เพียงเพื่อให้ได้เป็นที่รัก (You, Perfume และ Sharp Objects)

Photo by Ryan Holloway on Unsplash

รักไม่ใช่เรื่องยาก

เพียงสบตากับใครซักคน ความรู้สึกรักก็สามารถเกิดขึ้นมาได้เลย

แต่รักเป็นคนละเรื่องกับ ‘รักกัน’

การรักกันคือการรับส่งความรู้สึกแก่กัน(reciprocal)และมันก็จะเกิดขึ้นหลังจากคนที่เริ่มรักสานสัมพันธ์ เข้าไปทำความรู้จัก ทักทาย ขอไลน์ แอดเฟซบุ้ค ซื้อขนมไปฝาก โทรไปคุย คอยเอาใจใส่ ฯลฯ

สำหรับบางคน นั่นคือส่วนที่ยาก , นั่นคือขั้นตอนของ ‘กระบวนการ’

ซีรี่ส์ 3 เรื่องที่ผมดูไล่เลี่ยกัน You, Perfume และ Sharp Objects เป็นซีรี่ย์ที่เกี่ยวกับความรักครับ

ตัวเอกของทั้งสามเรื่องล้วนมีความรัก

เพียงแต่ความรู้สึกรักของพวกเขาไม่ได้ทำให้กลายเป็นหนังรัก เพราะกระบวนการเพื่อให้ได้ความรักกลับมาของพวกเขาผิดปกติจากคนทั่วไป จากวิธีการเช่น

  • ใช้วิธีสะกดรอย ลักลอบไปในห้องส่วนตัว ขโมยของใช้ส่วนตัว แฮ็คข้อมูลของคนที่ตัวเองรัก กำจัดคนที่เป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้ตัวเองสมหวัง
  • เอาตัวเองเป็นใหญ่คิดว่าสิ่งที่ทำให้คนที่ตัวเองรักล้วนเป็นสิ่งดี แต่ไม่เคยถามอีกฝ่ายว่ารู้สึกอย่างไร หรือว่าต้องการมันหรือไม่
  • ทำให้คนที่ตัวเองรักต้องอ่อนแอแบบที่เขาไม่รู้ตัว เพื่อหวังให้เขายังคงพึ่งพา
  • กำจัดคนที่เป็นคู่แข่งที่จะมาแย่งความรักด้วยวิธีผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม

ทั้งสามเรื่องจึงไม่ได้ลงเอยด้วยความโรมานซ์แต่กลายเป็นคดีฆาตกรรม

ใน You , โจน่าจะป่วยเป็นโรคทางบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder)ร่วมด้วย

ในนิยายเราจะเห็นการพล่ามของโจที่บ่งบอกบุคลิกภาพข้างต้น

เขาดูถูกคนอื่นแทบทุกคน ยกตนในความเหนือกว่าคนอื่นในใจเสมอ คิดว่าตัวเองคู่ควรให้คนมารัก เพ้อฝันในความเก่งหรือหน้าตา หลอกใช้คนอื่นได้หน้าตาเฉย

  • ความรักของคนที่หลงตัวเองรุนแรงมักไม่คิดถึงใจคนที่ตัวเองรัก
  • จัดแจงบงการคนรักให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองคิดว่าดี
  • เจ้ากี้เจ้าการในชีวิตส่วนตัวของคนรักให้เป็นตามตัวเองตัดสิน

ยิ่งเขามีภาวะ stalking และสามารถฆ่าคนได้โดยไม่สำนึกเสียใจไร้ความรู้สึกผิด

ดังนั้นแม้เบคจะมีใจให้ก็ดูจะยากที่รักของคนแบบโจจะราบรื่น

( อ่านบล็อกที่เขียนถึง You ต่อได้ที่ https://medium.com/ผมอยู่ข้างหลังคุณ/you-ปลอม-เปลือก-3d6a142fb745 )

ใน Perfume , มินิซีรี่ส์หยิบยืมบางส่วนจากนิยาย Das Parfum ของ Patrick Süskind มาใช้เขียนเรื่องราวใหม่ให้เกิดในยุคปัจจุบัน มีตัวละครที่เชี่ยวชาญกลิ่นและทำน้ำหอมแบบเกรอนุย

ส่วนตัวแล้วผมชอบ Perfume ที่สุดในสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมา

ทั้งในแง่การผูกเรื่องที่สามารถรักษาแนวคิดของ Das Parfum , การเขียนตัวละครที่แต่ละคนล้วนมีปูมหลังกับแรงผลักดันในการใช้ชีวิตตามบาดแผลในใจ และการนำเสนอที่นับว่าไปสุดทั้งความเร่าร้อนรุนแรงที่หนังต้องการสะท้อนความดิบของสัญชาตญาณพื้นฐานมนุษย์

เริ่มจากคดีฆาตกรรมหญิงสาวที่มีแรงดึงดูดทางเพศสูงจากนั้นก็มีหญิงคนอื่นถูกฆ่าตามมา เหยื่อทุกรายถูกเฉือนชิ้นส่วนของร่างกายที่ส่งกลิ่นเพื่อไปทำเป็นน้ำหอม ด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำหอมจากเหยื่อจะทำให้ผู้ใช้เป็นที่รักใคร่ของผู้คน

