You - ปลอม — เปลือก

(สปอยล์ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในนิยายจ้า)

ผมชอบนิยาย You น้อยกว่าที่คิด(ตอนแรกเห็นคนฮิปๆกันคิดว่าตัวเองจะชอบมาก) แต่ You ก็มีส่วนน่าเขียนถึงเยอะเหลือเกิน ส่วนแรกคือเสน่ห์ที่มาพร้อมกับความน่ารำคาญเป็นพักๆต่อวิธีการพล่ามพรรณาโวหารตลอดทั้งเล่มที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในหัวของชายชื่อ โจ

ยิ่งพล่าม

ยิ่งทำให้เราพบว่าพระเอกของเราดูถูกคนอื่นแทบทุกคน ยกตนในความเหนือกว่าคนอื่นในใจเสมอ คิดว่าตัวเองคู่ควรให้คนมารัก เพ้อฝันในความเก่งหรือหน้าตา หลอกใช้คนอื่นได้หน้าตาเฉย ไม่สามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในระดับที่คนทั่วไปมีให้กัน

เข้าข่ายความผิดปกติประเภทหลงตัวเอง Narcissistic personality disorder

ยิ่งเล่าการใช้ชีวิต

ยิ่งทำให้เราเห็นการไม่เคารพกฎกติกาสังคม ไม่กลัวการทำผิดกฎหมาย สามารถโกหก หลอกลวง สะกดรอยแอบส่อง แฮคเข้าไปในชีวิตออนไลน์ สวมรอยคนอื่น ลักลอบเข้าบ้านคนอื่น กักขังหน่วงเหนี่ยวรวมถึงฆ่าคนโดยปราศจากความรู้สึกสำนึกเสียใจ ทำอะไรหลายหนบุ่มบ่ามเสี่ยงภัยโดยไม่คำนึงถึงอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น และไม่คิดรับผิดชอบผลเหล่านั้น

เข้าข่ายความผิดปกติประเภท Antisocial personality disorder

และยิ่งอ่านไปถึงบทบาท Stalker หรือการฆ่าคน ยิ่งทำให้เห็นความป่วยจิตของโจอย่างสมบูรณ์แบบว่าตานี่ไม่ใช่คนทั่วไปที่น่าคบหาสมาคม

แต่ ตัดเรื่อง stalker ทิ้งไปก่อน , ตัดความเป็นฆาตกรจิตๆออกไปก่อน

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากกว่า

(1) โจทำงานร้านหนังสือ เขาเป็นคนอ่านเยอะ เขารู้จริงในวรรณกรรมชั้นดีรู้ลึกในโลกของนักเขียนไม่ใช่แค่รู้จักผิวเผินจากอ่านรีวิว เขาเหยียดนักอ่านพวกนิยมอ่านฮาวทู , นิยายตลาดๆ ฯลฯ

(2) เขาเป็นคนช่างสังเกตแล้วสามารถอ่านคนรอบตัวเหมือนเวลาเชอล็อค โฮล์มวิเคราะห์คน คือสังเกตเสื้อผ้าหน้าผมและอากัปกิริยาแล้วบอกได้ว่าคนๆนั้นมีนิสัยอะไร ชอบอะไร ทำให้เขาอ่านคนเก่งชนิดชี้นิ้วได้เลยว่า ‘คนนี้ปลอม คนนั้นเปลือก’

เขาเก่งในการมองทะลุพวกเสแสร้งหรือสร้างภาพ

เช่น ดูออกว่าคนไหนชอบพกหนังสือที่จงใจเพื่อให้คนอื่นมองตัวเองแล้วดูคูล (ซึ่งอาจจะไม่ได้อ่านเสียด้วยซ้ำ) , พวกนิยมโพสต์เฟซบุ้คให้ดูฉลาด , พวกถ่ายรูปลง IG ให้เห็นภาพว่าตัวเองลึกซึ้งแต่จริงๆแล้วชอบนิยายขายดีแบบที่คนทั่วไปอ่าน ไม่ได้ลึกซึ้งอย่างที่วอนนาบี

