ข้อคิดและประสบการณ์ที่ได้จากการสมัครงานและสัมภาษณ์งาน

Pom Sutham
2Bearstalk
Published in
3 min readDec 28, 2018

ช่วงนี้ได้มีโอกาสได้เดินทางไปสัมภาษณ์งานหลายๆ บริษัท ทั้งขนาดเล็กกลางใหญ่ ทั้งบริษัท startup เริ่มต้นจนไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ เลยอยากให้ประสบการณ์ตรงนี้ไม่หายไป บันทึกเก็บไว้อ่านส่วนตัวด้วย และเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นหากกำลังหางานใหม่ในช่วงปลายปีต้นปีแบบนี้

หากใครได้อ่านบทความก่อนหน้าที่ผมได้พูดออกจากงานบริษัท Wisesight ลองอ่านดูได้ที่นี่ครับ และผมอยากให้อ่านด้วยนะครับ :) ต่อจากนั้นผมไปเจออะไรบ้าง สัมภาษณ์งานมาเป็นอย่างไรบ้าง ผมขอแบ่งปันเรื่องราวให้ฟัง เพื่อที่บางคนกำลังเตรียมตัวหางานใหม่นะครับ เรื่องราวต่อไปนี้ไม่ได้ลำดับว่าอะไรต้องมาก่อนหลัง และไม่ได้เรียงจากสำคัญมากไปน้อย ทุกข้อสำคัญหมดนะครับสำหรับมุมมองผม

เนื้อหาต่อไปนี้มันยาวมาก และผมไม่มีรูปภาพประกอบ บอกไว้ก่อนมันจะน่าเบื่อมากๆ สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจจริงๆ

ถ่ายตอนกรอกฟอร์มสมัครงานว่าเคยทำอะไรบ้าง (จริงๆ ต้องเขียนปัจจุบันไปอดีตนะ กราบขออภัย)

รู้จักตัวเอง

ข้อนี้สำคัญมากๆ เรามักจะหลงทางบ้าง หรือยังมีคำถามกับตัวเองเสมอว่า “ทำงานอะไรดีนะ” “ชอบอะไรนะ” “อยากทำอะไรดี” คำถามนี้ส่วนมากมักจะเกิดกับคนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ และอาจเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัยนะครับ คำถามนี้มักจะเกิดขึ้นตอนเรากำลังมีปัญหาเรื่องการทำงานก็ได้ เหนื่อยล้า อาจจะอยากพักก็ได้ไม่ใช่เราเบื่อหน่ายงาน

การรู้จักตัวเองมีได้หลายวิธี

  • ทดสอบแบบ Personality Test ลองทำกันดูได้นะครับ
  • หนังสือเจาะจุดแข็ง “Strengths Finder” มีเทสอยู่ด้านใน
  • เขียน keyword ที่เรานึกถึงบ่อยๆ เป็นเวลาติดต่อกันช่วงเวลา 1–3 เดือน แล้ว cluster คำเหล่านั้นดู
  • ทดลองเข้ากิจกรรมทุกอย่างที่สนใจ

ไม่ว่าจะวิธีไหนก็แล้วแต่ซึ่งมีมากกว่านี้แน่นอน ค้นหาให้เจอว่าอะไรที่เราทำแล้วยิ้มได้ มีความสุข ทำแล้วไม่เบื่อ ทำได้ทั้งวัน พร้อมที่จะมีปัญหาแล้วไม่วิ่งหนีมัน (นี่ผมก็เขียนเตือนตัวเองด้วย)

ค้นหาเป้าหมายชีวิต

เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองถนัด ชอบ หรือเก่งอะไร สนใจอะไร ต่อมาลองบอกกับตัวเองให้ได้ ว่าเป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร บริษัทที่เราสมัครเมื่อได้เข้าไปสัมภาษณ์งาน คนที่มาสัมภาษณ์เรา (ปัจจุบันถ้าไม่ใช่ HR ก็จะเป็นหัวหน้าทีมที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย) จะต้องการอยากรู้แน่นอนว่าเป้าหมายของเราคืออะไร เพื่อที่จะได้รู้ว่า เข้ามาทำกับบริษัทนี้แล้วคือบันไดก้าวนึงของเราหรือเปล่า มันจะทำให้ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเราหรือไม่ เพราะถ้าเข้ามาแล้วก็อาจจะทำให้อยู่ได้ไม่นานก็ออกไป เสียเวลาทั้งเราและบริษัทด้วย (รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านหลังที่เรามักจะไม่ค่อยรู้กันว่าพนักงานคนนึงเข้าบริษัทมาแล้วจะมีอะไรบ้าง)

