุดคือ เราไม่ต้องการให้ใครมาจ่ายให้ในขณะที่เรายังไม่สามารถทำงานเพื่อเขาได้ แต่เป็นการจ่ายเพื่อให้เราเข้ามาเรียนรู้งาน เราว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แต่องค์กรทำให้เรามองใหม่ ทำให้เราเข้าใจว่ามันมีค่าเสียโอกาส ทำให้เราพยายามเต็มที่ที่จะเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุดเพื่อตอบแทน ทำงานให้เป็นในเร็ววัน

เพลงปลุกใจในช่วงเวลานั้นของเราคือ Thunder ล่ะ ⚡️ ⚡️
Just a young gun with a quick fuse~

ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิดเลย เราเรียนรู้ได้ช้า เมื่อเทียบกับปริมาณงานที่มีในช่วงเวลานั้นเรายังไม่สามารถแบ่งเบาภาระของทีมได้ เราได้งานเล็ก ๆ ในช่วงแรก เช่น การเช็คคำผิด, การรวบรวมไอเดีย, การทำ Mock Up เพื่อนำเสนอ ฯลฯ ตอนนั้นเรามีคำถามอยู่เต็มไปหมด เราตั้งใจออกแบบเต็มที่ในช่วงกำหนดเวลา แต่ทำไมนะเรายังรู้สึกว่ามันไปได้มากกว่านี้ สามารถดูดีกว่านี้ แต่เรายังไม่สามารถจัดการได้ว่าควรออกแบบหรือแก้ปัญหาได้ยังไง

ส่วนเรื่องการ Coding เมื่อเข้ามาทำงานจริง เราแทบไม่มีเวลาจับ หรือให้ความสำคัญกับมันอย่างที่ควรจะเป็นเลย จะบอกว่าเราทิ้งมันไว้บนหิ้งก็น่าจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนเราทำเป็นไม่สนใจ และเลือกก้าวต่อไปในด้านการออกแบบมากกว่า

ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ เราจะบอกตัวเองในตอนนั้นว่าเธอสามารถทำได้ดีกว่าที่คิดนะ อย่ากดดันตัวเองไปหน่อยเลย ถ้าไม่หยุดและทำมันอย่างสม่ำเสมอ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรแสดงให้เห็นชัดขึ้นบ้างล่ะ

Lesson 2 : Getting excited about my job

เมื่อผ่านงานเล็ก ๆ ไปได้หลายงาน พี่เริ่มไว้วางใจให้เราจับงานที่ใหญ่ขึ้น เราจำได้ว่างานแรก ๆ เป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบ Packaging และ Branding ซึ่งเป็นด้านที่เราไม่ถนัดที่สุด แต่พี่ ๆ ทุกคนมีประสบการณ์และให้คำแนะนำได้ดี เมื่องานแรกเสร็จ ถึงจะไม่ใช่ฝีมือเราทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พอได้เห็นเครดิตหลังเล่ม Branding และอีเมล์ที่ลูกค้าส่งคำขอบคุณมาข้ามฟ้าข้ามทวีปมา ทำให้เรารู้สึกอิ่มใจมากอย่างบอกไม่ถูก เรารู้แค่เพียงว่าเราต้องทำมันให้ดีกว่านี้ ถ้าเรามีทักษะที่มากพอ การจะออกแบบอะไรให้โดนใจหรือตอบโจทย์มากขึ้น ย่อมทำได้ดีกว่า ก้าวนี้เป็นก้าวแรก ๆ ที่ทำให้เราตื่นเต้นกับงานสายนี้ที่สุด ถึงจะผ่านงานออกแบบฟรีแลนซ์มาก่อน แต่งานนี้เป็นงานแรกที่เราได้ทำร่วมกับองค์กร และมันเป็นการจุดไฟให้เราได้ก้าวต่อไปได้ไวขึ้นมาก ✨