ด้วยสองข้อข้างต้น เวลาอ่านหนังสือเราจึงสัมผัสได้ถึงความรู้สึก ‘เหนือ’ ของโจที่เขาคิดว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่นๆ และแน่นอนคนแบบโจย่อมคิดว่าตัวเองคือ ‘ของจริง’ที่ไม่ได้ปลอมเปลือกเหมือนชาวบ้าน

ซึ่งถ้าวัดความรู้จริงจากเรื่องวรรณกรรมก็ต้องยอมรับแหละครับว่าโจคือของจริง

แต่ถ้าคุณไม่ตกหลุมเสน่ห์โจ ไม่คล้อยตามโจบรรยายจนเกินไป ก็จะสังเกตได้ว่าคนอ่านเยอะ รู้จริง แบบโจก็ไม่ได้ต่างจากคนอื่นเลยเพราะทุกครั้งที่เขาตกหลุมรักใครซักคน เขาไม่เคยตรงไปตรงมา

นี่คือวฺิธีการเดิมซ้ำๆตอนตกหลุมรัก

สวมรอย — สร้างภาพ — สะกดรอย — หลอกลวง

ดังนั้นถ้าโจตัดสินว่าคนอื่นปลอมเปลือก ตัวโจก็ไม่ต่างจากคนอื่นหรอก เขาแค่ไม่รู้ตัว

เพราะถ้าโจรังเกียจมนุษย์เสแสร้งและคิดว่าตัวเองเหนือกว่าชาวบ้านที่ชอบสร้างภาพ โจก็ควรจะจีบหญิงแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องไปสะกดรอยหรือสวมรวยเพื่อทำตัวเองให้ตรงกับที่อีกฝ่ายชอบ

เพียงแต่เขาหลงตัวเองเกินกว่าจะมองเห็นว่า เขาไม่ได้วิเศษกว่าคนทั่วไป เหมือนปัญญาชนฉลาดๆที่คิดว่าความรู้จริงในกรอบที่ตนเก่งกาจคือการเป็นคนจริง แล้วเหยียดคนที่พยายามสร้างภาพ

โดยหารู้ไม่ว่าตัวเขาเองเพียงสร้างภาพและเสแสร้งในมุมที่ต่างจากชาวบ้านที่เขาเหยียด

การประกอบเป็นมนุษย์ , เราอาจเคยเสแสร้งหรือสร้างภาพโดยมีจุดหมายที่ต่างกันตามปมหรือปัญหาที่เรามี

เช่น โจมีปัญหาในการสร้างสัมพันธภาพใกล้ชิดเมื่อชอบใครซักคน เขาอาจจะกลัวเกินไปแต่ไม่ยอมรับ? เขาอาจไม่มั่นใจตัวเองอยู่ลึกๆ? จึงต้องการหลักประกันว่าทำแบบนี้แล้วอีกฝ่ายจะชอบแน่ๆจนต้องไปแอบเอาข้อมูลของคนที่ชอบมาสร้างตัวตนใหม่

ที่น่าสนใจคือถึงโจจะฉลาดแค่ไหน แต่เวลารักใครซักคนโจก็เหมือนผู้ชายส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ฉลาดเท่าที่ตัวเองคิด

ดูได้จากเวลาที่โจบรรยายถึงกวิเนอเวียร์ เบค

โจอ่านคนทะลุปรุโปร่งแต่โจกลับไม่สามารถบรรยายให้เราเห็นด้าน ‘ร้าย’ ที่เรารับไม่ได้ในช่วงท้ายที่โจเริ่มตาสว่าง เพราะในตอนต้นแม้เบคจะมีข้อเสียแต่เราจะรู้สึว่าเบคน่าสงสารผ่านความคิดของโจ

จนเมื่อรักไม่ได้ดั่งใจ เขาก็จะทำให้เราเห็นไปพร้อมๆกันว่าเบคไม่ใช่หญิงสาวอย่างที่อ่านตอนต้น ทั้งที่เบคไม่ได้เปลี่ยนไป เบคก็เป็นคนเดิม