เป้าหมายชีวิตไม่ใช่มีเพื่อไว้ตอบคำถามสัมภาษณ์งานนะครับ มันเอาไว้เป็นแผนที่สำหรับตัวเอง ยิ่งรู้เส้นทางหรือเป้าหมายที่จะได้ไป เราก็จะไปได้เร็วครับ

บางครั้งเราอาจจะมีเป้าหมายที่เปลี่ยนไปจากปีก่อน สองปีก่อน สำหรับมุมมองผมแล้ว มันไม่ใช่เรื่องผิดพลาดอะไรนะ แต่ต้องหาคำตอบให้ได้และมั่นใจจริงๆ ว่าเป้าหมายเปลี่ยนจริงใช่ไหม เพราะอะไร บางทีเรารู้ตัวเองเร็วขึ้นว่าเราไม่ได้ชอบด้านนี้แบบจริงจังก็ได้ จริงอยู่ว่าทำได้ไม่นานแล้วออก บางคนอาจจะมองว่าไม่มีความอดทน แต่ไม่มีใครรู้เรื่องเราดีนอกจากตัวเราเองนะ ทำในสิ่งที่ชอบและสบายใจ ทำในสิ่งที่เรามองเป้าหมายไว้แล้วนั่นแหละครับ และทุกเป้าหมายระหว่างทางก็จะมีอุปสรรคเสมอ ฉะนั้นตอนตอบคำถามคงเป็นเรื่องที่อธิบายยาก ผมจะเล่าต่อในหัวข้อถัดไป

ค้นหา/สมัคร/แนะนำ

สามสิ่งนี้น่าจะเป็นวิธีปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงการได้สัมภาษณ์งาน ซึ่งผมทำมันทั้งหมดสามอย่างเลย จะลองอธิบายแต่ละอันแบบคร่าวๆ

  • ค้นหา: ก็คือใช้เครื่องมือปัจจุบันที่มีอยู่เลย เช่น JobsDB, LinkedIn สองตัวนี้ที่ผมใช้บ่อยสุด มันต่างกันนะ แต่สุดท้ายก็คือเน้นไปที่ค้นหาครับ ถ้า JobsDB ก็คือลง profile ทิ้งไว้ พร้อมกับ portfolios ที่เป็นไฟล์นะครับ ซึ่งมันให้พื้นที่สำหรับ port งานแค่ 2MB เท่านั้น สำหรับ Designer คงยากหน่อยถ้าอัดใส่งาน graphic เยอะๆ ส่วน LinkedIn ก็ใส่ profile เช่นกันครับ ซึ่งข้อดีของ LinkedIn คนที่ใช้งานอยู่แล้วคงทราบดี มันคือ Social Media ของคนทำงาน (ปัจจุบัน Recruiter/Headhunter ก็ไปอยู่ที่ตรงนี้มาก) มีทั้งคอนเทนท์ความรู้เกี่ยวกับทำงานรวมถึงประกาศตำแหน่งงานด้วย
  • สมัคร: ก็คือสามารถกดสมัครงานหรือ apply กับงานที่เราค้นหาเจอได้ทันที จบแค่นั้น / ถามว่าทำไมต้องแยกจากข้อแรกด้วย เพราะข้อแรกมันคือแบบขารับครับ หมายถึง เราทิ้ง profile ไว้ แล้วถ้ามัน matching กับคนที่หาคนทำงาน ก็จะไปเข้า criteria ของคนนั้นเอง แต่การใช้งาน JobsDB เข้าใจว่ามีค่าใช้จ่ายตอน request เปิดดู profile คนนั้นด้วย ส่วน LinkedIn อันนี้ไม่ทราบฟัง recruiter เป็นยังไง ทางฝั่งคนหาคนทำงานก็จะสามารถส่ง message ลักษณะ chat เข้ามาพูดคุยได้ทันที และ LinkedIn การอัพเดตไม่ใช่แค่ทำ profile ทิ้งไว้ แต่อาจจะทำ content ที่เกี่ยวกับความสนใจเราและ publish มันออกไป ก็ทำให้ timeline เราอัพเดตไปด้วย
  • แนะนำ: ปัจจุบันนี้ connection เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการทำงาน เรียกสั้นๆ ได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ไม่ผิด ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมจะเป็นคนที่ทำดีมาโดยตลอด ถ้าใครทราบ profile ผมก็จะเข้าใจได้ว่าผมเปลี่ยนงานบ่อยกว่ามนุษย์ทำงานทั่วไปโดยปกติช่วงอายุงาน 10 ปีที่ผ่านมา และนั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องแลกมากับอะไรหลายอย่างด้วยเช่นกัน (ใครอ่านมาถึงตรงนี้ ขอบอกว่ามันไม่ดี อย่าเอาเยี่ยงอย่างเลย, แต่สำหรับผมมันผ่านมาแล้ว และใช้ตรงนั้นให้เป็นประโยชน์กับชีวิตให้ได้มากที่สุด) ยาวไปละ สรุปเรื่องแนะนำก็คือ ถ้าเราทำดี หรือทำตัวมีประโยชน์กับสังคมไว้ การบอกต่อหรือแนะนำต่อก็จะได้มา รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้นะครับ เชื่อเถอะ

