SILICON VALLEY MAP — from http://www.siliconmaps.com/SV13_PreViewPage.html

เขาเรียนกันอย่างไรที่ Stanford ๒

วัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี และความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ

Kanit Ham Wong
3 min readSep 28, 2013

--

ในตอนที่แล้วผมได้เล่าถึง การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนที่สแตนฟอร์ด แต่ว่ายังไม่ได้เล่าถึงตัวมหาวิทยาลัยเองเสียที วันนี้ก็ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของมหาวิทยาลัยก็คือด้านความเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีก่อนนะครับ

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดนั้นมีชื่อเสียงในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมฯ คอมพิวเตอร์ ธุรกิจ กฏหมาย ฯลฯ แต่ถ้าให้เลือกสิ่งที่ถือว่าเป็นภาพลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสแตนฟอร์ดเองก็ถือเป็นศูนย์กลางและต้นกำเนิดของแหล่งธุรกิจเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างซิลิคอน วัลลีย์ (Silicon Valley) และศิษย์เก่าของสแตนฟอร์ดได้ก่อตั้งชั้นนำบริษัทมากมาย ยกตัวอย่างที่น่าจะรู้จักกันดีก็เช่น Google, Yahoo, Hewlett Packard, Cisco หรือบริษัทอย่าง Hotmail ที่ถูก Microsoft ซื้อไปเมื่อนานมาแล้ว และ Instagram ที่พึ่งถูก Facebook ซื้อ หรือล่าสุดบริษัทประสบความสำเร็จในการเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) อย่าง Tableau Software

ซิลิคอนวัลลีย์

​ซิลิคอนวัลลีย์เดิมนั้นหมายถึงผู้บุกเบิกและผู้ผลิตซิลิคอนชิปจำนวนมากในพื้นที่ทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก ซึ่งชื่อพื้นที่จริงๆคือซานตา คลาราวัลลีย์ (Santa Clara Valley) ปัจจุบันนอกจากซิลิคอนชิพแล้ว ซิลิคอนวัลลีย์ยังได้หมายรวมถึงธุรกิจไฮเทคทั้งหมดในพื้นที่แทน นอกจากนี้จากการที่หลายๆบริษัทเริ่มไปตั้งสำนักงานอยู่ในตัวเมืองซานฟรานซิลโก หลายๆคนก็นับว่าตัวเมืองซานฟรานซิสโกเองเป็นส่วนหนึ่งของซิลิคอนวัลลีย์ด้วย

นอกจากจะมีบริษัทชั้นนำตั้งอยู่ ซิลิคอนวัลลีย์เองยังมี Venture Capital, บริษัทกฏหมายที่เชี่ยวชาญทางด้านบริษัทเทคโนโลยี, มีมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างสแตนฟอร์ดและ เบิร์คลีย์ (UC Berkeley) และปรากฏการณ์ใหม่สำหรับ Tech Startup ในช่วงหลายปีหลังอย่าง Startup Incubator ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากถูกดึงดูดให้มาตั้งบริษัทในพื้นที่นี้ (นอกเหนือจากนักเรียนหรือคนท้องถิ่น เพราะความสนใจในด้านความเป็นผู้ประกอบการนี้เอง) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ Facebook ซึ่งเริ่มต้นจากที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ก็ย้ายมาตั้งและเริ่มเติบโตในซิลิคอนวัลลีย์จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