งาน UI แรกขององค์กรที่เราได้ออกแบบคือเว็บไซต์ แต่มาด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะมีพี่ ๆ ขึ้นโครงสร้างสไตล์ Look & Feel ให้ก่อนในฝั่งแอปพลิเคชัน แล้วเราค่อยออกแบบตามในฝั่งเว็บไซต์ และมีการกำหนด CSS Framework ที่ใช้ ทำให้การออกแบบครั้งนั้นของเราผ่านพ้นไปตามกรอบที่มีให้ หลุดไปไกลก็ใช้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เรากังวลในตอนนั้นไม่ใช่คำถามที่ว่าทำไมพี่ถึงไม่ให้เราออกแบบทั้งหมดด้วยตัวเอง เพราะเรารู้ว่าทักษะที่มียังลุยงานระดับนี้ไม่ได้ แต่เรากลับกังวลที่สุดในเรื่องตำแหน่งของปุ่ม การจัด Alighment และ Grid รวมถึงการวาง Navigation ของเว็บไซต์ ว่าตำแหน่งนี้มันดีหรือยัง ความเชื่อมั่นในตัวเองตอนนั้นอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ถึงมากที่สุด

😭

เหตุการณ์ที่เราจำได้ดี เป็นฉากที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้ คือฉากที่เรานั่งทำงานกะดึก เพื่อออกแบบฟีเจอร์เพิ่มให้เว็บไซต์ แต่ตอนนั้นเราคิดอะไรไม่ออกเลย เรานั่งงมอยู่อย่างงั้น พยายามวางตารางซ้อนกันอย่างฉุนเฉียว สุดท้ายได้หน้าตา UI แบบแปลก ๆ ออกมา เราร้องเรียกขอให้พี่ช่วย พี่เดินมาดูและถามว่าเราได้ลองรูปแบบนั้น รูปแบบนี้หรือยัง เราตอบว่ายังเลย ช่วยหน่อยได้ไหมเพราะงานต้องส่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้แล้ว พี่ตอบกลับมาว่าถ้าคิดไม่ออก ไม่คิดจะไปเปิดดูแรงบันดาลใจจากที่อื่นเพื่อมาทำให้งานออกมาดีกว่านี้เหรอ เราเงียบและคิดในใจว่าเออว่ะ ทำไมเราไม่ทำแบบนั้นกันนะ พี่ไม่รอคำตอบแต่เลือกบอกให้เราลุกขึ้น และนั่งทำงานให้เรา

. . .

มันเป็นวินาทีที่เราผิดหวังในตัวเองมาก ๆ นี่มันงานเรานะเว้ย แต่เรากลับบอกว่าทำไม่ไหวทั้งที่ยังพยายามไม่ถึงไหนเลย ถึงกับต้องให้พี่มานั่งทำแทน พอพี่ทำเสร็จก็ลุกเดินจากไปแบบไม่หันมองกลับมา เราจุกจนพูดไม่ออก และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

Lesson 3 : Hardest Things

PUNYAI Workshop Mooyai Khomsun Chaiwong : my exercise and feedbacks

หลังจากผ่านเหตุการณ์จุกเจ็บใจ เราเปลี่ยนตัวเองให้มองงานออกแบบใหม่ และพยายามไม่พาตัวเองไปติดวงเวียนเดิม ถ้าคิดไม่ออกเราจะไม่คิด เอ้ย! เราจะลองคิดในแง่มุมใหม่ หาไอเดียมาเติมไฟ ให้งานเดินต่อไปได้มากกว่า

เราได้ทำงานในองค์กรที่ Developer มีความสามารถ พี่ ๆ ทุกคนเก่ง มีประสบการณ์และผ่านงานมาอย่างโชกโชน เกณฑ์ในตอนนั้นสำหรับเราที่เป็นเหมือนบรรทัดฐานว่างานดีหรือไม่ คือออกแบบมาแล้วสามารถเอาไป Implement โดย Developer ได้ไหมเป็นประเด็นสำคัญ ในช่วงแรก ๆ เราจะนอยด์ น้อยใจ เวลาออกแบบไปแล้วพี่บอกว่าทำไม่ได้ / มันไม่ใช่ / มันไม่ Native ทำให้เราต้องกลับมาแก้ใหม่

