7 ไลฟ์สไตล์ทำประจำเดือนผิดปกติ

Bonné Saengsuwon
YESMOM
Published in
1 min readFeb 17, 2017

ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเป็นปกติมักไม่มีปัญหาสุขภาพ อย่างที่โบราณบอกว่า สาวคนไหนเลือดลมดี ก็แข็งแรง ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และมีลูกง่าย

แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้สาวๆ สมัยนี้จำนวนไม่น้อยประจำเดือนเคลื่อน มามากไป มาน้อยไป มากะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนขาดหายไปนานหลายเดือน

7 ไลฟ์สไตล์ต่อไปนี้ที่ต้องปรับด่วน เพราะส่งผลให้ประจำเดือนรวนได้

1. เอาแต่เครียด แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์เชี่ยวชาญ อธิบายเรื่องความเครียดที่

ส่งผลต่อประจำเดือนไว้ว่า เมื่อเราคิดมากหรือเครียด ความเครียดจะไปรบกวนสมองส่วนไฮโปทาลามัสโดยตรง ทำให้ไฮโปทาลามัสจะไม่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้นต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมองก็จะไม่สร้างฮอร์โมนมาที่รังไข่ รังไข่ก็ไม่สร้างฮอร์โมนมาที่โพรงมดลูก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนเลื่อนออกไป หรือประจำเดือนขาด

2. การออกกำลังกายหนักเกินไป การออกกำลังกายหลาย ๆ ชั่วโมงในแต่ละวัน อาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนออกไป เพราะร่างกายเข้าใจว่าการออกกำลังกายอย่างหนักนี้คือตัวที่ทำให้ร่างกายเครียด ทำให้การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ที่ทำงานประสานกันดีเกิดรวนขึ้นมาได้

นอกจากนี้ในรายที่ออกกำลังกายจนร่างกายผอมเกร็ง ร่างกายจะดึงไขมันไปใช้มากเกินไป ทำให้ปริมาณไขมันในร่างกายต่ำเกินไป ทำให้ไข่ไม่ตก ทำให้ขาดประจำเดือน

3. กินอาหารผิดๆ เชื่อไหมว่าการกินอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารน้อย เช่น ไม่มีสารอาหารที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ ไม่มีโปรไบโอติก แต่กลับมีสารกระตุ้นภูมิแพ้ อาหารเหล่านี้จะก่อกวนการทำงานของต่อมอะดรีนาลีนและต่อมไทรอยด์ เช่น อาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณมากๆ อาหารที่มีไขมันทรานส์ และสารปรุงแต่งต่างๆ ล้วนส่งผลเสียต่อต่อมไทรอยด์ ตลอดจนส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า และทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มระดับขึ้น ซึ่งขัดขวางไม่ให้ฮอร์โมนเพศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประจำเดือนรวนได้

4. สายดริ๊ง ข้อมูลจาก National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโทรเจนและเทสโทสเทอโรน ซึ่งจะเข้าไปก่อกวนระดับฮอร์โมนตามปกติที่ทำให้ไข่ตก ทำให้รอบประจำเดือนจะผิดปกติไป และอาจทำให้ประจำเดือนขาด

5. ทำงานกะดึกและเปลี่ยนกะบ่อย จากการศึกษาผู้หญิงจำนวน 119,000 คน งานวิจัยพบว่าคนที่เข้ากะเย็นและกะกลางคืนมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับรอบเดือนมากกว่าผู้หญิงที่ทำงานในเวลาปกติร้อยละ 33 และคนที่ต้องเปลี่ยนกะเข้างานบ่อยๆ จะพบทั้งปัญหาการมีรอบเดือนสั้นหรือยาวกว่าปกติ คือสั้นกว่า 21 วัน หรือยาวกว่า 40 วัน

6. สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เปลี่ยนระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน เทสโทสเทอโรน ตลอดจนฮอร์โมนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเกิดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) แถมสาวๆ ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะมีรอบประจำเดือนสั้นกว่าปกติและมีรอบประจำเดือนที่ไม่ปกติอีกด้วย

7. ใช้ยาบางชนิด การใช้ยาคุม ทำให้ประจำเดือนมาน้อย มาห่าง มาถี่ผิดปกติ มาแบบเว้นเดือนไป หรือไม่มาเลย นอกจากนี้ยังมียาจำพวกต้านอาการซึมเศร้า และยารักษาอาการทางจิตเวช ซึ่งอาจมีผลให้ประจำเดือนผิดปกติไป

อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตามช่วงวัย

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า ประจำเดือนผิดปกติเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยได้ในหญิงวัยรุ่นที่มีประจำเดือนใหม่ ๆ และหญิงช่วงวัยทองก่อนหมดประจำเดือน ความผิดปกติของประจำเดือนการมีเลือดออกในปริมาณมากเกินไป เช่น ประจำเดือนมาแต่ละครั้งยาวนานเกิน 7 วัน และมีรอบประจำเดือนกะปริบกะปรอย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ

ประจำเดือนผิดปกติในวัยรุ่นที่เพิ่งมีประจำเดือนใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เกิดจากระบบฮอร์โมนที่ควบคุมประจำเดือนยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่มักจะไม่มีโรคอะไรร้ายแรง แต่ถ้ามีการเสียเลือดมาก ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์มักจะให้รับประทานยาปรับประจำเดือนเป็นพัก ๆ จนกว่าจะมีประจำเดือนปกติได้เอง

ส่วนประจำเดือนผิดปกติในหญิงวัยทองก่อนหมดประจำเดือน มักพบว่าเกิดจากโรคอวัยวะภายใน ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน

มาเป็นครอบครัว Yesmom ด้วยกัน ด้วยการตรวจฮอร์โมนเองที่บ้าน เรียนรู้ว่าระดับฮอร์โมนของคุณหมายถึงอะไร มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร เพื่อให้สามารถจัดการสุขภาพของคุณเองได้ด้วยตัวเอง เริดมาก คลิกเลย!

___________________________________________________________________

References

Axe, J. (n.d.). 8 Reasons for Missed or Irregular Periods. Retrieved February 1, 2017, from https://draxe.com/irregular-periods/.

Shape. (n.d.). 10 Everyday Things That Can Affect Your Period. Retrieved February 1, 2017, from http://www.shape.com/lifestyle/mind-and-body/10-everyday-things-can-affect-your-period.

รายการโทรทัศน์พบหมอศิริราช. (2549). ประจำเดือนผิดปกติ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.si.mahidol.ac.th/th/tvdetail.asp?tv_id=39. วันที่สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2560.

--

--