คำแนะนำเพิ่มเติม: ควรทำการบ้าน รู้จักบริษัทให้มากก่อนสมัครนะครับ เช่น บริษัททำเกี่ยวกับอะไร, มีคนรู้จักไหม ลองทักไปถามก่อน, สไตล์การทำงานเป็นยังไง, เดินทางยังไง ไกลจากบ้านเราหรือเดินทางลำบากไหม (มีส่วนเยอะนะครับ)

ทำการบ้าน

กรณีที่บริษัทให้การบ้าน ซึ่งผมเคยเจอทั้งรูปแบบให้การบ้านก่อนสัมภาษณ์หรือหลังสัมภาษณ์ครับ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันนะครับ มันดูเหมือนกัน แต่แตกต่างกัน

กรณีที่ส่งการบ้านก่อนสัมภาษณ์ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบางที port งานเรามันไม่ชัดเจน ที่ส่งไปดูไม่ออกเลยว่าคิดจากอะไร อาจจะเห็นแต่ผลงาน (ปัจจุบันงาน design เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่โปรแกรมแล้ว แต่เกิดจากกระบวนการคิดด้วย เพราะฉะนั้น ต่อไปบริษัทจะไม่รับคนลวกๆ เพียงเพราะเห็นแค่ความสวยงามแล้ว) และที่สำคัญ การส่งการบ้าน ไม่ใช่การบอกว่าจะได้ไปสัมภาษณ์เสมอไปนะครับ อาจจะไม่ได้สัมภาษณ์ก็ได้ ซึ่งผมก็เจอมาแล้ว เพราะเราไม่ตั้งใจทำการบ้านให้ดี มัวแต่ตื่นเต้นและกลัวว่าจะส่งไปไม่ทัน รวมถึงเราไม่ตั้งใจความละเอียดของการแก้ปัญหาโจทย์ด้วย เพราะฉะนั้น อย่าทำเป็นนอนใจเด็ดขาด

ส่วนกรณีที่ส่งการบ้านหลังสัมภาษณ์งาน เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเพราะบริษัทดูแค่ port เราเลย ถ้า port เราสามารถเล่าเรื่องการทำงานได้ เห็นกระบวนการคิดได้ ก็จะสามารถเรียกเข้าไปคุยเพื่อดูความคิดและความเป็นไปได้ในการร่วมงานกันเลย ทั้งนี้แต่ละบริษัทมีเป้าหมายในการรับพนักงานต่างกันนะครับ บางบริษัทอาจจะไม่ได้ดูถึงขั้น process การทำงานใน port แต่ก็อยากให้เข้ามาเล่าเลยก็ได้ รวมถึงบางบริษัทก็ตั้งใจเรียกมาคุยเพื่อดูความเป็นไปได้และทาบทามหรือ offer ตำแหน่งอื่นเลยก็มี