Taiga

แต่พอทำงานไปเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นใด ๆ ล้วนอาศัยหลักเหตุและผล งานนั้นต้องการให้ออกแบบอะไร มีเวลาต่อ Sprint เท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าเราออกแบบ UI เสร็จคนเดียวแล้วจะสามารถ Release Product ได้เลยซะที่ไหน? มันต้องผ่านการ Analyse ผ่านการ Coding และ Testing กว่าจะส่งถึงมือลูกค้า มันเป็นการพัฒนาในรูปแบบทีม หลาย ๆ ทักษะทำให้หนึ่งงานออกมาสมบูรณ์ พอคิดได้ดังนั้น เราเลิกน้อยใจ เพราะยังไงทุกคนในทีมก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือทำผลงานให้ออกมาดี ลูกค้าพอใจ ผู้ใช้แฮปปี้

20Scoops Happiness Camp 2018

ด้วยเหตุผลที่ว่า Front-End Developer จะเป็นตำแหน่งที่รับงานจาก UI Designer โดยตรง ทำให้เราพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน ค่อย ๆ ทำความรู้จักกับสไตล์การทำงานที่ต่างกันของพี่ ๆ คนนี้ต้องคุยเวลาไหน คนนี้ต้องมีเงื่อนไขอะไร ต้องมีเหตุผลแบบไหน ต้องเข้าใจในรูปแบบใด เพื่อให้การส่งต่องานผ่านพ้นไปแบบไม่มีปัญหา มันเป็นการทำงานที่อบอุ่นดีนะ ทำให้เราได้เรียนรู้ได้ดีกว่าการอ่าน คือผ่านประสบการณ์จริงเลย ที่มาพร้อมความกดดันของเวลาและคุณภาพงานที่ต้องรักษา

Lesson 4 : When I’m burning out 🔥🤞

ถึงความกดดันจะมีมากแค่ไหน? เดดไลน์จะใกล้เข้ามาเท่าไหร่? แต่ถ้าวันไหนมันเกิดรู้สึกเบื่อไม่อยากทำอะไร การรู้สึกหมดไฟไปดื้อ ๆ มันก็เกิดขึ้นได้ไม่รู้ตัว พอเริ่มทำงานเป็นได้ระดับนึง เราเลยรู้สึกเหมือนนั่งทำงานที่ทำเป็นอยู่ซ้ำ ๆ ไม่มีจุดหมาย ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับเรา เราถามตัวเองกลับแบบงง ๆ ว่า “นี่ทำงานมานานจนถึงขั้นหมดไฟเลยเหรอ มือใหม่แท้ ๆ” เราเลยลองหากิจกรรมอะไรที่ชอบทำบ้างเพื่อให้ตัวเองไม่เบื่อ

So sad moods

อีกหนึ่งสิ่งที่เราคิดว่าดี และเป็นการกระตุ้นเราไปในตัวได้ทุกที คือการออกไปพบเจอสังคมคนทำงานในตำแหน่งเดียวกันบ้าง ทุกครั้งที่เราพบเจอคนในแวดวงทำงานเดียวกัน ออกแบบ UI เหมือนกัน ทำกราฟิกดีไซน์เหมือนกัน เราจะรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างบอกไม่ถูก มันเหมือนทุกคนต่างทำงานต่างสถานที่ เพื่อเป้าหมายที่แตกต่าง แต่มันเหมือนมีสิ่งหนึ่งที่เราเหมือนกัน คือรันวงการ🔥 มีประสบการณ์แล้วมาแชร์ แลกเปลี่ยนพูดคุยหรือปรึกษา มีอะไรดี ๆ ก็บอกต่อ เราว่ามันเป็นเรื่องดีที่ควรสนับสนุน

เราเองรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกกิจกรรมที่ได้ไป ในช่วงแรกรู้สึกเลยว่าตัวเองไม่มั่นใจ ไม่กล้าไปเพราะไม่รู้จะไปทำไมหรือเสียเวลาการทำงานไปเพื่ออะไร แต่พอลองเปลี่ยนความคิดดูใหม่ ลองไปตามที่พี่ ๆ ชวนดู เปลี่ยนความกลัวเป็นกล้า มันทำให้ได้เกิดการเรียนรู้และทำให้เรารู้สึกว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะหยุด เราต้องทำต่อ ขอขอบคุณจริง ๆ ขอบคุณคนรอบข้างที่ดี ๆ ขอบคุณพี่ ๆ ผู้สนับสนุน รวมถึงคอยส่งเสริมกันในเรื่องที่ดี และขอบคุณช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่ฟื้นฟูพลังกายในการทำงาน ปลุกไฟให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง

Sorry that can’t show all of you guys here, you know I’m thankful for you.

ขอบคุณค่ะ 🙏🏻💕

Lesson 5 : Sharing and giving

หลังทำงานได้เกือบครบปี มีข้อความจากอาจารย์ที่เราเคารพส่งมาถามว่า เราจะยินดีเข้าไปสอนเลคเชอร์ให้น้อง ๆ ในชั่วโมงพิเศษเกี่ยวกับการออกแบบ UI ไหม? ความรู้สึกแรกตอนนั้นหลังจากโดนคำถามนี้เข้าไปคือ นี่เราเรียนรู้เพียงพอที่จะไปถ่ายทอดวิชาให้คนอื่นได้แล้วเหรอ? ความไม่มั่นใจกลับมาเยือน แต่ในเมื่อมันเป็นโอกาส ที่จะได้ถ่ายทอดให้นักศึกษาที่เรียนสาขาเดียวกันกับเราได้รู้ว่า มันมีกระบวนนี้เกิดขึ้นแล้วนะในปัจจุบัน เพราะตอนเราเรียน เราแทบไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พอไม่ได้ศึกษาวิชามันก็ช้ากว่าใครเขา เราจึงตัดสินใจเลือกเข้าไปบรรยายให้น้อง ๆ ฟัง โดยเนื้อหาเป็นเท่าที่เราจัดการไหว และเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่

My first-time lecturer, Cr. Pattama Longani October 16, 2017

น้อง ๆ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรนานาชาติ มช. พอเข้าไปในห้องนั้นแล้ว “คิดถึงตัวเองตอนเรียนชะมัด” มีเหมือนกันนะ บางชั้นเรียนที่อาจารย์เตรียมการไว้ ให้รุ่นพี่ได้เข้ามาสอนหลักสูตรวิชาที่อิงมาจากการทำงานจริง การบรรยายครั้งแรกครั้งนี้ของเรา เป็นการบรรยายที่เราประทับใจ เพราะเราจะไม่ใช่เด็กกิจกรรมจ๋าในตอนเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาในวิชาหลายคนอาจจะไม่คุ้นหน้าว่าเราเป็นใครกันนะ แต่ทุกคนให้ความร่วมมือ และใส่ใจในสิ่งที่เราพยายามถ่ายทอด ต้องขอขอบคุณอาจารย์มากจริง ๆ ที่หยิบยื่นโอกาสที่ดีนี้ให้กับเรา สำหรับเรามันไม่เหมือนกับการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนตรงที่คนฟังเป็นผู้เรียน และเราก็อยากให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้มากที่สุดจริง ๆ พอเขาสามารถเข้าใจ ตามทันได้ มีคำถามตอบโต้กลับ มันทำให้เรารู้สึกชื่นใจจริง ๆ นะ

การบรรยายครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในสายอาชีพ แต่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เรายังมีโอกาสได้ออกไปบรรยายอีกในหลาย ๆ งาน ไปคนเดียวบ้าง ร่วมกันกับทีมดีไซน์บ้าง ทุกครั้งที่ไป ไม่มีครั้งไหนที่พูดเหมือนเดิม เพราะการทำงานที่เน้นพัฒนากระบวนการ และเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามา ทำให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกไปสดใหม่อยู่เสมอ