Frederick Terman —from http://en.wikipedia.org/wiki/Frederick_Terman

ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ซิลิคอนวัลลีย์นี้ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลก ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการผลักดันของศาสตราจารย์เทอร์แมน (Terman) ซึ่งเป็นคณบดีของสแตนฟอร์ดในยุคนั้น และเคยเป็นผู้ดูแล Harvard Radio Research Lab ซึ่งสร้างเทคโนโลยีทางด้านวิทยุสื่อสารในช่วงสงครามโลก และได้ดึงตัวทีมสุดยอดนักวิจัยในทีมจากแลปนี้มาร่วมงานที่สแตนฟอร์ดหลังจากสงครามจบ ทำให้คณะวิศวกรรมของสแตนฟอร์ดแปลงสภาพจากมหาวิทยาลัยชั้นรองกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีภายในพริบตา ศ.เทอร์แมนนี้เป็นหัวหอกในการสร้าง Stanford Industrial Park ซึ่งใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยปล่อยเช่าให้ภาคธุรกิจใช้เป็นพื้นที่สำหรับบริษัท และกระตุ้นให้นักเรียนและนักวิชาการนำงานวิจัยออกมาตั้งเป็นบริษัทและทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยตรง บริษัทหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของซิลิคอนวัลลีย์ ก็ถูกก่อตั้งโดยนาย Hewlett และ Packard ในโรงรถของผู้ก่อตั้ง ซึ่งผู้ก่อตั้งสองคนนี้ก็เป็นเป็นลูกศิษย์ของ Terman นี้เอง …คงไม่ต้องบอกนะครับว่ากลายมาเป็นบริษัท Hewlett Packard (HP) นั่นเอง

กลุ่ม “Traitorous Eight” ที่ลาออกจาก Shockley Semiconductor ไปตั้งบริษัทใหม่ http://en.wikipedia.org/wiki/Traitorous_eight

นอกจากเรื่องราวของ Terman และ HP ก็เป็นความบังเอิญที่ William Shockley ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลผู้คิดค้นทรานซิสเตอร์บังเอิญมีบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และได้เปิดบริษัท Shockley Semiconductor และดึงสุดยอดทีมนักวิจัยมาร่วมงานในพื้นที่ใกล้เคียงกันเช่นกัน ต่อมาด้วยความที่ Shockley มีสไตล์การบริหารที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของลูกน้อง ปรากฏว่าหลายคนในทีมก็ออกไปเปิดบริษัทของตนเองเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงเวลา 20 ปี มีบริษัทมากถึง 65 บริษัทที่มีรากเดิมมาจากพนักงานที่ Shockley Semiconductor และหนึ่งในนั้นก็คือบริษัท Intel ซึ่งถูกก่อตั้งโดย Robert Noyce และ Gordon Moore นั่นเอง

ด้วยความบังเอิญเหล่านี้ บวกกับการที่เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารกำลังเป็นที่ต้องการของทางกองทัพสหรัฐในยุคนั้น ทำให้ซานตาคลาราวัลลีย์ ก็เต็มไปด้วยบริษัทที่ผลิตซิลิคอนชิพ จนผู้คนขนานนามพื้นที่นี้ว่า “ซิลิคอนวัลลีย์”

ถัดจากยุคซิลิคอนชิพ ซิลิคอนวัลลีย์ก็วิวัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีที่ถัดมาเป็นยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) ที่ถูกบุกเบิกโดย บริษัท Apple ของ Steve Jobs หรือด้านแหล่งเงินทุนที่มีการเติบโตของ Venture Capital ต่อมาเมื่อยุคอินเทอร์เน็ตเริ่มบูม ก็เป็นศิษย์เก่าจากสแตนฟอร์ดนี้เอง ที่เป็นแรกผลักดันให้เกิดบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Yahoo ตามมาด้วย Google รวมทั้งบริษัทฮาร์ดแวร์อย่าง Cisco หรือแอปดังล่าสุดอย่าง Instagram ฯลฯ

แม้ว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเป็นเพียงแค่ 0.2% ของการลงทุนทั้งหมดในสหรัฐ แต่เม็ดเงินเหล่านี้ก่อให้เกิด 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(Gross Domestic Product) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนการลงทุนที่เกิดผลสูงมาก และแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีในพื้นที่อื่นๆ 42% ของการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีของสหรัฐยังคงเป็นการลงทุนในซิลิคอนวัลลีย์6 สแตนฟอร์ดเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเติบโตในพื้นที่นี้ก็ได้รับผลดีไปเต็มๆ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ล่าสุดมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้รับเงินบริจาค (Endowment) ล่าสุดมากเป็นอันดับหนึ่งถึงหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงได้รับเงินทุนวิจัยจากบริษัทอีกมหาศาล ซึ่งถือเป็นวัฏจักรที่นำสู่ความเจริญของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

ผลของความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจของมหาวิทยาลัยต่อนักเรียน

วัฒนธรรม

ด้วยความใกล้ชิดกับซิลิคอนวัลลีย์ แน่นอนว่านักเรียนสแตนฟอร์ดก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการไปเต็มๆ นักเรียนหลายๆคนที่เลือกมาเรียนที่สแตนฟอร์ดเพราะว่าฝันจะก่อตั้งกิจการจากนวัตกรรมใหม่ๆ หรืออย่างน้อยคิดค้นอะไรใหม่ๆเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น หรือแม้บางคนที่ไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาก่อนก็มาเริ่มพัฒนาความสนใจจากการเรียนที่นี่ หลายๆคนถึงกับพูดเป็นมุขตลกเกินจริงกันว่า นักเรียนสแตนฟอร์ดถ้าไม่ได้พยายามตั้งบริษัทก่อนเรียนจบ ถือว่าไม่ได้เรียนจบจริงๆ

สิ่งที่พูดถึงกันบ่อยที่สุดและคนที่นี่ยืดกันว่าเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการในซิลิคอนวัลลีย์กับผู้ประกอบการในที่อื่นๆ นั้นก็คือ ความกล้าเสี่ยง และการยอมรับความล้มเหลวเป็นบทเรียน ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่นี่เป็นธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากกว่าธุรกิจทั่วๆไป และอีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้ที่ถูกเริ่มต้นโดยคนที่เดินทางมาแสวงโชคจากการขุดทองในอดีต ทำให้คนในพื้นที่มีภูมิหลังที่อาจจะทำให้มีความกล้าเสี่ยงมากเป็นพิเศษ (วันนี้เปลี่ยนเป็น”ขุดทอง”จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมแทนเหมืองทอง)

ถือเป็นเรื่องธรรมดามาที่เราจะพบเห็นนักเรียนที่นี่ คุยเรื่องบริษัท Startup ทีี่กำลังมาแรง หรือแนวคิดใหม่ของตนเอง หรือพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่มีความน่าสนใจ นักเรียนที่สแตนฟอร์ดมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาว่างทำโปรเจคต์ส่วนตัวเพื่อ “ลองเล่นกับเทคโนโลยี” หรือคิดค้นหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ มากกว่ามหาวิทยาลัยทั่วๆไปส่วนใหญ่ ความจริงแล้วจุดกำเนิดของบริษัทเทคโนโลยีอย่างกูเกิ้ล และอีกหลายๆบริษัทก็เริ่มต้นจากในหอพักของนักเรียนสแตนฟอร์ดนี่เอง ทุกวันนี้ก็ยังมีนักเรียนปัจจุบันหลายๆคนทดลองสร้างอะไรใหม่ๆในหอพัก และไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอนาคตได้เช่นกัน

ในส่วนของอาจารย์ ผู้สอนเองก็สนับสนุนให้นักเรียนกล้าฝัน และลองผิดลองถูกเพื่อเรียนรู้ให้มากที่สุดในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ถ้าผิดพลาดแล้วยังฟื้นตัวหรือมีโอกาสแก้ตัวได้ง่าย สแตนฟอร์ดค่อนข้างจะมีชื่อเสียงจากชั้นเรียนทางด้านความเป็นผู้ประกอบการ แต่หลายคนๆอาจจะไม่รู้ว่าชั้นเรียนเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในคณะบริหารธุรกิจ (Business School) ความจริงแล้วสแตนฟอร์ดมีชั้นเรียนด้านความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในคณะอื่นๆ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมอยู่ด้วย เพราะว่าสแตนฟอร์ดเชื่อในปรัชญาการพัฒนาคนให้มีทักษะแบบ T-Shape คือทั้งรู้ลึกและรู้กว้าง เช่น ศิษย์เก่าหลายคนที่เปิดบริษัททางด้านเทคโนโลยี ก็จะมีความรู้ด้านวิศวกรรมเชิงลึก และมีทักษะหลากหลายที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจซึ่งเป็นความรู้ด้านกว้าง นอกจากนี้สแตนฟอร์ดยังเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีและหน่วยงานที่สนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering School) โดยช่วยให้นักเรียนที่มีความสนใจทั้งทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยีได้พัฒนาความรู้ทั้งสองด้านไปด้วยกัน