เพิ่มเติมคือโจ(กับคนอ่าน)ตาสว่างขึ้น

มาถึงเบค

ในช่วงต้นเราจึงจินตนาการเบคเป็นผู้หญิงที่น่าสงสารอยู่บ้างจนแทบจะคล้ายเป็น ‘เหยื่อ’ ที่น่าสงสารในความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การที่คบกับเบนจิ-ผู้ชายรวยเจ้าชู้ไม่จริงใจ หรือการรักเพื่อนแบบพีชจนบางครั้งเหมือนรักมากไปโดยไม่แคร์ตัวเอง

แถมเธอก็มีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดคือคบเป็นแฟนกับใครก็รู้สึกไม่มั่นคง ไม่สามารถพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

แต่ที่ว่าน่าสงสารทั้งหลายนั้น มันก็เพราะเรามองเธอผ่านสายตาของโจ-ผู้ชายอีกคนที่ตกหลุมรักเธอ

แม้เบนจิจะชี้ช่องความเป็นผู้หญิงที่จ้องจะจับเขาแต่โจก็ไม่ยอมรับ แม้เพื่อนเบคคนอื่นวิจารณ์เธอในแง่ลบ โจก็ไม่เชื่อแถมเบคก็ยังเป็นคนแบบเดียวกับอีกหลายคนที่โจรังเกียจ คือเสแสร้งสร้างภาพผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ตอนแรกโจก็หาได้รังเกียจเธอแบบที่เขารังเกียจคนอื่น

จนเมื่อหลักฐานทุกอย่างชัดขึ้นเรื่อยๆ เบค ก็ไม่ได้น่ารักอย่างที่โจคิดบางครั้งก็ติดขี้โกงด้วย เช่น เมื่อจนกรอบก็เอาเสื้อผ้าที่ใส่มาสามเดือนไปที่ห้างหาข้ออ้างขอเงินคืน ฯลฯ

ไม่ใช่แค่นั้น

เบคคือผู้หญิงที่อ่อยไปเรื่อย รู้สึกดีกับการที่ตัวเองเป็นที่ต้องการ ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งกับใคร เธอชอบเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจในเสน่ห์ทางเพศของตัวเอง โดยโปรไฟล์ของคนที่เธอดึงมาก็มักมีคุณสมบัติร่วมกันเป็นระดับเซเล็บทั้งในแง่อินเท็ลเล็คช่วลและร่ำรวย , คบกับผู้ชายโดยสนใจแค่เปลือกนอกและชดเชยปมเรื่องพ่อของตัวเอง (เบนจิ - รวย หลงเธอ , พีช -รวย เป็นคนตระกูลซาลินเจอร์ , จิตแพทย์ -หลงเธอ ยอมทิ้งเมียมาคบเธอ , โจ — ฉลาด รักเธอ)

และโจก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่น่าสนใจ เบคมักเลือกผู้ชายที่ทำให้เธอเร้าใจเพียงแต่อย่าหวังจะผูกมัดเธอจริงจังในแบบแต่งงาน

ดังนั้นที่เราเข้าใจมาตลอดว่าเบคมีปัญหาความสัมพันธ์ เช่น คบกับคนไม่ดีอย่างแฟนเก่า คบกับโจแรกๆแล้วก็ห่างหายไปคงเป็นเพราะเธอไม่มั่นใจ

เปล่าเลย เธอไม่ได้ไม่มั่นใจแต่เธอชอบใช้เสน่ห์ทางเพศทำให้ตัวเองเป็นศูนย์รวมความสนใจของทุกคน ดังนั้นถ้าเธอผูกพันกับใครแนบแน่นเช่นมาคิดถึงขั้นขอแต่งงานก็จะถูกปฏิเสธหรือถอยหนีเพราะเธอไม่ต้องการสูญเสียโอกาสการถูกจีบ ถูกตกหลุมรัก จากคนอื่นๆ

