เขาเรียนกันอย่างไรที่ Stanford ๑
บทนำ
เวลาสองปีที่ผมได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) ได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตลอดสองปีนี้ ผู้ใหญ่และเพื่อนๆหลายคนมักถามผมเสมอว่า ประสบการณ์การเรียนที่สแตนฟอร์ดเป็นอย่างไร บางคนก็ถามว่า ทำไมสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและซิลิกอนวัลเลย์ถึงได้ทำให้เกิดผู้ประกอบการโดยเฉพาะทางด้านนวัตกรรมมากมายอย่างโดดเด่นเหนือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งผมก็ได้พยายามตอบคำถามเหล่านี้เท่าที่เวลาและโอกาสอำนวย แต่ไม่มีซักครั้งที่ผมรู้สึกว่า ตัวเองได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับให้กับคนอื่นๆได้ดั่งใจหวัง ในวันนี้ที่ผมกำลังจะสำเร็จการศึกษาจากสแตนฟอร์ดแล้ว ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ผมจะทบทวนตัวเอง และเรียบเรียงบทความเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และได้ทำหน้าที่ในฐานะนักเรียนทุนฟุลไบรท์ซึ่งถือว่าเป็น “ฑูตวัฒนธรรม” ในระหว่างที่เป็นนักเรียนที่นี่ด้วย
เนื่องจากมีหัวข้อที่น่าสนใจที่ผมอยากจะเล่าจำนวนไม่น้อย ผมจะขอแบ่งบทความนี้เป็นตอนย่อยๆโดยจะขอกล่าวถึงประสบการณ์การเรียนของผมที่สแตนฟอร์ด เริ่มตั้งแต่ การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน วัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการของสแตนฟอร์ดและซิลิคอนวัลลีย์ (Silicon Valley) ความใกล้ชิดของมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม หลักสูตร รูปแบบการเรียน กิจกรรมเสริมหลักสูตร การทำวิจัย สิ่งอำนวยความสะดวก และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่นๆ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ
ก่อนที่จะเริ่มต้น ต้องขอย้ำก่อนว่าบทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ซึ่งอาจจะจำกัดด้วยประสบการณ์จากการเรียนที่จุฬาฯและที่สแตนฟอร์ด ดังนั้นความเห็นที่แสดงในที่นี้อาจจะไม่ได้ครอบคลุมถึงภาพรวมการศึกษาที่ประเทศไทย และที่สแตนฟอร์ดไปเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตามผมก็ได้พยายามรวบรวมข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อให้เนื้อหาครอบคลุมเท่าที่จะเป็นไปได้ และผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักพัฒนาการศึกษา หรือผู้อื่นที่มีความสนใจครับ
การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน
ในตอนที่ ๑ นี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนก่อนครับ สิ่งหลักๆที่แตกต่างระหว่างการคัดนักเรียนเข้าศึกษาของที่นี่กับบ้านเรานั้นก็คือ นักเรียนต้องเขียนเรียงความจุดประสงค์การเรียน (Statement of Purpose หรือ Personal Statement) จดหมายแนะนำจากอาจารย์ (หรือเจ้านาย สำหรับป.โท/เอก) และประวัติส่วนตัว (Resume/CV) ส่วนที่คล้ายกันก็คือการสอบวัดมาตรฐาน ซึ่งของที่นี่จะเป็น SAT สำหรับป.ตรี และ TOEFL, GRE หรือ GMAT สำหรับป.โท/เอก ซึ่งคล้ายกับบ้านเราก็คือการสอบเอ็นท์ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น O-NET และ GAT/PAT แล้ว แต่ว่าการพิจารณาเลือกนักเรียนนั้น ที่นี่จะมองแบบองค์รวมโดยให้น้ำหนักกับเรียงความ จดหมายแนะนำและประวัติของนักเรียนมาก คะแนนซึ่งมักจะถูกพิจารณาแบบพอผ่านเกณฑ์เสียมากกว่า 4
การที่นักเรียนต้องเขียนเรียงความว่า “ทำไมตนเองถึงอยากเข้าศึกษาที่สถาบันดังกล่าวและทำไมมหาวิทยาลัยถึงควรที่จะเลือกนักเรียนคนนั้นเข้าศึกษา” มีส่วนสำคัญในการตัดสินเลือกเรียนต่อของนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องตอบคำถามตัวเองในระดับหนึ่งว่าชอบอะไรและทำการบ้านมาว่ามหาวิทยาลัยและสาขาที่สนใจมีการเรียนการสอนอย่างไรและนักเรียนจบไปแล้วทำงานประมาณไหน และสุดท้ายตอบได้ว่าทำไมตนเองถึงน่าจะเหมาะกับการเรียนที่สถาบันนั้นๆ นอกจากนี้เนื่องจากการพิจารณาเข้าเรียนพิจารณาประวัตินักเรียนด้วย นักเรียนก็จะเลือกที่จะหาประสบการณ์ใหม่ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สนใจและกิจกรรมอื่นๆที่พัฒนาความเป็นผู้นำและความสามารถพิเศษ เพื่อทำให้ประวัติของตนเองมีความโดดเด่น ผลก็คือนักเรียนที่เข้าเรียนมีความน่าสนใจและหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุด
มองกลับมาที่บ้านเรา ด้วยความที่ระบบของเราวัดกันที่คะแนนเป็นหลัก น่าเสียดายที่ทุกวันนี้นักเรียนม.ปลายไฟแรงส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปเรียนพิเศษต่อตอนเย็น และวันเสาร์อาทิตย์เพื่อที่จะเพิ่มคะแนนสอบของตนเองเป็นหลัก การเรียนพิเศษอาจจะทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมบ้าง แต่ก็ไม่ได้ความรู้นอกหลักสูตรที่เรียนเท่าใดนัก สิ่งที่ได้เพิ่มเติมโดยตรงอาจจะเป็นเพียงเทคนิคการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดีเสียมากกว่า แต่ขณะที่กำลังมุ่งมั่นทำคะแนนสอบอยู่นั้น นักเรียนหลายๆคนอาจจะไม่ได้ทบทวนตนเองจริงๆ ว่าแท้จริงแล้วอยากทำอะไรในอนาคต เมื่อถึงเวลาเลือกคณะที่เข้าเรียน เด็กหลายๆคน อาจจะเลือกด้วยคะแนนว่าตนเองคะแนนถึงคณะใด หรือเลือกตามเพื่อนและผู้ปกครอง ซึ่งก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของการเลือกศึกษาสาขาที่เหมาะกับตนเอง ปัญหานี้ผมเชื่อว่าทุกคนคงเห็นตัวอย่างจากคนรู้จัก (หรือตนเอง) มาไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า การตอบว่าตนเองอยากทำอะไรในอนาคตเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ และสาขาวิชาที่เลือกศึกษาส่งผลอย่างมากต่ออนาคตของนักเรียน สิ่งหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ของที่นี่คือ นักเรียนไม่จำเป็นต้องเลือกสาขาวิชาที่ตัวเองจะเรียนก่อนจะเข้าศึกษา แต่สามารถเลือกลองเรียนสาขาวิชาใดๆก็ได้ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน ก่อนที่จะเลือกสาขาวิชาอย่างเป็นทางการ และถ้านักเรียนรู้สึกว่าตัดสินใจผิดนักเรียนก็มีสิทธิเปลี่ยนได้ทุกเวลาโดยไม่จำเป็นต้องซิ่ว ทั้งนี้หากนักเรียนเลือกที่จะเปลี่ยนสายวิชานักเรียนอาจจะจบช้าลงเล็กน้อยขึ้นอยู่กับวิชาที่ได้ลงไปก่อนหน้าว่าใกล้เคียงกับสาขาว่าใหม่ขนาดไหน แต่ไม่ถึงกับต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด หลายๆคนก็เลือกที่จะเปลี่ยนสายวิชาในช่วงปีสามสามารถเรียนจบได้ในสี่ปีด้วยซ้ำ การที่นักเรียนสามารถทดลองก่อนตัดสินใจนี้ค่อนข้างช่วยเหลือให้นักเรียนส่วนใหญ่ได้เรียนสิ่งที่ชอบจริงๆ และลดโอกาสที่นักเรียนจะต้องเสียเวลา “ทนเรียนให้จบ” เพื่อให้ได้รับปริญญาอย่างที่สังคมคาดหวัง
การคัดเลือกด้วยเรียงความนั้นย่อมมีข้อเสียเช่นกัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะต้องใช้ทรัพยากรในการอ่านเรียงความนี้แล้ว การประเมินคุณภาพและความเหมาะสมของเรียงความยังเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน (Subjective) ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการวัดดวงกลายๆคือ ถ้าผู้อ่านเรียงความมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกับผู้เขียนเรียงความฉบับนั้น เจ้าของใบสมัครก็จะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกสูง อย่างไรก็ตามถ้าผู้สมัครมีคุณสมบัติเหมาะสมจริงย่อมจะสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งใดแห่งหนึ่งอย่างแน่นอน
สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าแนวทางการคัดเลือกนักเรียนของที่นี่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แนวทางนี้จะเหมาะกับบ้านเราหรือไม่นั้น ผมไม่อาจเป็นผู้ตอบได้ แต่การตัดสินใจเลือกอนาคตของ”อนาคตของชาติ” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่คู่ควรกับการพิจารณาอย่างแน่นอน คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้เด็กๆในยุคถัดไปเลือกตัดสินเรียนได้เหมาะสมกับตนเองมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับวันนี้ขอพักไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ ในตอนถัดไป ผมจะเริ่มเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากที่นี่จริงๆเสียที โดยผมจะเริ่มจากวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการและความใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมในซิลิคอนวัลลีย์ ซึ่งถือว่าเป็นความพิเศษของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเลยทีเดียวเลยครับ
ขอบคุณ บาส และ พี่เมย์ ที่ช่วยทบทวนบทความฉบับร่างครับ