Lesson 6 : Far from home

บริษัทที่เราทำงานอยู่เป็นบริษัทลูก มีบริษัทแม่อยู่ที่เมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี 🇩🇪และในทุกปีพนักงานทุกคนจะมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาเราเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่ได้ไป โดยมีโจทย์ให้เราเตรียมนำเสนองานในหัวข้อ Blockchain Technology ร่วมกับพี่ในทีมและคุย Phase ใหม่ของเว็บไซต์ที่กำลังออกแบบอยู่

เราถือว่าการทำงานครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้แบบทุลักทุเล เพราะทุกอย่างมันเกิดขึ้นไวแบบตั้งตัวไม่ค่อยจะทัน.. หรือเราน่าจะจัดการมันได้ไม่ดีอย่างที่หวัง🤔 อะมีรายชื่อได้ไป จัดแจงเตรียมเอกสารขอวีซ่า เตรียมงานสำหรับนำเสนอ เตรียมบทพูด เตรียมเสื้อผ้ากันหนาว ขึ้นเครื่องบินยาวนาน ถึงที่ทำงานก็ทำงาน วันหยุดเที่ยว เจออะไรใหม่ ๆ และผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับเรามันเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก แต่มันทำให้เราได้พบเจออะไรที่แปลกใหม่ ประทับใจ พอกลับมาไทย นึกย้อนกลับไปทีไรก็อบอุ่นใจดี 💛

Hamburg 2018

การออกผจญภัยในเวลางานของเราครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และมีอะไร ๆ ให้จดจำมากมายอย่างที่เราได้บันทึกไว้ในบทความ เราได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยทำที่ไทย เช่น การขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีเพราะพี่ ๆ ที่บริษัทอยากฟัง เป็นเพลงไทยที่เราแน่ใจว่าไม่มีใครเข้าใจว่าเราร้องอะไร, การถ่ายแบบโปรโมทสถานที่ร่วมกับทีมงาน, การไปงานบนโรงแรมในเมืองใหญ่แบบวันเดียวกลับ, การขึ้นรถไฟแบบความไวสูง ถึงที่หมายห่างไกลภายในไม่กี่ชั่วโมง, การเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ไหว ในวันที่อากาศน่านอนเหลือหลาย ฯลฯ

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เราค้นพบว่า เมื่ออยู่ห่างไกลบ้าน มีทักษะหลายอย่างที่เราต้องการใช้มัน ณ ตอนนั้นเลยในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย แต่เรายังไม่มี หรือมีไม่พอ เรารู้เลยล่ะว่ามีอะไรที่ตัวเองขาดจริง ๆ อย่างน้อยหนึ่งสิ่งล่ะคือออกไปวิ่งให้ร่างกายได้ขยับบ้าง เพราะกำลังใจอย่างเดียวมันไม่พอให้สามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ทุกข้อจริง ๆ ใครทำงานออฟฟิศต้องนั่งนาน ๆ บริหารร่างกายกันเถอะค่ะ 💃

Lesson 7 : Environment

me & dudes 2017

สองปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราคิดว่าแย่คือเรื่องการแบ่งเวลา เรารู้สึกตัวว่าบางทีก็ทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป บางทีก็เอนไหวต่อสิ่งเร้าใจหรือกิจกรรมให้ความบันเทิง ทำให้เผลอพักผ่อนเพลินจนลืมเวลา เราพยายามจัดการตัวเองให้ได้อยู่นะ รู้นะว่าอะไรมันคือสิ่งที่ถูกต้องควรทำ แต่วินัยคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยถ้าจะทำให้มันสำเร็จ เรารู้ดีว่าถ้าเราแบ่งเวลาได้ดี เราจะมีเวลาสำหรับงานที่เพียงพอ และยังสามารถแบ่งปันเวลามาให้ตัวเองและกิจกรรมที่สนใจได้ พยายามบอกตัวเองให้เริ่มใหม่(รอบที่สามสิบล้าน 😂) พร้อมเตือนตัวเองไว้เสมอว่า…