ข้อคิดแบบสรุป: ตั้งใจทำ portfolio ดีๆ อธิบายกระบวนการคิด เล่า case study โดยเฉพาะคนทำ UX Designer เลย เล่าไปเลยว่า Problem, User Research, Solution, Competitor Analyst, Wireframe, UI Design, Prototype, Usability Test และทุกๆเรื่องควรบอก What/Why/How เสมอ (เอาจริงๆ โดยส่วนตัว ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร ควรเล่าเคสการทำงานหรือกระบวนการทำงานด้วย เพื่อให้บริษัทรู้จักเรามากขึ้น)

สัมภาษณ์งาน

ไม่รู้จะเริ่มยังไงดีเลย เป็นหัวข้อที่นึกเนื้อหาจะเขียนนานมากๆ เอาเป็น เล่าตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดีกว่า

  • ตอนนัดสัมภาษณ์งาน: อย่านัดซ้อนติดกันเว้นไว้เพียงแค่ 1 ชั่วโมง อันตรายมากๆ ห้ามทำเด็ดขาด เราไม่รู้เลยว่าที่ที่เราไปสัมภาษณ์จะคุยสนุกติดลมหรือมีแบบทดสอบให้ทำหรือเปล่า ควรเว้นไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงเลย เพราะอะไรทราบไหมครับ 1. มีแบบทดสอบหรือคุยยาวแบบที่บอกไป / 2. รถติดป่าว หรือรถไฟฟ้าเสีย / 3. จะไม่หิวเลยหรอถ้าสัมภาษณ์เช้าแล้วต่อช่วงเที่ยงพอดี ไปกินข้าวก่อน เอาตัวเองให้พร้อม
  • ก่อนออกเดินทางไปถึงสถานที่สัมภาษณ์งาน: ศึกษาเส้นทางให้ดี อย่าประมาท ถึงเวลาก่อนสัมภาษณ์งานสัก 30 นาทีเป็นอย่างน้อย เข้าห้องน้ำเตรียมตัวให้ดี ถ้าไม่เคยไป Google Maps ด่วนๆ ไม่ค่อยแนะนำให้ขับรถเลย เพราะมันควบคุมเวลายากมาก รถไฟฟ้าดีที่สุด (ตรงนี้สำคัญมาก พิจารณาจากขั้นตอนนี้เลยหากต้องไปทำงานจริง เราเดินทางแบบนี้ได้ใช่ไหม พร้อมใช่ไหม ลองเดินทางเส้นนี้ในตอนเช้าอันแสนโหดร้ายแล้วหรือยัง) อย่าลืมพกคอมและโหลด port ลงเครื่องไว้ให้พร้อม
  • ตอนสัมภาษณ์งาน: หลายๆ คนชอบเตือน(รวมถึงเตือนผมด้วย) ว่าตอนสัมภาษณ์งานให้ตอบตรงประเด็น อย่าเล่าเยอะมากไป อย่าฟุ้ง อย่า… คือเอาจริงๆแล้ว เคยทำแบบ ถามคำตอบคำ หรือถามคำ อธิบายไปประมาณนึง และเคยทำแบบเต็ม max เลย คือ ถามคำ อธิบายสองหน้ากระดาษ / ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ อย่างแรกตอบให้ตรงคำถามก่อน แล้วหลังจากนั้น (เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ย้ำว่าส่วนตัว ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก) จากประสบการณ์ เล่าไปเลยครับในแบบตัวเอง อยากเล่าอะไรก็เล่าไป เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะมันทำให้คนที่สัมภาษณ์รู้จักเรามากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นหัวหน้าทีมที่เราทำงานด้วยในอนาคต คุยเต็มที่ครับ เพราะเราจะได้รู้ด้วยว่าถ้าเราทำงานกับเค้าจะเป็นยังไง เป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วย ต่างคนต่างเห็นวิธีคิด พูด ลงมือทำ ขอ list หรือเก็งคำถามที่ควรเตรียมตัว
  • 1. แนะนำตัว — อันนี้ basic ต้องเจอกันทุกคน วิธีการเล่าขอให้ customize นะครับ หมายถึงว่า ถ้าเจอ HR อาจจะเล่าแบบ timeline ปกติ ถ้าเจอหัวหน้าทีมอาจจะเล่าแบบ What&Why เยอะหน่อย เช่น เราเปลี่ยนจากที่นึงไปอีกที่เพราะอะไร ต่อยอดจากงานเดิมยังไง เป้าหมายชีวิตคืออะไร (เค้าน่าจะถามแน่นอน แต่การเล่าก่อนคือการเตรียมตัวที่ดีครับ) เล่าความเป็นตัวเองเข้าไปหน่อยนะครับ เช่น นิสัยส่วนตัวเป็นยังไง (เล่าในมุมที่ส่งเสริมเรื่องการทำงานนะครับ)
  • 2. เล่างานที่เคยทำให้ฟัง — เล่าเคสที่เคยทำ เอาอันที่มี action รวมๆ ลองซ้อมเล่าเรื่องนี้เก็บไว้ในใจเลยนะ ตั้งแต่งานนี้คืออะไร, บรีฟคืออะไร, ปัญหาที่เจอ, แก้ไขยังไง, ผลสรุปคืออะไร, ได้อะไรจากเคสนี้ ส่วนตัวผมเองตอนเล่า ไม่ได้เล่าเคสที่ success ด้วย เล่าเคสที่มีปัญหาหนักๆ แล้วเราผ่านมันมาได้อย่างไรมากกว่า