ฆาตกรในซีรี่ส์ Perfume ก็คล้ายกับเกรอนุยใน Das Parfum คือเขามีความรัก , เพียงแต่เขาใช้วิธีการผิดๆเพื่อให้ได้มันมา

คดีหนึ่งฆ่าเพื่อต้องการแทนที่ไปเป็นที่รัก , ในขณะที่อีกคดีที่เกิดขึ้นในซีรี่ส์ก็เช่นกัน การฆ่าเกิดจากความอิจฉาที่เห็นเหยื่อมีแต่ผู้คนรัก จึงหวังว่าถ้ากำจัดเหยื่อแล้วนำบางส่วนของร่างเหยื่อมาใช้กับตัวเองก็จะได้เป็นที่รัก

และก็ไม่ใช่แค่ฆาตกร

แต่ยังมีตัวละครคนอื่นในซีรี่ส์อีกที่ยินดีทำในสิ่งผิดๆเพื่อให้ได้มาเพื่อเป็นที่รัก โดยไม่แคร์ว่าสิ่งนั้นจะผิดจริยธรรมหรือผิดศีลธรรม

เส้นแบ่งบางๆมีเพียงแค่การฆ่าหรือไม่ฆ่าคนเท่านั้นเอง

ใน Sharp Objects , มินิซีรีส์ที่ดัดแปลงจากนิยายของจิลเลี่ยน ฟลินน์ผู้เขียน Gone Girl

ด้วยนิยายก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าค่อนข้างย้วยนิดๆระหว่างทางเมื่อเทียบกับอีกสองเรื่องที่อ่านมาของจิลเลี่ยน ฟลินน์ เมื่อมาอยู่ในมือคนทำซีรี่ส์ที่จงใจเดินเรื่องเนิบนาบอีกจึงรู้สึกว่ามันอืดเกินไป จะขยับ pacing ให้เร็วแล้วสนุกกว่านี้ก็น่าจะได้ไม่ถึงขั้นทำลายคุณค่าหนัง

ส่วนที่เด่นมากๆสมควรได้คำชมคือการแสดงของสามอนงค์ทั้งแม่ (แพทริเซีย คลาร์คสัน) และลูกสาวทั้งสองคน (เอมี่ อดัมส์ , อลิซาเบธ สแกนเลน) และเอนด์เครดิตที่เฉลยเหตุการณ์ตอนท้ายที่นับว่าผู้กำกับโชว์ของได้อย่างร้ายกาจ

นางเอกคือนักข่าวที่ต้องกลับไปบ้านเกิดซึ่งเธอไม่ต้องการกลับไปเผชิญหน้าครอบครัวและอดีตที่เจ็บปวดของตัวเองแต่เธอต้องกลับไปเพื่อทำข่าวคดีฆ่าเด็ก

ยิ่งสืบก็ยิ่งต้องไปเกี่ยวข้องกับครอบครัวเพราะครอบครัวของเธอเป็นตระกูลดังในชุมชน และเมื่อค้นพบความจริงของคดีก็กลายเป็นว่าโศกนาฎกรรมในชุมชนบ้านเกิดของเธอล้วนมาจากรัก

  • ฆาตกรที่ปราศจากสำนึกเสียใจจนน่าจะป่วยในกลุ่ม antisocial personality disorder ตัดสินใจฆ่าเพราะกลัวจะถูกแย่งความรัก
  • ฆาตกรต้องการให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางความรักเพียงผู้เดียว ไม่อาจทำใจได้หากจะปล่อยให้คนที่ตัวเองรักแบ่งใจไปให้คนอื่น
  • คนร้ายทีเ่ป็นผู้ป่วยโรค Munchausen syndrome by proxy ที่จงใจทำให้คนที่ตัวเองรักเจ็บป่วยด้วยหวังว่าเมื่ออีกฝ่ายอ่อนแอลงแล้วจะยังคงพึ่งพาแล้วมอบความรักให้ตนมากขึ้น

มันจึงเป็นพยาธิสภาพของจิตใจที่มีความรักอยู่ในนั้น

รักจึงเป็นเรื่องง่าย

แต่การจะให้ได้มาซึ่งคำว่า ‘รักกัน’ เป็นกระบวนการที่ต้องคิดถึงคนที่เรารัก

เป็นกระบวนการที่ต้องพร้อมยอมรับว่าเริ่มต้นจากตกหลุมรักแล้วต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่ได้แปลว่าจะได้รับการตอบรับเป็นคำว่า ‘รักกัน’ เสมอไป

ไม่ใช่เพราะเราผิด ไม่ใช่เพราะเราไม่ดี

ไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายแย่ ไม่ใช่เพราะอีกฝ่ายร้าย

ไม่มีคำอธิบายง่ายๆ

เพียงบอกได้แค่ว่า ‘การรักกัน’ ไม่ใช่ตัวเลข ไม่ใช่สมการ บางครั้งมันก็อาจเกิดขึ้นง่ายจริง บางครั้งมันก็ต้องใช้เวลา บางครั้งก็ต้องผ่านความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า

และบางครั้งเขาหรือเธอก็เกิดมาให้เราพบ เพื่อให้เรารู้จักรัก

แต่ไม่ได้เกิดมาเพื่อรักกัน

--

--