เรียกได้ว่าเห็นนิ่งๆเงียบๆแต่เบคเหมาเรียบทุกคนนะครับ แล้วมันก็สร้างปัญหาตามมาเสมอจากความสัมพันธ์ทำนองนี้เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับความผิดปกติของบุคลิกภาพแบบ Histrionic personality disorder

You จึงสนุกขึ้นเรื่อยๆเมื่อเปลือยเปลือกของตัวละครเบคในช่วงท้าย ที่กลายเป็นว่าเป็นเหมือนเรื่องของคนป่วยสองคนที่มีดีกรีความป่วยไม่เท่ากัน มีปัญหาคนละแนวกัน (บุคลิกภาพแบบหลงตัวเองผสมต้านสังคม VS บุคลิกภาพแบบฮิสตริโอนิคผสมต้านสังคมนิดๆ) แล้วบังเอิญมาปิ๊งจับคู่กันด้วยแรงดึงดูดทางวรรณกรรม

สนุกตรง การเป็นคนอ่านที่ถูกบังคับให้ต้องเกาะมุมมอง( POV )ของตัวละครที่เป็นฆาตกรจิตป่วยแต่ต้องเป็นพระเอก คล้ายซีรี่ส์แบบ Dexter แต่แบบ Dexter นั้นเรายังเห็นระดับสามัญสำนึกทางศีลธรรมที่เจ้าตัวสามารถขยับมานั่งเป็นพระเอกในใจของคนดูได้อย่างสนิทใจ เพราะมันจะมีกรอบหรือเส้นแบ่งบางเส้นที่เจ้าตัวไม่ได้ชั่วช้าจนรับไม่ได้ มีสำนึกรู้ตัว(insight)ในความถูกผิดที่บ่อยครั้งกระอักกระอ่วนใจเมื่อต้องฆ่า

แต่โจก็เหมือนการตามติดตัวละครพระเอกแบบ The Talented Mr. Ripley คือถ้าจะติดตามให้จบเราก็ต้องยืนอยู่ในฟากเดียวกับตัวร้าย มองเขาทำร้ายผู้คนแบบไร้ความรู้สึกผิดหรือดีชั่วไปจนสุดทางในฐานะ ‘พระเอก’ แล้วมองคนดีๆหรือผู้บริสุทธิ์ที่เราควรอยู่ฝั่งนั้นถูกทำร้ายโดยไม่ได้รับการทวงคืนความยุติธรรม

, สนุกตรงการอ้างอิงหนังหรือวรรณกรรมของผู้เขียนไล่ตั้งแต่สตีเฟนคิงยันหนังของวู๊ดดี้อัลเลนและอีกมากมายที่ไม่รู้จักแล้วอยากไปติดตามผลงานศิลปินเหล่านั้น

แต่ก็อย่างที่บอกตอนต้นครับ ผมชอบเรื่องนี้แค่ช่วงต้นกับช่วงท้าย

แต่ตรงกลางหลายช่วงที่อ่านแล้วก็วางไม่ได้ติดหนึบเพราะเบื่อในการย่ำอยู่ประเด็นเดิมๆ เช่น การวนเวียนกับเรื่องจู๋แข็งหรือจิ๋มแฉะที่โจบรรยาย ฯลฯ คือในระดับหนึ่งเรารู้แล้วว่าโจเป็นอย่างไรแต่พอความพล่ามในลูปความคิดเรื่องเดิมซ้ำๆ นำไปสู่พล็อตวนๆซึ่งด้วยความหนาขนาดนี้มันน่าจะนำพาไปสู่เรื่องราวอื่นได้บ้าง

ก็ได้แต่หวังว่าถ้ามีการแปลเล่มภาคต่อตามมา เนื้อหาจะหลุดพ้นภาวะแข็งหรือแฉะซ้ำๆย่ำจุดเดิมๆ

ป.ล. รูปข้างต้นคือตัวละครโจกับเบคในซีรี่ส์ You ที่จะฉายในเน็ตฟลิกซ์เร็วๆนี้

--

--