  • 3. ทำไมถึงย้ายงานจากที่เก่า — สิ่งที่ต้องจำไว้เสมอ นี่ไม่ใช่โพยหรือคำแนะนำที่ทำให้หลีกเลี่ยงตอนสัมภาษณ์งานนะครับ แต่จำไว้เสมอว่า หากจะเล่าถึงสาเหตุย้ายงานกับบริษัทที่กำลังสัมภาษณ์ ห้ามเล่าเชียวว่า; มีปัญหากับคนข้างในที่เก่าในเรื่องการทำงาน, มีปัญหากับเจ้าของบริษัท, งานไม่ท้าทาย(จริงๆอันนี้พอหยวนๆ แต่ก็ไม่ค่อยแนะนำเท่าไร), หรือบอกว่างานมันน่าเบื่อ ซ้ำๆเดิมๆ (เพราะถ้าเค้าบอกว่า ถ้าที่นี่มีเหตุการณ์แบบนั้นอีกจะไม่ออกหรอ แล้วเราต้องเตรียมคำตอบไว้ด้วยครับว่าจะแก้ไขปัญหานั้นยังไง)/ แล้วต้องพูดว่าไง? คือเรามาสัมภาษณ์ที่บริษัทนี้เพราะอะไรละ? นึกถึงข้อมูลของบริษัทที่เราไปสัมภาษณ์และอยากเข้าไปทำเพราะอะไร ผมว่าเหตุผลนั้นน่าจะเวิร์คกว่าแน่นอน / คำแนะนำเพิ่มเติม: ถ้า timeline ในการทำงานที่ผ่านมามันไม่ค่อยสัมพันธ์กัน กระจัดการจายไปหมด อยากให้เล่าว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น เพราะอะไร แล้วได้อะไรหรือ trade off อะไรกลับมา
  • คำถามแก้ปัญหา — ถ้าเราไปสัมภาษณ์งานตำแหน่งไหนๆ เราก็ต้องเข้าใจวิธีการทำงานรวมถึงปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วย แน่นอนว่าเราควรต้องคิดถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหาด้วย เช่น “ถ้าสมมติว่ามีงานเข้ามาด่วนมากๆ มี deadline ที่เราดูแล้วว่าทำไม่ทันแน่นอน น้องจะทำไง” อันนี้แค่ตัวอย่าง ผมไม่ตอบให้ครับ ลองตอบกันดู :)
  • ทำไมผม/บริษัทต้องรับคุณ — ยังมีคำถามนี้อยู่จริงๆ และฟังดูเหมือนตลก แต่เตรียมคำตอบไว้หน่อยก็ดีนะครับ ผมว่ามันคือ value ที่เราทำให้บริษัทนั่นแหละ เทคนิคส่วนตัวที่เคยตอบ (ไม่ได้เป็นสูตรนะครับ และไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว อันนี้แค่ตัวอย่างนะ) คือ สรุปประวัติการทำงานตัวเองให้ได้ในหนึ่งประโยค+คำเชื่อมกับตำแหน่งงานปัจจุบัน+สิ่งที่บริษัทจะได้รับ What/Why/How , ทีนี้ ลองนึกของตัวเองดูสิครับ ☺
  • ตอนสัมภาษณ์งานเสร็จ: บริษัทจะให้เราถามครับ ควรถามนะครับ ถามเยอะๆ ถามในสิ่งที่อยากรู้ครับ เพราะผมเคยเจอบริษัทนึง ที่คาดการณ์แล้วว่าน่าจะได้มากๆ (ที่เป็นแบบนั้นเพราะงานนี้ recruiter แนะนำมาครับ และมีการอัพเดต progress ตลอด จนตอนท้ายได้ feedback มาครับ) เค้าบอกว่า ไม่ได้รับเข้าทำงาน เพราะตอนท้ายที่สัมภาษณ์กับผู้บริหาร เค้าเห็นว่าผมไม่ค่อยถามอะไรเค้าเลย (คือผมตื่นเต้นเอง บริษัทใหญ่ เลยไม่กล้าถามอะไรเลย) / แล้วแบบนี้ควรจะถามอะไรดี ลองเอาปรับใช้ดูนะครับ; “ปัจจุบันตำแหน่งที่รับ ในบริษัทมีกี่คน และทำงาน process กันอย่างไรบ้าง” (เพื่อให้เราเข้าใจกระบวนการของที่นี่มากขึ้น ถ้าเค้ายังไม่ได้เล่านะ อย่าถามซ้ำถ้าเค้าเล่าไปแล้ว), “สวัสดิการมีอะไรบ้าง” (เป็นผลประโยชน์เราเอง ถามได้เลย), “พี่มองไว้ว่าอนาคตของทีมหน้าตาจะเป็นยังไงครับ จะสเกลคนเพิ่มไหมครับ เยอะขนาดไหน”, “มีวิธีประเมินพนักงานด้วย criteria อะไรบ้าง” คร่าวๆ ประมาณนี้แล้วกัน (เอาจริงๆ สำหรับคนที่เข้ามาอ่านแล้วเป็นคนที่จะรับพนักงานเข้ามา อาจจะเตรียมไว้เล่าก็ดีนะครับ ผมเป็นแค่คนนึงที่เข้าสัมภาษณ์งานมักจะถามอะไรแบบนี้อยู่)
  • ท้ายที่สุดเลย ตอนปิดสัมภาษณ์งาน เป็นไปได้ควรบอกเค้าว่า หากไม่ได้งานนี้ อยากให้ feedback เหตุผลของการไม่รับเข้าทำงาน เพื่อนำไปปรับปรุงให้ตัวเองทำงานได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่งเราจะกลับมาสัมภาษณ์งาน หรือร่วมงานกันอีกในอนาคตได้