มันไม่ยากหรอกนะ เวลาจะเริ่มทำอะไรใหม่ อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่จะเริ่มทำมันจริงจังสักที

สำหรับเรื่องราวดีดี เราเข้าใจคำว่า ‘สังคมพาไป ’ ก็วันนี้แหละ ด้วยสายอาชีพที่เกาะติดอยู่กับเทคโนโลยี อะไรมันก็พัฒนาไปไว วิวัฒนาการไปได้ไม่สิ้นสุด เด็กจบใหม่สมัยนี้ใช่ย่อยที่ไหน ทำงานได้ไว โลกแห่งการเรียนรู้ใบใหม่ที่เริ่มต้นง่าย ๆ แค่พิมพ์ Keyword ใน Google ถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ เราจะโดนแซงไปด้วยความไวแสงทันที ถ้าคุณรักที่จะทำงานกับเทคโนโลยี อย่าหยุดตัวเองไว้ที่วันนี้ แต่ขอให้พัฒนาต่อไปเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

พอเราได้มาอยู่กับคนรอบข้างที่คิดเหมือนกัน ฝันไปในทิศทางนี้ เรารู้สึกว่าโชคดี 20Scoops CNX เป็นบริษัทแบบนั้น สำหรับเรามันคือการมีคนรอบข้างที่เข้าใจ ไม่ปิดกั้น มีอะไรก็มาแบ่งปันกัน คำพูดเหล่านั้นมันค่อยเติมไฟให้เราได้เสมอ ว่าเราไม่ได้เดินเคว้งอย่างโดดเดี่ยวในทางสายนี้ ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตจะเป็นยังไง บริษัทจะต้องการทรัพยากรบุคคลแบบเราอยู่ไหม แต่เราจะทำเท่าที่ทำไหวในปัจจุบัน

“ลองอ่านอันนั้นดูซิ ดีนะช่วยได้”
“ลองเข้าไปติดตามคนนี้ดูได้แรงบันดาลใจอะไรใหม่ ๆ”
“ลองเปลี่ยนวิธีคิด หรือแนวทางดูไหม น่าจะเวิร์คกว่านะ”
“ตอนนี้สนใจเรื่องอะไรอยู่เหรอ เอามาแชร์ได้”

2017
My birthday 2017
More Scoopers 2019 Cr. Aekachai Boonruang

Lesson 8 : Letter from me, to me

มีหนึ่งอย่างที่เราอยากลองทำ ส่วนตัวคิดว่ามันดูแปลกนะแต่น่าจะทำให้รู้สึกดีและเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นในหลายด้านคือ ‘การเขียนจดหมายให้ตัวเอง’ เราคิดว่าโอกาสที่จะได้พูดคุยกับตัวเองแบบตั้งใจมันมีน้อย ถ้าไม่ได้กำลังรู้สึกแย่เต็มที่ จนต้องหาวิธีพูดคุยกับตัวเองให้รู้ถึงสาเหตุเพื่อแก้ไข หรือยิ้มให้ตัวเองในกระจกตอนเช้าแบบเช็คว่าสวยพอไหมนะเราวันนี้😂 เราเองก็แทบไม่ได้มีช่วงเวลาไหนที่ใช้พูดคุยกับตัวเองเลย

จากเนื้อหาบอกว่าถ้าเราเขียนถึงตัวเองในวันนี้ จะทำให้เราตระหนักและรู้ตัวเองดีขึ้นว่าตอนนี้เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ และจะทำให้เราเข้าใจ สามารถปฏิบัติไปในแนวทางที่ตั้งใจไว้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมาพลาดตรงไหน เอาส่วนดีมาประยุกต์ใช้ และพยายามปรับลดส่วนเสียทิ้งไป ส่วนข้อดีของการเขียนจดหมายถึงตัวเองในวันพรุ่งนี้ หรืออีกกี่ปีข้างหน้าก็ว่ากันไป เป็นการทำให้เราชัดเจนในเป้าหมายมากขึ้น สวัสดีเศรษฐีนีพันล้านวัย 30 ปีไรเงี้ย ฟังดูดีเหมือนกันเนอะ.. อิอิ