แขกรับเชิญในวิชาสัมมนาและงานบรรยาย

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลดีจากความใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมและไม่กล่าวไม่ได้คือ นักเรียนได้สัมผัสบทเรียนจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรงเสริมภาควิชาการที่ได้เรียนจากอาจารย์ เช่น สแตนฟอร์ดมีอาจารย์พิเศษที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจจำนวนมาก อาจารย์ประจำก็มักมีแขกรับเชิญจากภาคธุรกิจมาช่วยบรรยายสำหรับวิชาต่างๆ ทั้งวิชาทั่วไป และวิชาสัมมนาพิเศษที่เชิญแขกรับเชิญจากอุตสาหกรรมมาพูดล้วนๆ เช่นสัมมนาด้านความเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีหลากหลายวิชาเปิดให้นักเรียนเข้าเรียน หรือสัมมนาเฉพาะทางเช่น สัมมนาการออกแบบคอมพิวเตอร์เพื่อผู้ใช้ หรือ สัมมนาด้านอนาคตของการศึกษาบนสื่อดิจิตัล

นอกจากวิชาสัมมนา สแตนฟอร์ดยังเปิดโอกาสบริษัทเข้ามาจัดบรรยายสำหรับนักเรียน หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น แนะนำบริษัท และวัฒนธรรมองค์กร, แนะนำผลิตภัณฑ์, Tech-talk เกี่ยวกับความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังเผชิญ, แนะนำรูปแบบงานที่นักเรียนอาจจะไม่สัมผัสโดยตรงจากในห้องเรียนเช่น ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager), ที่ปรึกษา (Consultant) แน่นอนว่าเป้าหมายของบริษัทก็คือพยายามรับสมัครนักเรียนเข้าทำงาน แต่ก็เป็นประโยชน์กับนักเรียนเช่นกันเพราะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดว่าตนเองอยากทำงานในลักษณะใดในอนาคต มีแรงบันดาลใจและเห็นภาพว่าจะนำความรู้ที่เรียน (หรือกำลังตัดสินใจเลือกเรียน) ไปทำงานในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทเองเพราะจะได้นักเรียนที่เตรียมตัวมาพร้อมยิ่งขึ้นเมื่อเริ่มทำงาน และเมื่อเริ่มทำงานไปแล้ว ศิษย์เก่าเหล่านี้ก็มีความกระตือรือร้นที่จะกลับไปยังมหาวิทยาลัยเพื่อแบ่งปันประสบการณ์แก่รุ่นน้องต่อไป

ที่น่าตกใจตอนที่ผมมาถึงสแตนฟอร์ดครั้งแรกคือ งานบรรยายเหล่านี้มีเยอะมาก (โดยเฉพาะด้าน IT) ในช่วงการศึกษาภาคฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งจะมีบรรยายจากบริษัททุกวัน วันละอย่างน้อย 3 บริษัท บางครั้งเวลาทับซ้อนกัน ทำให้บริษัทมักต้องจัดบรรยายในช่วงเที่ยงหรือเย็นและเลี้ยงอาหารไปในตัว ถ้าบริษัทมีชื่อเสียงน้อยถึงกับอาจจะเลี้ยงอาหารและจับสลากรางวัลเช่น iPad หรือ บัตรกำนัล โดยใช้ประวัติย่อ (Resume) ของนักเรียนที่มาเข้าฟังเป็นสลาก เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะมาเข้าฟัง (และได้ Resume นักเรียนไป) เรียกได้ว่านักเรียนที่มาเข้าฟังทั้งอิ่ม ทั้งได้ความรู้ แล้วยังอาจจะได้ iPad แถมได้งานอีกด้วย