เรื่องราวเกี่ยวกับการหางานใหม่ สัมภาษณ์งาน น่าจะยังมี detail ที่เยอะกว่านี้นะครับ แต่พยายามเขียนออกมาให้ได้มากที่สุดแล้วประมาณนี้ มีคำแนะนำอีกเล็กน้อยครับ ถ้าคิดจะย้ายงานจริงๆ อยากให้เตรียมตัวล่วงหน้าประมาณนึง จากประสบการณ์ ผมเคยเดินทางไปสัมภาษณ์งานตอนระหว่างทำงานประจำอยู่ หากใครเคยทำ(ผมว่าเยอะเลยละ)มันไม่ดีเลยใช่ไหมครับ จากเหตุการณ์ล่าสุด คือผมออกมาก่อนครับ แล้วค่อยหางาน ทำให้เห็นมุมที่ต่างออกไปเลย และข้อดีมีครับ คือ

  • เราสามารถ manage เวลาได้อิสระมากกว่า นัดสัมภาษณ์งานตอนไหนก็ได้
  • บริษัทที่ใหม่จะเห็นว่าเรา flexible ในการเตรียมพร้อมเริ่มงานที่ใหม่
  • มีเวลาในการพัฒนาทักษะตัวเอง ลงคอร์ส หรือเดินทางไป Meetup ได้สะดวก
  • มีเวลาให้กับตัวเอง ได้ทำสิ่งที่อยากทำในช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำ เดินทางเที่ยว อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่อยากทำ เพื่อ refresh สมองก่อนเริ่มงานใหม่

ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นหากทำแบบนี้ แน่นอนว่ารายได้ครับที่ขาดไป กับเราจะรู้สึกไม่มั่นคงประมาณนึงเลย โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่เราจะใช้ประกันกลุ่มจากสวัสดิการบริษัท ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่ผมไม่สบายหนัก เสียค่ารักษาและยาประมาณสองอาทิตย์ต่อ 1 ครั้ง ครั้งละ 3–4 พันบาท ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา หนักเลยเนอะ เพราะฉะนั้น เรื่องเงินก็สำคัญมากนะครับ สำรองเงินไว้ให้ดีครับ

มีอีกเรื่องที่อยากแชร์มากๆ โดยเฉพาะเลเวลของการทำงานที่เป็น Senior หรือคนที่มีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป (ไม่ได้บอกว่าอายุ 30 แล้วจะ Senior นะ อายุประมาณนี้ Junior ก็มีนะ แต่อายุจะมีผลต่อสัมภาษณ์งานประมาณนึง ลองอ่านกันต่อครับ)

เมื่ออายุมากขึ้น หรือเลเวลการทำงานมากขึ้นบริษัทจะพิจารณามากขึ้นเป็นพิเศษครับ ถามว่าพิเศษยังไง คือบริษัทหรือหัวหน้าทีม จะมองหาว่า Senior คนนี้สามารถ input งานอะไรให้บริษัทได้บ้าง จะมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับบริษัทหรือระดับทีมได้มากน้อยขนาดไหน ถ้าพูดภาษาที่ง่ายขึ้น “ความรับผิดชอบ” ครับ เพราะถ้าเป็น Senior หรือ Lead แล้ว คนนี้จะทำอะไรได้มากน้อยบ้าง เพราะฉะนั้นข้อบนๆ ที่ผมแนะนำว่า ให้รู้เป้าหมายตัวเอง และตอบคำถามสไตล์เราว่าชอบทำอะไร มันจะชัดเจนเลยว่าเราตอบโจทย์การเป็น Senior บริษัทนี้หรือไม่ ที่แน่ๆ Coaching คือสกิลที่ Senior ควรมีเลย ให้คำแนะนำน้องในทีมได้ขนาดไหน รับมือได้ขนาดไหน การเป็น Senior ไม่ใช่การรับงานได้มากกว่าเดิมหรือใช้ Tool ได้เก่งกว่าคนอื่นเท่านั้น ทำงานร่วมกันในทีมและระหว่างทีมครับ นั่นคือสิ่งที่สำคัญโคตรๆ นั่นแสดงว่า ทักษะที่สำคัญตามมาจากการ Coaching คือเรื่อง Communication ด้วย

ไม่รู้จะมีประโยชน์บ้างไหม หวังว่าจะช่วยใครได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ย้ำนะครับ นี่ไม่ใช่โพย และไม่ใช่ให้นำสิ่งเหล่านี้ไปเฟคกับการสัมภาษณ์ของตัวเองนะครับ เพราะคนสัมภาษณ์ก็มีประสบการณ์ไม่น้อยไปกว่าเรานะครับ คนสัมภาษณ์ผ่านร้อนหนาวมามากกว่าเรา จับได้คือจบและโดน blacklist บอกต่อนะครับ โลกนี้มันโคตรแคบ ยกหูหรือดู mutual friend แปบเดียว คือจบเลย / และถ้าใครอยากลองถามหรือสงสัยอะไร พิมพ์มาถามที่ inbox ผมได้นะครับ ที่ Facebook ผมเลย ขออนุญาตยังไม่รับ add friend นะครับ ช่วงนี้มีคนแปลกๆ แอดมาเยอะ ถ้าไม่ได้รับขออภัยล่วงหน้าฮะ

ขอให้โชคดีถ้าคุณกำลังหาโอกาสใหม่ๆในปลายปี 2018 ต้นปี 2019

สวัสดีปีใหม่ครับ :)

--

--

Pom Sutham
2Bearstalk

CEO & Co-Founder, KO-EXPERIENCE, UX/UI Consultancy. Love to listen people, Excited in Tech, Build the value for business. Contact me www.linkedin.com/in/suthamt