P’Ann’s handwriting ☕️

มีบทความจากหลายสำนักแนะนำไว้ด้วยว่า ถ้าเขียนจดหมายนี้ผ่านลายมือตัวเอง จะสะท้อนสุขภาพสมอง เพราะลายมือต้องใช้ประสาทสัมผัสระหว่างแขนและมือในการเขียนเพื่อควบคุมลายมือให้ออกมาสวยงาม ใช้สมาธิในการสะกดคำเพราะแก้ไขไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนพิมพ์ แถมยังเป็นการเก็บความทรงจำอันคลาสสิก ตราตรึงได้มากกว่า แต่เราตัดสินใจแล้วว่าในฐานะ UI Designer (ง่อวว😂) เราจะบันทึกมันไว้ในรูปแบบดิจิตอล และเลือกเขียนจดหมายถึงตัวเองในวันนี้ไม่ใช่ในอีก 2–3 ปีข้างหน้า

BG: Freepik Font: Itim Cadson® Demak

ใครล่ะจะรู้จักตัวเองได้ดีกว่าตัวเองอีก.. สนุกดีเหมือนกันนะ ใครสนใจลองเขียนจดหมายไปถึงตัวเองดูบ้างได้ ลองดูซิ มันรู้สึกเหมือนได้คุยกับเพื่อนรักที่อยู่ข้าง ๆ ตลอดแต่บางทีเราก็หลงลืมเขาไป ลองให้เวลากับเขาบ้าง

Lesson 9 : The next journey

รีวิวตัวเองโดยสังเขปมาถึงแปดหัวข้อแล้ว สุดท้ายนี้เราจะพูดถึงทักษะที่เราต้องการพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยทำเป็น Checklist ไว้ เราตั้งใจว่าเราจะ..

  • อ่านให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหาวิชาการหรือบทเรียนใหม่
  • ขยันเขียนบทความเพื่อการเรียนรู้ที่ดีขึ้นสำหรับตัวเอง อย่างน้อยเดือนละครั้งก็ยังดี เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ คนอ่านเข้าใจ แปลว่าเราเข้าใจมันจริง ๆ อย่างที่เราคิด
  • มีวินัยกับกิจวัตรประจำวัน เพราะมันส่งผลต่อทั้งวันในการทำงาน
  • ชอบ Design แต่ไม่อยากทิ้ง Code ใช่ไหม ตั้งโจทย์ให้ตัวเองออกแบบ Portfolio Online ขึ้นมาซิ ดีไซน์เองโค้ดเอง แถมได้ทบทวนความรู้ที่มีไปด้วย
  • สร้างที่เก็บ UI ที่เราได้ Screenshot ไว้ ไม่แน่มันอาจจะมีประโยชน์ในอนาคต
  • อัพเดต Dribbble บ้างจ้า ร้างมานานแล้ว
  • ตามโลกเทคโนโลยีและ Design Trends ใหม่ ๆ ให้ทัน
  • ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ
  • อย่ากดดันตัวเองแต่ค่อย ๆ ทำไป สำเร็จไปทีละอย่างดีกว่าไม่สำเร็จเลย

จากเก้าบทเรียนนี้ ในอีกสองปีเราจะกลับมาอ่าน และบันทึกเรื่องราวใหม่ กลับมาเช็คดูว่าที่เราตั้งเป้าไว้สามารถเป็นจริงได้ไหมถ้ามีความพยายาม เราขอไม่แข่งกับใคร แต่จะพยายามชนะใจตัวเองให้ได้

ลุยยย 😆 !!!!

Abstract: The Art of Design, Netflix

__

--

--

wuttitarn
wuttitarn’s stories

senior UX/UI Designer with 7 years of experience. Works remotely, recharges through nature trips, loves cats, coffee, and storytelling through writing ♡