ตัวอย่างของการบรรยายที่ก็เช่น ผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Assistant Product Manager หรือย่อๆว่า APM) ของ Google มาบรรยายเกี่ยวกับความพิเศษของโครงการ APM ของ Google, Chief Technology Officer (CTO) ของ Quora มาบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีเบื้องหลังของเว็บ Quora,​ หรือบันทึกการบรรยายอย่างเช่น Mark Zuckerberg มาบรรยายเกี่ยวกับ Facebook สมัยที่ยังต้องถามว่าใครในห้องรู้จัก Facebook บ้าง ฯลฯ

Mark Zuckerberg มาบรรยายที่ Startup School http://www.youtube.com/watch?v=c2JTu22qxms

โอกาสทำงานภาคฤดูร้อน

นักเรียนที่นี่จำนวนมากเริ่มฝึกงานกันตั้งแต่ฤดูร้อนแรกหลังจากจบปีหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็หาประสบการณ์จากกิจกรรมอื่นๆ เมืื่อถึงเวลาเรียนจบที่ต้องหางาน นักเรียนเหล่านี้ก็ได้มีประสบการณ์ทำงานที่แตกต่างกันถึงสามงาน นักเรียนนั้นได้มีบทบาทในทีมอย่างจริงจัง​ (เปรียบกับบ้านเราที่ส่วนใหญ่ได้ฝึกงานกันแค่ตอนปีสาม) ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งช่วยให้นักเรียนตัดสินใจเลือกงานได้ดีขึ้น และทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ที่ช่วยให้หาทางเลือกในการเลือกงานให้ตนเองได้มากขึ้น แน่นอนว่าความใกล้ชิดต่อภาคธุรกิจของมหาวิทยาลัยมีช่วยส่วนเป็นอย่างมาก แต่หลักสูตร (ซึ่งผมจะกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนถัดไป) ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทำให้นักเรียนหลายๆคนที่วางแผนได้ดี ประกอบกับการที่บริษัทหลายๆบริษัทมีโครงการฝึกงานสำหรับเด็กปีหนึ่งโดยเฉพาะ และมหาวิทยาลัยเองมีโครงการฝึกงานทำวิจัยในแต่ละภาควิชา รวมทั้งการที่มีนักเรียนรุ่นพี่หลายๆคนเริ่มฝึกงานกันตั้งแต่เน่ินๆเป็นตัวอย่าง ทำให้นักเรียนมีความขวนขวายที่จะไม่ปล่อยให้เวลาว่างช่วงหยุดเรียนของตนเองผ่านไปโดยเสียเปล่าอีกด้วย

เบื้องหลัง: หน่วยงานสนับสนุนของมหาวิทยาลัย

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเบื้องหลังสำคัญของความสำเร็จของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนก็คือ นอกจากการที่มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจเป็นทุนเดิมแล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาเองยังมีหน่วยงานที่คอยจัดการเพื่อให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยโดยตรง

ในส่วนกลางของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ดมีศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพ หรือ CDC (Career Development Center) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยงานที่รับติดต่อจากภาคธุรกิจเพื่อเข้ามาบรรยายและรับนักเรียนเข้าทำงาน ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงนักเรียนอย่างเหมาะสมได้โดยง่าย และอีกหน้าที่หนึ่งคือจัดสัมมนา เกี่ยวกับทักษะการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานและการเขียนประวัติย่อ (Resume) และทักษะอื่นๆที่ช่วยเหลือนักเรียนในการเลือกหางาน รวมถึงชั่วโมงให้แนะแนวนักเรียนในการเลือกสายอาชีพ

มากไปกว่านั้น ในบางภาควิชาเช่น ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ยังมี Stanford Computer Forum ที่ทำหน้าที่คล้ายๆกับ CDC แต่เฉพาะเจาะจงสำหรับบริษัททางด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี

นอกจากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเอง ชมรมของนักเรียนก็มักเชิญแขกรับเชิญมาบรรยาย ตัวอย่างเช่น วิชาสัมมนา Entrepreneurial Thought Leaders Seminar ที่นักเรียนร่วมมือกับอาจารย์เปิดเป็นวิชาเรียนให้นักเรียนสามารถเข้าฟังและนับเป็นหน่วยกิตได้ หรืองานใหญ่อย่าง Startup School และ E-Week ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่รวมกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการทั้งการบรรยาย, Panel Discussion และงานเล็กๆ อื่นๆอีกจำนวนมาก เรียกได้ว่ามั่นใจได้ว่าถ้านักเรียนมีความใฝ่รู้ จะต้องได้มุมมองที่ดีๆ จากนอกห้องเรียนอย่างแน่นอน

บทสรุป

ในตอนนี้ผมได้เล่าถึงเรื่องราวของซิลิคอนวัลลีย์ และความใกล้ชิดของสแตนฟอร์ดกับอุตสาหกรรมในซิลิคอนวัลลีย์ ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีของสแตนฟอร์ด และ ทำให้ศิษย์เก่าสแตนฟอร์ดเป็นจำนวนมากประสบความสำเร็จอยู่ในแวดวงของผู้ประกอบการเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักลงทุน (Venture Capitalist) ฯลฯ นอกจากนี้แม้นักเรียนที่จบจากสแตนฟอร์ดอาจจะไม่ได้จบออกไปก่อตั้งบริษัทกันทุกคน แต่แนวความคิดที่จะริเริ่มอะไรใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ก็เป็นแรงผลักดันให้นักเรียนที่จบจากที่นี่ทำงานหนักและส่งผลให้ประสบความสำเร็จในระดับสูงหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้วนั่นเอง

มองย้อนกลับมาที่การศึกษาบ้านเรา น่าสนใจเหมือนกันว่าเราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยในบ้านเราและส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร เพราะแม้ว่าระบบนิเวศน์ในซิลิคอนวัลลีย์นี้จะเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความตั้งใจและความบังเอิญในอดีต คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมเป็นผลดีต่อทั้งมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก และความเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีมีผลสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่น้อย คำถามนี้คงยังเป็นโจทย์ที่นักพัฒนาการศึกษาบ้านเราคงต้องเริ่มคิดอย่างจริงจังและเริ่มทดลองและพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตามนอกจากคาดหวังให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่านักเรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยเหมือนกัน เช่น แม้ว่ามหาวิทยาลัยอาจจะไม่มีความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจหรือมีผู้ช่วยเหลือในการเตรียมพร้อมหางานมากเท่ากับมหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ได้หมายความว่านักเรียนเองจะไม่สามารถขวยขวายเรียนรู้ใหม่ๆนอกตำราและหลักสูตร โดยทั้งรู้วิชาและรู้คนด้วยตนเอง อย่าลืมว่าคนที่ประสบความสำเร็จระดับสูงไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเสมอไป (เช่น Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ผู้ล่วงลับที่ไม่ได้จบปริญญาตรีเสียด้วยซ้ำ)

และสุดท้ายสำหรับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่อยากเห็นการศึกษาของบ้านเราพัฒนาขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานด้านการศึกษาจริงๆ ก็ยังสามารถมีส่วนในการพัฒนาการศึกษาได้ไม่ยาก โดยการกลับไปให้ความรู้ถ่ายทอดประสบการณ์กับเด็กรุ่นใหม่เป็นครั้งคราว พูดง่ายๆว่าถ้าอยากให้การศึกษาบ้านเราพัฒนาขึ้น ก็คงต้องร่วมด้วยช่วยกันแหละครับ

สำหรับวันนี้ก็ขอพอแค่นี้ก่อนนะครับ ในตอนถัดๆไปผมจะมาพูดถึงเรื่องข้อสังเกตเรื่องหลักสูตรการเรียนและรูปแบบการเรียนของที่นี่กันครับ

--

--

Kanit Ham Wong

Visualization+Interaction for Machine Learning @Apple. Co-author of Vega-Lite, Voyager, and TensorFlow Graph Visualizer. Formerly @uwdata. Views are my own.